วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อดำ (อินทสโร) วัดตาลบำรุงกิจ เจ้าของเหรียญหล่อใบโพธิ์ ๑๐๐ กว่าปี และตำนานจรเข้เจ้าของลุ่มน้ำแม่กลอง

หลวงพ่อดำ อินทสโร วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี
 
          ในคุ้งน้ำแม่กลอง มีเกจิที่เก่าแก่และเก่งกาจมากมายหลายท่าน แต่ถ้าพูดถึงเกจิที่ชื่อว่า หลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ ย่อมจะไม่มีผู้ใดในลุ่มน้ำแม่กลองที่ไม่รู้จักหลวงพ่อดำ นั้นน้อยเต็มที เนื่องจากหลวงพ่อดำท่านนี้ถือเป็นพระเกจิ ที่เก่งกาจแบบที่หาตัวจับยาก มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และเหรียญของหลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ ถือเป็นเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของประเทศไทย ที่ไม่ใช่เหรียญตาย!! และหายากมากเหรียญหนึ่งเลยทีเดียว

          วัดตาลบำรุงกิจ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง เลขที่ ๗๖ หมู่ ๑ ตำบลสี่หมื่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นวัดเก่าแก่ที่ไม่มีประวัติที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง 

          มีเพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า นางตาล (ไม่ทราบนามสกุล) ได้สร้างถวายเพื่อบำรุงพระศาสนา โดยบริจาคทรัพย์และที่ดิน วัดจึงตั้งชื่อวัดว่า วัดตาลบำรุง หรือเรียกสั้นๆว่าวัดตาล ในอดีตมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น วัดตาลล้อม เนื่องจากวัดตั้งอยู่บนเนินดินสูงมีต้นตาลรอบวัด หรือเรียกชื่อตามหมู่บ้านว่าวัดตาลสี่หมื่น

          ในสมัยพระครูโสภณกิจจารักษ์ หรือ หลวงพ่อเชย เจ้าอาวาสรูปถัดมาเห็นว่าชื่อวัดตาลบำรุงห้วนเกินไป จึงเติมคำว่า "กิจ"  เป็น วัดตาลบำรุงกิจ จนถึงปัจจุบัน สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วย มณฑป หรือชาวบ้านเรียกวิหารไห ลักษณะชั้นล่างเป็นไหโบราณก่อเป็นรูปภูเขา ชั้นบนเทคอนกรีต ปูพื้นด้วยหินอ่อน 

          เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลม วิหารแบบทรงไทยโบราณไม่มีลวดลาย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางปราบพญาชมพูทวีป (ปางรัตนโกสินทร์) หน้าตักกว้าง ๘๐ นิ้ว สูง ๑๒๐ นิ้ว ประดิษสถาานอยู่ ตรงข้ามแม่น้ำมีวัดราชคามตั้งอยู่

วิหารไห วัดตาลบำรุงกิจ

วิหารไห วัดตาลบำรุงกิจ


          หลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ ท่านเกิดวันอาทิตย์ เดือนอ้าย ปีขาล ตรงกับปี พ.ศ.๒๓๘๕ ที่บ้านคลองบางป่าใต้ ราชบุรี โยมบิดาชื่อปลิก โยมมารดาชื่อ เหม เมื่อเด็กท่านเป็นคนผิวดำ มารดาจึงเรียกท่านว่า "ดำ" ท่านเป็นคนนิสัยใจคอกล้าหาญมาแต่เด็กๆ พออายุสมควรเล่าเรียน บิดาจึงนำไปฝากเรียนหนังสือไทยและขอมที่สำนักวัดตาล

          เนื่องจากพระอาจารย์เล็กเป็นญาติทางบิดาของท่าน พระอาจารย์เล็กผู้นี้เป็นครูที่ดุมาก กวดขันนักเรียนจนเป็นที่เกรงกลัวแก่เด็กๆ หลวงพ่อดำท่านเป็นคนที่มีความตั้งใจสูงชอบศึกษาเล่าเรียน มีความอุตสาหะเล่าเรียนด้วยความขยัน ทำให้พระอาจารย์เล็กเกิดเมตตาจิตถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ ให้จนท่านมีความรู้แตกฉาน

