หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย สมุทรสงคราม |
หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย จัดเป็นพระคณาจารย์ยุคเก่า ของลุ่มน้ำแม่กลอง อยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับ หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง, หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก, หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย
ซึ่งหลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย นี้เป็นพระอาจารย์ที่หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ยังให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง นอกจากนี้หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ยังดั้งด้นมาร่ำเรียนวิชากับท่าน
หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย ท่านมีนามเดิมชื่อ อยู่ เถื่อนใหญ่ (ต่อมารุ่นลูกหลานได้เปลี่ยนเป็นนามสกุล “เขื่อนใหญ่” ) ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๑ โยมบิดาชื่อนายเผื่อน เถื่อนใหญ่ แต่ไม่ทราบนามมารดา มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๓ คน
๑. นายมั่น เถื่อนใหญ่
๒. หลวงพ่ออยู่ บุญยฆัง
๓. นายใย เถื่อนใหญ่
ในวัยเด็กโยมบิดาและโยมมารดา ได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือไทย-ขอม ที่สำนักวัดบางสะแก ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม จนท่านสามารถอ่านออกเขียนได้
ปี พ.ศ. ๒๔๐๗ หลวงพ่ออยู่ ท่านมีอายุได้ ๑๖ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบางสะแก ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี
พระครูวิมลเกียรติ (เกลี้ยง) วัดบางสะแก เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย และหนังสือไทยเพิ่มเติมที่สำนักวัดบางสะแกนี้ ต่อมาโยมบิดาและโยมมารดา ได้ย้ายมาอยู่ในคลองบางน้อย ท่านเลยย้ายมาอยู่ที่วัดบางน้อยด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ หลวงพ่ออยู่ ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางน้อย ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "บุญยฆัง" โดยมี
หลวงพ่อสุข วัดน้อย(บางน้อย) เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อดัด คงทอง วัดไทร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงพ่อภัทร วัดบางสะแก เป็นอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางน้อย เพื่อศึกษาวิชาหลวงพ่อสุข และพระอธิการนวน
กาลต่อมาพระอธิการนวน ได้ถึงแก่มรณภาพ(เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงพ่อสุข) ชาวบ้านจึงได้นิมนต์หลวงพ่ออยู่ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน
พระอุปัชฌาย์อยู่ วัดบางน้อย สมุทรสงคราม |
วัดบางน้อย เป็นวัดราษฎร์
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ ๒๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที
จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่บริเวณวัด ๑๙ ไร่ ๒ งาน ๖๐ ตารางวา
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.
๒๕๑๖ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๓๑ เมตร ยาว ๖๕ เมตร
วัดบางน้อย เป็นวัดโบราณสันนิษฐานจากสิ่งก่อสร้างและซากปรักหักพัง ตลอดจนวัสดุที่ใช้ก่อสร้างว่าเป็น วัดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือ รัตนโกสินทร์ตอนต้น
ด้วยปรากฏหลักฐานว่าลูกนิมิต ที่ฝังรอบโบสถ์เก่า
สร้างด้วยหินศิลาแรง แต่มีลักษณะไม่กลมเหมือนในปัจจุบัน ภายในหลุมนิมิต มีเบี้ยใส่หม้อกะนนท์
