วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ประวัติและวัตถุมงคลของพระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทรวรวิหาร พระภิกษุผู้มากด้วยบารมี เหรียญดีของแม่กลอง

ภาพถ่ายพระมหาสิทธิการทอง วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม
พระมหาสิทธิการทอง วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม

         พระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทร อดีตเจ้าอาวาส จังหวัดสมุทรสงคราม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๙ รวมระยะเวลานานถึง ๔๕ ปี

        พระมหาสิทธิการ(ทอง) เกิดที่บ้านตำบลลมหวน ปัจจุบันเป็นตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม  เมื่อวันอาทิตย์ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ โยมบิดาชื่อ พลับ โยมมารดาชื่อ อ้น โดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้อง ๕ คน

         เมื่อเป็นเด็กได้เรียนหนังสือไทยกับพระอาจารย์ทรัพย์ วัดจันทร์เจริญสุข พออายุครบบวชได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบ้านแหลม ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้รับฉายาว่า "อินทสุวณโณ" โดยมี

          พระสมณคุณ(เนตร) วัดบ้านแหลม เป็นพระอุปัชฌาย์ 

          พระอธิการทรัพย์ วัดจันทร์เจริญสุข เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระปลัดแดง วัดบ้านแหลม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

          หลักจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านแหลม จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระปลัดทอง ต่อมาเป็นพระราชาคณะที่พระมหาสิทธิการเป็นพระอนุสาวนาจารย์

          พระมหาสิทธิการ(ทอง) เป็นผู้ที่มีเมตตาธรรมเค่งครัดในพระธรรมวินัย มีความรู้และความชำนาญในด้านงานช่างนวกรรม ครั้งได้รับพระราชทานเรือต้นที่สวนดุสิต หลวงพ่อเป็นแม่งานในเรื่องการรื้อย้ายเรือนไม้บางส่วน มาปลูกเป็นศาลาการเปรียญ วัดบ้านแหลม โดยสร้างเรือนไม่เสียหายแม้แต่น้อยนับ เป็นความสามารถของท่าน เมื่อหลวงพ่อได้เป็นเจ้าอาวาสได้สร้างกังหันลม ๔๐ ตัว ถวายเป็นพุทธบูชาแก่หลวงพ่อบ้านแหลม

พระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทร(บ้านแหลม)

         ท่านเป็นผู้ที่มีปฏิญาณไหวพริบแก้ไข สถานการณ์เรื่องหนึ่งคือการเปลี่ยนชื่อวัดป้อมแก้ว มีอยู่ว่าครั้งหนึ่งท่านเป็นพระปลัดทอง ได้มีการพิจารณารวมวัด ๒ วัดเป็นวัดเดียวคือวัดบางแก้ว กับวัดหลังป้อม ชาวบ้านญาติโยมทายก ทายิกาทั้งสองฝ่ายตกลงในหลักการที่จะให้ร่วมกันได้ 

         แต่ถึงคราวพิจารณาว่าจะตั้งชื่ออย่างไรทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ทางฝ่ายวัดบางแก้วก็จะให้ชื่อวัดของตน ฝ่ายวัดหลังป้อมก็ยืนยันจะให้คนชื่อวัดตนไว้ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต่างก็ยกพวกพร้อมอาวุธมาทำร้ายให้แตกหักกันไปข้างหนึ่ง  ท่านเห็นว่าเรื่องราวลุกลามไปใหญ่โต จึงเสนอให้ตั้งชื่อวัดใหม่โดยนำชื่อวัดบางแก้วกับวัดหลังป้อม มารวมกันเป็นวัดป้อมแก้ว ซึ่งก็เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย

ภาพถ่ายพระมหาสิทธิการทอง วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม
ภาพถ่ายพระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทร(บ้านแหลม) ของภาณุ เกตุแก้ว

         หน้าที่และสมณศักดิ์


         ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระครูสัทธาโสภิต เป็นเจ้าคณะตำบล และพระกรรมการตรวจข้อสอบนักธรรมสนามหลวง

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นพระอุปัชฌาย์และรั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเมืองสมุทรสงคราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นเจ้าคณะแขวงเมืองสมุทรสงครามเปลี่ยนเป็นพระครูเจ้าคณะแขวงในสมณศักดิ์เดิม เป็นกรรมการตรวจข้อสอบนักสอบสนามหลวงมณฑลราชบุรี และกรรมการศึกษาประจำอำเภอเมืองสมุทรสงคราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูมหาสิทธิการ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นพระราชาคณะที่พระมหาสิทธิการ

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นผู้อุปการะโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นเจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหารพระอารามหลวง

ภาพถ่ายพระมหาสิทธิการทอง วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม
พระมหาสิทธิการทอง วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม

         พระครูมหาสิทธิการทอง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๙ นับรวมสิริอายุได้ ๘๘ ปี ๖๘ พรรษา ก่อนมรณะราวครึ่งชั่วโมง เล่ากับว่าท่านเหมือนจะรู้ตัวจึงสั่งให้พระ จัดดอกไม้ไปกราบลาหลวงพ่อบ้านแหลมแล้วท่านก็ตั้งสติภาวนาจนสิ้นลม.

