วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลพระครูมหาชัยบริรักษ์ (หลวงพ่อเชย ญาณวฒโน)​ วัดเจษฎาราม ผู้มีวาจาดั่งพระร่วง

พระครูมหาชัยบริรักษ์ หรือ หลวงพ่อเชย ญาณวฒโน วัดเจษฎาราม

          พระครูมหาชัยบริรักษ์ หรือ หลวงพ่อเชย ญาณวฒโน อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ของวัดเจษฎาราม ท่านมีนามเดิมว่า เชย เอกน้อย เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๒ ตรงกับปีเถาะ ณ.บ้านวังน้ำคู้ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 

         โยมบิดาชื่อชื่น เอกน้อย โยมมารดาชื่อหริ่ง เอกน้อย การศึกษาในวัยเยาว์ ได้เล่าเรียนอักษรสมัยยังสำนักปากพิง พิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเกิดของท่าน จนอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี

          ต่อมาบิดา-มารดา อพยพย้ายมาประกอบอาชีพที่ ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร ท่านได้ช่วยครอบครัวทำมาหากินจนกระทั่งอายุได้ ๒๐ปี จึงทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเจษฎาราม เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๒๖๗ ตรงกับวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้รับฉายาว่า "ญาณวฒโน" โดยมี

          พระครูสมุทรคุณากร (นิล)​ วัดตึกมหาชยาราม เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เป็นพระอุปัชฌาย์

          พระอธิการใหม่ วัดแหลมสุวรรณาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

          พระอธิการโต วัดโกรกกราก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ภาพถ่ายหลวงปู่นิล วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร
หลวงปู่นิล วัดตึกมหาชยาราม สมุทรสาคร พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเชย

          หลังจากที่อุปสมบทแล้ว หลวงพ่อเชย ท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเจษฏาราม เพื่อศึกษาท่องบทสวดมนต์ต่างๆ หลังบวชไม่นานก็สามารถท่องบทสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน จนคล่อง 

         ท่านจึงได้มุ่งศึกษาพระธรรมวินัยโดยไปศึกษากับพระอธิการใหม่ วัดแหลมสุวรรณาราม ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน 

         ท่านมีใจฝักใฝ่ในพระศาสนา จึงมุ่งหน้าศึกษาพระปริยัติธรรมแต่ขณะนั้นการศึกษาทางด้านนี้ยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ท่านจึงเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ โดยพำนักอยู่ที่วัดสังกัจจายน์ ธนบุรี 

         ซึ่งทางวัดสังกัจจายน์เองก็ยังไม่มีสำนักเรียนจึง ไปศึกษาที่วัดราชสิทธารามบ้าง วัดประยูรวงศาวาสบ้าง 

รูปถ่ายพระครูมหาชัยบริรักษ์ หรือ หลวงพ่อเชย ญาณวฒโน วัดเจษฎาราม

          ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสังกัจจายน์ ถึง ๑๐ พรรษา ก็ย้ายมาพำนักอยู่ที่วัดสวนแก้วอุทยาน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ขณะอยู่ที่วัดได้ช่วยบริหารจัดการงานภายในวัดและทำการสอนปริยัติธรรม แก่พระภิกษุ สามเณรด้วย

          ช่วงนี้ท่านได้หันมาสนใจทางวิปัสสนากรรมฐาน และเรื่องของวิทยาคม จึงเดินทางมาศึกษากับหลวงปู่นิล วัดตึก พระอุปัชฌาย์ของท่าน ซึ่งเป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง และเล่าเรียนวิชาจากพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นๆ อีกหลายรูป อาทิ หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย หลวงพ่อทรัพย์ วัดบางเกาะเทพศักดิ์ ได้รับการถ่ายทอดวิชาหลายแขนง และยังได้แลกเปลี่ยนวิชากับอาจารย์ ที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน

           ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ พระอธิการบัว จันทรังษี เจ้าอาวาสวัดเจษฎารามได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อเชยมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน และในปีเดียวกันก็ได้เป็น เจ้าคณะตำบลมหาชัยอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย

           ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

          ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญไม้ เสาและบรรไดเป็นคอนกรีต ทดแทนหลังเก่าที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ที่ชำรุด 

          ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูมหาชัยบริรักษ์ และได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองสมุทรสาคร

          ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้สร้างพระอุโบสถเสร็จ และผูกพัทธสีมา แทนพระอูโบสถหลังเดิมที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ (รื้อไปในปี พ.ศ. ๒๔๙๒)

          ปี พ.ศ ๒๔๘๔ ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ด้วยเพราะหลวงพ่อเชยเริ่มชราภาพลงจน ไม่สามารถบริหารกิจการงานได้เต็มที่

          ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ท่านได้สร้างพระพุทธรูปยืนปางถวายเนตร ประดิษฐานอยู่หน้าพระอูโบสถ สร้างด้วยเนื้อโลหะ ลงรักปิดทอง สูง ๖ ศอก 

          ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านได้สร้างพระพุทธบาทจำลอง ขนาดกว้าง ๑.๕ เมตร ยาว ๔ เมตร 

รูปถ่ายพระครูมหาชัยบริรักษ์ หรือ หลวงพ่อเชย ญาณวฒโน วัดเจษฎาราม

          หลวงพ่อเชย นับแต่มาเป็นเจ้าอาวาสท่านได้ทำการปฏิสังขรณ์วัด จนเป็นพระอารามที่เจริญรุ่งเรือง ด้วยวิชาความรู้ ความสามารถ ทางด้านช่าง ถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ท่านเป็นผู้ออกแบบเองแทบทั้งสิ้น และจากความศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อนั้น เมื่อดำริทำการสิ่งใดก็จะมี ผู้คน ชาวบ้าน ทั้งใกล้ไกลมาช่วยเหลือกันอย่างเต็มกำลัง จนแล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งก่อสร้างในสมัยหลวงพ่อ อาทิ พระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอพระไตรปิฎก หอสวดมนต์ ศาลาบำเพ็ญกุศล โรงเรียนประชาบาล

          หลวงพ่อเชย แม้จะมีภาระในด้านการบริหารและการปกครองอยู่มาก แต่ท่านก็ปลีกตัวมาต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนด้วยอัธยาศัยอันดี ด้วยอุปนิสัยที่ติดตัวมาแต่เด็กก็คือความเมตตาผู้น้อย ในแต่ละวันมีผู้คนเดินทางมาหาเป็นจำนวนมาก บ้างก็มาขอของขลังหรือขอให้รดน้ำมนต์ ที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็มาขอให้ท่านช่วยรักษา เนื่องจากหลวงพ่อมีความสามารถในทางการแพทย์แผนโบราณ ใครไปพบท่านจะไม่มีคำว่าผิดหวัง นอกจากนั้นยังให้ความช่วยเหลือวัดต่างๆ ที่มาขอความเมตตาจากหลวงพ่ออีกด้วย

          การพูดหรือการกระทำต่างๆนั้นหลวงพ่อเชยท่านจะออกคำสั่งเพียงครั้งเดียว ไม่มีการพูดซ้ำสอง หรือพูดเตือนความจำ ด้วยวาจาที่กล่าวกันว่าศักดิ์สิทธิ์ของท่าน

          บรรดาลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเสมอ มายามว่างท่านจะเรียก ภิกษุ สามเณร รวมทั้งศิษย์วัด มาอบรมสั่งสอนอยู่เสมอ แม้แต่ชาวบ้านบางคน ที่ทำตัวเกะกะเกเร ท่านจะเรียกตัวมาสั่งสอนให้เลิกประพฤติตัวอย่างที่เป็นอยู่ หันมาประกอบคุณงาม ความดี ซึ่งแต่ละคนนั้นมิได้เกรงการทำชั่ว หากแต่กลัวปากของหลวงพ่อมากกว่า

