โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระครูชุ่ม หรือ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม​ พระรูปหล่อที่แพงสุดของลุ่มน้ำแม่กลอง

หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร หรือ พระครูชุ่ม วัดราชคาม

ประวัติและวัตถุมงคล ของลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
 

           ในอดีตมีพระเถระ ผู้มีพรรษากาล มากองค์หนึ่ง ทรงคุณความรู้และวิทยาคมหลายอย่าง เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นพระอาจารย์ เป็นคณาจารย์การปกครอง เป็นพระอาจารย์สอนปริยัติธรรมกัมมัฏฐาน ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ทุกคน ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เช่นพวกถูกพิษคุณไสยศาสตร์และวิทยาคุณต่างๆ กระทั่งคนต่างศาสนายังนับถือในพุทธคุณของท่าน ถึงกับยอมเป็นศิษย์นับถือพุทธศาสนาเหมือนพระคุณท่าน เป็นจำนวนมาก 

           เมื่อท่านถึงมรณะภาพ ก็ปรากฏเป็นอัศจรรย์ ศพไม่มีกลิ่นเช่นคนธรรมดา แม้โลงบรรจุศพที่ไม่ได้ปิดผนึกก็ไม่ได้มีกลิ่นรบกวนผู้อื่น การสูญเสียท่านไปยังสร้าง​ความเศร้าโศกเสียใจแก่ประชาชน และลูกศิษย์ลูกหาชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านไม่ได้เลือนหายไปจากความทรงจำ ว่าพระเถระที่เก่งกล้ารูปหนึ่งของจังหวัดราชบุรี  พระครูชุ่ม วัดราชคาม
       
          วัดราชคาม

          นับว่าเป็นวัดเก่าแก่ วัดหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ ๔ ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เริ่มสร้างเมื่อใดไม่เป็นที่แน่ชัด (บางตำราว่าสร้างพ.ศ. ๒๔๐๙ ) ตามข้อมูลตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่สามารถอ้างอิงได้ กล่าวว่าพื้นที่ตั้งวัดราชคามในปัจจุบันนั้น เดิมเป็นจวนที่อยู่และที่ว่าความของพระยาราชเดชะ ในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ (ตรงกับปีขาล อัฐศก จ.ศ. ๑๒๒๘ ร.ศ. ๘๕) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่พระสมุหกลาโหม เป็นผู้อำนวยการขุดคลองดำเนินสะดวก ได้มีบัญชาให้ พระยาราชเดชะ ย้ายไปช่วยทำการขุดคลองดำเนินสะดวก  

         พระยาราชเดชะ จึงได้มอบจวนเก่า (ทั้งบ้านและที่ดิน) ถวายให้เป็นที่สร้างวัด ในขั้นแรกใช้ชื่อเดิมว่า "วัดราชคาม" (ราชคาม - บ้านของพระยาราช)  หลังจากนั้นเจ้าอาวาสวัดรูปถัดมาได้ทำซุ้มประตูวัดที่อยู่ท่าน้ำหน้าวัด (สมัยนั้นวัดหันหน้าออกแม่น้ำ) โดยในป้ายมีข้อความว่า "วัดราชประดิษฐ์" 

         ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๕.๑๕ น. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ ทรงแวะที่วัดราชคาม ทรงพบเห็นป้ายชื่อวัด จึงทรงตัดพ้อว่าชื่อพ้องกับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ในเมืองหลวง จึงเปลี่ยนให้ว่า "วัดราชคาม" ดั่งเดิม และได้ปรากฏมาถึงทุกวันนี้ 

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
หลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปศิลปอู่ทอง พระศักดิ์สิทธิ์คู่วัดราชคาม

           ภายในวัดมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญ​ เป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริดปางมารวิชัย สร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง ( ราว ประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐-๑๘๙๗ ) ชาวบ้านเรียกว่า"หลวงพ่ออู่ทอง"  ทางวัดนิมนต์มาจากวัดตากแดดซึ่งสมัยนั้นเป็นวัดร้าง จัดเป็นพระพุทธ​รูปที่เก่าแก่ หาชมได้ยากยิ่งในพื้นที่แม่กลอง​ สวยงาม​ ปัจจุบันประดิษฐาน​อยู่ที่วิหารหลวงพ่อชุ่ม​ 

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
รอยพระพุทธบาทจำลอง วัดราชคาม สร้างเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

          นอกจากนี้ภายในวิหารของวัดราชคาม ยังประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่หล่อขึ้นในคราวสร้างรูปหล่อหลวงพ่อชุ่มเท่าองค์จริง เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยนำเนื้อทองเหลืองที่รับบริจาคจากชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา โดยเหลือจากการหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อมาสร้างขึ้นในคราวนี้ด้วยปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลวงพ่อชุ่ม อีกด้วย  

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
หลวงพ่อชุ่มขนาดเท่าองค์จริง เทหล่อเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

