โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า ราชบุรี พระสายเหนียวที่ได้รับการปลุกเสกจากพระเกจิถึง ๒ ยุค

พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า ราชบุรี

        พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า ราชบุรี เป็นพระเครื่องเนื้อตะกั่วสนิมแดงไขขาว ขนาดกะทัดรัด ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือกันว่าดี ในทางคงกระพันชาตรี และคลาดแคล้วปลอดภัย จนถึงกับมีผู้ขนานนามหรือให้สมญาว่า พระท่ากระดานน้อย พระเครื่องพิมพ์ดังกล่าวนี้ เป็นที่รู้จักกันของวงการโดยทั่วไปมีในรายการประกวดพระเสมอๆ 

         และได้ถูกบรรดานักเซ็งลี้ในอดีต อุปโลกน์กันต่อๆมาว่าเป็น พระกรุวัดท่าเสา จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีชื่อเรียกตามทางการว่า วัดกาญจนบุรีเก่า (วัดนางพิมพ์) ในเขตตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง เพื่อให้ใกล้ๆ กับแหล่งอุบัติของกรุพระท่ากระดาน อันเกรียงไกร จะได้พลอยจำหน่ายขายได้ราคาขึ้นอีก ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้อง กับพระพระท่ากระดานรวม ทั้งวัดท่าเสากาญจนบุรีเลยทุกกรณี

         เพราะสถานที่กำเนิดของพระเครื่องพิมพ์นี้อยู่ที่จังหวัดราชบุรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น มีนักนิยมสะสมหลายท่านทราบดีว่าพระท่ากระดานน้อย ที่มีบางคนเรียกกันเป็นพระจากวัดศาลเจ้า หรือวัดเกาะนอก ตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี 

         และไม่ใช่พระเครื่องอายุนับร้อยปีดังที่มีผู้พยายามใช้ให้เป็น ถึงเนื้อหาจะเป็นตะกั่วสนิมแดง เช่นเดียวกับพระโบราณก็ตาม นั้นเพราะเหตุที่เนื่องจากวัสดุที่ใช้สร้างและสภาพของตัวกรุซึ่งความร้อนและความชื้นนานๆเข้าก็เกิดปฏิกิริยา ได้ดังตัวอย่าง พระกรุวัดสุวรรณ อ่างทอง ที่มีระยะเวลาการสร้างไม่ห่างกันเท่าไหร่นัก ยังบังเกิดสนิมแดงเหมือนกัน

ซุ้มประตูศาลเจ้าปึงเถ้ากง วัดศาลเจ้า

         วัดศาลเจ้า เดิมชื่อ วัดเกาะนอก เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย บริเวณที่ของวัดตรงกับปากคลองแควอ้อม ติดกับแม่น้ำแม่กลอง มีศาลเจ้าเก่าตั้งอยู่ ชื่อว่า "ปึงเถ้ากง" ซึ่งไม่ทราบว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่และใครเป็นผู้สร้าง ผู้คนและชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกด้วยความสะดวกปากว่าวัดศาลเจ้า และก็เลยเป็นชื่อวัดไปโดยปริยาย

พระเจดีย์ ที่บรรจุพระท่ากระดานน้อย วัดศาลเจ้า ถ่ายจากสะพานแมน้ำคลองแควอ้อม

         ที่มาของพระเครื่องจากปากของพระอธิการทอง รักขิตตธัมโม อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลเจ้า บันทึกไว้ว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๕ คหบดีชาวจีน มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนศรากร (ปู้ จงวัฒนา)​เศรษฐีเจ้าของโรงสีและกิจการอื่นๆในจังหวัดราชบุรี 

         เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและปราถนาที่จะสร้างถาวรวัตถุขึ้น เพื่อเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาต่อไปในภายหน้า จึงดำริจัดสร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งไว้บรรจุพระพิมพ์ มีความสูง ๑๗ วา ๒ ศอก อยู่ในพื้นที่ของวัดห่างจากฝั่งคลองแม่น้ำแควอ้อม ราว ๑๕ เมตร