ป้ายวัดเจษฏาราม พระอารามหลวง สมุทรสาคร

         หลวงพ่อเชยหากท่านกล่าวอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น มีเรื่องเล่ากันว่าคราวหนึ่งที่วัดกลาง จัดให้มีพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ทางวัดนิมนต์พระคณาจารย์มาร่วมพิธีหลายรูป หลวงพ่อก็ได้รับนิมนต์ด้วยบังเอิญ ท่านเหลือบไปเห็นหลวงพ่อนาค วัดใหญ่ ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีจึงกล่าวสัพยอกขึ้นว่า "ท่านเป็นนาค ท่านเดินออกไปข้างนอกไม่ได้นะ" เมื่อพิธีพุทธาภิเษกเสร็จสิ้น พระคณาจารย์ทั้งหลายต่างเดินออกจากพระอุโบสถกันแทบจะหมดเหลือ แต่หลวงพ่อนาค เพียงรูปเดียวที่หาทางออกจากโบสถ์ไม่ได้ จึงฉุกคิดขึ้นถึงคำพูดของหลวงพ่อเชย หากท่านลุกขึ้นเดินคงหาทางออกไม่เจอ จึงลงคานกับพื้น และก็เห็นประตูทางออก เลยเกิดเรื่องลือกันว่าหลวงพ่อเชย ท่านมีวาจาสิทธิ์ หลวงพ่อปกติท่านไม่ว่าใคร นอกเสียจากตักเตือนซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

          ถ้าใครถูกท่านว่ากล่าวแล้วก็นับว่าผู้นั้นเป็นคนไม่ดีจริงๆ แล้วเรื่องที่มีคนมาทะเลาะวิวาทกันภายในวัดด้วยถ้อยคำมธุรสที่หยาบคาย เป็นที่หนวกหูรำคาญแก่ พระ เณร และญาติโยม ท่านเห็นว่าเป็นการไม่สมควรจึงห้ามปราม แต่คนผู้นั้นหาเชื่อฟังไม่ ท่านจึงบอกให้ออกไปข้างนอกบริเวณวัดก็ไม่ยอมไป หลวงพ่อเลยสั่งศิษย์วัดช่วยกันนำตัวออกไป ศิษย์ของท่านก็พลอยถูกด่าผสมไปด้วย หลวงพ่อจึงกล่าวขึ้นด้วยความไม่พอใจว่า มึงมันบ้า เอาดีไม่ได้ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อสิบกว่าปีก่อนคนบ้าคู่นี้ยังอยู่บนเวียนอยู่แถวมหาชัย

รูปถ่ายพระครูมหาชัยบริรักษ์ หรือ หลวงพ่อเชย ญาณวฒโน วัดเจษฎาราม

          อีกเรื่องหนึ่งคือราวปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ขณะที่หลวงพ่อเชยกับลูกศิษย์กำลังช่วยกันซ่อมแซมเรือบิณฑบาตอยู่หน้าวัด มีเรือลำหนึ่งแล่นผ่านมาในเรือมี หลวงพ่อโอภาสี นั่งมาด้วย เพื่อจะไปงานประจำปีเจ้าพ่อพันท้ายนรสิงห์ ที่วัดโคกขาม พวกลูกศิษย์ บอกหลวงพ่อว่าอยากจะไปเที่ยวงาน เพื่อจะได้ของดีจากหลวงพ่อโอภาสี หลวงพ่อบอกว่าไม่ต้องไปให้ช่วยกันซ่อมเรือต่อ ท่านพูดพร้อมกับเอาชายผ้าที่พาดไหล่มาขมวดเป็นปมแล้วดึง

          ในทันทีนั้นก็มีเสียงดังปัง เครื่องยนต์เรือ ได้ดับลงเรือลำน้ำต้องลอยลำเข้ามาจอดหน้าวัดผู้คนในเรือถือดอกไม้ธูปเทียนขึ้นมานมัสการท่าน แต่หลวงพ่อบอกให้ไปไหว้ พระในโบสถ์ ไม่ใช่มาไหว้ตัวท่าน และวันนั้นลูกศิษย์ของท่านต่างก็ได้รับแจกของดีจากลวงพ่อโอภาสี โดยไม่ต้องไปถึงวัดโคกขาม

          เล่ากันว่าเมื่อเวลาว่างบางโอกาสท่านจะตัดกระดาษเป็นรูปสัตว์ เช่น ปลา แล้วให้ศิษย์วัดตักน้ำใส่โหลมา ท่านจะเอารูปปลาใส่ลงในโหล ปลาจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิต ว่ายน้ำอยู่ไปมา วิชานี้หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือก็ทำได้เช่นกัน คราวหนึ่งหลวงพ่อลงไปสรงน้ำที่ท่าน้ำที่ท่าวัด เมื่อคืนกลับไปที่กุฏิแล้วท่านนึกได้ว่าลืมสายรัดประคดไว้ที่ท่าน้ำ จึงให้ศิษย์วัดไปเอา 