แต่เบี้ยเหล่านั้นเมื่อขึ้นมาสัมผัสอากาศก็เปื่อยยุ้ยไปเสียหมด
บรรยากาศภายในวัดบางน้อย |
และอิฐมอญ ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างก็มีขนาดใหญ่มาก คือยาวประมาณ ๑ ศอก หนาเกือบ ๕ นิ้ว มีรูเจาะระบายความร้อนเวลาเผา ซึ่งถือเป็นอิฐในสมัยโบราณ ไม่ปรากฏผู้สร้างเป็นใครและสร้างเมื่อใด
เดิมชื่อวัด “วัดต้นมะนาว” หรือ “วัดโคกมะนาว” ด้านทิศเหนือของวัดมีคลอดตัดผ่านด้านซ้ายมือไปออกแม่น้ำแม่กลอง ด้านขวามือไปออกคลองดำเนินสะดวก ทำให้การคมนาคมในสมัยก่อนถือว่าคล่องตัว สามารถเดินทางไปถึงกรุงเทพมหานครได้โดยทางเรือและลำคลอง
โดยคลองนี้มีชื่อว่าคลองบางน้อย
ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อวัด เรียกชื่อว่า วัดน้อย โดยมีหลักฐานการเปลี่ยนชื่อวัดที่สำคัญ คือเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่ออยู่ เจ้าอาวาสวัดนี้รูปที่ ๓ ที่ระบุว่า “วัดน้อย” ต่อมาชาวบ้านในละแวกคลองบางน้อย ได้เปลี่ยนชื่อวัดเพื่อให้สอดคล้องกับคลองบางน้อย จึงให้ชื่อว่า “วัดบางน้อย” มาจนปัจจุบัน
พระนอนแสนเหรียญ วัดบางน้อย |
วัดบางน้อย ได้รับวิสุงคามสีมาปี พ.ศ. ๒๑๕๕ ภายในวัดมีศาลาการเปรียญ ที่สร้างด้วยไม้ในสมัยหลวงพ่ออยู่เป็นเจ้าอาวาส มีพระพุทธรูปที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ ซึ่งได้ระบุว่าหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปั้นถวายหลวงพ่ออยู่ ปญฺญโค
ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า "พระนอนแสนเหรียญ" ส่วนหลักฐานส่วนอื่นได้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดเมื่อวันอังคารที่ ๑๖
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖ เวลา ๑๖.๐๐ น.
ทำเนียบเจ้าอาวาส วัดบางน้อย
๑. พระอุปัชฌาย์สุข ไม่ปรากฏชื่อและปีที่ครองวัด
๒. พระอุปัชฌาย์นวน ไม่ปรากฏปีที่ครองวัด
๓. พระอุปัชฌาย์อยู่ ( หลวงพ่ออยู่ ปญฺญโค ) จ.ต. ไม่ปรากฏปีที่ครองวัด
๔. พระอธิการใหญ่ ไม่ปรากฏปีที่ครองวัด
๕. พระอุปัชฌาย์ทรัพย์ (หลวงพ่อทรัพย์ ฐิตธมฺโม) จต. ไม่ปรากฏปีที่ครองวัด
๖. พระครูสมุทรคุโณทัย จต./ชท. อุปัชฌาย์ (หลวงพ่อแจ่ม โฆสโก สกุลเดิม นิสัยโสม) ครองวัดระหว่าง ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ มรณภาพ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓
๗. พระอธิการห้อย โอหิตภาโร ( สกุลเดิม บุญจันทร์ ) ครองวัดระหว่าง ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ มรณภาพ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
๘. พระครูสมุทรสุธี จต. / ชท. อุปัชฌาย์ (เกิน สุจิณฺโณ สกุลเดิม เลื่อนลอย ) ครองวัดระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๕ ลาสิกขาเพศ เมื่อ วันเสาร์ ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๓
๙. พระครูสมุทรโสภณ ชท. ( โสภณ อภิชาโต สกุลเดิม จันทร์เปี่ยม ) ครองวัดตั้งแต่ วันที่ พ.ศ. ๒๕๓๔ - พ.ศ. ๒๕๕๖ พรรษา ๔๑ มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เวลา ๐๕ : ๔๕ น. มรณภาพ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖ อายุ ๖๑ ปี ๕๑ วัน พรรษา ๔๑
๑๐. พระปลัดสายชล นิติสาโร (วิจิตจำนงค์) ได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบกฎมหาเถรสมาคม เมื่อ วันเสาร์ ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ - ปัจจุบัน
พระอุปัชฌาย์อยู่ วัดบางน้อย สมุทรสงคราม |
หลังจากที่หลวงพ่ออยู่ ท่านได้รับก่ารแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มลฑลราชบุรี ทรงเสด็จถึงวัดบางน้อย เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๗.๐๐ น.
