วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ไขข้อข้องใจ รูปหล่อใหญ่(หล่อโบราณ) หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม เก๊-แท้ ดูตรงไหน?

ภาพถ่ายเก่าหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ราชบุรี

ชี้ตำหนิ รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม พิมพ์ใหญ่

         รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม พิมพ์ใหญ่ถือเป็นพระเครื่องรุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อชุ่ม ที่มีพุทธคุณ โดดเด่น ทั้งในด้านคลาดแคล้ว คงกระพัน เป็นที่หวงแหนของชาวบ้านในพื้นที่บางคนถึงขนาดที่เจ้าของบางคนไม่ยอมให้คนแปลกหน้าได้ดูได้ชม ด้วยซ้ำไป ด้วยพุทธคุณที่โดดเด่นด้านคงกระพัน ชาตรี คลาดแคล้ว จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทั้งคุ้งน้ำ

         ขนาดที่เล่ากันว่าใครเอาปืนมาลองกับรูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รับรองได้ว่า "๑ แซะ ๒ แซะ ๓ กระบอกปืนแตก" ทำให้วงการพระเครื่องให้การยอมรับและเรียกกันติดปากว่า "มหาอุดแห่งวัดราชคาม" และเป็นที่แสวงหาของคนทั่วไปขนาดหลวงพ่อเชย วัดเกาะลอย ยังเดินลัดทุ่งนามาที่วัดราชคาม เพื่อมาขอรูปหล่อพิมพ์ใหญ่ของหลวงพ่อชุ่มไปบูชา

ภาพถ่ายเก่าศาลาการเปรียญวัดราชคาม สร้างในสมัยหลวงพ่อชุ่ม

         สมัยก่อน  เจ้าพ่อกังวาน  วีระนนท์  แห่งคลองบางนกแขวก ถือเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างที่สุด ขนาดเวลาที่เด็กร้องไห้งอแง คนโบราณทั่วๆไปมักนิยมขู่เด็กว่าตำรวจมาให้หยุดร้อง แต่คนย่านบางนกแขวงและระแวงใกล้เคียงจะขู่เด็กว่า เจ้าพ่อกังวานมา! เด็กรายไหนรายนั้นจะหยุดร้องไห้ทันที

         เจ้าพ่อกังวานผู้นี้นับถือหลวงพ่อชุ่มเป็นอย่างมากก็ได้อาศัยรูปหล่อหลวงพ่อชุ่มนี่แหละ กำบังตนให้รอดพ้นจากสายตาของตำรวจกองปราบ   ซึ่งบุกเข้ามาจับถึงในบ้าน  แต่หาตัวเจ้าพ่อไม่พบอย่างน่าอัศจรรย์ใจ  ทั้ง ๆ ที่เจ้าพ่อก็ตกใจยืนตัวแข็งท่องนะโมอยู่กลางบ้าน 
"ในคอเจ้าพ่อแขวนรูปหล่อหลวงพ่อชุ่มรุ่นนี้องค์เดียวเอง"

ภาพเขียนหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ในผนังพระอุโบสถหลังเก่า

         อีกหนึ่งเหตุการณ์ จ่าเฉื่อย เต็มเปี่ยม รับราชการเป็นตำรวจ ครั้งหนึ่งได้ออกล้อมจับปราบโจรที่ก่อเหตุปล้นทรัพย์ ได้ถูกคนร้ายที่มีปืนกรน ยิงกราดมาถูกที่ต้นขา ทั้ง ๒ ข้าง ล้มกลิ้ง แต่ตัวจ่าเฉื่อย กลับไม่เป็นอะไรเลย มีแต่เพียงรอยช้ำเป็นจุดๆเท่านั้น ในคอจ่าเฉื่อยห้อยรูปหล่อ พิมพ์ใหญ่เพียงองค์เดียวเท่านั้น

พระอุโบสถหลังเก่าของวัดราชคาม สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สมัยหลวงพ่อชุ่ม


         รูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม พิมพ์ใหญ่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ จัดเป็นพระเครื่องที่มีกรรมวิธีการสร้างแบบหล่อโบราณแบบเบ้าประกบ โดยการใช้การถอดพิมพ์จากหุ่นเทียนทีละองค์ ในครั้งแรกช่างจะมีการปั้นแบบขึ้นมา ๑ องค์ หลังจากนั้นช่างได้ทำการถอดพิมพ์และแต่งพิมพ์เพื่อเก็บรายละเอียด และเพื่อให้ได้แม่พิมพ์หุ่นเทียน ที่มากพอกับจำนวนการจัดสร้าง

         จึงทำให้รูปหล่อหลวงพ่อชุ่มมีแม่พิมพ์ที่ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งหน้าเล็ก หน้าใหญ่ (ตามแต่ละเรียก) โดยหน้าตาของรูปหล่อจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าแม่พิมพ์นั้นถอดและช่างแต่งพิมพ์มาอย่างไร บางพิมพ์นิ้วหัวแม่เท้าของหลวงพ่อยื่นออกมาอย่างชัดเจน บางพิมพ์ก็เรียบ แต่หลักการดูรูปหล่อพิมพ์ใหญ่ ของหลวงพ่อชุ่มให้ดูที่

         ๑. ใต้ฐานพระมีการตอกคำว่า "พระครูชุ่ม" หรือไม่ โดยใต้ฐานองค์พระต้องเป็นตัวตอกเท่านั้น!! หากเป็นตัวอักษรที่หล่อมากับพระให้สัญนิฐานได้เลยว่า ไม่ทัน(ในที่นี้จะไม่พูดว่าพระเก๊นะครับ) โดยการตอกอาจจะไม่ติดชัดทุกตัวอักษรแต่ตัวที่มักจะติดชัดสุดคือตัว "ม" (ผู้เขียนเคยเจอองค์ที่ตอกติดแค่ตัว "พ" ก็มี) ซึ่งจะต้องลึกกว่าตัวอื่นๆ

โค้ด "พระครูชุ่ม" แบบตอก ของรูปหล่อใหญ่-หล่อเล็ก หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

โค้ดเก๊พระครูชุ่ม
โค้ดเก๊ ย้ำว่า โค้ดเก๊  "พระครูชุ่ม" หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม

ฐานอุดทองแดง รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (ตะไบค่อนข้างละเอียด)

โค้ดและรอยอุดด้วยทองแดง รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (ตะไบหยาบ)

โค้ดและรอยอุดด้วยทองแดง รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม (แบบเจียเรียบ)

         ๒. ใต้ฐานพระที่จะต้องมีร่องรอยแต่งตะไบ บางองค์หยาบ บางองค์ละเอียด (ในบางองค์จะเจียเรียบมีรอยตะไบนิดหน่อย ซึ่งหาได้ยาก) การเจาะเพื่ออุดกริ่ง และปิดทับทองแดงเท่านั้น!! จะมีโค้ดหรือไม่มีก็ได้ เพราะพระหลายๆองค์แจกไปก่อนที่ตัวตอกจะดำเนินการส่งมาถึง (บางก็ว่าประมาณ ๑๐๐ องค์ที่ไม่ตอก) **หากเป็นพระแท้ที่ไม่ตอกคำว่า "พระครูชุ่ม" นั่นแปลว่าหายาก จงเก็บไว้ให้ดี**

 รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ปี ๒๔๙๗

         ๓. หน้าตาพระของหลวงพ่อชุ่ม สามารถแบ่งออกเป็นหลายๆแบบ ตามแต่จะเรียกกัน ทั้งหน้าใหญ่ หน้าเล็ก ซึ่งเกิดจากการแต่งพิมพ์พระของช่างแบบพระหล่อโบราณที่มักจะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกันทุกองค์ ให้สังเกตุที่ช่วงปากในองค์ที่ไม่ค่อยสึกจะต้องเห็นปากที่มีริมฝีปากบน-ล่าง อย่างชัดเจน