          เมื่อศิษย์ไปที่ท่าน้ำก็รีบวิ่งกลับมาบอกหลวงพ่อว่า ไม่เห็นสายรัดประคด แต่เห็นจระเข้ตัวหนึ่งนอนอยู่ เมื่อท่านได้ฟังก็ยิ้มแล้วพูดว่า คงจะตาฝาดลองไปใหม่คราวนี้ ไปดูอีกทีซิ ศิษย์ผู้นั้นจึงไปยังท่าน้ำตามที่หลวงพ่อสั่งและก็เห็นสายรัดประคดแต่ไม่เห็นจระเข้ตัวนั้น ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์

รูปถ่ายพระครูมหาชัยบริรักษ์ หรือ หลวงพ่อเชย ญาณวฒโน วัดเจษฎาราม นั่งองค์ที่ ๒

          หลวงพ่อเชย ตลอดระยะเวลาที่ได้อุปสมบทในบวรพุทธศาสนา ท่านไม่เคยปล่อยเวลาอันมีค่าให้สูญเปล่า ได้สร้างประโยชน์ไว้มาก ทั้งทางโลก และทางธรรม ประกอบคุณความดี มาโดยตลอด จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายท่านเกิดอาพาธมีโรคภัยเข้ามาเบียดเบียนป่วยเป็นโรคนิ่ว ถ่ายปัสสาวะลำบาก หรือถ่ายไม่ออก และเป็นความปวดที่แสนทรมาน แต่ท่านก็มีความอดทน อย่างยอด เมื่อศิษย์พยุงท่านไปถ่ายเบา ท่านกลับหัวเราะและพูดว่า "ถ่ายไม่ออกว่ะ" แต่ในที่สุดก็รักษาจนหายอยู่เป็นปกติสุข

           หลวงพ่อเชย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลา ๐๔.๑๕ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี ๕๒ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม

          เหรียญหลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม รุ่นแรก 

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เพื่อแจกในการทำบุญฉลองวันเกิดของหลวงพ่อ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๒ พิมพ์คือพิมพ์หน้าหนุ่ม และพิมพ์หน้าแก่ ตามที่วงการเรียกกัน

         พิมพ์หน้าหนุ่ม มีจำนวนน้อย และท่านไม่ได้นำออกมาแจกใครแต่เก็บไว้ที่เพดานชั้น ๒ ชั้นบนของกุฏิทางวัดมาพบ เมื่อมีการรื้อถอนกุฏิ เพื่อสร้างใหม่มีชนิด เนื้อทองแดง เพียงอย่างเดียว

          พิมพ์หน้าแก่ มีชนิดเนื้อเงินลงยา และเนื้อทองแดง พิมพ์นี้ท่านนำออกแจกในงานดังกล่าวจำนวนสร้างประมาณ ๔,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดเจษฎาราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเชย ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆฏิ  ไม่มีอักขระใดๆ

          ด้านหลัง มีตัวหนังสือภาษาไทยโค้งด้านบน อ่านได้ว่า "พระครูมหาชัยบริรักษ์(เชย)" แถวล่างเขียนว่า "อายุครบ ๗๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔"

         เหรียญหลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เพื่อสมนาคุณแก่ผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียนเชยวิทยาทาน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มสี่เหลี่ยมย่อมุมมียอดแหลม เป็นเหรียญแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อ เงินลงยา เงิน และทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้บันทึกไว้ 

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดเจษฎา ปี 2496 เงิน
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดเจษฎาราม รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดเจษฎาราม รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเชย ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆฏิ มีข้อความภาษาไทยใต้รูปว่า "พระครูมหาชัยบริรักษ์(เชย)"

          ด้านหลัง เหรียญเป็นอักษรไทยเขียนว่า "ที่ระฤกสร้าง ร.ร.เชยวิทยาทาน วัดเจษฏาราม สมุทรสาคร ๒๔๙๖" 

         เหรียญหลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และร่วมระลึกครบรอบ ๑๒ ปี มรณภาพของหลวงพ่อเชย ลักษณะของเหรียญเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมมียอดแหลม เป็นเหรียญแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงินลงยา เงิน และทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้บันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเชย วัดเจษฎา ปี 2512 เงินลงยา
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดเจษฎาราม รุ่น ครบรอบ ๑๒ปี มรณภาพ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อเงินลง

          ด้านหน้า เหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเชย ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆฏิ มีข้อความภาษาไทยใต้รูปว่า "พระครูมหาชัยบริรักษ์(เชย)"

          ด้านหลัง เหรียญเป็นอักษรไทยเขียนว่า "พระครูมหาชัยบริรักษ์(เชย) วันมรณะครบรอบ ๑๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒"

          เหรียญหล่อประจำวันหลวงพ่อเชย พิมพ์วันอาทิตย์   

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยวิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบหน้าหลัง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่เกิดในวันอาทิตย์ โดยเหรียญหล่อจะมีหูในตัวสำหรับคล้องสร้อยห้อยคอ เนื้อโลหะเป็นเนื้อทองเหลือง แบบเหลืองอมเขียวตามแบบเนื้อโลหะโบราณ

เหรียญหล่อประจำวันอาทิตย์ หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า เป็นพระพุทธรูปปางถวายเนตร (ประจำวันอาทิตย์) ประทับบนฐานบัวกลม ด้านข้างมีอักขระยันต์บูชาธาตุ ๔  "นะ มะ พะ ทะ"

          ด้านหลัง ผูกยันต์ ไตรสรณคมน์ "พุทะสังมิ" และอื่นๆ

          เหรียญหล่อประจำวันหลวงพ่อเชย พิมพ์วันจันทร์  

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยวิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบหน้าหลัง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่เกิดในวันจันทร์โดยเหรียญหล่อจะมีหูในตัวสำหรับคล้องสร้อยห้อยคอ เนื้อโลหะเป็นเนื้อทองเหลือง แบบเหลืองอมเขียวตามแบบเนื้อโลหะโบราณ

เหรียญหล่อประจำวันจันทร์หลวงพ่อเชย มีหู
เหรียญหล่อประจำวันจันทร์ หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๕
เหรียญหล่อประจำวันจันทร์ หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ หรือ ห้ามสมุทร ประทับบนฐานบัวกลม ด้านข้างมีอักขระยันต์บูชาธาตุ ๔  "นะ มะ พะ ทะ"

          ด้านหลัง ผูกยันต์ ไตรสรณคมน์ "พุทะสังมิ" และอื่นๆ

          เหรียญหล่อประจำวันหลวงพ่อเชย พิมพ์วันอังคาร 

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยวิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบหน้าหลัง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่เกิดในวันอังคาร โดยเหรียญหล่อจะมีหูในตัวสำหรับคล้องสร้อยห้อยคอ เนื้อโลหะเป็นเนื้อทองเหลือง แบบเหลืองอมเขียวตามแบบเนื้อโลหะโบราณ

เหรียญหล่อประจำวันอังคารหลวงพ่อเชย มีหู
เหรียญหล่อประจำวันอังคาร หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙

เหรียญหล่อประจำวันอังคาร หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ หรือ ปางปรินิพพาน ประทับบนฐานบัว ๒ ชั้น ด้านข้างมีอักขระยันต์บูชาธาตุ ๔  "นะ มะ พะ ทะ"

          ด้านหลัง ผูกยันต์ ไตรสรณคมน์ "พุทะสังมิ" และอื่นๆ

          เหรียญหล่อประจำวันหลวงพ่อเชย พิมพ์วันพุธ(กลางวัน)  

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยวิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบหน้าหลัง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่เกิดในวันพุธ(กลางวัน) โดยเหรียญหล่อจะมีหูในตัวสำหรับคล้องสร้อยห้อยคอ เนื้อโลหะเป็นเนื้อทองเหลือง แบบเหลืองอมเขียวตามแบบเนื้อโลหะโบราณ

