วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย เจ้าของเหรียญหลักล้าน ผู้เป็นปรมาจารย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง

ภาพถ่ายหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม
หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย จัดเป็นพระมหาเถราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งแผ่นดินเป็นที่ศรัทธาเป็นอันดับต้นๆ แห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ด้วยความที่หลวงพ่อเป็นพระผู้ทรงฌาณวิเศษ หยั่งรู้เหตุการณ์ มีวิทยาคมเข้มขลัง เป็นเกจิยุคเก่าแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง 

         ด้วยชื่อเสียงของหลวงพ่อแก้ว ที่แผ่ขจรไปไกลทั่วทุกพื้นที่  จนทำให้เจ้านายหลายพระองค์ในพระนคร ต่างเดินทางไปกราบไหว้ บูชาสักการะขอพรหลวงพ่อแก้วอยู่เสมอ

         วัดพวงมาลัย จากประวัติของวัดเป็นวัดที่สร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีสัสดีพ่วงและนางมาลัยผู้เป็นภรรยา ได้ทำการถวายที่ดินและสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา 

         เมื่อสร้างสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้อาราธนา “พระครูวินัยธรรม (หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร)”  มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเป็นรูปแรก ของวัดพวงมาลัยและเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวของวัดแห่งนี้

หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย นอกจากจะเป็นพระที่ทรงฌาณวิเศษแล้วในทางปฏิบัติท่านก็เคร่งครัดในศีล โดยหลวงพ่อจะไม่หยิบจับวัตถุที่มีราคาแพง จำพวกเงินและทองเลย ฉนั้นหากมีใครอวดตนว่า มีตะกรุดเงิน หรือตะกรุดทองคำ ของหลวงพ่อแก้วแล้ว คนโบราณจะถือว่าเป็นของจำอวดหลอกเด็ก 

         เพราะในช่วงชีวิตหลวงพ่อท่านไม่จับเงินหรือทองเลยสักครั้งเดียว มีเรื่องเล่าลือกันว่าเจ้านายในบางกอก มีความเคารพเลื่อมใสท่านมากได้นำ เครื่องเงินไปถวายท่านที่วัด แต่ต้องผิดหวังเพราะท่านสละกันต่อหน้า ไม่รับเครื่องถวายเหล่านั้น

          หลวงพ่อแก้ว ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่ ๒ ของนายเทียน ทองพันธุ์ และนางเนียม ทองพันธุ์ มีพี่น้องทั้งหมด ๓ คน

         ปี พ.ศ. ๒๔๐๓ หลวงพ่อแก้ว มีอายุได้ ๑๓ ปี ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบางแคใหญ่ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อร่ำเรียนเขียนอ่านและภาษาไทย ตามความนิยมในสมัยนั้น

หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๐ หลวงพ่อแก้วมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางแคใหญ่ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสุมทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "พรหมสโร" โดยมี 

         หลวงพ่อเพ็ง วัดบางแคใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังอุปสมบทแล้วท่านอยู่จำพรรษาที่วัดบางแคใหญ่ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอุปัชฌาย์และเรียนหนังสือที่วัดนี้

         ศึกษาพุทธาคมครั้งแรกจากบิดาตอนเป็นสามเณรอายุ ๑๕ ปี เนื่องจากบิดาของท่านเป็นทหารวังหน้า  และรับราชการต่อมาจนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ  และศึกษากับหลวงพ่อเพ็ง วัดบางแคใหญ่ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ จังหวัดเพชรบุรี (พี่ชายของท่าน)

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๔ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดช่องลมได้ว่างลง ชาวบ้านและคณะศิษย์วัดช่องลม จึงได้นิมนต์หลวงพ่อแก้วให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลังจากที่หลวงพ่อแก้ว ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดช่องลมได้ ๖ ปี จึงได้รับนิมนต์ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดพวงมาลัย หลวงพ่อบ่ายจึงขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลมสืบแทน

หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม

         วัดพวงมาลัย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ในตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยท่านสัสดีพ่วงสัสดี อำเภอลมทวน (อำเภอเมืองสมุทรสงคราม) และคุณนายมาลัยภรรยาได้บริจาคที่ดินให้สร้างวัด โดยเรียกชื่อตามนามผู้บริจาคทรัพย์ว่า "วัดพวงมาลัย"

         ภายในวัดมีพระเจดีย์ที่จำลองแบบเจดีย์มอญจากหงสาวดีมาสร้างเรียกว่า เจดีย์หงสาวดีหรือเจดีย์หงสา ด้านในพระเจดีย์มีรอยพระพุทธบาทจำลอง และมีพระพุทธปฏิมากรอยู่ทั้งสี่ทิศ 

