วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อรุ่ง​ (พระครูไพโรจน์วุฒาจารย์) วัดท่ากระบือ เหรียญอันดับหนึ่งของชาวมหาชัย

ภาพถ่ายหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (สมัยหนุ่ม)

         พระไพโรจน์วุฒาจารย์ หรือ หลวงพ่อรุ่ง แห่งวัดท่ากระบือ ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครนี้ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเด่นในด้านพุทธาคม มีกิตติยาคมลือกระฉ่อนเป็นเวลาช้านาน 

         ของดีแต่ละชนิดที่ท่านได้สร้างขึ้นแจกเพื่อแจกจ่ายให้กับศิษยานุศิษย์  ปรากฏคุณวิเศษนานาประการ แม้แต่ในปัจจุบันนี้ยังเป็นที่กล่าวขวัญแก่นักนิยมพระทั่วไปอย่างไม่จืดจาง และเป็นที่นิยมแสวงหาของนักสะสมพระเครื่องทั่วไป

        เหรียญของหลวงพ่อรุ่ง ในปัจจุบันนี้จัดเป็นเหรียญที่อยู่ในทำเนียบเหรียญดังแห่งวงการพระเครื่องเมืองสยาม นับวันเหรียญของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ นี้จะยิ่งทวีความนิยมและมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อยากยากแก่การตกต่ำ 

         ทั้งนี้เพราะเหรียญคุณพระของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ไม่เพียงแต่มีพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ทางคงกระพัน และคลาดแคล้ว ปลอดภัย เป็นเลิศเท่านั้น แต่ยังเป็นเหรียญที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์สวยงามทำให้ดูมีคุณค่าในการเก็บสะสม ไว้ดูศิลปะการแกะแม่พิมพ์ของช่างยุคเก่าได้เป็นอย่างดี

ภาพรับพัดยศของพระไพโรจน์วุฒาจารย์ (หลวงพ่อรุ่ง) วัดท่ากระบือ

        หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๖ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา เป็นบุตรของนายพ่วง พ่วงประพันธ์ และนางกิม พ่วงประพันธ์ ท่านไม่มีพี่น้องร่วมอุทร มีแต่น้องต่างมารดาหลายคน

        เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาหนังสือไทย หนังสือขอม และเล่าเรียนภาษาบาลี มูลกัจจายน์ กับพระอุปัชฌาย์ทับ แห่งวัดน้อยนพคุณ อำเภอดุสิต จังหวัดกรุงเทพฯ

        ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ หลวงพ่อรุ่งมีอายุครบ ๒๑ ปี ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดน้อยนพคุณ เมื่อวันเสาร์ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้รับฉายาว่า "ติสฺสโร" โดยมี

         พระอุปัชฌาย์ทับ วัดน้อยนพคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์  

         พระอธิการบัว วัดใหม่ทองเสน อำเภอดุสิต กรุงเทพฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระไพโรจน์วุฒาจารย์ (หลวงพ่อรุ่ง) วัดท่ากระบือ

        หลังจากอุปสมบทได้ ๒ วัน ท่านก็ย้ายไปจำพรรษาที่วัดท่ากระบือ ซึ่งขณะนั้นยังมีฐานะเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ขณะท่านไปอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้มีหัวหน้าสำนักชื่อพระภิกษุร่วม พันธ์ชาตรี เป็นผู้ดูแลสำนักสงฆ์ และในปีนั้นเองพระภิกษุร่วม ก็ได้ลาสิกขาไป หลวงพ่อรุ่ง จึงต้องรับหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักสงฆ์แทน

        ขณะที่หลวงพ่อรุ่ง มาอยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ ท่านได้ทุ่มเท สติปัญญา กำลังกาย กำลังใจ พัฒนาสร้างสรรค์ เสนาสนะต่างๆ ขึ้นในสำนักสงฆ์ อยู่เสมอมิได้ขาด โดยอาศัยความที่หลวงพ่อ เป็นพระเถระที่มีวัตรปฏิบัติงดงาม และเป็นอาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐาน

        ซึ่งทางวิทยาคมก็เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ดังนั้นไม่ว่าหลวงพ่อ จะสร้างอะไรอันเป็นสาธารณะวัตถุ เกี่ยวกับความเจริญของท้องถิ่น และสำนักสงฆ์ ก็จะได้รับความร่วมมือจากสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในตัวหลวงพ่อเสมอ

รูปหล่อองค์ใหญ่ของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        จากสภาพของสำนักสงฆ์ที่มีกุฏิเพียงไม่กี่หลัง ได้กลายเป็นวัดที่เจริญใหญ่โตวัดหนึ่ง ของจังหวัดสมุทรสาคร หลวงพ่อรุ่ง ได้แสดงความสามารถ ให้ปรากฏว่าท่านเป็นพระนักพัฒนาอย่างยอดเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา

        ช่วงชีวิตของหลวงพ่อ ทั้งในทางด้าน การก่อสร้าง การบริหารจัดการคณะสงฆ์ ตลอดจนการส่งเสริมการศึกษาของกุลบุตร ยกตัวอย่าง เช่น สร้างพระอุโบสถ ๒ ครั้ง ๒ หลัง วิหาร ๒ หลัง โรงเรียนประชาบาล ศาลาการเปรียญ ศาลาสามมุข หอเรียนพระปริยัติธรรม หอพระไตรปิฎกสามมุข หอสวดมนต์ และกุฏิถึง ๓๑ หลัง

        ความเจริญรุ่งเรืองของวัดท่ากระบือ ทั้งหมดนี้ ท่านไม่เคยเรี่ยไรจากนอกวัด แต่มีผู้คนมาบริจาคเนื่องจากความเคารพนับถือในวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อ

        ตลอดชีวิตในสมณเพศของหลวงพ่อรุ่ง ท่านได้รับมอบหมายหน้าที่การงานจากคณะสงฆ์ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ดังนี้

        ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นพระอุปัชฌาย์

        ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นพระครูชั้นประทวน

        ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นเจ้าคณะอำเภอกระทุ่มแบน

        ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นพระครูไพโรจน์มันตาคม(ชั้นโท)

        ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นพระครูไพโรจน์มันตาคม(ชั้นเอก)

        ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นพระราชาคณะมีราชทินนามว่า พระไพโรจน์วุฒาจารย์

        ในด้านศีลาจารวัตรชาวบ้านแถบกระทุ่มแบน ต่างก็ทราบกันดีว่า หลวงพ่อเป็นพระที่มีคุณงามความดี เคร่งครัด อยู่ในระเบียบของพระธรรมวินัย ตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจของท่านเปี่ยมด้วยความเมตตา และมีความมักน้อย ถ่อมตน หลวงพ่อจะฉันจังหันเพียงวันละมื้อเดียวตลอดชีวิตของท่าน

        สำหรับวัตรปฏิบัติและภารกิจของสงฆ์ ท่านไม่เคยละเลย หรือหลีกเลี่ยง คงมีแต่ความขยันหมั่นเพียรในวัตรปฏิบัติ

ภาพถ่ายนั่งแคร่ พระไพโรจน์วุฒาจารย์ หรือ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        ท่านเคยปรารภกับผู้ใกล้ชิด และญาติโยม ที่ไปกราบเยี่ยมเยียนท่านอยู่เสมอว่าหากฉันจะตายไปก็ไม่เสียดายชีวิต และต้องตายแน่ๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นี้ แต่ก่อนที่ฉันจะตายจะขอทำประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนาให้เต็มที่เสียก่อน

        หลวงพ่อรุ่ง เป็นผู้ที่มีนิสัยชอบแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ในสมัยที่ท่านบวชเป็นพระภิกษุได้ไม่นานนักท่านได้ไป ศึกษาเจริญสมถะวิปัสสนากรรมฐาน กับพระอาจารย์เกิด วัดสุนทรสถิตย์ หรือ วัดอำแพง ตำบลกำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จนกระทั่งมีความรู้แตกฉานในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์บอกพระกรรมฐาน

        ซึ่งการที่หลวงพ่อปฏิบัติในวิชาวิปัสสนากรรมฐานอยู่ตลอดเวลานี้เอง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีอำนาจจิตสูงยิ่ง สามารถสร้างวัตถุมงคลได้มีพุทธานุภาพสูง เป็นที่เลื่องลือ

ภาพถ่ายงหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ สมุทรสาคร
ภาพถ่ายงหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ สมุทรสาคร

        และนอกจากพระอาจารย์เกิด วัดกำแพงแล้ว หลวงพ่อรุ่งยังได้เคยไปศึกษาวิทยาคมจากพระอาจารย์ที่โด่งดังมีชื่อเสียงในยุคนั้นอีกหลายรูปอาทิเช่น

        พระอาจารย์หล่ำ วัดอ่างทอง ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งในยุคนั้นเป็นพระที่โด่งดังทางวิชาคงกระพันเมตตามหานิยม และคาดแคล้วเป็นอย่างมาก และหลวงพ่อรุ่ง ก็ได้ไปขอศึกษาจากพระอาจารย์หล่ำ จนได้วิชาจบสิ้น

        พระอาจารย์เซ่ง วัดหงษ์อรุณรัศมี ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยหลวงพ่อรุ่งได้ไปเรียนวิชาคงกระพัน และมหาอุต จากพระอาจารย์เซ่ง ผู้นี้

พระอาจารย์เซ่ง วัดหงษ์อรุณรัศมี ต.ท่าจีน จ.สมุทรสาคร

         และในสมัยที่ท่านเรียนกับพระอาจารย์เซ่งอยู่นั้น ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดฟังว่าได้พบกับ ชายชราคนหนึ่งแจวเรือมาจอดที่หน้าวัดหงษ์อรุณรัศมี ชายชราผู้นั้น ได้อวดวิชาคาถาอาคมให้ชาวบ้านแถวนั้นได้เห็น โดยประกาศให้ชาวบ้านไปหาแผ่นทองแดงมาจะทำตะกรุดให้ 

         เมื่อชายชราได้แผ่นทองแดงมาก็เขียนอักขระเลขยันต์และเสกคาถาปลุกเสก เมื่อเสร็จแล้วก็บอกให้ชาวบ้านทดลองยิงทันที ปรากฏว่าปืนของชาวบ้านหลายกระบอกที่เอามาทดลอง ไม่มีกระบอกไหนที่มีกระสุนลั่นออกมาซักนัดเดี่ยว

         หลวงพ่อรุ่งได้เห็นเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลาและรู้สึกสนใจวิชาของชายชราคนนั้น ท่านจึงขอรับการถ่ายทอดวิชาเอาไว้และพร้อมกันนั้น พระอาจารย์เซ่ง ก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากชายชราพร้อมกับหลวงพ่อรุ่ง แต่ก็ไม่มีผู้ใดทราบว่าชายชราผู้นั้นเป็นใครจนกระทั่งทุกวันนี้

         นอกจากพระอาจารย์ทั้ง ๒ ท่านแล้ว หลวงพ่อรุ่งยังเคยไปศึกษากับวิชากับพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมที่สุดในสมัยนั้นอีก ๒ รูป และมีความสนิทสนมและเคารพในพระอาจารย์ ทั้ง ๒ ท่านเป็นอย่างมาก พระอาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน นั้นก็คือ

         พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี หรือ หลวงพ่อทับ  วัดสุวรรณาราม หรือวัดทอง  ผู้สร้างพระปิดตามหาอุตม์ ที่มีพุทธคุณเลื่องลือไปทั่ว ทั้งมีศิลปะเอกลักษณ์วิจิตรอลังการเป็นพระปิดตาอันดับ ๑ ของวงการพระเครื่องปัจจุบัน

