วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่เข็ม (พระครูไชยคีรีศรีสวัสดิ์) วัดม่วง พระสายมอญที่เข้มขลังของชาวราชบุรี

หลวงพ่อเข็ม หรือ พระครูไชยคีรีศรีสวัสดิ์ วัดม่วง จ.ราชบุรี

         หลวงพ่อเข็ม วัดม่วง หรือ พระครูไชยคีรีศรีสวัสดิ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดม่วง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี แต่ชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า “หลวงปู่เข็ม” หรือ “พระอุปัชฌาย์เข็ม”

         หลวงปู่เข็ม เป็นพระที่อยู่ในช่วงตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๗ ตามบันทึกกล่าวว่า ท่านเกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๕ ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ เชื่อกันว่าบิดา-มารดาของท่านเป็นชาวมอญ ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองไทยแต่ราวรัชกาลที่ ๑ และเมื่อท่านอายุได้ ๑๓ ปี ท่านได้บวชเป็นสามเณร ที่วัดม่วงแห่งนี้

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ หลวงพ่อเข็ม ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดม่วง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการจดบันทึกถึงพระอุปัชฌาย์ของท่านว่าเป็นผู้ใด

         หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดม่วงเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย บทสวดมนต์คมถาต่างๆ จากพระอาจารย์ของท่าน

         ต่อมาตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดม่วงได้ว่างลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเข็ม ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
รูปถ่ายหลวงพ่อเข็ม วัดม่วง ราชบุรี
หลวงพ่อเข็ม วัดม่วง ราชบุรี

         วัดม่วง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตก ในตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

         วัดม่วง สร้างโดยชาวมอญบ้านม่วง จากคำบอกเล่าของชาวบ้านเชื่อกันว่าบรรพบุรุษรุ่นแรกอพยพมาจากประเทศพม่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาราวรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๑๓๓–๒๑๔๘)

        โดยติดตามพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งเป็นพระสงฆ์เชื้อสายมอญนิกายมหายานเข้ามาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำแม่กลอง แล้วให้ชื่อหมู่บ้านเหมือนบ้านเดิมในพม่าว่า "บ้านม่วง" และได้สร้างวัดประจำหมู่บ้านว่า "วัดม่วง" ภาษามอญเรียกว่า "เพลียเกริก" ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๓ 

         ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน หน้าบันของอุโบสถหลังเก่า บนบานหน้าต่างโดยรอบ รวมทั้งผนังบานประตูทั้งหน้าและหลัง มีลวดลายปูนปั้น งานแกะสลัก และภาพจิตรกรรม

         เจดีย์มอญตั้งอยู่ด้านหน้าวัดติดกับแม่น้ำแม่กลอง มีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงกลมแบบเจดีย์มอญ เจดีย์ประธานมีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงแก้ว บริเวณวัดยังมีต้นโพธิ์อายุร่วมร้อยปี มีเส้นรอบวง ๑๑ เมตร ความสูง ๑๐ เมตร มีกิ่งก้านสาขาปกคลุม โดยรอบๆ ซ้อมประตูวัด รากของต้นโพธิ์แทงเข้าไปตามซอก และโครงสร้างของซุ้มประตู กิ่งของต้นมีรูปร่างคล้าย ๆ กับช้างทรงขนาดใหญ่

         นอกจากนี้วัดยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง มีการเก็บรวบรวมหนังสือคัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย ซึ่งจารึกข้อความด้วยภาษามอญ ภาษาบาลี ภาษาเขมร ไว้มากกว่า ๕,๐๐๐ ผูก วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔

ภาพถ่ายหลวงพ่อเข็ม วัดม่วง

         หลังจากที่หลวงพ่อเข็มขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ท่านทำนุบำรุงวัดม่วง ให้เจริญรุ่งเรืองและเป็นที่รู้จัก ทั้งในหมู่คนไทย คนมอญ คนแขก คนลาว และพวกคนกะเหรี่ยง

         ต่อมาพระครูสังฆกิจบริหาร(ฟัก) วัดบ้านโป่ง เจ้าคณะแขวงบ้านโป่ง ท่านได้รับการแต่งตั้งให้หลวงพ่อเข็ม เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะหมวดบ้านม่วง (เจ้าคณะตำบล) 

         แต่หลวงพ่อเข็ม รับเพียงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น เนื่องจากท่านยังเป็นพระที่ไม่แก่พรรษามากนัก ภายในพื้นที่หมวดบ้านม่วงยังมีพระเถระที่แก่พรรษามากกว่าอยู่ กลัวจะเป็นการไม่สมควร