เจดีย์หงสา วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม
เจดีย์หงสา วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม

         ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดเป็นโบราณสถานของชาติ วัดมีรายชื่อเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้

         ๑. พระครูวินัยธรรม (แก้ว พรหมสโร)  พ.ศ. ๒๔๒๕ - ๒๕๖๒

         ๒. พระครูสมุทรสุนทร (แขก สาสนปชฺโชโต) พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๒๕๑๑

         ๓. พระครูโสภณสมุทรคุณ (พุฒ จนฺทวณฺโณ) พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๔๔๕ 

         ๔. พระครูสมุทรสุทธิวัตร (ติ๊ก สุธีโร) พ.ศ. ๒๔๔๕  - ปัจจุบัน

         ด้วยฌานอภิญญาของหลวงพ่อแก้ว ที่เป็นพระนักปฎิบัติผู้เก่งกล้าสามารถในคลองธรรม มีวิชาพุทธาคมแก่กล้า มีปาฎิหาริย์มากมาย ผู้คนทั้งหลายจึงเชื่อกันว่าท่านมีคุณวิเศษ สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ที่อยู่ใกล้ตัวและไกลตัวของท่านทั้งในอดีตและในอนาคตได้อย่างแม่นยำ

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงพ่อแก้วได้เป็นหนึ่งในพระเถระผู้ใหญ่ที่ถวายรายงานต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์มลฑลราชบุรี  ณ ที่ประทับแรม วัดบ้านแหลม ทรงตรัสถามความเป็นไปแห่งคณะสงฆ์เมืองนี้ และประทานพระโอวาทเนื่องด้วยการปกครอง 

         แล้วประทานย่ามตรามหาสมณุตมาภิเษกแก่ พระมหาสิทธิการแดง วัดอัมพวันฯ เจ้าคณะเมือง พระวินัยธรถม วัดบางขันแตก ผู้รั้งคณะแขวงเมือง และพระอธิการแก้ว วัดพวงมาลัย เจ้าอธิการธูป วัดใหญ่ ผู้มีมารยาทและอัทธยาศัย และอายุพรรษาสมเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๒๐.๐๐ น.

         นอกจากนี้หลวงพ่อแก้วยังถือว่าเป็นปรมาจารย์ชื่อดังที่พระเกจิต่างๆ ต้องไปร่ำเรียนวิชาจากท่านกันอย่างมากมาย

         หลวงพ่อแก้ว ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ นับรวมสิริอายุได้ ๗๒ ปี ๕๒ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

         ตะกรุดบังปืน  หรือ ตะกรุดพิศสมร 

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ซึ่งหากกล่าวถึงวัตถุมงคลของหลวงพ่อแก้วแล้ว ไม่มีใครในเมืองสมุทรสงครามในยุคนั้นที่จะไม่รู้จักตะกรุดใบลาน หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “ตะกรุดบังปืน” ของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ด้วยอุปเท่ห์ในการสร้างที่ต้องเฉพาะเจาะจงให้ผู้ที่ต้องการได้ตะกรุดไปใช้ ต้องไปตัดใบลานด้วยตัวเองจากต้นลานที่ คลองบังปืน ตำบลบังปืน เท่านั้น!

ตะกรุดบังปืน  หรือ ตะกรุดพิศสมร หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

ตะกรุดบังปืน  หรือ ตะกรุดพิศสมร หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

         สมัยนั้นถ้าหลวงพ่อเจาะจงลงตะกรุดให้ใครแล้วไม่ได้ใบลานจากแหล่งที่หลวงพ่อกำหนดไว้เป็นอันว่าอด ท่านไม่ลงให้เด็ดขาด มีเรื่องเล่ากันว่าข้าราชการท่านใดได้ไปอยู่ที่สมุทรสงคราม เมื่อต้องเข้ามาทำธุระปะปังในกรุงเทพฯ ถ้ารู้ว่ามาจากสมุทรสงคราม เป็นต้องถูกถามหาของฝากเป็นตะกรุดใบลานของหลวงพ่อแก้ววัดพวงมาลัย เสียทุกเที่ยวไป

          นอกจากตะกรุดบังปืนที่เลื่องชื่อแล้ว แม้แต่ ผ้ายันต์ ลูกอม ถ้าบอกว่าเป็นของวัดพวงมาลัย เป็นต้องถูกขอเรียบไม่มีเหลือ ปัจจุบันวัตถุมงคลแท้ๆ ของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย นั้นหายากและมีราคาสูง ยิ่งถ้าแหล่งที่มาไม่น่าเชื่อถือด้วยแล้วส่วนมากจะเป็นของยัดวัดเสียมากกว่าเพราะได้ราคาดี