         สำหรับเหตุ ที่มีการสร้างพระเจดีย์รวมทั้งพระเครื่องนั้น ได้มีเรื่องเล่ากันดังนี้ ขุนศรากร เกิดฝันไปว่ามี มังกรยักษ์โผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำแล้วอ้าปากจะกลืนโรงสีของท่าน รุ่งขึ้นจึงนำเอาความฝันไปเล่าให้พระอธิการทอง เจ้าอาวาสวัดศาลเจ้าฟัง ท่านเจ้าอาวาสจึงแนะนำวิธีแก้ไขโดยการสร้างของหนักทับความฝัน พระเจดีย์นี้จึงได้เกิดขึ้นมาซึ่งจะเท็จจริงอย่างไรไม่ทราบแน่

         เมื่อสร้างพระเจดีย์เสร็จเรียบร้อย ได้ทำการสร้างพระพิมพ์ขนาดเล็กจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์เท่าพระธรรมขันธ์ เพื่อบรรจุไว้ภายในพระเจดีย์ตามคตินิยมแต่โบราณ และนิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่กับพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางวิทยาคม มาทำการปลุกเสกพระพิมพ์ อาทิ

         เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์)​ วัดบวรนิวาส
         พระธรรมเสนานี เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี
         พระครูวินัยธรรม(อินทร์)​ วัดสัตตนารถปริวัตร
         พระครูวิทยาวรคุณ วัดโชค
         หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม
         หลวงพ่อเส็ง วัดบางศรีเพช

         จากนั้นนำพระพิมพ์หรือพระเครื่องทั้งหมดออกทำการสมโภชโดยแห่แหนไปรอบตัวจังหวัดแล้วจึงนำพระเข้าบรรจุในเจดีย์ มีการเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริก แต่การบรรจุพระนั้นไม่ได้กระทำดังเช่นการบรรจุพระพิมพ์ตามธรรมดาทั่วไป ที่มักจะไว้ที่ตัวกรุ ภายในองค์พระเจดีย์ หากเพียงแต่วางไว้ที่ช่องตรงบริเวณคอระฆังเท่านั้น 

         ต่อมาราว ๓๐ ปี ได้มีกลุ่มมิจฉาชีพปีนขึ้นไปลักเอาพระเครื่องมาได้ถึงเกือบครึ่งของจำนวนทั้งหมด จนทางวัดทราบเรื่องเข้าและเห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้อยู่อย่างนั้นจะคงเป็นการสร้างปัญหาและภาระไม่รู้จบเพราะต้องคอยดูแลและระมัดระวังอยู่เสมอ 

         จึงได้ปรึกษาหารือกับทายาทของท่านเจ้าของเดิม และมีมติให้นำพระออกจากเจดีย์ จากการนับจำนวนพระเครื่องแล้วปรากฏว่าเหลืออยู่ประมาณ ๕๐,๐๐๐ องค์ พระที่นำลงมาทั้งหมดทางญาติคือคุณสุกรี จงวัฒนา ผู้เป็นบุตรของขุนกรณ์ ได้รับเป็นธุระจัดพิธีพุทธาภิเษกขึ้นอีกครั้ง โดยนิมนต์พระเกจิที่มีชื่อเสียงหลายรูปมาร่วมงานเช่น

         หลวงพ่อยอด  วัดโบสถ์
         หลวงพ่อบุญ   วัดวังมะนาว
         หลวงพ่อเม้ย   วัดลาดเมธัง
         หลวงพ่อเชย   วัดเกาะลอย


         แล้วมอบให้แก่วัดศาลเจ้า เพื่อที่ทางวัดจะได้ตอบแทนแก่สาธุชนผู้มีจิตศรัทธาสละทรัพย์ร่วมสมทบทุนบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ ในอัตราองค์ละ ๕ บาท ตลอดมาจนกระทั่งพระเครื่องหมดไปจากวัดเมื่อราวๆ ๔๐ กว่าปีที่แล้ว ซึ่งได้ปัจจัยจากการทำบุญรวมแล้ว ๒๐๐,๐๐๐ บาท