         ๔. ของแท้จะมีขนาดใหญ่กว่าของถอดพิมพ์หรือรุ่นหลังๆ อย่างชัดเจน ในบางองค์จะมีขนาดล่ำใหญ่หนากว่ากันนิดหน่อย  ซึ่งเกิดจากช่างแต่งพิมพ์พระแบบพระหล่อโบราณ ซึ่งจะไม่เหมือนกัน แต่ถ้าวัดจากขอบฐานด้านบนถึงบริเวณหัวไหล่ของหลวงพ่อจะสูงเท่ากันเสมอ

เนื้อพระเขียวอมเหลือง มีริมฝีปากบน-ล่าง  รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ไม่รมดำ

         ๕. เนื้อพระจะเป็นเนื้อเหลืองอมเขียว แบบพระหล่อสมัยเก่าๆ ในองค์ที่ไม่ถูกใช้จะมีดินไทยติดตามซอกพระ ส่วนองค์ที่ถูกใช้เนื้อจะจัดมาก บางองค์มีผิวน้ำทองกระจายเป็นเกร็ดไปตามซอกองค์พระ

         จุดสังเกตุเบื้องต้นทั้ง ๕ ข้อถือเป็นจุดตายที่สามารถแยกพระเก๊-แท้ ได้อย่างชัดเจนควรศึกษาให้ขึ้นใจ หากไม่รู้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง

         ค่านิยม : ในการเล่นหาค่านิยมขององค์ที่มีความสวยเท่าๆกัน องค์ที่ตอกคำว่า "พระครูชุ่ม" จะมีราคาแพงกว่าองค์ที่ไม่ตอก (อาจเพราะสามารถแยกเก๊-แท้ ได้ง่าย) จากประสบการณ์ของผู้เขียนเคยเห็นและผ่านตาพระแท้ที่ไม่ตอก แค่ ๔ องค์ หนึ่งในนั้นเจ้าของเป็นคนคลองตาจ่า หวงแหนมาก เป็นมรดกตกทอดกันมาในตระกูลจากรุ่นปู่-ย่า

         ฉนั้นหากท่านใดได้มีโอกาสครอบครองรูปหล่อพิมพ์ใหญ่ จงเก็บรักษาให้ดี ด้วยจำนวนการสร้างที่น้อย การหมุนเวียนในสนามก็น้อย ลืมบอกไปมีผู้นิยมพระสายแม่กลองหลายๆท่าน ซุ่มเก็บรูปหล่อใหญ่กันเยอะมาก ฉนั้นหากท่านมีโอกาสพบเจอ อย่าปล่อยให้หลุดมือไปเด็ดขาด ของแท้หายากจริงๆ

ริมฝีปากบน-ล่าง  รูปหล่อใหญ่หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม รมดำ มีดินไทย (หน้านี้หายาก)


         อีกจุดที่น่าสนใจคือรูปหล่อใหญ่ของหลวงพ่อชุ่ม ในองค์ที่ไม่ผ่านการใช้ ให้สังเกตุตามซอกจะมีดินไทยติดตามชอกขององค์พระทำให้ดูง่าย นอกจากนี้การรมดำของรูปหล่อหลวงพ่อชุ่ม จะมีด้วยกัน ๒ แบบ คือแบบที่รมดำแบบหนาสนิทไม่หลุดลอกง่ายๆ(ออกหนา)  กับอีกแบบที่รมดำบางๆ ซึ่งถ้าโดนเหงื่อหรือสัมผัสบ่อยๆ รมดำนี้จะหลุดลอกออกไปได้อย่างง่าย.


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง


บทความที่เกี่ยวข้อง  :


***- [กรุณาสละเวลากดดูโฆษณาด้านล่างนี้ เพื่อช่วยให้เรายังคงให้ข้อมูลโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ต่อไป ขอบคุณค่ะ] -***

1 ความคิดเห็น:

  1. โค้ด "พระครูชุ่ม" ที่ตอกไว้หากดูจนชำนาญแล้ว สามารถเอาไปดูรูปหล่อเล็กของหลวงพ่อชุ่มได้สบาย เพราะใช้ตัวตอกตัวเดียวกัน เพราะปัจจุบันหล่อเล็กบางองค์​เล่นจากเก๊เป็นแท้ไปแล้ว ควรศึกษาโค้ดให้แม่นยำจะปลอดภัย

    ตอบลบ