ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พระเกจิอาจารย์เจ้าของเหรียญพระพุทธที่หายาก
![]() |
หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม (สมัยหนุ่ม) |
หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ถือเป็นพระเกจิอาจารย์เรืองเวทของจังหวัดสมุทรสงคราม รองมาจาก หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย เลยทีเดียว วัตถุมงคลของท่านก็มีผู้นิยมกันมาก ทั้งเหรียญหล่อและเหรียญปั๊ม นอกจากจะมีค่านิยมสูงแล้ว ยังจัดเป็นของดีที่หายากและหวงแหนของชาวแม่กลองอีกสำนักหนึ่งเลยทีเดียว
ปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ขณะที่หลวงพ่อบ่าย ท่านมีอายุได้ ๑๐ ปี ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาบาลีกับพระอาจารย์คล้ำ วัดสวนทุ่ง(วัดเฟื้อสุธรรม) ตำบลสวนครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ปี พ.ศ. ๒๔๒๔ เมื่อหลวงพ่อมีอายุ ๒๐ ปี ถึงเวลาครบบวช จึงได้อุปสมบทที่วัดทองนพคุณ ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "ธัมมโชโต" โดยมี
พระอุปัชฌาย์แดง วัดเขาบันไดอิฐ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์พุก วัดสวนทุ่ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้วท่านก็จำพรรษาอยู่ที่วัดทองนพคุณ ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นเวลา ๑ พรรษา
ในระหว่างที่หลวงพ่อบ่าย จำพรรษาอยู่ที่วัดทองนพคุณนั้น ท่านได้ศึกษาพุทธาคมกับหลวงพ่อพุก วัดสวนทุ่ง และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย พระอาจารย์ทั้ง ๒ ท่านไม่มีสิ่งใดจะสั่งสอนอีก จึงแนะนำให้ไปฝากตัวศึกษาวิชากับหลวงพ่อแก้ว วัดช่องลม ต่อไป
หลวงพ่อบ่าย ท่านจึงได้ตามหลวงพ่อแก้วมาอยู่ที่วัดช่องลม เพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อแก้ว จึงนับได้ว่าหลวงพ่อบ่ายท่านเป็นผู้ที่ใกล้ชิดหลวงพ่อแก้วมากที่สุด
![]() |
หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม สมุทรสงคราม |
ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงพ่อแก้ว ได้รับนิมนต์ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อบ่าย ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดช่องลม เป็นวัดราษฏร์ สังกัดมหานิกาย คณะสงฆ์ภาค ๑๕ วัดตั้งอยู่เลขที่ ๑๘ หมู่ที่ ๖ ถนนบางแพ-สมุทรสงคราม ตำบลบ้านปรก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ตั้งวัดจำนวน ๓๓ ไร่ ๒ งาน ๔ ตารางวา
โดยมีนายปาน นายสังข์ กำนันตุ่ม เป็นผู้ร่วมกันสร้างวัด จากหลักฐานหนังสือรับรองสภาพวัดระบุว่า วัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓ โดยมีพระครูพ่วง เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดเป็นรูปแรก
ต่อมาในสมัยพระวินัยธรรมแก้ว เป็นเจ้าอาวาส วัดได้ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก นายพ่วง นางลัย จึงได้ร่วมกับพระวินัยธรรมแก้ว และสัสดีอำเภอ ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ ต่อมาหลวงพ่อแก้วย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย
พระครูบ่าย ธมฺมโชโต เป็นเจ้าอาวาส ท่านบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสร้างอุโบสถหลังที่ ๒ ซึ่งหลังแรกที่ดินพังลงแม่น้ำอุโบสถก็พังลงไป สร้างวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฎีสงฆ์ และสร้างพระปรางค์-เจดีย์ไห พ.ศ. ๒๔๘๔
ต่อมาพระครูใบฎีกาถนอม ปฏิสังขรณ์กุฎีสงฆ์ ศาลาการเปรียญ สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นแต่ยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อย
ต่อมาพระอธิการพวง สํวโร ได้ดำเนินการสร้างต่อจนสำเร็จเรียบร้อย และได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นที่เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณร
ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ พระครูสมุทรธีรคุณ พิณ สุวณฺโณ ป.ธ.๖ เป็นเจ้าอาวาส ได้ดำเนินการซื้อที่ดินเพิ่มจำนวน ๑๒ ไร่เศษ แล้วย้ายหมู่กุฎีสงฆ์ทั้งหมด มาสร้างในที่ดินแห่งใหม่ทั้งหมดดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ และดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญทรงไทย ปรับลานวัด สร้างเขื่อนกันน้ำเซาะตลิ่ง
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระครูสมุทรกิตติวัฒน์ สร้างศาลาเอนกประสงค์ เมรุ โรงครัว
ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ ทดแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมน้ำท่วมขัง เพราะอุโบสถหลังเก่าอยู่ต่ำกว่าระดับถนน ย้ายโรงฝึกงาน โรงอาหาร โรงเรียนวัดช่องลม สร้างศาลาทรงไทย บูรณะกุฎีสงฆ์
สร้างกำแพงแก้วหน้าวัดข้างวัดหน้าโรงเรียนวัดช่องลมยาวตลอดแนวเขตวัด ปรับภูมิทัศน์ สร้างอาคารปฏิบัติธรรม สร้างหลวงพ่อบ้านแหลม สูง ๙ เมตร และหลวงปู่ทวด โพธิสัตโต องค์ใหญ่