         ผู้ที่รับพระไปเกิดได้รับประสบการณ์ต่างๆ ก็เลยกลายเป็นที่นิยมแสวงหากันขึ้น ทำให้ราคาเช่าหาสูงขึ้นเรื่อยๆ พวกอุบาทว์ชนเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงจัดการเทพระออกมาจำหน่ายขายแข่งจนเยอะแยะเต็มไปหมด

ขุนศรากร (ปู้ จงวัฒนา) ผู้สร้างพระท่ากระดานน้อย วัดศาลเจ้า

         เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระท่ากระดานน้อย วัดศาลเจ้าได้มีผู้เขียนไว้ในหนังสือพระเครื่องฉบับหนึ่งซึ่งเนื้อหาของเรื่องน่าสนใจจึงขออนุญาตคัตตอนมา ณ ที่นี้ พระเครื่องนี้ปรากฏพุทธคุณยอดเยี่ยมทางคงกระพันชาตรีซึ่งผู้เขียนเอง ได้เห็นประจักษ์ตามมาดังนี้เมื่อประมาณ ๕-๖ ปีล่วงมาแล้ว เวลาปัจจุบันได้ ๒๑-๒๒ ปี 

         มีข่าวลือแพร่สะพัดอยู่ระยะหนึ่งว่าที่ฐานทัพสัตหีบ มีการเช่าซื้อพระเครื่องยิงไม่ออกในราคาแพงลิบลิ่วองค์ละหลายแสนบาท ดังนั้นจึงได้เกิดมีสถานที่ทดลองยิง ขึ้นทดสอบ ตามชานเมืองอยู่หลายแห่งด้วยกัน ที่ยิงออกและเสียเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องที่มีเป็นสมบัติอยู่ต่างก็นำเอามาทดสอบ โดยการเอาพระเครื่องอัดใส่ปากปลาช่อน ฟันด้วยมีดดาบ

         ในจำนวนนั้นมีเพื่อนของผู้เขียนท่านหนึ่งชื่อร้อยตรี สำราญ จันทน์ลีลา แห่งกองการสื่อสารกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นนักสะสมพระเครื่องมือหนึ่ง วันนั้นได้นำเอาพระเครื่องห่อใหญ่ ออกมาทดสอบโดยการพันผ้าใส่ปากปลาช่อนแล้วฟันด้วยมีดดาบ

         วันนั้นพระที่พันผ้าใส่ปลาช่อน ฟันขาดไม่มีเหลือสักองค์ คงเหลือพระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ฟันด้วยมีด อย่างแรงถึง ๗ ครั้ง จนเกร็ดปลากระจุย แต่คมมีดกลับไม่ระคายผิว ฟันเสียจนกระทั่งปลาช่อนนั้นเละเหลวไปหมดแต่ไม่เข้า เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นในวันนั้นหลายท่านด้วยกัน

         นั่นเป็นเพียงอานุภาพของพระเครื่องแค่ส่วนน้อยที่ได้ประสบกับความศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่มีบันทึกหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรยังมีอยู่มากมาย หลายเรื่อง เช่น เกิดอุบัติเหตุชนรถคว่ำ มีทั้ง คนเจ็บ คนตาย แต่ผู้ที่แขวนพระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า กลับรอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์ และโดยเฉพาะเรื่องเขี้ยวงา สุนัขกัดไม่เข้า นั้นเป็นที่เชื่อถือกันมาก