         ซึ่งในสมัยก่อนพระอุปัชฌาย์มีน้อยมาก ผู้คนที่มีเชื้อสายมอญในเขตภาคตะวันตกและระแวกใกล้เคียงวัดม่วงจึงพากันมาขอบวชกับหลวงพ่อเข็มเป็นจำนวนมาก

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์มณฑลราชบุรี ได้เสด็จถึงท่าหน้าวัดบ้านโป่งเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๗.๑๓ น. ซึ่งเป็นพลับพลาที่ประทับแรม

         พระครูสังฆกิจบริหาร(ฟัก) วัดบ้านโป่ง เจ้าคณะแขวงบ้านโป่ง เป็นหัวหน้าสวดชัยมงคลคาถา พวกกรรมการอำเภอและราษฏรประมาณ ๑๐๐ คนเศษยืนแถวรับเสด็จ

         เวลา ๒๐.๒๐ น. เสด็จขึ้นบนวัด ประทับที่ศาลาการเปรียญ พระครูสังฆกิจบริหาร เจ้าคณะแขวง นำพระสงฆ์ในแขวงนี้เฝ้าถวายดอกไม้ ธูปเทียน ทรงปราศัยตรัสถามความเป็นไปแห่งการคณะในแขวงนี้

         ทรงทราบว่า เจ้าอธิการเข็ม วัดม่วง มีพรรษายังไม่แก่เท่าไหร่นักสมควรจะช่วยรับภาระในการคณะได้ แต่หารับหน้าที่เป็นเจ้าคณะหมวดไม่ โดยอ้างเอาความเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ขึ้นเป็นข้อแก้ตัว จึงตรัสแจงว่า เมื่อเป็นอุปัชฌายะ แต่ไม่เอาธุระการคณะอย่างนี้ เอารัดเอาเปรียบเกินไป 

         ตรัสแก่พระครูสังฆกิจบริหาร เจ้าคณะแขวงว่า ถ้าเจ้าอธิการเข็มไม่รับหน้าที่เป็นเจ้าคณะหมวด เวลาเสด็จกลับจากตรวจการณ์คณะสงฆ์ในเมืองกาญจนบุรี ให้นำความกราบทูล 

         แล้วประทานโอวาทแก่พระสงฆ์เหล่านั้น แล้วประทานย่ามหนังสือธรรมและผ้าเช็ดหน้าแจกแก่พระสงห์เหล่านั้นตามชั้นตามความสามารถ เวลา  ๕  ทุ่ม เสด็จประทับแรมในเรือที่นั่งฯ

         วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เจ้าอธิการเข็ม จึงรับตำแหน่งเจ้าคณะหมวดบ้านม่วง (เจ้าคณะตำบล) ตามรับสั่งของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส อย่างเป็นทางการ

ภาพถ่ายเก่าของหลวงพ่อเข็ม วัดม่วง กับหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง

         หลวงปู่เข็ม ท่านเป็นพระเถระที่เชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน จนหาภิกษุเสมอเหมือนได้ยาก ท่านโด่งดังมากในพื้นที่บริเวณสองฟากลุ่มน้ำแม่กลองตั้งแต่ วัดบ้านโป่ง วัดอุทุมพร วัดตาผา วัดมะขาม เรื่อยไปจนถึงวัดม่วง 

         นอกจากนี้หลวงปู่เข็ม ยังเชี่ยวชาญยาสมุนไพรรักษาโรคอีกด้วย โดยนำสมุนไพรที่ขึ้นในวัดมาทำเป็นยาลูกกลอน แจกจ่ายให้ชาวบ้านที่เดือดร้อน

         ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ คนมอญซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่บ้านม่วง ได้ไปมาหาสู่กับวัดม่วงเสมอ เนื่องด้วยกิตติศัพท์ของหลวงปู่เข็ม 

         แม้แต่พวกกะเหรี่ยงก็ลงมาบวชที่วัดม่วงมากมาย การเดินทางในสมัยนั้นใช้การเดินเท้าเป็นหลัก เล่ากันว่าพวกกะเหรี่ยงเคารพนับถือท่านมาก ถึงกับยอมให้เท้าท่านถูกศีรษะ เพราะถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต

         หลวงปู่เข็ม เมื่อจะเดินทางใกล้ไกล หากเป็นการเดินทางทางบก จะมีเก้าอี้หวายแบบมีคานหามสำหรับใช้ในการเดินทางไกลให้ท่านนั่ง หรือถ้าจะเดินทางทางน้ำก็จะมีเรือเก๋งที่ได้รับพระราชทานไว้เป็นพาหนะของหลวงปู่โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความเคารพในตัวหลวงปู่ได้เป็นอย่างดี

