ประวัติและวัตถุมงคลของหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง เหรียญตายที่แพงของประเทศและหายากที่สุดของลุ่มน้ำแม่กลอง
ในสมัยก่อนอันเนินนานจวบจบปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง เต็มไปด้วยพระเกจิอาจารย์ที่ทรงอภิญญามากมายหลายรูป จึงเป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิชาแขนงต่างๆไว้มากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหลวงพ่อตาด จันทโชติ วัดบางวันทอง สุดยอดพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าอีกท่านหนึ่งของลุ่มน้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม ที่เป็นอาจารย์ของเกจิชื่อดังเช่น หลวงพ่อคง วัดบางกะพร้อม หลวงปู่นาค วัดหัวหิน หลวงพ่อโต วัดคู้ธรรมสถิตย์ หลวงพ่อไวย วัดดาวดึงษ์ หลวงพ่อทองสุข วัดราษฏณ์บูรณะและเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาลงกระหม่อมอันโด่งดัง และยังเป็นผู้ที่บวชให้แก่หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง เป็นต้น
ในด้านวัตถุมงคลคนพื้นที่แม่กลองและพื้นที่ใกล้เคียงจะรู้จักพระเครื่องของหลวงพ่อตาด เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้จักพระเครื่องและวัตถุมงคลของหลวงพ่อตาด
วัดบางวันทอง ตั้งอยู่ที่ ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง มีพื้นที่ติดริมคลองแควอ้อม
หากมีการจัดอันดับ หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ถือเป็นพระคณาจารย์ผู้เข้มขลังเรื่องเวทย์ ทรงพุทธาคมแห่งลุ่มน้ำแม่กลองในอดีต ที่มีช่วงชีวิตอยู่ในยุคสมัยเดียวกันกับ หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย
โดยประวัติไม่มีการจดบันทึกใดๆไว้ มีแต่เรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า พื้นเพของหลวงพ่อตาด ท่านเป็นชาวตำบลบ้านเบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ. ราชบุรี เข้ารับการบรรพาชาอุปสมบท เมื่ออายุครบบวช ตามประเพณีของไทย หลังจากอุปสมบท ท่านได้ศึกษา วิปัสนากรรมฐาน จนพอสมควรแล้ว ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ผ่านป่าเขาลำเนาไพร
กระทั่งครั้งหนึ่งมุ่งหน้ามาทาง คลองแควอ้อม กระทั่งถึง วัดบางวันทอง ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองแควอ้อม เห็นว่าเป็นสถานที่สงบวิเวก เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงพำนักจำพรรษาที่วัดบางวันทองแห่งนี้ จนกระทั่งหลวงพ่อตาดได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของวัดบางวันทอง
ในช่วงนี้หลวงพ่อตาด ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดจนเจริญรุ่งเรือง ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำให้สามารถทำการอุปสมบทกุลบุตรได้ ในหลายพื้นที่ เช่น เพชรบุรี , ราชบุรี ,สมุทรสงคราม , กาญจนบุรี
หลวงพ่อตาด ท่านเป็นพระคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสรรพศาสตร์ต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังเก่งกาจในวิชาพุทธาคมหลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชา นะปัดตลอด ซึ่งจะหาพระคณาจารย์ที่สำเร็จวิชานี้ได้ยากเป็นวิชาที่ว่าด้วย การกระทำสิ่งใดทางพุทธาคมไสยเวทย์ ทำเพียงครั้งเดียวย่อมสำเร็จครบถ้วนทุกอย่างเช่น การลงผ้ายันต์ , การลงอักขระบนแผ่นโลหะ จะลงเพียงแผ่นหรือผืนเดียวด้านบน จะสำเร็จเสร็จสิ้นทะลุถึงแผ่นสุดท้ายโดยไม่ต้องเขียนหรือลงอักขระแผ่นอื่นๆอีกเลย
หลวงพ่อตาด ท่านยังเก่งกาจในวิชาการลงกระหม่อม หากลงให้กับผู้เป็นพ่อ หากได้บุตรคนแรกหรือคนหัวปีเป็นชาย อักขระเลขยันต์ที่ลงให้ผู้เป็นพ่อ จะติดมาถึงบุตรชาย เหล่านี้เป็นต้น
หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ตามประวัติกล่าวว่า ได้มาขอศึกษาด้านระเบิดเทียน , เมตตามหานิยม, วิชานะปัดตลอด ,วิชาแพทย์แผนโบราณ และได้ศึกษาวิชาเกี่ยวกับการลงกระหม่อม (ลงด้วยขมิ้นชัน) อีกด้วย
หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์สายตรงรูปหนึ่ง เพราะหลวงพ่อตาด ทั้งยังเป็นพระอุปัชฌาย์ผู้ให้การอุปสมบทแก่ท่านและตัวท่านเองก็มีชื่อเสียงเลื่องลือด้านการลงกระหม่อมมากสุดในยุคต่อมา ที่แม้ พ.อ. พระยาพหลพยุหเสนา และจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ยังเดินทางมาขอให้ท่านลงกระหม่อมให้
นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ยังเชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนโบราณ และยาสมุนไพร ซึ่งท่านได้อนุเคราะห์ญาติโยม และ ศิษยานุศิษย์ ด้วยความเมตตา ด้วยความเสมอภาค ตามประวัติหลวงพ่อตาดนิยมชมชอบการออกธุดงค์อยู่เสมอ แทบทุกครั้งหลังจากออกพรรษา
หลวงพ่อตาด ท่านก็จะออกธุดงค์อยู่เสมอ ท่านได้ไปเจอสมุนไพรต่างๆ มากมาย ท่านก็นำกลับมาไว้ที่วัด เพื่อทำเป็นยาแผนโบราณ ช่วยรักษาโรคให้แก่ชาวบ้านและประชาชนโดยทั่วไป ที่มาให้ท่านรักษาโรคให้ ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนต่างๆ มาหาท่านท่านก็ยินดีช่วยเหลือปัดเป่าให้คลายทุกข์ร้อนไปได้เสมอ ท่านจึงเป็นที่รักเคารพนับถือของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป ท่านได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้แก่ชาวบ้านมากมาย แม้ในจังหวัดใกล้เคียงก็ยังพาบุตรหลานมาบวชกับท่านเป็นจำนวนมาก
หลวงพ่อตาด ท่านมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ด้วยโรคชรา ยังความโศกเศร้ามาสู่วัดบางวันทอง และลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อทุกผู้คน ด้วยน้อมรำลึกถึงพระคุณของหลวงพ่อตาด คณะศิษย์และชาวบ้านวัดบางวันทอง จึงได้ปรึกษาหารือกันว่า จะตั้งศพของหลวงพ่อตาด ไว้ที่กุฏิเพื่อสำหรับการบำเพ็ญกุศลถวายจนครบ ๑ ปี แล้วจะได้ถวายเพลิงศพท่านต่อไป
วัตถุมงคลของหลวงพ่อตาด วัดบางวัดทอง
เหรียญหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง รุ่นแรก
สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อรูปไข่แบบมีหูในตัว จัดสร้างโดยศิษย์ที่ชื่อ นายพุก เทียนชัย ได้ร่วมปรึกษากับศิษย์คนอื่นๆ ได้มีความคิดอ่านพร้อมใจกันสร้างเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง เพื่อไว้เป็นที่ระลึก ในงานถวายเพลิงศพของท่าน โดยนายพุกเป็นผู้แกะแม่พิมพ์ และบุตร ได้ช่วยกันสร้างเหรียญหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อตาด จำนวนสร้างประมาณ ๑,๒๐๐ เหรียญ โดยการสร้างด้วยเนื้อโลหะดังนี้ เนื้อทองคำประมาณ ๓ เหรียญ เนื้อเงินประมาณ ๒๐๐ เหรียญ ส่วนเหรียญอื่นๆจะเป็น เนื้อทองผสมแก่สัมฤทธิ์
เหรียญหล่อหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ |
ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อตาด หน้าตรงครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆฏิ ล้อมรอบด้วยอักขระขอม อ่านว่า "สังวิธา ปุกะยะปะ อะสังวิสุโล ปุสะพุภะ"
ด้านหลัง ปรากฏอักขระขอมจำนวนสี่แถว พร้อมระบุ พ.ศ. ๒๔๕๙ ซึ่งลักษณะทางด้านหลังเหรียญ สามารถแยกได้ ๒ ลักษณะคือ
พิมพ์แรก พิมพ์มี พ.ศ. ด้านหลังเหรียญปรากฏคำว่า "พ.ศ.๒๔๕๙" โดยมากเลข ๔ และ ๕ มักหล่อติดลางเลือนและมีเนื้อเกิน
พิมพ์ที่ ๒ พิมพ์ไม่มี พ.ศ. (หายาก) ด้วยมีเนื้อเกินในพิมพ์แรกจึงได้มีการตกแต่งแม่พิมพ์ใหม่ โดยลบข้อความดังกล่าวออก และแกะพิมพ์ใหม่ จึงปรากฏเฉพาะคำว่า "๒๔๕๙" โดยไม่มี พ.ศ.