เหรียญหล่อประจำวันพุธกลางวัน หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ประทับบนฐานบัวกลม ด้านข้างมีอักขระยันต์บูชาธาตุ ๔  "นะ มะ พะ ทะ"

          ด้านหลัง ผูกยันต์ ไตรสรณคมน์ "พุทะสังมิ" และอื่นๆ

          เหรียญหล่อประจำวันหลวงพ่อเชย พิมพ์วันพุธ (กลางคืน)  

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยวิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบหน้าหลัง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่เกิดในวันพุธ (กลางคืน) โดยเหรียญหล่อจะมีหูในตัวสำหรับคล้องสร้อยห้อยคอ เนื้อโลหะเป็นเนื้อทองเหลือง แบบเหลืองอมเขียวตามแบบเนื้อโลหะโบราณ

เหรียญหล่อประจำวันพุธกลางคืน หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. 2495
เหรียญหล่อประจำวันพุธกลางคืน หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ของคุณเอื้อ รอบโล

          ด้านหน้า เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ หรือปางประจำวันพุธกลางคืน ด้านข้างมีอักขระยันต์บูชาธาตุ ๔  "นะ มะ พะ ทะ"

          ด้านหลัง ผูกยันต์ ไตรสรณคมน์ "พุทะสังมิ" และอื่นๆ

          เหรียญหล่อประจำวันหลวงพ่อเชย พิมพ์วันพฤหัสบดี  

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยวิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบหน้าหลัง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่เกิดในวันพฤหัสบดี โดยเหรียญหล่อจะมีหูในตัวสำหรับคล้องสร้อยห้อยคอ เนื้อโลหะเป็นเนื้อทองเหลือง แบบเหลืองอมเขียวตามแบบเนื้อโลหะโบราณ

เหรียญหล่อประจำวันพฤหัสบดีหลวงพ่อเชย วัดเจษฎาราม 2495
เหรียญหล่อประจำวันพฤหัสบดี หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า เป็นพุทธรูปปางปางสมาธิ หรือ ปางตรัสรู้  ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงายรองด้านฐานเขียงอีกชั้นหนึ่ง ด้านข้างมีอักขระยันต์บูชาธาตุ ๔  "นะ มะ พะ ทะ"

          ด้านหลัง ผูกยันต์ ไตรสรณคมน์ "พุทะสังมิ" และอื่นๆ

           เหรียญหล่อประจำวันหลวงพ่อเชย พิมพ์วันศุกร์  

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยวิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบหน้าหลัง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่เกิดในวันศุกร์ โดยเหรียญหล่อจะมีหูในตัวสำหรับคล้องสร้อยห้อยคอ เนื้อโลหะเป็นเนื้อทองเหลือง แบบเหลืองอมเขียวตามแบบเนื้อโลหะโบราณ

เหรียญหล่อประจำวันศุกร์ หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า เป็นพุทธรูปปางลำพึง  ประทับบนฐานบัวกลม ด้านข้างมีอักขระยันต์บูชาธาตุ ๔  "นะ มะ พะ ทะ"

          ด้านหลัง ผูกยันต์ ไตรสรณคมน์ "พุทะสังมิ" และอื่นๆ

          เหรียญหล่อประจำวันหลวงพ่อเชย พิมพ์วันเสาร์  

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยวิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบหน้าหลัง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่เกิดในวันเสาร์ โดยเหรียญหล่อจะมีหูในตัวสำหรับคล้องสร้อยห้อยคอ เนื้อโลหะเป็นเนื้อทองเหลือง แบบเหลืองอมเขียวตามแบบเนื้อโลหะโบราณ

เหรียญหล่อประจำวันเสาร์ หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. 2495
เหรียญหล่อประจำวันเสาร์ หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

เหรียญหล่อประจำวันเสาร์ หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า เป็นพุทธรูปปางนาคปรก ๗ เศียร ด้านข้างมีอักขระยันต์บูชาธาตุ ๔  "นะ มะ พะ ทะ"