หลวงพ่อทับ วัดทอง พระอาจารย์ของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        หลวงพ่อรุ่ได้มีความเคารพหลวงพ่อทับเป็นอย่างมาก ถึงกับสร้างพระตามพิมพ์ทรง และกรรมวิธีการสร้างพระปิดตาแบบของหลวงพ่อทับ วัดทอง มาสร้างที่วัดท่ากระบือ แต่มีจำนวนการสร้างน้อยมาก และในการสร้างพระปิดตามหาอุตม์ 

         ทั้งนี้หลวงพ่อรุ่ง ไม่คิดที่จะเลียนแบบพระปิดตาของพระอาจารย์ท่าน แต่อย่างใด โดยสร้างให้เป็นเนื้อทองเหลืองหล่อ แต่พระปิดตาของหลวงพ่อทับ นั้นสร้างด้วยเนื้อโลหะสำริด ออกกระแสเงิน และมีผิวพรายตลอด ที่ผิวพระ

        พระพุทธวิถีนายก หรือ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นอกจากนี้หลวงพ่อรุ่ง ยังได้รับการถ่ายทอดวิชาการสร้างผงยาจินดามณีจากหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว อีกด้วยทั้งนี้

หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว พระอาจารย์ของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

         เนื่องจากการที่หลวงปู่บุญ อยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชาของท่านโดยตรง คือดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการคณะสงฆ์มณฑลนครชัยศรี ซึ่งมีจังหวัดสมุทรสาคร อยู่ในเขตปกครองนี้ด้วย แต่ด้วยความคุ้นเคยและนับถือกันหลวงปู่บุญ จึงได้สอนวิชาการสร้างผงยาให้กับหลวงพ่อรุ่ง

         ในขณะที่หลวงพ่อรุ่ง ยังมีสุขภาพ ร่างกายแข็งแรงดีอยู่นั้น ท่านมักจะถือธุดงค์เป็นประจำทุกปี ในระหว่างที่เดินธุดงค์ ท่านนอกจากเพื่อจุดประสงค์ที่จะปฏิบัติตามแนวทางของพระศาสนาแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่ได้แสวงหาวิชาความรู้ และรวบรวมของดี วิชาไสยเวทย์ ในแต่ละท้องถิ่น 

         โดยมีเรื่องเล่ากันมาว่าหลวงพ่อรุ่ง ได้เดินธุดงค์ไปกับหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม เพื่อไปศึกษาวิชากับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อีกด้วยโดยหลวงพ่อจะเดินทางมาหาหลวงพ่อชุ่ม ที่วัดแล้วจึงพากันเดินธุดงค์ไปทีต่างๆ แทบทุกปี

หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม สหมิกของหลวงพ่อรุ่ง ที่เดินธุดงค์ไปเรียนวิชาที่วัดมะขามเฒ่า

        ด้วยพื้นที่ที่หลวงพ่อรุ่ง มักจะออกเดินธุดงค์อยู่เสมอ มักจะเป็นทางภาคเหนือ เช่น อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บางครั้งท่านก็เดินทางข้ามไปถึงฝั่งพม่า แต่หลวงพ่อมักจะไปที่จังหวัดสุโขทัยบ่อยครั้ง

        เป็นเพราะว่าท่านมีญาติอยู่ที่นั่นชื่อว่านายต่าง ซึ่งเป็นคนที่มีวิชา อาคม ไสยศาสตร์​ ท่านก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคม จากญาติของท่านผู้นี้ไว้ด้วย

        ในการธุดงค์ทุกครั้งของหลวงพ่อรุ่ง เมื่อเดินทางกลับมาถึงวัดท่ากระบือแล้ว ท่านมักจะติดของดีหรือวัตถุมงคล มาแจกให้กับลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอ 

         ดังนั้นหากลูกศิษย์เมื่อได้ข่าวว่าหลวงพ่อกลับมาที่วัดแล้ว ก็จะพากันรีบออกมาจากบ้านตรงไปยังวัดท่ากระบือ เพื่อมนัสการเยี่ยมเยียนท่าน พร้อมกับถือโอกาสขอของดีที่ท่านได้จากการธุดงค์ในคราวนั้นด้วย

หลวงพ่อเชย วัดท่าควาย เจ้าของพระปิดตาที่หลวงพ่อรุ่งเอามาแจกหลังกลับจากธุดงค์

        และมีอยู่ในคราวหนึ่ง หลังจากที่กลับจากธุดงค์หลวงพ่อรุ่ง ได้นำพระปิดตาเนื้อผงดำ มาจำนวนหนึ่ง มีทั้งแบบหน้าเดียวและสองหน้าก็มี ด้านหลังของบางแบบหน้าเดียวจะมียันต์อุนาโลม ซึ่งพระปิดตาพิมพ์นี้แต่เดิมเข้าใจกันว่า เป็นพระปิดตาที่หลวงพ่อรุ่ง ได้สร้างขึ้นในระหว่างการเดินธุดงค์ 

         แล้วนำกลับมาที่วัดท่ากระบือ แต่ในปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นพระปิดตาของหลวงพ่อเชย วัดท่าควาย จังหวัดสิงห์บุรี ที่หลวงพ่อรุ่งได้ไปพบกับท่านระหว่างเดินธุดงค์ และได้ขอนำพระปิดตานี้จำนวนหนึ่งมาแจกที่วัดท่ากระบือ

        หลวงพ่อรุ่ง ได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ๑.๐๕ น. อันเป็นเวลาที่ท่านได้ปรารภไวจริงๆ นับเป็นการสูญเสียพระเถระที่มีความสำคัญรูปหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาคร รวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๖๔ พรรษา

วัตถุมงคลของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ 

        ประเภทเครื่องรางของหลวงพ่อรุ่ง 

         ในการสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อรุ่ง นั้นท่านได้สร้างขึ้นด้วยกันหลายครั้งหลายคราว โดยจะสร้างภายหลังจากที่ท่านกลับจากการเดินธุดงค์ ตามจำนวนที่ลูกศิษย์มาขอให้หลวงพ่อสร้าง และต้องเป็นฝ่ายที่หาวัสดุมาให้กับหลวงพ่อเอง เช่น แผ่นทองคำ แผ่นเงิน แผ่นทองแดง หรือตะกั่วเป็นต้น

        ในระยะแรกๆ นั้นวัตถุมงคลของหลวงพ่อ ที่ท่านมักจะสร้างแจกอยู่เสมอเป็นพวกเครื่องรางของขลัง เพราะว่าสร้างได้ไม่ยุ่งยากนัก วัสดุที่นำมาสร้างก็หาได้ไม่ยาก

        หลวงพ่อรุ่ง ได้สร้างเครื่องรางไว้ให้มากมายหลายชนิดที่เป็นที่ยอมรับและมีการจดบันทึกไว้มีดังต่อไปนี

        ตะกรุดมหาอุด เป็นตะกรุดที่มีอำนาจทางมหาอุดมีชื่อเสียงมากในการป้องกันปืนผาหน้าไม้รับรองได้ว่าแมลงวันไม่ได้กินเลือด แต่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในบรรดาตะกรุดที่หลวงพ่อสร้าง

        ตะกรุดมหารูด มีอำนาจทางคาดแคล้ว

ตะกรุดชุด ๙ ดอกหรือตะกรุดชุด ของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        ตะกรุด ๙ ดอกหรือตะกรุดชุด ร้อยไว้กับเชือกที่ทำจากไหม ๗ สี มีอานุภาพใช้ได้ในทุกๆอย่าง

        ตะกรุด ๓ กษัตริย์ เป็นตะกรุดชุด ๓ ดอก ประกอบไปด้วย เงิน ทองเหลือง ทองแดง มีอานุภาพทางเมตตามหานิยม

ตะกรุดโทนของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ยาวร่วมๆ ๔ นิ้ว

        ตะกรุดโทน มีอานุภาพเทียบเท่ากับ ตะกรุดชุด 9 ดอก คือโดดเด่นในทุกๆด้าน ทั้งมหาอุด คงกระพัน คล้าดแคลว เมตตามหานิยม มีด้วยกัน ๒ ขนาด คือขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ สร้างจากหนังหน้าผากเสือแล้วถักด้วยเชือกชุบรักอีกครั้งหนึ่ง ใช้ได้ดีทางคงกระพัน มหาอุด เหมาะกับที่จะนำติดตัวเมื่อเข้าป่าสามารถป้องกันสัตว์ร้ายและภูตผีปีศาจได้ สามารถนำมาผูกร้อยหรือห้อยที่เอวก็ได้เช่นกัน

กระดอนสะท้อน ของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        กระดอนสะท้อน มีอานุภาพทางคงกระพัน สะท้อนสิ่งร้ายให้ไกลห่าง ทำจากไม้กระท้อน ลักษณะคล้ายกับลูกอมเจาะรูตรงกลาง เพื่อไว้ร้อยเชือกสำหรับผูกเอว

แหวนพิรอดหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        แหวนพิรอด มีอานุภาพทางมหาอุตม์มีด้วยกันหลายขนาด สำหรับสวมแขน หรือสวมนิ้ว แหวนของหลวงพ่อรุ่งนี้มีเอกลักษณ์คือลายถักเป็นลายจระเข้ขบฟัน

แหวนสวมนิ้วของ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        แหวนสวมนิ้ว เป็นแหวนเนื้อโลหะทำด้วย ทองคำ เงิน ทองแดง มีด้วยกันหลายขนาดที่หัวแหวนเป็นรูปจำลองหลวงพ่อรุ่งแบบครึ่งองค์ลงยาไว้ มีอนุภาพเช่นเดียวกับแหวนพิรอด

เสื้อยันต์ของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ คุณบิ๊ก กระทุ่มแบน เจ้าของพระ

        เสื้อยันต์ ลักษณะเป็นเสื้อกั๊กสีแดง เขียนด้วยยันต์พระภควัมปิดทวารทั้งเก้า มีอนุภาพทางคงกระพัน​

ภาพถ่ายที่ระลึกฉลองสมณศักดิ์พระครูไพโรจน์มันตาคม (ภาพอัดใหม่)

        รูปที่ระลึก สร้างขึ้นในคราวงานฉลองสมณศักดิ์ที่พระครูไพโรจน์มันตาคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ลงยันต์กันผี และคุณไสย ใช้ได้ดีในทางค้าขาย

        ผ้ายันต์นางกวัก เป็นภาพพิมพ์พื้นรูปนางกวักมีขนาดกว้าง ๗ นิ้วยาว ๙ นิ้ว อนุภาพดีทางค้าขายโดยเฉพาะ

ผ้ายันต์จันทร์เพ็ญ หรือเพ็ญวันจันทร์ ของ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        ผ้ายันต์เพ็ญวันจันทร์ วัตถุมงคลนี้เป็นของที่เรียกได้ว่ายอดเยี่ยมทางเมตตามหานิยมเป็นที่สุดที่เรียกกันว่าผ้ายันต์เพ็ญวันจันทร์ ก็เพราะว่าการสร้างผ้ายันต์ชนิดนี้ จะกระทำได้เฉพาะในวันจันทร์และต้องตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒ อีกด้วย มีลักษณะเป็นผ้าขาวขนาดกว้าง ๗ นิ้วยาว ๙ นิ้ว ลงยันต์ด้วยดินสอ