         สำหรับสมภารปกครองวัดเท่าที่สืบทราบมีดังนี้

         ๑. หลวงปู่โป้ย ปี พ.ศ. ไม่ปรากฏ

         ๒. หลวงปู่โต๊ะ ปี พ.ศ. ไม่ปรากฏ

         ๓. พระอธิการพู่ ปี พ.ศ. ไม่ปรากฏ

         ๔. พระครูชุ่ม พุทฺธสโร (เจ้าคณะหมวด) ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๒๔๙๘

         ๕. พระครูกัลยาณวัตรวิบูลย์ (ป้อม กลฺยาโณ) พ.ศ. ๒๔๙๘ - พ.ศ. ๒๕๕๕

         ๖. พระวรวุฒิ ถิรจิตฺโต รักษาการเจ้าอาวาส พ.ศ. ๒๕๕๕ - พ.ศ. ๒๕๕๖

         ๗. พระอธิการจิตตวี ธีรปญฺโญ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๖ - ถึงปัจจุบัน

         หลวงพ่อชุ่ม กำเนิดที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑ อันตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๒  ท่านเป็นบุตรคนโตในจำนวนทั้งหมด ๙ คนของนายทุ้ม กลิ่นเทพเกษร และนางลำใย กลิ่นเทพเกษร  

         เมื่อท่านมีอายุได้ ๙ ขวบ โยมบิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือขอมและไทยกับหลวงปู่ทอง วัดท่าสุวรรณ ครั้งมีอายุได้ ๑๖ ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่รับใช้หลวงปู่ทองที่วัดท่าสุวรรณ

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ หลวงพ่อชุ่มท่านมีอายุครบบวช จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดท่าสุวรรณ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๖๐ ได้รับฉายาว่า “พุทธสโร” โดยมี

         พระอธิการทอง วัดท่าสุวรรณ เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการพู่ วัดราชคาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์   

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดท่าสุวรรณ บ้างก็มาจำพรรษาที่วัดราชคาม สลับกันมาโดยตลอด เพื่อร่ำเรียนวิชาอาคมและวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ และพระอธิการพู่ วัดราชคาม  

         กระทั้งปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เจ้าอธิการทอง วัดท่าสุวรรณได้มรณภาพลง หลวงปู่พู่จึงให้หลวงพ่อชุ่มไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดท่าสุวรรณ  ซึ่งท่านไปอยู่รักษาการณ์ถึง ๓ ปี

         พอถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๘ พระอธิการพู่ เจ้าอาวาสวัดราชคามก็ได้มรณภาพ หลวงพ่อชุ่มท่านจึงกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดราชคามสืบแทน

        ตำแหน่งและสมณศักดิ์

        พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชคาม

        พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

        พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งน้ำวน (สมัยนั้นเรียกเจ้าคณะหมวด)

        พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน

        หลวงพ่อชุ่ม ท่านเก่งทั้งทางด้านการพัฒนาถาวรวัตถุและจิตใจของทุกคน ได้นำความเจริญมาสู่วัดราชคาม มากด้วยความเก่งกล้ามีคาถาอาคมประกอบการช่วยเหลือชาวบ้านในทุกทาง ท่านเก่งทั้งทางการแพทย์แผนโบราณ วิชาทำน้ำมนต์การรดน้ำมนต์ ปลุกเสกลงเลขยันต์และอื่นๆ

         ท่านเป็นพระที่เจ้าระเบียบและดุ สมัยท่านอยู่ไม่ว่าพระหรือเณรเดินบนพื้นกุฎิไม้กระดานดังเกินควร ท่านจะเรียกเข้าไปสั่งสอนทันที ถ้าเป็นเด็กวัดก็จะโดนตีสั่งสอนทันที​ หรือไม่หลวงพ่อจะให้ตัวต่อที่ท่านเสกออกมาไล่พระเณรที่ชอบจับกลุ่มกันแตกกระเจิงไป  

         ด้วยความที่ท่านชอบการมีระเบียบวินัย ฉะนั้นลูกศิษย์ลูกหาของท่านทั้งหลาย จึงมีระเบียบวินัยที่ดีประกอบสัมมาอาชีพเจริญรุ่งเรืองกันเป็นส่วนใหญ่

หลวงพ่อชุ่ม หรือ พระครูชุ่ม วัดราชคาม

         ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อป้อม เจ้าอาวาสองค์ถัดมาได้เล่าถึงประวัติการเดินธุดงค์ของหลวงพ่อชุ่ม ซึ่งได้รับฟังจากปากของหลวงพ่อชุ่มเองว่า เมื่อบวชได้เพิ่ง ๓ พรรษา ท่านก็เริ่มสนใจในวิชาทางคาถาอาคมได้พยายามศึกษาเล่าเรียน

         และเมื่อถึงพรรษาที่ ๕ ท่านจึงเริ่มออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆคราวละ ๓ ปี บางครั้งก็ธุดงค์ไปพม่าบ้างจนมีเรื่องเล่าขานว่าท่านได้ไปศึกษาวิชาแปลกๆจากอาจารย์ทางพม่าก็มี 