         เหรียญปั๊มรุ่นแรกหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย (บล็อกวัด)

         สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ และจัดเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมมากสุดของหลวงพ่อแก้วลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ข้างกระบอก มีหูเชื่อม นิยมเรียกกันว่าบล็อกวัด จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดอย่างเนื้อเดียวเท่านั้น เป็นเหรียญที่มีราคาสูงหลักแสนหลักล้าน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย รุ่นแรก(บล็อกวัด) ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อแก้ว ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ นั่งสมาธิเต็มองค์ มีช่อมะกอกล้อมรอบองค์หลวงพ่อ ด้านบนมีตัวอุณาโลม ๑ ตัวมียันต์ล้อม ด้านล่างตัวเหรียญมีตัวเลขไทยเขียนว่า "๒๔๕๙" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ 

          ด้านหลัง เป็นยันต์หัวใจเสือสมิง ซึ่งเป็นยันต์ครูของหลวงพ่อแก้ว

           เหรียญปั๊มรุ่นแรกหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย (บล็อกวังบูรพา)

          เชื่อกันว่าสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มมีหูในตัว นิยมเรียกกันว่าบล็อกวัง จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย 2459 บล็อควัง
เหรียญหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย รุ่นแรก (บล็อกวังบูรพา) ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เนื้อทองแดง ของคุณปรางค์ อุ้มบาตร

เหรียญหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย รุ่นแรก (บล็อกวังบูรพา) ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อแก้ว ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ นั่งสมาธิเต็มองค์ มีช่อมะกอกล้อมรอบองค์หลวงพ่อ ด้านบนมีตัวอุณาโลม ๑ ตัวมียันต์ล้อม ด้านล่างตัวเหรียญมีตัวเลขไทยเขียนว่า "๒๔๕๙" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ

          ด้านหลัง เป็นยันต์หัวใจเสือสมิง ซึ่งเป็นยันต์ครูของหลวงพ่อแก้ว

          เหรียญพระพุทธหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

          สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ และจัดเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมอีกเหรียญหนึ่งของหลวงพ่อแก้วลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ข้างกระบอก มีหูเชื่อม นิยมเรียกกันว่าเหรียญพระพุทธ จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดอย่างเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย 2459 ทองแดง
เหรียญพระพุทธหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เนื้อทองแดง ของคุณสุรนารถ วงศ์ชนะภัย

เหรียญพระพุทธ หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลององค์พระพุทธรูปปางสมาธิ มีช่อมะกอกล้อมรอบองค์พระ ด้านบนมีตัวอุณาโลม ๑ ตัวมียันต์ล้อม ด้านล่างตัวเหรียญมีตัวเลขไทยเขียนว่า "๒๔๕๙" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ

          ด้านหลัง เป็นยันต์หัวใจเสือสมิง ซึ่งเป็นยันต์ครูของหลวงพ่อแก้ว

          เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์เศียรแหลม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ นิยมพิมพ์ใหญ่(เล็กพระถอดพิมพ์)​ จัดเป็นเหรียญหล่อยอดนิยมของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย สร้างด้วยเนื้อโลหะแบบทองผสม สีเหลืองอมเขียว โดยพิมพ์เศียรแหลมปัจจุบันถือเป็นพิมพ์ที่นิยมสุดในประเภทเหรียญหล่อแบบมีหูในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์เศียรแหลม ปี พ.ศ. ๒๔๕๙

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปางสมาธิห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฎิ องค์พระมีเศียรแหลม ตามพิมพ์ที่เรียก

         ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์ของหลวงพ่อแก้ว

         เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์เศียรโล้น

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙  นิยมพิมพ์ใหญ่(เล็กพระถอดพิมพ์)​ จัดเป็นเหรียญหล่อยอดนิยมของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย อีกพิมพ์หนึ่ง สร้างด้วยเนื้อโลหะแบบทองผสม สีเหลืองอมเขียว สมัยก่อนพิมพ์เศียรโล้นถือเป็นพิมพ์อันดับหนึ่งของเหรียญหล่อหลวงพ่อแก้ว ลักษณะเป็นเหรียญหล่อแบบมีหูในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพระพุทธ หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์เศียรโล้น ปี พ.ศ. ๒๔๕๙

