วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเงิน วัดโพธิ์งาม เจ้าของตำนานเหรียญหล่อชินราชอันลึกลับ

พระอธิการเงิน วัดโพธิ์งาม สมุทรสงคราม

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเงิน วัดโพธิ์งาม

          หากพูดถึงเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง หลายๆคนก็คงจะนึกถึง หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย, หลวงพ่อคง วัดบางกระพร้อม, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ฯลฯ ซึ่งทุกท่านที่กล่าวมาล้วนเป็นสุดยอดเกจิอาจารย์ ที่ได้รับความนับถือเลื่อมใสเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

          แต่ข้าพเจ้าอยากกล่าวถึงอาจารย์ยุคเก่าลึกลงไป ซึ่งถือเป็นยอดพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าอีกองค์หนึ่ง นั้นก็คือ พระอธิการเงิน วัดโพธิ์งาม หรือ หลวงพ่อเงิน แห่งตำบลบางนกแขวก ผู้ซึ่งเป็นสุดยอดเกจิอาจารย์ยุคเก่าที่ น้อยคนนักที่จะรู้จัก รวมทั้งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าท่านสร้างพระเครื่องไว้ ซึ่งมีพุทธคุณโดดเด่นด้านคงกะพัน ชาตรี ชนิดแมลงวัน ไม่ได้กินเลือดกันเลยที่เดียว

          พระอธิการเงิน หรือหลวงพ่อเงิน วัดโพธิ์งาม มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ตำบลคลองประดู่ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ต่อมาได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดราชประดิษฐ์ (ชื่อของวัดราชคามในสมัยนั้น) ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ในสมัยที่หลวงปู่โต๊ะ เป็นเจ้าอาวาส

          หลวงพ่อเงิน ท่านเป็นผู้ที่ถึงพร้อมทั้งวิปัสนาและกรรมฐาน ด้วยปฏิปทาและชำนาญด้านศาสตร์แขนงต่างๆ ชาวบ้านโพธิ์งาม ซึ่งมีความประสงค์จะสร้างวัด และเคยได้ไปทำบุญที่วัดราชคามจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโพธิ์งาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖

          วัดโพธิ์งาม ตั้งอยู่ที่บ้านโพธิ์งาม หมู่ที่ ๒ ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่สืบทราบได้มีดั่งต่อไปนี้ 


ลำดับที่รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
     ๑ พระอธิการเงิน พ.ศ.๒๔๒๖ พ.ศ. ๒๔๗๕
     ๒ พระครูธรรมรัตนาภิรักษ์ ( ไฮ้ รตฺนลาโภ ) พ.ศ.๒๔๗๘ พ.ศ. ๒๔๘๕
     ๓ พระอธิการจุ้ย พ.ศ.๒๔๘๖ พ.ศ. ๒๔๙๑
     ๔ พระครูวัตตโกศล (วิไล) พ.ศ.๒๔๙๒ พ.ศ. ๒๕๕๕
     ๕ พระใบฎีกานครชัย ธมฺมวโร พ.ศ.๒๕๕๕ ปัจจุบัน

ภาพถ่ายพระอธิการเงิน วัดโพธิ์งาม สมุทรสงคราม

          วัดโพธิ์งาม เป็นวัดโบราณ ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด ผ่านกาลเวลามาทั้งแบบที่ทรุดโทรม และเจริญรุ่งเรือง โดยมีผู้ที่ปฏิสังขรณ์วัดสืบต่อกันมาก็เป็น เจ้าอาวาส ประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นวัดเล็กๆ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก ตระกูลชุณหะวัณ  ซึ่งได้รับการอุปถัมป์ค้ำชู ทั้งวัดเจริญสุขาราม และวัดโพธิ์งาม อยู่เสมอ โดยมีหลักฐานคือเจดีย์ใหญ่ ภายในวัดที่บรรจุอัฐิ ของบรรพบุรุษของคนใน ตระกูลชุญหะวัณ ตั้งอยู่ในวัดโพธิ์งามแห่งนี้