          ด้านหลัง ผูกยันต์ ไตรสรณคมน์ "พุทะสังมิ" และอื่นๆ

          เหรียญหล่อกลีบบัว หลวงพ่อเชย วัดเจษฎาราม

          ไม่ทราบปีสร้างที่แน่นอน คาดว่าจะสร้างในช่วงก่อน ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยเป็นพระที่หลวงพ่อเชยสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่คณะศิษย์และญาติโยมที่บริจาคเงินให้แก่ทางวัด สร้างด้วยโลหะผสมแก่ทองเหลือง ซึ่งโดยทั่วไปจะพบทั้งพิมพ์ที่เป็น พิมพ์ ๒ หน้า และพิมพ์หน้าเดียว

เหรียญหล่อกลีบบัว หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ พาดผ้าสังฆฏิ

          ด้านหลัง มีทั้งที่เป็นแบบ ๒ หน้า และแบบหน้าเดียว

          เหรียญหล่อชินราชหลวงพ่อเชย วัดเจษฎาราม

          ไม่ทราบปีสร้างที่แน่นอน คาดว่าจะสร้างในช่วงก่อน ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยเหรียญหล่อชินราช หลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง ทรงสามเหลี่ยม

เหรียญหล่อชินราชหลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม
เหรียญหล่อชินราชหลวงพ่อเชย วัดเจษฏาราม เนื้อทองผสม

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธชินราชจำลอง ด้านข้างเป็นลายกนก พระทับบนฐานบัว ๒ ชั้น

          ด้านหลัง เรียบ

          งบน้ำอ้อยเนื้อดินผสมผง หลวงพ่อเชย วัดเจษฎาราม

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยเป็นพระเนื้อดินผสมผงเพียงชนิดเดียวที่หลวงพ่อเชย ได้ทำการจัดสร้างจัดเป็นพระหายากพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อ สมัยก่อนเรียกกันว่าพระกลม ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า งบน้ำอ้อย   โดยเนื้อดินผสมผงนั้น หลวงพ่อเชยเป้นผู้ที่ทำการรวบรวมและลบผงวิเศษด้วยตัวของท่านเอง

งบน้ำอ้อยหลวงพ่อเชย เนื้อดินผสมผง

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธปางสมาธิ ขัดสมาธิเพชร ด้านล่างเป็นฐานบัว ๑ ชั้นรองด้านฐานเขียงอีกทีหนึ่ง มีอักขระยันต์ด้านข้าง ซ้ายและขวา

          ด้านหลัง เรียบนูน ไม่มีอักขระใดๆ 

          แม้ว่าหลวงพ่อเชยจะมรณภาพไปแล้ว แต่ทางวัดจัดทำรูปปั้นจำลองขึ้นตั้งอยู่ใกล้เขตโรงเรียนติดทางสัญจรของผู้คนทั่วไป เด็กนักเรียนทุกคนจะหยุดไหว้ หลวงพ่อทั้งเช้าและเย็นโดยเรียงแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย ความศักดิ์สิทธิ์ของรูปจำลองของพ่อก็มีไม่น้อย ในอาณาเขตจำกัดสำหรับผู้เข้าไปกราบไหว้สักการะนั้น ห้ามมิให้นำเหล้าเข้าไปดื่มอย่างเด็ดขาด มีนักเลงสุราคนหนึ่งไม่เชื่ออยากจะทดลองจึงนำเหล้าเข้าไปดื่ม พอเดินออกมาจากบริเวณก็เกิดอาการชักดิ้นชักงอ อยู่ตรงนั้น ผู้เห็นเหตุการณ์ได้ช่วยกันแก้ไขและให้มาขอขมารูปจำลองของหลวงพ่อจึงหายเป็นปกติ

          แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ใจของพวกนักเลงสุรา ด้วยการต่อมาจึงได้มีพวกขี้เมาอยากลองอีก คราวนี้นอกจากดื่มสุราแล้ว ยังตะโกนร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน เป็นทำนองท้าทาย เมื่อเป็นที่สาแก่ใจแล้วก็เดินออกไปจะกลับบ้าน แต่ยังไปไม่ถึงไหนก็ถูกชายลึกลับเสียบเข้าด้วยมีดนอนจมกองเลือด

          อนุภาพของเหรียญหลวงพ่อมีความศักดิ์สิทธิ์หนักในด้านทางคงกระพัน ชาตรี แคล้วแล้ว เมตตามหานิยม มีประสบการณ์มากมาย. 



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น