          เมื่อหลวงพ่อดำ อายุได้ ๑๖ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดตาลบำรุงกิจ และศึกษาพระธรรมวินัยจนอายุครบบวชในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ ก็ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดตาลบำรุงกิจ ได้รับฉายาว่า "อินทสโร"  โดยมี

          พระครูอภัยมงคล (แดง) วัดจันทคาม เป็นพระอุปัชฌาย์ 

          พระสมุห์ทอง วัดท่าสุวรรณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

          พระอาจารย์เล็ก วัดตาลบำรุงกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

          เมื่อบวชแล้วก็ได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดตาล ต่อมาจึงได้ออกธุดงค์และไปปริวาสธุดงค์กับพระอาจารย์อ้น วัดบางจาก อัมพวา นอกจากนี้ท่านได้ออกธุดงค์ไปทั่วประเทศ โดยจะออกธุดงค์คราวละ ๒-๓ ปี เพื่อฝึกพลังจิตและวิชาให้กล้าแข็ง ได้พบพระอาจารย์เก่งๆ ในป่าลึก และได้รับถ่ายทอดวิชาต่างๆ มากมาย

          นอกจากนี้ท่านยังเสาะหาตำราเก่าๆ เอามาศึกษาฝึกฝนด้วยตัวเอง ในระหว่างที่ท่านได้ธุดงค์ไปนั้น ไปถึงไหนหากมีเหตุให้ต้องช่วยเหลือชาวบ้านท่านก็ได้ช่วยชาวบ้านต่างๆอย่างเต็มกำลังเรื่อยไป ชาวบ้านต่างๆที่ท่านธุดงค์ผ่านไปให้ความช่วยเหลือเกิดศรัทธาในตัวหลวงพ่อและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ก่อสร้างวัดต่างๆ ณ จุดนั้นๆเรื่อยไป

          จนหลวงพ่อดำท่านมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป พอพรรษาที่ ๘ เจ้าอาวาสวัดตาลว่างลง ชาวบ้านและทางคณะสงฆ์ เห็นควรนิมนต์ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดตาล ซึ่งขณะนั้นวัดได้ทรุดโทรมลงไปมาก

          ท่านจึงรับนิมนต์และได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอย่างสุดความสามารถ จนวัดมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ใครเห็นหลวงพ่อท่านทำอะไรก็เลื่อมใสศรัทธามาร่วมงานด้วยความเต็มใจ เพราะท่านช่วยเหลือใครก็ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน ไม่เลือกชั้นวรรณะ เป็นกันเองแก่ทุกคน ท่านคิดจะทำอะไรก็เป็นสำเร็จได้ทุกประการ

ภาพถ่ายหลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี
หลวงพ่อดำ อินทสโร วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี ถ่ายโดยร้านเอี้ยวกี่ ราชบุรี

          หลวงพ่อดำ พออายุได้ ๔๐ ปี ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ และเจ้าคณะตำบลตามลำดับ หลวงพ่อดำท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย คนทางหัวเมืองใกล้เคียงเช่นสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ต่างก็มาเรียนวิชาจากท่านเสมอ  

          ตะกรุดมหาอุตม์ของท่านโด่งดังมาก มีเรื่องเล่ากันสืบต่อมาว่านายชม นักเลงโตย่านคลองแควอ้อม มีฉายาว่าขุนช้าง เนื่องจากหัวล้านและมีเงินทองมาก ได้ตะกรุดไปจากท่าน เอาพกติดตัวอยู่เสมอ เคยถูกลอบยิงหลายครั้งไม่เป็นอะไร ต่อมามีสมัครพรรคพวกมากขึ้น ก็เปิดบ่อนพนัน ทำตัวเป็นผู้กว้างขวางแถบนั้น เมื่อหลวงกล้ากลางสมร มือปราบย้ายมาจากจังหวัดสมุทรสงคราม หลวงกล้าฯ ก็ได้มาเตือนนายชมให้เลิกเสีย