        หลวงพ่อรุ่ง ได้สร้างขึ้นมาครั้งแรกเพียงเจ็ดผืนเท่านั้น เพื่อแจกให้กับลูกศิษย์ใกล้ชิดท่าน เมื่อผู้ที่ได้รับไปประสบกับคุณวิเศษจึงรู้กันแพร่หลาย มีผู้ขอหลวงพ่อ เป็นอันมาก ดังนั้นหากว่าปีใดมีวันจันทร์ตรงกับวันเพ็ญ​เดือน​ ๑๒ ท่านก็จะสร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่เปลี่ยนจากการลงด้วยดินสอเป็นการพิมพ์แทน ถึงกระนั้นก็นับได้ว่าวัตถุมงคลชนิดนี้ของหลวงพ่อ เป็นวัตถุมงคลที่หายากที่สุด

ประเภทเนื้อโลหะแบบมาตราฐาน

        เหรียญสุคโต วัดอ่างทอง หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ(เสก)

        สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นเหรียญที่หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือปลุกเสก ให้วัดอ่างทอง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ลักษณะเหรียญเป็นรูป ๕ เหลี่ยมทรงจั่วแบบมีหูในตัว โดยมีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญสุคโต วัดอ่างทอง หลวงพ่อรุ่ง ปลุกเศก ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ของคุณ พนธ์นักเลงทุ่น96

        ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานบัว ๒ ชั้น(บัวคว่ำ-บัวหงาย) อยู่ภายในซุ้มมีขอบนูนล้อไปกับรูปทรงเหรียญ

        ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "สุคโต" ด้านบนยันต์มีตัว "อุ" 

        ปิดตายันต์ยุ่งหล่อโบราณ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยหลวงพ่อรุ่งสร้างตามสูตรและพิมพ์ทรงของหวงพ่อทับ วัดทอง ผู้เป็นอาจารย์ แต่เปลี่ยนชนิดของโลหะเป็นทองเหลือง เพื่อแสดงความเคารพครูอาจารย์โดยไม่ทำของเสมอท่าน พุทธคุณโดดเด่น ในด้าน คงกระพัน คลาดแคล้ว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตายันต์ยุ่งหล่อโบราณของ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง
พระปิดตายันต์ยุ่งหล่อโบราณของ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง
พระปิดตายันต์ยุ่งหล่อโบราณของ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง

         ด้านหน้า ลักษณะเป็นพระปิดตาลอยองค์ยันต์ยุ่ง ลักษณะคล้ายพระปิดตาวัดทอง เทหล่อเป็นช่อ มีการต่อชนวนที่ก้น 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ขอบข้างมีรอยประกบด้านข้าง

         เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของท่าน แต่บางท่านก็ว่าเหรียญรุ่นนี้สร้างเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมสร้างพระอุโบสถ หรือไม่ก็สร้าง เพื่อแจกกับลูกศิษย์และสาธุชนที่มีความเคารพนับถือในตัวหลวงพ่อไว้ป้องกันภัยในสงครามอินโดจีน มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อนาก เนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้อเงินลงยาก็มี 

         ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว การสร้างเหรียญรุ่นแรกนั้น ทำการปั๊มขึ้นมาด้วยทั้งหมด ๓ ครั้ง โดยปั๊มที่ร้านของคุณแสวง หัตถกิจ ที่มีร้านอยู่ตรงข้ามโรงภาพยนตร์เอ็มไพม์ในสมัยนั้น จำนวนการสร้างในครั้งแรก แยกเป็นเนื้อทองแดง ราว ๓,๐๐๐ เหรียญ เนื้อเงิน ๓๐๐ เหรียญ เนื้อนาก ๗ เหรียญ และชนิดทองคำ ๒๐ เหรียญ สำหรับเหรียญเนื้อทองคำ ท่านจะมอบให้กับลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดเท่านั้น โดยจะต้องนำทองคำหนัก ๒ สลึง มามอบให้กับท่าน

         ปรากฏว่าเหรียญที่ปั๊มในครั้งแรกนี้ ได้หมดไปในเวลาอันรวดเร็ว แต่กระนั้นก็ตามยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของลูกศิษย์ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้นำแม่พิมพ์ตัวเดิมไปให้ร้านคุณแสวง ปั้มขึ้นมาอีก ๒  ครั้ง โดยทั้งสองครั้งนี้เป็นเหรียญชนิดเนื้อทองแดงทั้งหมดไม่มีเนื้อเงิน ทองคำ อีกเลย

         โดยปั๊มเพิ่มอีกคราวละ ๒,๐๐๐ เหรียญ แม่พิมพ์จึงแตกร้าวใช้การไม่ได้อีก สรุปแล้วเหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อรุ่ง ที่เป็นเนื้อทองแดง มีจำนวนทั้งหมดราว ๗,๐๐๐ เหรียญ 

เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก 2484 ยันต์หยิก เนื้อเงินลงยา
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก ยันต์หยิก ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อเงินลงยา ของคุณจิ๋ว หนองแขม

เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก 2484 ยันต์หยิก เนื้อเงินลงยา
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก ยันต์หยิก ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อเงินลงยา ของคุณจิ๋ว หนองแขม
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก 2484 ยันต์หยิก เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก ยันต์หยิก ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อเงิน ของคุณธนพัฒน์ นิลดำ
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก ยันต์หยิก ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก 2484 ยันต์หยิก เนื้อทองแดง บล็อกแตก
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก ยันต์หยิก(บล็อกแตก) ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เนื้อทองแดง ของคุณกร หัตถ์เทพ

           ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อรุ่งครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ อยู่ภายใต้เส้นกรอบขนานคู่ตามรูปทรงของเหรียญ เส้นนอกใหญ่จะใหญ่กว่าเส้นใน ด้านบน รูปหลวงพ่อมีอักษรว่า "พระครูรุ่ง" โดยตัวอักษรที่ว่านี้วางตำแหน่งแยกกันคือ คำว่า "พระ" อยู่บนหัวไหล่ด้านขวา คำว่า "ครู" อยู่เหนือศีรษะ และคำว่า "รุ่ง" อยู่บนบ่าด้านซ้าย ใต้รูปหลวงพ่อมีตัวอักษรไทยจารึกเป็นตัวนูนว่า "วัดท่ากระบือ" อยู่ภายในโบว์ และต่ำลงมีลายกนก