เสด็จขึ้นที่ประรำ พระสงฆ์ถวายชัยมงคล ทรงปราศัย ตรัสถามความเป็นไปและเหตุการณ์การณ์ในวัด ตลอดจนถึงความอยู่กินของพระสงฆ์ แล้วเสด็จทอดพระเนตรวัด ทรงนมัสการพระในอุโบสถและวิหาร
วัดนี้นับว่าเป็นวัดที่เป็นหลักฐาน กุฏี ฝากระดานมุงกระเบื้องแทบทั้งนั้น อุโบสถก่อ ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ ยางถึง ๗ ห้อง กั้นฝาลูกกรงรอบ ในพรรษามีพระสงฆ์จำพรรษาถึง ๗๐ เศษ แม้ในเวลาปกติก็มีจำนวนตั้ง ๖๐ รูป
เจ้าอธิการอยู่ เป็นเจ้าวัด เป็นพระอุปัชฌายะด้วย เป็นผู้มีพรรษาอายุสมเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นที่เลื่อมใสของราษฏรชาวบ้าน
เมื่อทอดพระเนตรสถานนั้นๆ ตามอารามทั่วแล้ว ประทับที่ลานวัด มีพระดำรัสปราศัยพวกราษฏรที่พากันมาคอยเฝ้า ประทานของแจกแก่พวกราษฏรเหล่านั้นทั่วกันแล้ว
เสด็จลงมาประทับที่ปะรำท่าน้ำ แล้วประทานย่ามตรามหาสมณุตมาภิเษกแก่พระอธิการอยู่ ผู้เป็นเจ้าอาวาส และประทานหนังสือธรรมแก่พระสงฆ์ทั้งหลายทั่วกัน แล้วเสด็จกลับถึงที่ประทับย่ำค่ำฯ
หลวงพ่ออยู่ ท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างเหรียญรูปเหมือนเหรียญแรกๆ ของพระเทศไทย
ท่านเก่งทั้ง วิปัสนากรรมฐานและวิชาอาคมที่เก่งกาจ ในสมัย
หลวงพ่ออยู่ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ นับรวมสิริอายุได้ ๗๒ ปี ๕๒ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย
เหรียญหลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายของหลวงพ่ออยู่ ได้ขออนุญาตหลวงพ่ออยู่ท่าน หล่อรูปเหมือน และสร้างเหรียญปั้มรูปเหมือนรุ่นแรกขึ้น เพื่อไว้เป็นที่ระลึกในงานทำบุญอายุของหลวงพ่ออยู่ โดยมีพิธีปลุกเสกที่เป็นไปอย่างเข้มขลังภายในอุโบสถวัดบางน้อย ในการสร้างเหรียญปั้มรูปเหมือนในครั้งนี้ ได้จัดสร้างขึ้นมา ๒ เนื้อด้วยกัน คือ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ปั้มขอบข้างกระบอก หูเชื่อม
เหรียญหลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เหรียญ แกะเป็นรูปหลวงพ่ออยู่นั่งเต็มองค์ในท่ามารวิชัย มีผ้ารองนั่งเป็นฐานบัวชั้นเดียว ใต้ฐานเป็นเลขไทยระบุปีที่สร้าง คือ "๒๔๕๙" ด้านบนเป็นอักขระขอมอ่านว่า "อุทธัง อโธ"
ด้านหลัง ของเหรียญแกะเป็นอักขระยันต์โดยมี "ยันต์มหาอุด" และอักขระยันต์ "นะ" ขนาบทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ส่วนด้านบนเป็นอักขระยันต์ "อุ" มีอักษรไทยว่า "วัดน้อย" ด้านล่างเป็นอักขระขอมอ่านว่า "มะ อะ อุ".
ภาพที่ ๑ : คุณภาณุ เกตุแก้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น