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อตาด ห่มจีวรแบบลดไหล่ พาดผ้าสังฆฏิ มีอักขระขอม อ่านว่า "อะสังวิสุโล ปุสะพุภะ สังวิธา ปุกะยะปะ"
ด้านหลัง ปรากฏอักขระขอมจำนวนสี่แถว ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๕๙"
เหรียญทั้ง ๒ ชนิด เมื่อสร้างเสร็จได้นิมนต์ให้พระเกจิอาจารย์มาปลุกเสกอันได้แก่ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อคง วัดศรัทธาราษฎร์ หลวงพ่อคง วัดแก้วเจริญ หลวงพ่อปลั่ง วัดเพลง หลวงพ่อตุย วัดปราโมทย์ เป็นต้น ปัจจุบันนับว่าเหรียญของท่านหาดูได้ยาก
ตะกรุดคงคาวดี
กรรมวิธีการสร้างตะกรุด หลวงพ่อตาด จะนำแผ่นตะกั่วใส่อังสะแล้วจุดเทียนระเบิดน้ำ ลงไปในแม่น้ำ แล้วลงอักขระใต้น้ำจนเสร็จแล้วจึงขึ้นมา เมื่อม้วนแล้วท่านยังเดินถือตะกรุดไปยังบริเวณที่มีปูชายเลนอยู่ ปูจะพากันกรูออกมาจากรู หลวงพ่อตาด จะใช้เท้าเหยียบทับบริเวณปากรูปูไว้แล้วเสกตะกรุด เล่ากันว่ายามที่หลวงพ่อตาดท่านปลุกเสกนั้น บรรดาปูทั้งหลายต่างสงบนิ่ง จนเมื่อหลวงพ่อตาดเสกเสร็จเรียบร้อยจึงวิ่งกรูกันไป ตะกรุดคงคาวดีของหลวงพ่อตาด มีสรรพคุณด้านมหาอุดเป็นสุดยอดทีเดียว
พระผงนะปัดตลอด
สร้างด้วยเนื้อว่านยา เนื้อผง และเนื้อดิน ถือเป็นพระที่มีเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ และเป็นพระที่หลวงพ่อตาด วัดบางวันทองได้สร้างและปลุกเสกไว้
พระผงนะปัดตลอด หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปางสมาธิ ด้านบนมียันต์ มะอะอุ มีเส้นซุ้มรอบองค์พระเป็นเส้นบังคับพิมพ์
ด้านหลัง ขององค์พระมียันต์นะปัดตลอด และอักขระยันต์ มะ อะ อุ
พระสมเด็จนะปัดตลอด
สร้างด้วยเนื้อผงและเนื้อดิน ลักษณะเหมือนพระสมเด็จพิมพ์คะแนนทั่วไป โดยพระส่วนมากจะมีการลงหรดาลไว้ เพื่อรักษาเนื้อพระ
พระสมเด็จนะปัดตลอด หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธ หูบายสี นั่งปางสมาธิ ฐาน ๒ ชั้น มีซุ้มระฆังครอบ และเส้นบังคับพิมพ์ล้อไปกับขอบพระ
ด้านหลัง เป็นยันต์นะปัดตลอด และอักขระขอม มะ อะ อุ ด้านบนเหนือยันต์นะปัดตลอด
*** ปัจจุบันมีผู้ให้ข้อมูลว่าพระผงและสมเด็จนะปัดตลอดนี้สร้างโดยพระอธิการคง วัดแก้วเจริญ แล้วนำมาถวายหลวงพ่อตาด เพื่อแจกให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่วัดบางวันทอง ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลส่วนนี้ด้วยครับ****
ด้านพุทธคุณของหลวงพ่อตาด อย่างเรื่องนี้ที่เล่าขานสืบกันมาว่า