         สำหรับที่พระกรุวัดท่าเสา หรือว่า วัด​กาญจนบุรีเก่า ก็มีผู้พบพระเครื่องเนื้อชิน และเนื้อตะกั่วสนิมแดงเป็นพิมพ์ต่างๆกัน ซึ่งส่วนมากมักจะมีขนาดใหญ่ เหมือนกับที่พบอยู่ตามวัดร้างในบริเวณใกล้เคียงกัน มีอยู่เพียงพิมพ์เดียวที่เป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดงขนาดเล็กซึ่งมีลักษณะคล้ายพระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้าอยู่บ้างเหมือนกัน จะต่างกันที่พุทธลักษณะ ขนาด และก็พิมพ์ ทั้งจะเขื่องกว่าเล็กน้อย

พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า

         พระที่แตกกรุออกมาจากวัดศาลเจ้านั้นในยุคแรกๆ มีมากมายหลายพิมพ์แต่พิมพ์ที่เป็นพิมพ์หลักคือพิมพ์พระท่ากระดานน้อย ที่มีแตกกรุออกมากกว่าทุกๆพิมพ์ 

         นอกจากนี้ยังมีพิมพ์ที่หายากและเป็นตำนานไปแล้วนั่นก็คือพระปิดตากรุวัดศาลเจ้า ซึ่งมีพุทธลักษณะเนื้อหาและพิมพ์ทรงคล้ายพระท่ากระดาน แต่มือทั้ง ๒ ข้างยกขึ้นมาปิดตา แบบพระปิดตาทั่วไป จัดเป็นพระหายาก นอกจากนี้ยังพระเนื้อดินเผาขนาดเล็กอีกด้วย 

         พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า

         ลักษณะ พิมพ์ทรงเป็นพระนั่งปางมารวิชัย อยู่ในกรอบ พิมพ์รูปสามเหลี่ยม ไม่มีปีก และที่มีปีกก็ปรากฏบ้าง แต่ไม่มาก ขนาดกว้างประมาณ ๑.๑ ซม.สูงราว ๑.๙ ซม. สร้างด้วยเนื้อตะกั่วดำ ปรากฏไขขาว และสนิมแดง เป็นหย่อม ที่แดงจัดตั้งองค์ก็มีแต่น้อยมาก

พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานเขียง

         ด้านหลัง เรียบเป็นแอ่งเล็กน้อย

         เรื่องการปลอมแปลงนั้นไม่ต้องพูดถึง เนื่องจากเป็นพระเนื้อตะกั่วขนาดเล็กจึงง่ายต่อการทำและก็มีการปลอมมานาน ตั้งแต่พระเครื่องยังมีราคาแค่หลักสิบ

         แม้ว่าพระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า จะมีจำนวนมากอยู่แล้วพระปลอมก็ยังมีจำนวนมากพอกัน หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ เมื่อครั้งที่สนามพระวัดมหาธาตุ ยังเป็นแหล่งรวบรวมพระเครื่องพระบูชา ไม่ได้แยกแตกกระจายอย่างเช่นทุกวันนี้ พระปลอมที่กล่าวนี้ว่างก็อยู่เป็นภูเขาเลากาโดยจำหน่ายในอัตราองค์ละ ๑ บาทและจากที่พบเห็นกันทั่วไป จำนวนพระวัดศาลเจ้า ๘๐-๙๐ องค์จะเป็นพระปลอม 

         สังเกตุดูจะพิมพ์ตื้นและมีขนาดเล็กกว่า สนิมจะเป็นสีแดง ส้มเคลือบอยู่บนผิวดำ อีกชั้นหนึ่ง เป็นเคลือบลอยอยู่ ไม่ได้ฝังสนิทอยู่กับเนื้อเช่นของจริง ที่มองเห็นเป็นจุดสีแดงคล้ำฝังแน่นกับสนิมไข พระศาลเจ้ามีอายุการสร้างนับถึงปัจจุบันได้ ๙๐ ปีกว่า จัดว่าเป็นพระเก่าอีกชนิดหนึ่งที่มีประสบการณ์ดี ทั้งราคาเช่าหายังไม่สูง ที่สำคัญต้องระวังพระปลอมกันไว้เท่านั้นเอง.


โดย :  สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้