          แต่นายชมถือว่ามีสมัครพรรคพวกมาก เลยตอบไปว่า แน่จริงก็เข้ามาจับได้เลย หลวงกล้าฯ จึงวางแผนเข้าจับกุม แต่ชัยภูมิบ้านของนายชมคับขันมาก มีทางเข้าแต่ทางเรือเท่านั้น หลวงกล้าฯ จึงให้ตำรวจฝังตัวอยู่ในเลนครึ่งตัวล้อมจับไว้ถึง ๗ ช.ม. พวกลูกน้องนายชมก็หนีหายล้มตายไปหมดเหลือแต่นายชมเพียงคนเดียว

          ตำรวจได้ระดมยิงไปที่นายชมหลายนัด พอยิงไปตรงตัวก็ยิงไม่ออก ยิงไปทางอื่นลูกออก จนนายชมลูกปืนหมดจึงถูกจับได้ หลวงกล้าฯ ค้นดูในตัวมีเพียงตะกรุดของหลวงพ่อดำเพียงดอกเดียว ตอนนายชมถูกจับตัวได้นั้น พอตำรวจเผลอนายชมได้กินยาตาย ไม่ยอมให้ถูกดำเนินคดี

          หลวงพ่อดำ ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ด้วยโรคชรา นับรวมสิริอายุได้ ๙๐ ปี  ๗๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ
 

          ในส่วนของเครื่องรางของขลัง ยุคแรกๆ หลวงพ่อดำ ท่านได้ทำตะกรุดไว้แจกจ่าย หากมีใครมาขอหลวงพ่อดำท่านก็ทำแจกให้ไป เมื่อผู้ที่ได้รับนำไปใช้ก็เกิดพุทธคุณจนเป็นที่กล่าวขวัญของชาวบ้านมากมาย และเมื่อเครื่องรางของท่านโด่งดังมากมีคนมาขออยู่เป็นประจำเรื่อยมา

          โดยตะกรุดของท่านจะเป็นตะกรุดที่ทำขึ้นง่ายๆ โดยใช้แผ่นโลหะที่หาได้ มาทำการปลุกเสกลงเลขยันต์ อักขระต่างๆตามตำราที่หลวงพ่อดำ ท่านได้เล่าเรียนมาจึงไม่มีเอกลักษณ์ที่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นของหลวงพ่อดำ ยกเว้นจะตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเจ้าของที่มีก็หวงแหนยิ่งนัก ผู้ที่นำไปใช้เห็นผลทางด้านมหาอุตม์ คลาดแคล้ว จึงเรียกตะกรุดของหลวงพ่อดำว่า "ตะกรุดมหาอุตม์" จนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. ๒๔๕๙  

          เหรียญหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อดำรุ่นแรก 

          สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง รูปหัวใจหรือรูปใบโพธิ์แบบมีหูในตัว จัดเป็นเหรียญหล่อพระเกจิที่เก่าแก่ที่สุดเหรียญหนึ่งของประเทศไทย

เหรียญหล่อพระอุปัชฌาย์ (ดำ อินทสโร) วัดตาลบำรุงกิจ เนื้อทองเหลือง ปี๒๔๕๙ จ.ราชบุรี

เหรียญหล่อพระอุปัชฌาย์ (ดำ อินทสโร) วัดตาลบำรุงกิจ เนื้อทองเหลือง ปี๒๔๕๙ จ.ราชบุรี

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อดำ นั่งเต็มองค์ ห่มจีวรแบบลดไหล่ พาดผ้าสังฆฏิ มีช่อมะกอกผูกด้วยโบว์ด้านล่าง ในเหรียญมีเลขไทย "๒๔๕๙" ระบุปีที่สร้าง

          ด้านหลัง มีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ ติ หัง จะ โต โล ทิ นัง พุท ธัง สัง มิ อินทสโร นะ ปะ ตะ กะ สะ" จำนวนการสร้างไม่เป็นที่แน่นอน โดยมีชาวบ้านและผู้ที่ศรัทธาในตัวหลวงพ่อดำเข้าไปขอแจกกันเป็นจำนวนมากจนเหรียญหล่อหมด ไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว

          เหรียญปั๊มหลวงพ่อดำ รุ่นแรก

          สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยเป็นการจัดสร้างเพิ่มเติม เพราะเหรียญหล่อหลวงพ่อดำ รุ่นแรก ไม่พอแจก  ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นคหบดีใหญ่ของจังหวัดราชบุรี จึงเสนอตัวขอสร้างเหรียญปั๊มหูเชื่อมขึ้น เพื่อให้หลวงพ่อดำไว้คอยแจกชาวบ้านและลูกศิษย์ลูกหาอย่างเพียงพอ มีทั้งเนื้อเงินและทองแดง

เหรียญปั๊มหลวงพ่อดำ (อินทสโร) วัดตาลบำรุงกิจ เนื้อทองแดง ปี ๒๔๕๙ จ.ราชบุรี

เหรียญปั๊มหลวงพ่อดำ (อินทสโร) วัดตาลบำรุงกิจ เนื้อเงิน ปี ๒๔๕๙ จ.ราชบุรี

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อดำ นั่งเต็มองค์ ห่มจีวรแบบลดไหล่ พาดผ้าสังฆฏิ มีช่อมะกอกผูกด้วยโบว์ด้านล่าง ในเหรียญมีเลขไทย "๒๔๕๙" ระบุปีที่สร้าง

          ด้านหลัง มีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ ติ หัง จะ โต โล ทิ นัง พุท ธัง สัง มิ อินทสโร นะ ปะ ตะ กะ สะ" จำนวนการสร้างไม่เป็นที่แน่นอน

          พุทธคุณของเหรียญของหลวงพ่อดำมีพุทธคุณทางคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม ปัจจุบันนับว่าหาชมได้ยากมากเนื่องจากเป็นเหรียญที่มีอายุความเก่ามากและหายาก

          เกร็ดอาคม มีเรื่องเล่ามาจากคนเฒ่าคนแก่ว่าวิหารไหแห่งนี้ว่ามีจรเข้โดนอาคมอาศัยอยู่ใต้วิหาร เล่าต่อๆกันมาว่ามีโพรงจากใต้วิหารออกไปที่แม่น้ำแม่กลองได้

          สมัยก่อนที่ท่าน้ำมีพระอาจารย์(ผู้เล่าไม่ได้เอ่ยชื่อว่าเป็นผู้ใด) มีวิชาที่สามารถเสกคนให้กลายเป็นจรเข้ได้ ได้มาลองวิชาที่ท่าน้ำวัดตาลบำรุงกิจ โดยทำการเสกตัวเองให้กลายเป็นจรเข้ แล้วกำชับเณรรูปหนึ่งว่าให้คอยเทน้ำมนต์ในขันสำหรับเสกจรเข้ให้กลับมาเป็นคน โดยให้รดน้ำมนต์ที่ตัวจรเข้

          แต่เมื่อกลายเป็นจรเข้แล้ว เณรที่คอยถือขันน้ำมนต์เกิดตกใจกลัว ทำขันน้ำมนต์ตก จึงทำให้จรเข้นั้นไม่สามารถกลับมาเป็นคนได้อีกจึงอาศัยอยู่ที่คุ้งน้ำบริเวณหน้าวัดตาลฯ แห่งนี้ บางครั้งชาวบ้านก็จะเจอจรเข้ลอยทวนน้ำอยู่ที่ท่าวัดแต่มิได้ทำร้ายใคร.
 
         ในส่วนของชื่อของท่านนั้นคนในพื้นที่เรียกท่านว่าหลวงพ่อดำ แต่ในส่วนของนักเล่นพระส่วนกลางจะเรียกท่านว่าหลวงพ่ออินทร์ ตามฉายาของท่าน

ข้อมูล : บางส่วนจากคุณแทน ท่าพระจันทร์ 
ภาพ : สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูขาไทย,คุณเด่น อยุธยา

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

2 ความคิดเห็น:

  1. เหรียญเงินล่ะครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ถ้าพบเจอสวยๆจะเอามาลงให้ชมภายหลังนะครับ

      ลบ