         ด้านหลัง เป็นยันต์กันภัย และคงกระพัน ผูกหัวใจต่างๆอ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" หัวใจพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เป็นอักขระขอมอยู่ตรงกลางเป็นเส้นทิวอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม "มะ อะ อุ" หัวใจตรีเพชร เป็นอักขระขอม ๓ ตัวเรียงกันในแนวตั้ง ทางด้านขวาของเหรียญ "อิ สวา สุ" หัวใจพระเจ้า เป็นอักขระขอม เรียงกันในแนวตั้ง อยู่ทางด้านซ้ายมือของเหรียญ "พุท ธะ สัง มิ" หัวใจไตรสรณาคม เป็นอักขระขอม ๔ ตัว อยู่บนยอดเหรียญเหนือยันต์รูปองค์พระ ใต้ยันต์จารึกปีที่ออกเหรียญคือ "พ.ศ. ๒๔๘๔" มีดอกจันทร์​อยู่ด้านล่าง

         เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นเหรียญที่ระลึกในพิธีพุทธาภิเษก และพิธีหล่อพระประธาน คาดว่ามีจำนวนน้อยกว่าเหรียญรุ่นแรก ทำให้พบเห็นได้น้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็น เนื้อเงิน ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เช่นเดียวกับเหรียญรุ่นแรก มีการสร้างทั้งเนื้อทองแดง และเนื้อเงิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่น2 2491 เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อเงิน ของคุณธนพัฒน์ นิลดำ
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่น2 2491 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองแดง ของคุณหนุ่ย วัดปราโมทย์

        ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อรุ่ง ครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระยันต์นะวิเศษจารึกอยู่สามเศร้า ใต้รูปมีโบว์ ภายในโบว์จารึกสมณศักดิ์ของหลวงพ่อในขณะที่สร้างเหรียญรุ่นนี้คือ "พระครูไพโรจน์มันตาคม" ใต้โบว์มีอักขระ นะวิเศษ อยู่อีกตัวหนึ่ง

        ด้านหลัง มีพระพุทธรูปนั่งสมาธิอยู่บนอาสนะบัวคว่ำหงาย ใต้รูปมีอักษรไทยจารึกว่า "หลวงพ่อในโบสถ์"

         เหรียญหล่อสามเหลี่ยมหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ

        สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ สร้างขึ้นเพื่อแจกในพิธีหล่อพระประธานของวัดท่ากระบือ ซึ่งจัดเป็นวัตถุมงคลที่หลวงพ่อไม่ได้ปลุกเสกเดี่ยว แต่ใช้การจัดพิธีปลุกเสกใหญ่ที่วัดท่ากระบือแทน ซึ่งหลวงพ่อรุ่งได้นำเหรียญเงิน ๑ บาท สมัยรัชกาลที่ ๕ และที่ ๖ ที่ท่านได้สะสมไว้จำนวน ๒,๖๐๐ เหรียญ เข้าหลอมด้วย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้  และในพิธีนี้หลวงพ่อรุ่ง ได้สร้างพระเครื่องเนื้อโลหะชนิดพิมพ์นางพญาไว้ด้วย แต่ก็ไม่ได้แจกให้กับผู้ใดโดยหลวงพ่อได้นำไปบรรจุกรุทั้งหมด

เหรียญหล่อสามเหลี่ยม ของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เนื้อทองผสม

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธ หรือพระประธานภายในโบสถของวัดท่ากระบือ องค์พระเป็นปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานบัว ๒ ชั้น

         ด้านหลัง มียันต์แบบเดียวกับเหรียญรุ่นแรก อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ มะ อะ อุ อิ สวา สุ พุท ธะ สัง มิ"

         เหรียญพัดยศหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ 

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นเหรียญรูปพัดยศแบบมีหูในตัว สร้างไว้เป็นที่ระลึกในโอกาสฉลองสมณศักดิ์ที่ พระไพโรจน์วุฒาจารย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นิยมเรียกกันว่า รุ่นหน้าแก่ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างมีรวมกันแล้วไม่เกิน ๕,๐๐๐ เหรียญ พระปลัดหยัด กตบุญโญ เจ้าอาวาสรูปต่อจากหลวงพ่อรุ่ง ได้นำมาแจกในงานฉลองพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อรุ่ง เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑

เหรียญพัดยศหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อเงิน

เหรียญพัดยศหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ 2500 ทองแดง
เหรียญพัดยศหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณเปี้ยง

        ด้านหน้า เป็นลายกนกจับตามขอบชั้นนอกของเหรียญ มีอักขระขอมจารึกเรื่อยไปตามลายกนกอ่านได้ว่า "กะ นะ นะ อะ นะ มะ กะ อัง นะ มะ นะ อะ นะ กู นะ กะ" ขอบด้านในเป็นเส้นขอบรูปพัดยศ ๑ เส้น องค์พระรูปหลวงพ่อรุ่งแบบครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักษรไทยใต้องค์พระโค้งตามรูปพัดยศส่วนล่างว่า "พระไพโรจน์วุฒาจารย์"

        ด้านหลัง เป็นยันต์พระรูปพระพุทธ มีอักขระขอมว่า "นะ โม พุท ธา ยะ มะ อะ อุ อิ สวา สุ พุท ธะ สัง มิ" เช่นเดียวกับเหรียญรุ่นแรก แต่ส่วนล่างมีอักษรไทยว่า "พ.ศ. ๒๕๐๐"

        เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นวัดสวนส้ม

        สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น เหรียญวัดสวนส้มเป็นเหรียญออกที่วัดสวนส้ม ตำบลสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้กับประตูบางจาก บ้านยาง โดยแจกเป็นที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาของวัดสวนส้ม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เหรียญนี้สร้างหลังจากที่หลวงพ่อรุ่งได้มรณภาพไปแล้ว ทางวัดได้จัดพิธีพุทธาภิเษกขึ้นมามีศิษย์ยานุศิษย์ของหลวงพ่อมาปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้ จึงปรากฏว่าถึงแม้เหรียญของวัดสวนส้มจะเป็นเหรียญที่ออกมาภายหลังไม่ทันหลวงพ่อรุ่ง แต่ก็มีพุทธคุณบรรจุอยู่และมีประสบการณ์ คาดแคล้ว คงกระพันมาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ออกวัดสวนส้ม ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อรุ่งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักษรไทยเขียนว่า "พระไพโรจน์วุฒาจารย์"

         ด้านหลัง มียันต์แบบเดียวกับเหรียญรุ่นแรกซึ่งเป็นยันต์ครู ใต้ยันต์จารึกอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานผูกพัทธสีมา วัดสวนส้ม พ.ศ. ๒๕๐๑"

         จากการที่ผู้เขียนได้เล่าถึงประวัติและการสร้างวัตถุมงคลชนิดต่างๆ ของหลวงพ่อรุ่ง จะเห็นได้ว่าชีวประวัติของท่าน ได้ก่อให้เกิดความศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นผู้ที่มีพลังจิตแก่กล้า ยากที่คณาจารย์อื่นจะเทียบเท่า

         สามารถรู้ล่วงหน้าถึงการมรณภาพซึ่งคณาจารย์ยุคนี้มีเพียงไม่กี่ท่าน ด้วยเหตุนี้ของดีของหลวงพ่อรุ่งจึงมีคุณวิเศษทั้งทางด้านบุญฤทธิ์และอิทธิฤทธิ์ สมกับเป็นพระอาจารย์อันดับหนึ่งที่อยู่ในใจของชาวสมุทรสาครตลอดมาจนได้ฉายาว่า "เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีน"    

         หนึ่งในการการเดินธุดงค์ของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (คัดลอกมาจากหนังสืองานปิดทองวัดราชคาม) ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม ได้เดินธุดงค์ไปกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ และพระภิกษุอีกรูป(จำชื่อไม่ได้) ทั้ง ๓ องค์เดินทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมุ่งสู่จังหวัดกาญจนบุรี ติดต่อกับชายแดนของพม่า 

         ซึ่งใช้เวลาเดินทางกันมาแรมเดือน เมื่อถึงกำหนดที่ต้องอยู่จำพรรษาตามพระวินัยบัญญัติ ทั้ง ๓ องค์ ได้ตกลงกันว่าจะขอกำหนดจำพรรษา ณ ที่ถ้ำ ๆ หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเขตไทยและพม่า ถ้ำที่กล่าวนี้ ชาวบ้านเรียกว่า "ถ้ำมะละแหม่ง"

         เมื่อทั้ง ๓ เข้าไปในถ้ำก็ได้พบกับหลวงปู่ผู้ชรารูปหนึ่งอยู่จำพรรษาก่อนแล้ว จึงขออนุญาติจำพรรษาด้วย หลวงปู่ท่านก็อนุญาติด้วยความยินดี แล้วทั้ง ๓ ก็มอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาจิตตภาวนาและวิทยาคมจากหลวงปู่

         ซึ่งท่านก็รับเป็นศิษย์ด้วยจิตเมตตา ตลอดพรรษาเวลา ๓ เดือน ทั้ง ๓ ท่านได้ตั้งใจรับการถ่ายทอดวิชาการปฏิบัติทางจิตและวิทยาคมต่างๆ จากหลวงปู่ผู้ชราอย่างเต็มที่ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่

         ซึ่งเหตุที่เกิดศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงปู่ก็คือ คืนแรกที่ได้เข้าจำพรรษาในถ้ำนั้น พอรุ่งขึ้นทั้ง ๓ ก็เตรียมตัวบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรของภิกษุทั้งหลาย

         แต่พอหลวงปู่เห็นก็บอกว่าทั้ง ๓ ไม่ต้องออกบิณฑบาตรหรอก หลวงปู่จะบิณฑบาตรนำอาหารมาเลี้ยงเอง ทั้ง ๓ จึงปฏิบัติภาระกิจด้วยการทำความสะอาดปัดกวาดที่พัก

         ซักครู่หลวงปู่ก็กลับมาที่ถ้ำพร้อมอาหารคาวหวานและผลหมากรากไม้ มีจำนวนพอที่จะทำภัตตกิจได้ทั้ง ๔ องค์

         ซึ่งทั้ง ๓ คิดเพียงในใจตรงกันว่า หลวงปู่ผู้ชรานี้ต้องมีอิทธิปาฏิหารย์อย่างแน่นอน เพราะว่าบริเวณใกล้ๆ ถ้ำนั้นไม่มีหมู่บ้านให้เห็นเลย หลวงปู่ออกไปบิณฑบาตรเพียงครู่ก็กลับมาพร้อมอาหารอันเพียงพอ
เมื่อถึงกำหนดปวารณาออกพรรษา ภิกษุทั้ง ๓ ก็กระทำปวารณา 

         เมื่อผ่านไปไม่กี่วัน หลวงปู่ก็เรียกหาให้เข้าพบและบอกว่า ถึงกำหนดเวลาแล้วให้ท่านทั้ง ๓ จะต้องเดินธุดงค์ต่อไปเพื่อศึกษาหาความรู้จากผู้อื่น ขอให้ธุดงค์ไปทางทิศเหนือแล้วจะได้รับการศึกษาเพิ่มเติมตามที่ต้องการ แต่ระหว่างเดินทางขอให้ระวังอย่าได้ประมาท 

         เมื่อกราบนมัสการลาแล้วทั้ง ๓ ก็ได้ธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ บางครั้งเจอหมู่บ้านป่า บางครั้งก็อิ่ม บางครั้งก็อด ธุดงค์เป็นเวลาแรมเดือนก็เข้าเขตติดต่อระหว่างกาญจนบุรีกับชัยนาท ขณะที่ธุดงค์ระหว่างทางทั้ง ๒ จังหวัด ภิกษุองค์ที่ไม่ทราบชื่อก็ป่วยเป็นไข้ป่าอย่างรุ่นแรก และมรณภาพลงในที่สุด 

         หลวงพ่อชุ่ม และหลวงพ่อรุ่ง ไม่สามารถช่วยได้และได้ทำการเผากันในป่านั่นเอง เสร็จแล้วเก็บกระดูกห่อผ้าติดตัวมาด้วย จากนั้นทั้ง ๒ จึงเดินทางเข้าสู่จังหวัดชัยนาทเพื่อไปเรียนวิชากับหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่าต่อไป.