         ทำให้พื้นที่บ้านม่วงเป็นศูนย์กลางการเรียน การศึกษาธรรม ในสมัยนั้นมีอาจารย์บาลีชาวมอญจำนวนหลายรูป และมีการจารหนังสือกันมาก ทั้งพระอภิธรรม ชาดก นิทานต่างๆ โดยพวกหนังสือบาลีมอญจะจารเพื่อให้พระเรียน ส่วนพวกนิทานชาดกจะใช้อ่านกันทั่วไป

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๑  พระครูสังฆกิจบริหาร(ฟัก) วัดบ้านโป่ง เจ้าคณะแขวงได้มรณภาพลง หลวงปู่เข็ม จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูไชยคีรีศรีสวัสดิ์” ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         คาดกันว่าวัดม่วงคงจะเจริญสูงสุดในสมัยนี้ เนื่องจากหลวงปู่เข็มท่านได้สร้างความเจริญให้กับวัดมากมาย เช่น สร้างโบสถ์ กำแพง ศาลาการเปรียญ และที่สำคัญคือท่านได้สร้างโรงเรียน 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ หลวงปู่เข็ม ท่านได้ทำการสร้างโบสถ์วัดม่วง (ตามบันทึกที่อาจารย์อุ่น แห่งวัดม่วง พบในใบลานเก่าของวัด)

ภาพถ่ายเก่าของหลวงพ่อเข็ม วัดม่วง(องค์ขวา) กับหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง (องค์ซ้าย)

         หลวงปู่เข็ม เป็นผู้ที่เคร่งครัดพระธรรมวินัยมาก ท่านจะสวดมนต์แทบทุกบทจนถึงพระปาฏิโมกข์ แต่จะสวดไปทางมอญ ท่านลงอุโบสถไม่เคยขาด ถ้าในพรรษาหลวงปู่จะกำหนดฉันเอกาอาหารคาวหวานสำรวมในบาตรหมด ความเมตตาท่านมีสูง 

         ทำให้ในวัดเต็มไปด้วยสัตว์เลี้ยงต่างๆ โดยเฉพาะหมาแมว ที่แม้เวลาฉัน ท่านยังต้องเอามือป่ายแมวที่มารุมห้อมล้อมที่บาตร ชาวบ้านจะสังเกตว่าท่านอยู่วัดหรือไม่ โดยดูจากบรรดาสุนัขที่ท่านเลี้ยงไว้มากมาย หากไม่เห็นสุนัขแสดงว่าท่านไม่อยู่ แต่ถ้าท่านไม่ไปไหนจะเห็นสัตว์ต่างๆ อยู่เต็มวัด ทั้ง หมู ไก่ เป็ด นกยูง ห่าน

         หลวงปู่เข็ม ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับพระเกจิในยุคต่อๆมาอีกหลายรูป อาทิเช่น หลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก พระเกจิชื่อดังของเมืองกาญจนบุรีก็มีท่านเป้นพระอุปัชฌาย์ 

         นอกจากนี้เชื่อถือกันว่าใครที่สึกกับหลวงปู่ และให้ท่านเป่ากระหม่อมให้ จะทำให้มีชีวิตก้าวหน้ารุ่งเรื่องดี จึงมีพระสงฆ์มาขอสึกกับหลวงปู่เป็นจำนวนมาก 

         นอกจากนี้หลวงปู่เข็ม เป็นพระที่มีเมตตาสูงมาก มีพรหมวิหาร ๔ ใครมานิมนต์ไปไหนไม่เคยขัดศรัทธา จนท่านลุกไม่ไหว ก็ยังขึ้นคานห่ามแคร่ไป ความเลื่อมใสศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อท่านมีสูงมาก ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า "พระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จที่วัดม่วง และยังพระราชทานแพรจีวรดอกพิเศษถวายท่านด้วย"

         หลวงปู่เข็ม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ นับสิริอายุได้ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา.