        จนมีครั้งหนึ่งได้เดินธุดงค์จนถึงวัดมะขามเฒ่า ชัยนาท ขณะนั้นราวปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลวงพ่อศุขได้ปกครองวัดมะขามเฒ่า หลวงพ่อชุ่มได้ศึกษาวิชาจากหลวงพ่อศุข หลายแขนงเกี่ยวกับวิชาด้านคาถาอาคม 

         จนครั้งหนึ่งกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เคยเสด็จมายังวัดราชคาม เนื่องด้วยเป็นศิษย์สำนักเดียวกัน และเมื่อกลับมาอยู่วัดราชคามจนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นชื่อเสียงของท่านได้เป็นที่เลืองลือมาก

       แม้ท่านจะเก่งด้านคาถาอาคม ปลุกเศกเครื่องรางของขลังต่างๆ แต่ท่านก็ไม่ได้ปลุกเศกวัตถุมงคลอะไรมากนัก ลูกศิษย์ลูกหาได้อ้อนวอนขอให้ท่านสร้างวัตถุมงคลเพื่อจะได้เก็บไว้บูชา และไว้ป้องกันตัวจากเหตุโพยภัยต่างๆ ท่านจึงได้เริ่มปลุกเศกเครื่องรางของขลังแจกให้กับผู้ที่เลื่อมใสในตัวท่าน
 

หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ สหมิกธรรมของหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

       จากการที่ท่านชอบธุดงค์จนเป็นกิจวัตรนี่เองทำให้ท่านได้รู้จักกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือเมื่อคราวออกธุดงค์ไปศึกษาวิชากับหลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า จนทำให้ท่านทั้ง ๒ เป็นสหมิกธรรมกันเรื่อยมา

        หลวงพ่อชุ่ม ท่านได้เริ่มอาพาธประกอบกับย่างเข้าวัยชราไม่ได้พักผ่อนเท่าใดนัก จึงมีอาการทรุดหนักลงในเร็ววัน คณะศิษย์และผู้เคารพนับถือได้ร่วมกันรักษาพยาบาลอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถทำให้อาการทุเลาลงได้ จนกระทั่งวันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เวลาตีสี่ครึ่ง ท่านจึงได้มรณภาพด้วยอาการสงบ คำนวนอายุได้ ๗๗ ปี พรรษา ๕๗

        ทางคณะศิษย์ได้เก็บสรีระของท่านไว้ เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ไกลๆได้มาเคารพ ถึงกำหนดประชุมเพลิงในเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ในงานประชุมเพลิง​มีเรื่องอัศจรรย์​เกิดขึ้นกับสรีระ​ของหลวงพ่อชุ่ม​ นั้นมิได้เน่าเปื่อยเลย.
 

วัตถุมงคลของหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

          เหรียญแสตมป์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (จับเงา)

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔  ลักษณะเป็นแผ่นภาพอลูมิเนียมสกรีนรูปท่าน ๒ แผ่น ขนาดเล็กประกบกัน โดยมีการสั่งทำจากประเทศญี่ปุ่น สร้างขึ้นเพื่อแจกแก่ญาติโยมที่ช่วยเหลือกิจการของวัด และตอบแทนกับผู้ที่บริจาคทรัพย์ สร้างอุโบสถวัดใหม่ต้นกระทุ่ม 

ภาพถ่ายพระอุโบสถวัดใหม่ต้นกระทุ่ม ที่หลวงพ่อชุ่มเป็นผู้สร้าง
ภาพถ่ายพระอุโบสถวัดใหม่ต้นกระทุ่ม ที่หลวงพ่อชุ่มเป็นผู้สร้าง

          จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุแน่ชัด บ้างก็ว่าสร้างจำนวนไม่เกิน ๒,๐๐๐ เหรียญ ชาวบ้านมักเรียกว่าเหรียญแสตมป์ หรือเหรียญจับเงา (เหรียญที่พบถมมักหลุดร่อนซีดจางไปตามกาลเวลา แต่ก็มีพวกพ่อค้าหัวใสใช้กีวีสีดำหรือหมึกดำทาลงไปบนเหรียญให้ปรากฏภาพของหลวงพ่อที่ชัดเจนขึ้นก็มี )

เหรียญแสตมป์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
เหรียญแสตมป์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ปี ๒๔๘๔ (จับเงา)

เหรียญแสตมป์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
เหรียญแสตมป์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ปี ๒๔๘๔ (จับเงา)

          ด้านหน้า เป็นลักษณะตะแกรงลงถมเป็นรูปหลวงพ่อชุ่มหน้าตรงครึ่งองค์ มีอักษรขอม ๔ ตัวที่มุมเหรียญอ่านว่า "นะ มะ พะ ทะ" (หัวใจธาตุ)  ด้านล่างองค์ท่านมีคำว่า "ชุ่ม" 

          ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตารางมงคลเก้าตามแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของท่าน (ยันต์ครู)  มุมทั้ง ๔ ด้านของแผ่นภาพเขียนอ่านได้ ว่า "อุด อัด ปัด ปิด" ด้านล่างของตารางยันต์มีภาษาขอม อ่านได้ว่า "กิริมิทิ กึรึมึทึ กุรุมุทุ​ เกเรเมเท" 

          เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก 

          สร้างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ลักษณะเป็นเหรียญใบสาเกแบบมีหูในตัวขนาดกว้าง ๒ เซน สูง ๓ เซน  สำหรับแจกแก่ญาติโยมที่ช่วยเหลือกิจการของวัดหรือบริจาคทรัพย์ ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า เหรียญ ๘๖ หรือเหรียญตะพาบ ถือเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อชุ่ม เหรียญรุ่นนี้มีบล็อกหน้าแค่บล็อกเดียว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองฝาบาตร เนื้อทองเหลือง เนื้อทองขาว(อัลปาก้า) และเนื้อทองแดง แบ่งออกได้เป็น

          รุ่น ๑ (บล็อกอุยาว หรืออุตั้ง) จัดสร้างครั้งแรกด้วย

          เนื้อเงินพดด้วง จำนวนการสร้าง ๓ เหรียญ (หลวงพ่อป้อม สมัยเป็นพระลูกวัด ให้ช่างสร้างพิเศษเพื่อเก็บไว้ใช้เอง) ถือเป็นเหรียญที่หายากของหลวงพ่อชุ่ม

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก เนื้อเงิน 2486
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก ปี ๒๔๘๖ บล็อก อุ เนื้อเงิน จากเพจวัตถุมงคลหลวงพ่อชุ่มฯ

          เนื้อทองเหลือง จำนวนจากคำบอกเล่าของหลวงพ่อป้อมเจ้าอาวาสรูปถัดมา เล่าว่ามีการสร้างประมาณ ๕,๐๐๐ เหรียญและจ่ายให้กับผู้ที่ร่วมทำบุญหรือตามแต่หลวงพ่อชุ่มจะเห็นสมควร ต่อมาผู้ที่นำไปใช้ต่างมีประสพการณ์ต่างๆมากมาย จึงมีคนเดินทางมาขอไปบูชา และหมดไปอย่างรวดเร็ว

เหรียญหลวงพ่อชุ่มวัดราชคามรุ่นแรกเนื้อทองเหลือง2486-บล็อกแรก
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก ปี ๒๔๘๖ บล็อก อุ เนื้อทองเหลือง

          รุ่น ๒ (บล็อกอุยาว หรืออุตั้ง) ต่อมาเมื่อเหรียญรุ่นแรกหมดลงจึงมีการสร้างเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้อทองขาว(อัลปาก้า) จำนวนการสร้าง ๘,๐๐๐ เหรียญ (ด้านหน้าและด้านหลังมักมีกลาก)
 
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก ปี ๒๔๘๖ บล็อก อุ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรกนิยม
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก ปี ๒๔๘๖ บล็อก อุ เนื้ออัลปาก้า

          รุ่น ๓ (บล็อกจุด หรือ อุนอน)   และเมื่อเหรียญรุ่น ๒ หมดลงได้มีการสร้างอีกครั้ง โดยใช้แม่พิมพ์ด้านหน้าอันเดิม แต่ด้านหลังที่มีการชำรุด จึงได้ให้ช่างทำการแกะบล็อกหลังขึ้นมาใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้อทองขาว(อัลปาก้า) จำนวนการสร้าง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ (ด้านหน้ามีกลาก)

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก บล็อกจุด ปี ๒๔๘๖ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นแรก บล็อกจุด ปี ๒๔๘๖ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อชุ่มหน้าตรงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดสังฆาฎิ ด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่มเจ้าคณะหมวด" ใต้องค์ท่านระบุปี พ.ศ. "๒๔๘๖" มีอักษรขอม ๔ ตัวที่มุมเหรียญอ่านว่า "นะ มะ พะ ทะ" (หัวใจธาตุ) จุดสังเกตุตัว ม.ม้า ในคำว่าชุ่ม ตัวม้วนจะบี้เหมือนกัน เพราะเหรียญมีบล็อกหน้าตัวเดียว

          ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตารางมงคลเก้าตามแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของท่าน(ยันต์ครู)  มุมทั้ง ด้านของแผ่นภาพเขียนอ่านได้ ว่า "อุด อัด ปัด ปิด" ด้านล่างของตารางยันต์มีภาษาขอม อ่านได้ว่า "กะระมะทะ กิริมิทิ กึรึมึทึ​ กุรุมุทุ​ เกเรเมเท"

           แหวนหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

          สร้างขึ้นใปี พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยออกพร้อมหรียญรุ่นแรก ซึ่งหลวงพ่อชุ่มได้มีการจัดวัตถุมงคลเป็นแหวนรูปท่าน มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ(หัวแหวนหายาก) ทองแดงและทองขาว(อัลปาก้า) จำนวนรวมกันประมาณ ๔,๐๐๐ วง

แหวนหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
แหวนและหัวแหวนหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ปี ๒๔๙๔

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อชุ่มหน้าตรงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดสังฆาฎิ ด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่มเจ้าคณะหมวด" ในบางวงใต้องค์หลวงพ่อมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่ม" และบางวงเหนือองค์หลวงพ่อมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่ม"

          ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ

          ตะกรุด ๗ ดอก หลวงพ่อชุ่ม  

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยประกอบไปด้วยเนื้อเงิน ทองเหลืองและทองแดง แต่ละดอกยาวประมาณ ๖ เซนติเมตร ลงอักขระเลขยันต์ปลุกเสกแล้วม้วนกลมร้อยเชือกขาวขวั้นเชือกกำกับแต่ละดอก จนครบทั้ง ๗ ดอก จึงขมวดปลายทั้ง ๒ ด้าน ตะกรุด ๗ ดอกของหลวงพ่อชุ่มสร้างไว้จำนวน ๕๐๐ เส้น

          เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นสอง

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในวาระที่หลวงพ่อชุ่ม ทำบุญอายุครบ ๖ รอบ (๗๒ ปี) ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว ขนาดกว้าง ๑.๕ สูง ๒.๕ เซน มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง เนื้อทองขาว และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๖,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญรูปไข่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นสอง เนื้อทองเหลือง ปี 2494
เหรียญรูปไข่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นสอง เนื้อทองเหลือง ปี ๒๔๙๔

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
เหรียญรูปไข่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นสอง เนื้ออัลปาก้า ปี ๒๔๙๔
หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
เหรียญรูปไข่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รุ่นสอง เนื้อทองแดง ปี ๒๔๙๔

           ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดสังฆาฎิ ด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูชุ่มเจ้าคณะหมวด" ใต้องค์ท่านระบุปี พ.ศ. "๒๔๙๔" 

           ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ มีอุนาโลมบนยอดยันต์ ๓ ตัว ภายในยันต์มีอักขระขอม ๕ตัวประกอบด้วย "นะ โม พุทธ ทา ยะ" ด้านล่างของยันต์มีอักขระขอม
 
          รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

           สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ คณะศิษยานุศิษย์หลายจังหวัดและผู้เลื่อมใสในตัวหลวงพ่อชุ่ม ได้มีมติที่จะกระทำการตั้งพิธีหล่อรูปปฏิมากรขนาดเท่าองค์จริงของหลวงพ่อชุ่ม(กำหนดหล่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๘)  จึงได้มีการสร้างรูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม ขนาดเล็กหน้าตักประมาณ ๑ นิ้วขึ้น เพื่อสมนาคุณสำหรับผู้รวมทำบุญบริจาคทรัพย์ในการหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อชุ่มองค์ใหญ่เท่าองค์จริง

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
รูปหล่อหลวงพ่อชุ่มขนาดเท่าองค์จริง เทหล่อเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

          สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง อุดกริ่งที่ใต้ฐานปิดทับด้วยทองแดง จำนวนการสร้าง ๑,๑๑๐ องค์ โดยในการสร้างครั้งแรกนั้น ช่างที่กรุงเทพฯได้ สร้างตัวอย่างมาถวายให้หลวงพ่อเลือกจำนวน ๑๐ องค์ (ภายหลังแจกให้แก่กรรมการวัด)โดยทั้ง ๑๐ องค์มีการตกแต่งมาเรียบร้อยแล้ว

            แต่ด้วยการสร้างแล้วแต่งองค์พระทีละองค์ ทำให้เสียเวลาคณะลูกศิษย์กลัวว่าจะสร้างไม่ทันวันงานหล่อรูปหลวงพ่อเท่าองค์จริง รวมทั้งต้นทุนที่แพงเกินไปจึงไม่ได้ผลิตออกมา แต่ได้เลือกเอาพระที่หล่อเสร็จแล้วไม่ได้ตกแต่ง แต่ให้รมดำมาทดแทน และได้ตอกโค๊ตอักษรใต้ฐานว่า "พระครูชุ่ม"  (บางองค์ตอกด้านหน้าที่ฐานก็มี) ซึ่งต้องสังเกตให้ดีเพราะเป็นข้อพิจารณาพระเก๊-แท้ได้เป็นอย่างดี ส่วนพระที่ไม่ได้ตอกก็มีเช่นกันแต่มีจำนวนน้อยแค่ ๑๐๐ องค์โดยประมาณ เนื่องจากหลังจากสร้างเสร็จได้มีการออกให้บูชาไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ตัวตอกยังดำเนินการส่งมาไม่ถึงและพระชุดนี้ได้ออกให้บูชาไปก่อนแล้ว

           ด้านพุทธคุณโดดเด่นด้านมหาอุตย์ คงกระพันชาตรี เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่ได้ครอบครองจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งคุ้งน้ำว่า "มหาอุตย์แห่งวัดราชคาม" ปัจจุบันถือเป็นวัตถุมงคลที่น่าแสวงหาที่สุดชิ้นหนึ่ง

          นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างรูปหล่อพระพุทธชินราชอีกด้วย พระพุทธชินราช สร้างด้วยทองเหลืองแบบเดียวกับรูปหล่อหน้าตัก ๑ นิ้ว ลักษณะรูปหล่อพระพุทธชินราชคล้ายของที่วัดสุทัศน์สร้าง ขนาดไล่เรี่ยกันแต่ของวัดราชคามช่างแต่งองค์พระเห็นรอยตะไบชัดและพิมพ์องค์พระก็ชัดเจนมีจำนวน ๕๐๐ องค์

รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ปี ๒๔๙๗

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ปี ๒๔๙๗ องค์กลางล่างพิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๐

รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
โค้ด "พระครูชุ่ม" และรอยอุดกริ่งด้วยทองแดง รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ปี ๒๔๙๗

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อชุ่ม ในลักษณะของรูปหล่อลอยองค์ประทับนั่งสมาธิบนฐานเขียง ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิเฉียง ในบางองค์มีการตอกโค้ด "พระครูชุ่ม" ที่ฐานเขียงก็มี

          ด้านหลัง เห็นสังฆาฏิ และรอยจีวรอย่างชัดเจน

          ใต้ฐาน  ตอกโค้ด "พระครูชุ่ม" ตรงกลางเยื้องไปด้านหลังมีรอยอุดด้วยทองแดงอย่างเห็นได้ชัด เป็นรอยอุดเม็ดกริ่งและผงพุทธคุณไว้ด้านใน ในองค์ที่กริ่งไม่ดังหรือกริ่งขัด เพราะการใส่ผงเยอะเกินไปก็มี โดยมีทั้งแบบเจียจนค่อนข้างเรียบแบบในภาพ (พบเจอน้อย) แบบตะไบละเอียด และแบบตะไบหยาบ (เข้าใจว่าช่างน่าจะเร่งงาน)

          ผ้ายันต์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อแจกในงานหล่อพระรูปเหมือนเท่าองค์จริง ในวันศุกร์ที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยทางวัดราชคามได้มีการจัดสร้างผ้ายันต์นางกวัก (ยันต์ชายธง) เพื่อแจกให้เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่มาร่วมงาน โดยมีทั้งที่ทำจากผ้าและที่ทำจากกระดาษ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ผ้ายันต์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
ผ้ายันต์ธง สร้างแจกในงานหล่อรูปหล่อเท่าองค์จริง ปี ๒๔๙๘ ทำจากผ้าลินิน

ผ้ายันต์หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
ผ้ายันต์ธง สร้างแจกในงานหล่อรูปหล่อเท่าองค์จริง ปี ๒๔๙๘ ทำจากกระดาษ

           ลูกอมหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
 
           สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นลูกอมสร้างด้วยผงวิเศษที่เหลือจากการบรรจุในรูปหล่อใหญ่ขนาด ๑ นิ้วของหลวงพ่อชุ่ม ได้นำมาผสมกับว่าน ๑๐๘ ทำพิธีปลุกเสกและปั้นกลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เซนติเมตร จำนวนค่อนบาตร เนื่องจากลูกอมนี้ถ้าถูกน้ำจะละลาย หลวงพ่อชุ่มจึงมิได้นำออกแจกแก่ประชาชนพร้อมรูปหล่อ แต่ได้เก็บไว้ตั้งแต่ปลุกเสกเสร็จ (มีนาคม ๒๔๙๘) เพื่อรอให้แกร่งและแห้งสนิทกว่าขณะทำเสร็จใหม่ๆ แต่ก็ได้มีผู้ไปขอติดตัวบ้าง 

           ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านได้นำเข้าปลุกเสกอีกตลอดทั้งไตรมาสเพื่อออกพรรษาจะได้นำออกแจกแก่ผู้มาทำบุญวันออกพรรษา แต่เมื่อออกพรรษาท่านก็ได้มรณภาพ หลวงพ่อป้อม เจ้าอาวาสรูปถัดมาจึงได้เก็บรักษาไว้ โดยมิได้แจกจ่ายมาจนปัจจุบัน ท่านกล่าวว่า "ตั้งใจจะลงรักปิดทองให้เรียบร้อยก่อนเพราะถ้าแจกไปแบบเดิมก็จะไม่มีเหลือเพราะใช้เป็นยาวิเศษฝนผสมน้ำกินแก้โรคภัยไข้เจ็บได้วิเศษยิ่ง"

          รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม พิมพ์เล็ก
 
          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางวัดราชคามได้มีการจัดสร้างรูปหล่อหลวงพ่อชุ่มขนาดเล็ก ใต้ฐานตอกโค้ด "พระครูชุ่ม" และอุดกริ่งด้วยทองแดงเหมือนรูปหล่อใหญ่ ชาวบ้านเรียกติดปากว่า "หล่อเล็ก" โดยพระอธิการป้อม เจ้าอาวาสรูปถัดมาได้ว่าจ้างโรงหล่อในจังหวัดราชบุรีหล่อขึ้น 

          จำนวนไม่เป็นที่แน่ชัด(ประมาณ ๕๐๐ องค์) เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่มาร่วมในงานประชุมเพลิงในเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐โดยเกจิที่ร่วมทำการปลุกเก ประกอบไปด้วยหลวงพ่อเชย หลวงพ่อเม้ย หลวงพ่อเจียง ฯลฯ จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อป้อมได้เล่าว่าในพิธีปลุกเสกได้มีการโยงสายสิญย์จากโลงบรรจุศพของหลวงพ่อชุ่มด้วย


หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
รูปหล่อเล็ก หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
ใต้ฐานรูปหล่อเล็กหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม อุดด้วยทองแดง มีโค้ด "พระครูชุ่ม"

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อชุ่ม ในลักษณะของรูปหล่อลอยองค์ประทับนั่งสมาธิบนฐานเขียง ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิเฉียง

          ด้านหลัง เห็นสังฆาฏิ และรอยจีวรอย่างชัดเจน

          ใต้ฐาน  มีการตอกโค้ด "พระครูชุ่ม" ตรงกลางเยื้องไปด้านหลังมีรอยอุดด้วยทองแดงอย่างเห็นได้ชัด เป็นรอยอุดเม็ดกริ่ง

ด้านพุทธคุณ​
 
          หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม เป็นพระเถระที่สำคัญประจำจังหวัดราชบุรีมีชื่อเสียงโด่งดัง อิทธิวัตถุของท่านเป็นที่นิยมกันในท้องถิ่นและที่อื่นๆ ราคาการแลกเปลี่ยนอยู่ในเกณฑ์สูง สมัยก่อนวัตถุมงคลที่ออกจากวัดมีราคาสูงโดยเฉพาะตะกรุด ๗ ดอกโดยแจกแก่ผู้ร่วมทำบุญ ๑๐๐ บาทขึ้นไป ผู้คนจึงนิยมรูปหล่อและเหรียญกันมากกว่า และที่เหลืออยู่โดยมิได้แจกกันมาก่อนคือลูกอม


หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
รูปถ่ายเก่าบนศาสาการเปรียญของหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

          ของดีของหลวงพ่อชุ่มที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือรูปหล่อหน้าตัก ๑ นิ้วที่สร้างปี พ.ศ. ๒๔๙๗ รองลงมาคือเหรียญทุกๆรุ่น ความนิยมเกิดจากความเคารพเลื่อมใสในวิชา อาคมของหลวงพ่อชุ่ม ประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งคือประสบการณ์ของผู้ที่ได้รับของดีนั้นๆ แล้วพบกับเหตุการณ์มหัศจรรย์มาแล้วจึงเล่าต่อๆกันมา.
               
          สำหรับรูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม พิมพ์ใหญ่ถือเป็นพระเครื่องรุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อชุ่ม ที่มีพุทธคุณ โดดเด่น ทั้งในด้านคลาดแคล้ว คงกระพัน เป็นที่หวงแหนของชาวบ้านในพื้นที่บางคนถึงขนาดที่เจ้าของบางคนไม่ยอมให้คนแปลกหน้าได้ดูได้ชม ด้วยซ้ำไป ด้วยพุทธคุณที่โดดเด่นด้านคงกระพัน ชาตรี คลาดแคล้ว จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทั้งคุ้งน้ำ ขนาดที่เล่ากันว่าใครเอาปืนมาลองกับรูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รับรองได้ว่า "๑ แซะ ๒ แซะ ๓ กระบอกปืนแตก" ทำให้วงการพระเครื่องให้การยอมรับและเรียกกันติดปากว่า "มหาอุดแห่งวัดราชคาม" และเป็นที่แสวงหาของคนทั่วไป

          สมัยก่อนเจ้าพ่อกังวาน  วีระนนท์  แห่งคลองบางนกแขวก ถือเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างที่สุด ขนาดเวลาที่เด็กร้องไห้งอแง คนโบราณทั่วๆไปมักนิยมขู่เด็กว่าตำรวจมาให้หยุดร้อง แต่คนย่านบางนกแขวงและระแวงใกล้เคียงจะขู่เด็กว่า เจ้าพ่อกังวานมา! เด็กรายไหนรายนั้นจะหยุดร้องไห้ทันที เจ้าพ่อกังวานผู้นี้นับถือหลวงพ่อชุ่มเป็นอย่างมากก็ได้อาศัยรูปหล่อหลวงพ่อชุ่มนี่แหละ กำบังตนให้รอดพ้นจากสายตาของตำรวจกองปราบ   ซึ่งบุกเข้ามาจับถึงในบ้าน  แต่หาตัวเจ้าพ่อไม่พบอย่างน่าอัศจรรย์ใจ  ทั้ง ๆ ที่เจ้าพ่อก็ตกใจยืนตัวแข็งท่องนะโมอยู่กลางบ้าน 
"ในคอเจ้าพ่อแขวนรูปหล่อหลวงพ่อชุ่มรุ่นนี้องค์เดียวเอง".

          อีกหนึ่งเหตุการณ์จ่าเฉื่อย เต็มเปี่ยม รับราชการเป็นตำรวจ ครั้งหนึ่งได้ออกล้อมจับปราบโจรที่ก่อเหตุปล้นทรัพย์ ได้ถูกคนร้ายที่มีปืนกรน ยิงกราดมาถูกที่ต้นขา ทั้ง ๒ ข้าง ล้มกลิ้ง แต่ตัวจ่าเฉื่อย กลับไม่เป็นอะไรเลย มีแต่เพิียงรอยช้ำเป็นจุดๆเท่านั้น ในคอจ่าเฉื่อยห้อยรูปหล่อ พิมพ์ใหญ่เพียงองค์เดียวเท่านั้น.