 



ที่มา : หนังสือดัชนีพระ ฉบับที่ ๒๒ ตีพิมพ์ ปี พ.ศ. ๒๕๓๘
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

1 ความคิดเห็น:

  1. หนึ่งในการการเดินธุดงค์ของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ (คัดลอกมาจากหนังสืองานปิดทองวัดราชคาม)
    ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคามได้เดินธุดงค์ไปกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ และพระภิกษุอีกรูป(จำชื่อไม่ได้) ทั้ง ๓ องค์เดินทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมุ่งสู่จังหวัดกาญจนบุรี ติดต่อกับชายแดนของพม่า
    ซึ่งใช้เวลาเดินทางกันมาแรมเดือน เมื่อถึงกำหนดที่ต้องอยู่จำพรรษาตามพระวินัยบัญญัติ ทั้ง ๓ องค์ ได้ตกลงกันว่าจะขอกำหนดจำพรรษา ณ ที่ถ้ำ ๆ หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเขตไทยและพม่า ถ้ำที่กล่าวนี้ ชาวบ้านเรียกว่า "ถ้ำมะละแหม่ง"
    เมื่อทั้ง ๓ เข้าไปในถ้ำก็ได้พบกับหลวงปู่ผู้ชรารูปหนึ่งอยู่จำพรรษาก่อนแล้ว จึงขออนุญาติจำพรรษาด้วย หลวงปู่ท่านก็อนุญาติด้วยความยินดี แล้วทั้ง ๓ ก็มอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาจิตตภาวนาและวิทยาคมจากหลวงปู่
    ซึ่งท่านก็รับเป็นศิษย์ด้วยจิตเมตตา ตลอดพรรษาเวลา ๓ เดือน ทั้ง ๓ ท่านได้ตั้งใจรับการถ่ายทอดวิชาการปฏิบัติทางจิตและวิทยาคมต่างๆ จากหลวงปู่ผู้ชราอย่างเต็มที่ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่
    ซึ่งเหตุที่เกิดศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงปู่ก็คือ คืนแรกที่ได้เข้าจำพรรษาในถ้ำนั้น พอรุ่งขึ้นทั้ง ๓ ก็เตรียมตัวบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรของภิกษุทั้งหลาย
    แต่พอหลวงปู่เห็นก็บอกว่าทั้ง ๓ ไม่ต้องออกบิณฑบาตรหรอก หลวงปู่จะบิณฑบาตรนำอาหารมาเลี้ยงเอง ทั้ง ๓ จึงปฏิบัติภาระกิจด้วยการทำความสะอาดปัดกวาดที่พัก
    ซักครู่หลวงปู่ก็กลับมาที่ถ้ำพร้อมอาหารคาวหวานและผลหมากรากไม้ มีจำนวนพอที่จะทำภัตตกิจได้ทั้ง ๔ องค์
    ซึ่งทั้ง ๓ คิดเพียงในใจตรงกันว่า หลวงปู่ผู้ชรานี้ต้องมีอิทธิปาฏิหารย์อย่างแน่นอน เพราะว่าบริเวณใกล้ๆ ถ้ำนั้นไม่มีหมู่บ้านให้เห็นเลย หลวงปู่ออกไปบิณฑบาตรเพียงครู่ก็กลับมาพร้อมอาหารอันเพียงพอ
    เมื่อถึงกำหนดปวารณาออกพรรษา ภิกษุทั้ง ๓ ก็กระทำปวารณา เมื่อผ่านไปไม่กี่วัน หลวงปู่ก็เรียกหาให้เข้าพบและบอกว่า ถึงกำหนดเวลาแล้วให้ท่านทั้ง ๓ จะต้องเดินธุดงค์ต่อไปเพื่อศึกษาหาความรู้จากผู้อื่น ขอให้ธุดงค์ไปทางทิศเหนือแล้วจะได้รับการศึกษาเพิ่มเติมตามที่ต้องการ แต่ระหว่างเดินทางขอให้ระวังอย่าได้ประมาท
    เมื่อกราบนมัสการลาแล้วทั้ง ๓ ก็ได้ธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ บางครั้งเจอหมู่บ้านป่า บางครั้งก็อิ่ม บางครั้งก็อด ธุดงค์เป็นเวลาแรมเดือนก็เข้าเขตติดต่อระหว่างกาญจนบุรีกับชัยนาท ขณะที่ธุดงค์ระหว่างทางทั้ง ๒ จังหวัด ภิกษุองค์ที่ไม่ทราบชื่อก็ป่วยเป็นไข้ป่าอย่างรุ่นแรก และมรณภาพลงในที่สุด
    หลวงพ่อชุ่ม และหลวงพ่อรุ่ง ไม่สามารถช่วยได้และได้ทำการเผากันในป่านั่นเอง เสร็จแล้วเก็บกระดูกห่อผ้าติดตัวมาด้วย จากนั้นทั้ง ๒ จึงเดินทางเข้าสู่จังหวัดชัยนาท (ไปเรียนวิชากับหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่าต่อไปอย่างที่ทราบกัน).

    ตอบลบ