          ภายในวัดโพธิ์งาม ประดิษฐาน หลวงพ่อย้อย เป็นพระประธานประจำอุโบสถหลังเก่า “หลวงพ่อย้อย” เป็นพระปางมารวิชัย ทำด้วยศิลาแดง หน้าตัก ๑๔๕ ซ.ม. สูงจากพื้นฐานที่รองประทับนั่งถึงพระเกตุจุฬา ๒๐๐ ซ.ม. ส่วนพระปางมารวิชัยที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อประมาณ ๕๐ ปีเศษหล่อด้วยโลหะต่างๆ เพื่อประจำอุโบสถหลังใหม่อีกรูปหนึ่ง

          ตามประวัติที่มีอยู่น้อยนิดเล่ากันว่าวัดโพธิ์งาม ได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นวัดในปี ๒๓๙๖ จนมาถึง พ.ศ. ๒๔๒๖ ในยุคสมัยที่ พระอธิการเงิน หรือ หลวงพ่อเงิน ได้เป็นเจ้าอาวาส ได้ร่วมมือร่วมใจกับนายไข่ ชุณหะวัณ  (บิดาของจอมพลผิน ชุณหะวัณ) และจีนคง ช่วยกันปฏิสังขรณ์ ซ่อมและสร้างพระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ และหอฉัน รวมทั้ง ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ วัดได้รับวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐

         หลวงพ่อเงิน ท่านมรณภาพลงด้วยโรคชรา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยพระอธิการเงิน ท่านครองวัดโพธิ์งามอยู่ถึง ๔๙ ปี โดยหลวงพ่อไฮ้จึงเป็นเจ้าอาวาสรูปต่อมาหลังจากท่านมรณภาพลง และพัฒนาวัดต่อมาๆกันมาจวบจนปัจจุบัน

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเงิน วัดโพธิ์งาม

         พระพุทธชินราชหล่อหลวงพ่อเงิน วัดโพธิ์งาม
 
         สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๐ - พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยน่าจะมีการสร้างด้วยกันหลายวาระตลอดช่วงที่หลวงพ่อครองวัด หรือถ้าแจกหมดก็สร้างใหม่แจกไปเรื่อยๆ องค์พระมีพุทธลักษณะคล้ายพระชินราช หลวงพ่อโม วัดสามจีน แต่ด้านหลังจะเป็นยันต์นูน (หายาก) มีการสร้างด้วยเนื้อตะกั่วเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระชินราชหลังยันต์ หลวงพ่อเงิน วัดโพธิ์งาม พิมพ์ยันต์เต็ม

ชินราชหลวงพ่อเงิน วัดโพธิ์งาม พิมพ์ยันต์ขาด
พระชินราชหลังยันต์ หลวงพ่อเงิน วัดโพธิ์งาม พิมพ์ยันต์ขาด

        ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธชินราชค้ลายพระของหลวงพ่อโม วัดสามจีน

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์นูน เป็นเอกลักษณ์
 
         พุทธคุณโดดเด่นด้านคงกระพันชาตรี ปัจจุบันเป็นพระที่น้อยคนนักที่จะรู้จัก​ นอกจากนี้พระชินราชหลวงพ่อเงิน​ ยังเป็นหนึ่งในพระคู่กายที่จอมพล​ผิน​ ชุณหะวัณ สวมใสติดตัวอยู่เป็นประจำอีกด้วยจัดเป็นพระที่หายาก 

         น้อยคนนักที่จะรู้จัก ส่วนผู้ที่มีอยู่ก็หวงแหนกันซะเหลือเกิน แทบไม่มีหลุดออกมาให้พบเห็นในวงการเลย หรือบางคนอาจพบเจอแต่ไม่ทราบว่าเป็นพระที่ใดหาก 

         พบเจอก็อย่าปล่อยให้หลุดมือเป็นอันขาด เพราะขนาดญาติผู้ใหญ่แท้ๆของผู้เขียนเอง ยังไม่อยากให้ข้าพเจ้าได้ชมด้วยซ้ำไป เนื่องจากเป็นที่หวงแหนเป็นอย่างมาก ต้องคะยันคะยออยู่นาน กว่าจะยอมนำมาให้ชม!!

         นอกจากนี้หลวงพ่อเงิน ท่านยังสร้างพระเครื่องอีก ๒ อย่างคือ

         - พระหล่อยันต์ ๒ หน้า เนื้อดีบุก (หายาก) โดยใช้แม่พิมพ์ที่มียันต์ด้านหลังของพระพุทธชินราชหล่อมาสร้าง แต่มี​ยันต์​ทั้งสองด้าน​ 

         - ตะกรุดขนาดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น