ได้มีโจรชื่อเสือหรั่ง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ล่าหมายจะจับตายให้ได้ จึงหลบหนีเข้าไปในบริเวณวัดบางวันทอง ด้วยความที่เจ้าตัวคิดจะเลิกจากการเป็นโจรและอยากกลับตัวกลับใจ เมื่อตกกลางคืนได้ขึ้นไปกราบหลวงพ่อตาดสารภาพผิด และขอร้องให้หลวงพ่อตาดช่วยเหลือ
ด้วยความเมตตาหลวงพ่อตาด จึงให้เสือหรั่ง จุดธูปเทียนสาบานต่อหน้าพระว่าจะเลิกเป็นโจร และจะบวชเรียนจนมรณภาพคาผ้าเหลืองจึงจะยอมช่วยเหลือ เสือหรั่งจึงสาบานว่าจะบวชตลิดชีวิต หลวงพ่อตาดจึงมอบตะกรุด พร้อมกับสายสิญจน์คล้องคอแล้ว ให้ไปหลบอยู่กุฏิพระอีกหลังหนึ่ง
ครั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาค้นหาที่วัดบางวันทอง ได้ขึ้นไปบนกุฏิที่เสือหรั่งหลบซ่อนอยู่ แต่ด้วยบารมีของหลวงพ่อตาดทำให้มองเห็นเพียงพระภิกษุแก่ๆ รูปหนึ่งนั่งตัวสั่นงกๆ เงิ่นๆ อยู่ จึงได้กราบนมัสการลาไปค้นยังที่อื่นต่อ ต่อมาเสือหรั่งได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตราบจนมรณภาพ
ก่อนหน้าที่หลวงพ่อตาด จะมรณภาพลง หลวงพ่อได้ลงไปสรงน้ำที่ท่าน้ำหน้าวัด โดยมีฝูงปลาใหญ่น้อยมาห้อมล้อมหลวงพ่อตาดอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งเหมือนจะเป็นการลาหลวงพ่อเป็นครั้งสุดท้าย
พระ เณรที่เห็นต่างมิได้สงสัย เพราะความเมตตาของท่านมักมีสัตว์ต่างๆมาลายล้อมหลวงพ่ออยู่เสมอๆ หลวงพ่อตาดลูบคลำเหล่าปลานั้นอย่างเมตตา ครั้นสรงน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้เรียกลูกศิษย์ลูกหาให้มาประชุม
แล้วบอกว่า ท่านจะไปแล้ว บรรดาลูกศิษย์วัด ล้วนต่างมิได้เอะใจคิดว่า แม้ว่าท่านชราภาพก็จริงแต่ยังแข็งแรงเป็นปกติคงกล่าวเล่นๆ ไม่มีใครคิดสงสัย กระทั่งตกค่ำท่านก็ เรียกลูกศิษย์วัดมาประชุมอีก แล้วบอกลูกศิษย์ทั้งหลายว่า ถึงเวลาที่จะต้องลาลับแล้ว พูดจบก็มีลมพัดกระโชกแรงจนทำให้ตะเกียงที่จุดไว้ดับสนิท พอลูกศิษย์จุดตะเกียงขึ้นใหม่ก็พบว่า หลวงพ่อตาดนั่งสมาธิคอเอียงไปด้านข้างหมดลมหายใจไปแล้ว.
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ที่ถูก สังวิธา ปุกะยะปะ
ตอบลบขอบคุณมากครับ
ลบสัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ครับ
ตอบลบขอบคุณมากครับ
ลบ