วัตถุมงคลของพระมหาสิทธิการทอง

         เหรียญพระมหาสิทธิการทอง วัดบ้านแหลม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อแจกในคราวฉลองอายุครบ ๖ รอบของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปใบสาเกแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยโลหะเนื้อทองแดง และเนื้อเงิน(หายาก) จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระอธิการทอง 2484 เนื้อเงิน
เหรียญพระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทรวรวิหาร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อเงิน ของคุณยุ่ยซี อัมพวา

เหรียญพระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทรวรวิหาร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อพระมหาสิทธิการทองเต็มองค์ นั่งมารวิชัยห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักษรจารึกว่า "พระมหาสิทธิการ(ทอง) อินฺสุวณฺโณ ๑๒/๑/๒๔๘๔"

         ด้านหลัง มียันต์อุณาโลมในซุ้มนาคปรก มีอักษรเขียนว่า "งานฉลองอายุครบหกรอบ"

         พระเนื้อผงพระมหาสิทธิการทอง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ลักษณะเป็นพระเนื้อผงรูปเหมือนพระมหาอธิการทอง วัดเพชรสมุทร สร้างในคราวฉลองอายุครบ ๗ รอบของหลวงพ่อ เป็นพระที่หายากไม่ค่อยเป็นที่พบเห็นในปัจจุบัน ลักษณะพิมพ์คล้ายจอบย่อมุมบน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระเนื้อผงพระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ปี ๒๔๙๖ ของ ร้านพระเครื่องจรัญ๙๖

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อพระมหาสิทธิการทองเต็มองค์ นั่งมารวิชัยบนผ้าอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ไม่มีอักขระใดๆในพิมพ์พระ

         ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระเลขยันต์ใดๆ 

         เหรียญพระมหาสิทธิการทอง วัดบ้านแหลม รุ่น ๒

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อ ลักษณะเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยโลหะเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระมหาสิทธิการทอง วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม 2500 ทองแดง
เหรียญพระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทรวรวิหาร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อพระมหาสิทธิการทอง ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักษรภาษาไทยเขียนว่า "พระมหาสิทธิการ (ทอง อินฺสุวณฺโณ)"

         ด้านหลัง ตรงกลางมีรูปจำลองหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ข้างองค์หลวงพ่อมีฉัตร ๕ ชั้น เหนือองค์หลวงพ่อมีอักษรภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม" ใต้องค์หลวงพ่อมีอักษรภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๐ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม"

         หลวงพ่อพระมหาสิทธิการทอง วัดบ้านแหลม ท่านมีความสามารถทางด้านช่าง และนวกรรม แต่ทางด้านการปลุกเสกของขลังนั้น ท่านยอมรับว่าท่านโง่ในเรื่องนี้ ฉะนั้นการสร้างเหรียญฉลองอายุครบ ๖ รอบจึงปรึกษากับหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้กาญจนบุรี และหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม เพื่อขอความช่วยเหลือในการดำเนินการ

         ในพิธีการปลุกเสกเหรียญและพระเนื้อผงนี้ มีพระคณาจารย์เรื่องชื่อในสมัยนั้นมาร่วมงานเท่าที่มีผู้เล่าไว้คือ

         ๑. พระวิสุทธิรังษี(เปลี่ยน) วัดไชยชุมพล หรือวัดใต้ กาญจนบุรี เป็นประธาน 
         ๒. หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม จังหวัดสมุทรสงคราม
         ๓. พระสกลวิสุทธิ(เหมือน) วัดกลางเหนือ จังหวัดสมุทรสงคราม
         ๔. หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม
         ๕. หลวงพ่อกลึง วัดสวนแก้ว จังหวัดสมุทรสงคราม 
         ๖.  พระครูธรรมวิถีสถิติ์(โต) วัดคู้ธรรมสถิตย์ จังหวัดสมุทรสงคราม
         ๗. พระราชมงคลวุฒาจารย์ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ จังหวัดสมุทรสงคราม
         ๘. พระครูศิริสรคุณ(แดง) วัดท้ายหาด จังหวัดสมุทรสงคราม 
         ๙. พระครูสมุทรสุนทร(แขก) วัดพวงมาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม 

         ซึ่งวัตถุมงคลที่ผ่านพิธีปลุกเสกนี้ จัดเป็นของดีที่สนนราคายังไม่แพง แถมมีประวัติการจัดสร้างที่ชัดเจน รวมทั้งยังได้สุดยอดพระเกจิอาจารย์ชื่อดังมากมายมาร่วมปลุกเสก

         หากใครมีโอกาสพบเจออย่าปล่อยให้หลุดมือเป็นอันขาด รายนามพระคณาจารย์ที่ร่วมพิธีปลุกเสกย่อมเป็นเครื่องยืนยันในคุณวิเศษของเหรียญได้เป็นอย่างดี.

 

[ภาพอ้างอิงจากเพจหลวงพ่อวัดบ้านแหลม]
โดย : สารานุกรมลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น