         ในงานพิธีศพของท่าน มีลิเก ปี่พาทย์ มากมายเป็นประวัติการถึง ๓๖ คณะ ผู้คนต่างมาร่วมงานไว้อาลัยแน่นขนัด พอเสร็จพิธีเผา บรรดาเถ้าถ่านอัฐิต่างถูกแย่งเอาไปบูชาจนหมดสิ้น.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเข็ม วัดม่วง

         เหรียญหลวงปู่เข็ม วัดม่วง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างโบสถ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ ข้างกระบอก ด้านบนมีหูเชื่อมสำหรับคล้องพระ มีการสร้างเหรียญด้วยกัน ๒ เนื้อ คือ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญหลวงปู่เข็ม วัดม่วง รุ่นแรก ปี 2464 เงิน
เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดม่วง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ เนื้อเงิน ของคุณโอ๊ต บางแพ

เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดม่วง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเข็ม วัดม่วง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า ของเหรียญเป็นรูปหลวงปู่เข็ม ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านล่างมีโบว์ปลายโบว์มีเลขไทยบอกปี พ.ศ. ที่สร้าง "๒๔๖๔" มีอักษรขอมล้อมรอบล้อไปกับขอบเหรียญ อ่านได้ว่า "อาปามะจุปะ ทีมะสังอังขุ สังวิธาปุกะยะปะ"

         ด้านหลัง เป็นรูปยันต์อักษรขอม และอักขระขอมต่างๆ มีอักษรไทยเขียนว่า "ให้ไว้เปนที่ระฤก" ด้านบนสุดเป็นตัวอุณาโลมเปล่งรัศมี ล่างลงมาเป็นยันต์สามที่ผูกเป็นยันต์ห้า บรรจุอักขระขอมไว้ในยันต์สาม ซึ่งมียันต์ตรงกลาง บรรขุอักขระขอมไว้ คือ มะ อะ อุ หรือเป็นหัวใจพระไตรปิฎก หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  อักขระด้านนอกยันต์ข้างยันต์สาม คือ นะ มะ พะ ทะ เป็นหัวใจของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นอักขระหนุนให้พระคาถาทุกชนิดมีความขลัง เนื่องจากได้เสริมธาตุให้เกิดพลัง อักขระในขมวดยันต์ห้า คือ นะ โม พุท ธา ยะ อันเป็นหัวใจพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ส่วนอักขระนอกยันต์ห้า คือ พุท ธะ สัง มิ อันเป็นหัวใจพระไตรสรณาคมน์

         ความเลื่อมใสศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อหลวงปู่ กลายเป็นตำนานที่เล่าสืบทอดกันต่อๆ มาในหมู่ชาวบ้านม่วงอย่างไม่ขาดสาย เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับความเมตตา ความสันโดษ ความขลัง และวิชาความรู้ที่ท่านสั่งสมเป็นมรดกตกทอดให้แก่วัดม่วง เป็นเรื่องที่เล่าขานไม่จบไม่หมด รูปหล่อเท่าตัวจริงของท่านบนศาลาการเปรียญที่วัดม่วง ที่ลงรักปิดทอง มีคำจารึกว่า สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ยังเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทุกคน.

ภาพงานศพหลวงปู่เข็ม วัดม่วง ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ภาพจาก : ราชบุรีศึกษา

         งานศพหลวงปู่เข็ม ที่วัดม่วง พ.ศ.๒๔๗๖ นั้นได้มีพระคณาจารย์ชื่อดังของเมืองราชบุรีเข้าร่วมอยากมากมายจนมีการบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึกนับรวมได้ดังนี้

         รายชื่อพระอาจารย์ต่างๆ เรียงจากขวาไปซ้าย (นั่ง)

         พระครมูล (วัดหนองปลาหมอ)
         พระครูหลวงปู่ศร (วัดบัวงาม)
         พระอาจารย์เปีย (วัดบ้านหม้อ)
         พระครูหลวงปู่กล่อม (วัดขนอน)
         หลวงปู่เหี้ยน (วัดม่วง)
         อาจารย์จู (วัดท่าผา)

         แถวยืนเรียงจากขวาไปซ้าย

         พระใหม่
         พระอาจารย์ดวง
         อาจารย์โต๊ะ (วัดท่าผา)
         เจ้าคณะอำเภอเก่าอาจารย์ผัน
         อาจารย์โวะ
         อาจารย์นาค (วัดตาล)
         กำนันจิ๋ว
         พระใหม่
         กำนันเติม กรดเครือ

 เกร็ดความรู้ 

         การบวชสมัยก่อนของชาวมอญ มักจะบวชเป็นกลุ่มครั้งละหลายๆ องค์ เพราะต้องเดินทางไปไกลแต่ละท้องที่ ในหมู่คนมอญ หากถือผีเดียวกันต้องบวชพร้อมกัน ญาติพี่น้องของผู้บวชต้องเอาพลูจีบไปจองสาวๆ ที่จะมาเข้าขบวนแห่นาค ซึ่งจะต้องเลือกสาวพรหมจารี แต่งโจงกระเบน ห่มผ้าสไบ หรือใส่เสื้อคอกระเช้าแล้วห่มสไบทับอีกที.



ภาพบางส่วนจากเพจหลวงปู่เข็ม วัดม่วง
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น