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

1 ความคิดเห็น:

  1. หนึ่งในการการเดินธุดงค์ของหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (คัดลอกมาจากหนังสืองานปิดทองวัดราชคาม)

    ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคามได้เดินธุดงค์ไปกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ และพระภิกษุอีกรูป(จำชื่อไม่ได้) ทั้ง ๓ องค์เดินทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมุ่งสู่จังหวัดกาญจนบุรี ติดต่อกับชายแดนของพม่า

    ซึ่งใช้เวลาเดินทางกันมาแรมเดือน เมื่อถึงกำหนดที่ต้องอยู่จำพรรษาตามพระวินัยบัญญัติ ทั้ง ๓ องค์ ได้ตกลงกันว่าจะขอกำหนดจำพรรษา ณ ที่ถ้ำ ๆ หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเขตไทยและพม่า ถ้ำที่กล่าวนี้ ชาวบ้านเรียกว่า "ถ้ำมะละแหม่ง"

    เมื่อทั้ง ๓ เข้าไปในถ้ำก็ได้พบกับหลวงปู่ผู้ชรารูปหนึ่งอยู่จำพรรษาก่อนแล้ว จึงขออนุญาติจำพรรษาด้วย หลวงปู่ท่านก็อนุญาติด้วยความยินดี แล้วทั้ง ๓ ก็มอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาจิตตภาวนาและวิทยาคมจากหลวงปู่

    ซึ่งท่านก็รับเป็นศิษย์ด้วยจิตเมตตา ตลอดพรรษาเวลา ๓ เดือน ทั้ง ๓ ท่านได้ตั้งใจรับการถ่ายทอดวิชาการปฏิบัติทางจิตและวิทยาคมต่างๆ จากหลวงปู่ผู้ชราอย่างเต็มที่ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่

    ซึ่งเหตุที่เกิดศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงปู่ก็คือ คืนแรกที่ได้เข้าจำพรรษาในถ้ำนั้น พอรุ่งขึ้นทั้ง ๓ ก็เตรียมตัวบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรของภิกษุทั้งหลาย

    แต่พอหลวงปู่เห็นก็บอกว่าทั้ง ๓ ไม่ต้องออกบิณฑบาตรหรอก หลวงปู่จะบิณฑบาตรนำอาหารมาเลี้ยงเอง ทั้ง ๓ จึงปฏิบัติภาระกิจด้วยการทำความสะอาดปัดกวาดที่พัก

    ซักครู่หลวงปู่ก็กลับมาที่ถ้ำพร้อมอาหารคาวหวานและผลหมากรากไม้ มีจำนวนพอที่จะทำภัตตกิจได้ทั้ง ๔ องค์

    ซึ่งทั้ง ๓ คิดเพียงในใจตรงกันว่า หลวงปู่ผู้ชรานี้ต้องมีอิทธิปาฏิหารย์อย่างแน่นอน เพราะว่าบริเวณใกล้ๆ ถ้ำนั้นไม่มีหมู่บ้านให้เห็นเลย หลวงปู่ออกไปบิณฑบาตรเพียงครู่ก็กลับมาพร้อมอาหารอันเพียงพอ

    เมื่อถึงกำหนดปวารณาออกพรรษา ภิกษุทั้ง ๓ ก็กระทำปวารณา เมื่อผ่านไปไม่กี่วัน หลวงปู่ก็เรียกหาให้เข้าพบและบอกว่า ถึงกำหนดเวลาแล้วให้ท่านทั้ง ๓ จะต้องเดินธุดงค์ต่อไปเพื่อศึกษาหาความรู้จากผู้อื่น ขอให้ธุดงค์ไปทางทิศเหนือแล้วจะได้รับการศึกษาเพิ่มเติมตามที่ต้องการ แต่ระหว่างเดินทางขอให้ระวังอย่าได้ประมาท

    เมื่อกราบนมัสการลาแล้วทั้ง ๓ ก็ได้ธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ บางครั้งเจอหมู่บ้านป่า บางครั้งก็อิ่ม บางครั้งก็อด ธุดงค์เป็นเวลาแรมเดือนก็เข้าเขตติดต่อระหว่างกาญจนบุรีกับชัยนาท ขณะที่ธุดงค์ระหว่างทางทั้ง ๒ จังหวัด ภิกษุองค์ที่ไม่ทราบชื่อก็ป่วยเป็นไข้ป่าอย่างรุ่นแรก และมรณภาพลงในที่สุด

    หลวงพ่อชุ่ม และหลวงพ่อรุ่ง ไม่สามารถช่วยได้และได้ทำการเผากันในป่านั่นเอง เสร็จแล้วเก็บกระดูกห่อผ้าติดตัวมาด้วย จากนั้นทั้ง ๒ จึงเดินทางเข้าสู่จังหวัดชัยนาท (ไปเรียนวิชากับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าต่อไปอย่างที่ทราบกัน).

    ตอบลบ

ค้นหาบล็อกนี้