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปางสมาธิ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฎิ องค์พระมีเศียรโล้นตามพิมพ์ที่เรียก

         ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์ของหลวงพ่อ

         เหรียญหล่อพระพุทธหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์ปรกโพธิ์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ จัดเป็นเหรียญหล่อของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย อีกพิมพ์หนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับเล่นหากันว่าเป็นของหลวงพ่อแก้ว ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ สร้างด้วยเนื้อโลหะแบบทองผสม สีเหลืองอมเขียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อปรกโพธิ์หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย 2459 ทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์ปรกโพธิ์ ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เนื้อทองผสม

           ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปรกโพธิ์ปางมารวิชัย มีเส้นสังฆาฏิชัดเจน องค์พระมีรัศมีประทับนั่งบนฐานชุกชี 

           ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักขระใดๆ

         เหรียญหล่อหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์ข้ามฟาก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ จัดเป็นเหรียญหล่อของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย อีกพิมพ์หนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับเล่นหากันว่าเป็นของหลวงพ่อแก้ว ลักษณะเป็นเหรียญหล่อแบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะแบบทองผสม สีเหลืองอมเขียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อข้ามฟากหลวงพ่อแก้ววัดพวงมาลัย2459
เหรียญหล่อหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์ข้ามฟาก ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ของคุณปราง อุ้มบาตร

เหรียญหล่อหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย พิมพ์ข้ามฟาก ปี พ.ศ. ๒๔๕๙

           ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปางสมาธิ พิมพ์นี้จะมีขนาดเล็กทำให้ถูกเรียกว่าเหรียญข้ามฟาก ด้วยในสมัยก่อนคนเผลอหยิบมาใช้แทนสตางค์อยู่บ่อยครั้ง

           ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์ของหลวงพ่อ

           พระผงพิมพ์เศียรแหลม หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

           สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยใช้แม่พิมพ์ของเหรียญหล่อพระพุทธ พิมพ์เศียรแหลม มาใช้ในการกดพิมพ์ จัดเป็นพระที่พบเห็นได้ยาก น่าจะสร้างน้อยมากเพราะแทบไม่เคยเห็นหมุนเวียนผลัดมือเลย โดยพระองค์นี้เป็นพระเนื้อผง ลงรักปิดทองเก่า ที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือชนะเลิศการประกวดพระลุ่มน้ำแม่กลองเทศกาลเห็ดโคน จัดเป็นพระสุดยอดหายากในปัจจุบัน

พระเนื้อผง พิมพ์พระพุทธเศียรแหลม หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ปี พ.ศ. ๒๔๕๙

           ด้านหน้า มีพุทธลักษณะเหมือนเหรียญพระพุทธพิมพ์เศียรแหลม ของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

           ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ

          สมเด็จเนื้อดินหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

         เป็นพระสมเด็จที่สร้างจากเนื้อดินเผา บางตำราว่าเป็นของหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม แต่คนสมัยก่อนนิยมว่าเป็นของหลวงพ่อแก้ว ในบางองค์ด้านหลังเรียบ ซึ่งจะได้รับความนิยมกว่าในปัจจุบัน

สมเด็จเนื้อดินหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

          ด้านหน้า เป็นพระพิมพ์สมเด็จฐาน ๕ ชั้น ไม่มีครอบแก้ว มีอักขระยันต์ ๔ ตัว อ่านว่า "ภู ภี ภู ภะ"  ด้านข้างมีขอบบังคับพิมพ์

          ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์สี่เหลี่ยมเฉพาะของหลวงพ่อแก้ว มีอักขระ ภูภีภูภะ จัดเป็นของดีราคาถูกที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก พบเจออย่าปล่อยให้หลุดมือเป็นเด็ดขาด

         ปัจจุบันพระของหลวงพ่อแก้วมีราคาแพงและหาได้ยากยิ่ง ที่เล่นหากันอยู่โดยมาเป็นของเสริมเรียนแบบและเป็นของยัดว่าเป็นของหลวงพ่อทั้งสิ้น ด้วยวัตถุมงคลของหลวงพ่อที่หาได้ยากใครที่มีก็หวงแหน โดยมากจะตกทอดกันมาเป็นมรดก ไม่ค่อยปล่อยให้หลุดหรือเปลี่ยนมือง่ายๆ การเล่นหาจึงต้องศึกษาให้ดีอย่างรอบคอบด้วย ปัจจุบันมีของที่พยายามยัดว่าเป็นของหลวงพ่อแก้ว ออกมามากมาย.


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

Facebook : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง 

Facebook Group : กลุ่มสารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง   

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น