เพื่อให้พุทธศาสนิกชน สักการบูชาขอพร เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรสงคราม และบูรณะถาวรวัตถุเรื่อยมา มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเข้าแนววัดเจริญสวยงามขึ้นตามลำดับ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสที่มีการจดบันทึกไว้ดังนี้
๑. พระครูพ่วง ไม่ทราบฉายา
๒. พระครูวินัยธรรม (แก้ว พฺรหฺมสโร)
๓. หลวงพ่อบ่าย ธมฺมโชโต
๔. พระครูใบฎีกาถนอม ฐิตธมฺโม
๕. พระครูพวง สํวโร
๖. พระครูสมุทรธีรคุณ (พิณ สุวณฺโณ ป.ธ.๖ /อดีตเจ้าคณะตำบลบ้านปรก)
๗. พระครูสมุทรกิตติวัฒน์ (บุญชอบ สุขวณฺโณ)
![]() |
หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม จ.สมุทรสงคราม |
หลังจากที่หลวงพ่อบ่ายได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านรักษาการเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย (จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๙)
ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ หลวงพ่อบ่าย ได้ทำการย้ายวัดใหม่ เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งวัดช่องลม เดิมติดโค้งน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งพังไปเรื่อยๆทุกปี จนท้ายที่สุดน้ำกัดเซาะพังจวนจะถึงกุฏิ หลวงพ่อบ่าย จึงโยกย้ายวัดมาตั้งวัดใหม่ในพื้นที่ปัจจุบัน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงพ่อบ่าย ได้โยกย้ายก่อสร้างพระอุโบสถใหม่ เพราะพระอุโบสถเดิมถูกน้ำเซาะใกล้กำแพงโบสถ์แล้ว
![]() |
เสนาสนะต่างๆภายในวัดช่องลม ที่สร้างในสมัยหลวงพ่อบ่าย |
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงพ่อบ่าย ท่านได้ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป.๓ จำนวน ๑ หลังด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว เปิดทำการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วให้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนธรรมโชติ"
โดยที่การก่อสร้างหรือการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ นั้นหลวงพ่อไม่เคยบอกใคร ไม่เคยเรี่ยไรนอกวัด เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวว่าหลวงพ่อจะทำอะไร ก็จะมีผู้คนจำนวนมากมายมาร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ
บางรายถวายอิฐบ้าง บางรายถวายไม้บ้าง บางรายถวายกระเบื้องบ้าง บางรายไม่มีทรัพย์ก็เอาแรงมาถวาย บางรายถวายปัจจัยบ้าง สุดแต่ว่าใครมีอะไรก็นำมาทำบุญตามกำลังศรัทธา
![]() |
หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อบ่าย ท่านได้รับการถ่ายทอดพุทธาคมจากหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ท่านจึงมีอำนาจพุทธาคมเข้มขลังและเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ของแม่กลอง
ท่านได้รับเกียรตินิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ในงานหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และในงานพุทธาภิเษกใหญ่ๆ แทบทุกงาน
นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระสหธรรมิกกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม โดยท่านได้แลกเปลี่ยนวิชาและการสร้างวัตถุมงคลต่างๆอีกด้วย
หลวงพ่อบ่าย ท่านเป็นพระที่เก่งแบบหาได้ยากยิ่งรูปหนึ่ง เพราะนอกจากจะได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นพระที่ปฏิบัติตัวตรงตามพุทธบัญญัติแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่ควรยกย่องอีกหลายประการ นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาอีกด้วย
หลวงพ่อบ่าย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ นับรวมสิริอายุได้ ๘๑ ปี ๖๐ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม
หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างด้วยกัน พุทธคุณโดดเด่นทาง มหาอุตย์ คงกระพันชาตรี คลาดแคล้ว ที่สามารถรวบรวมได้มีดังต่อไปนี้
เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พิมพ์ใบตำลึง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ถือเป็นเหรียญหล่อรุ่นแรกของหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณมีหูในตัวประกบพิมพ์หน้า-หลัง รูปร่างคล้ายใบตำลึง ชาวบ้านที่รับแจกจึงเรียกกันว่า เหรียญใบตำลึง จนติดปาก สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหล่อหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พิมพ์ใบตำลึง ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธปางสมาธิพาดผ้าสังฆฏิ องค์พระมีเส้นซุ้มและอาสนะ มีอักขระยันต์ล้อมรอบไปกับองค์พระล้อไปพิมพ์ทรงของเหรียญ
เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พิมพ์อรุณเทพบุตร
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ จัดเป็นเหรียญหล่อโบราณที่ได้รับความนิยมอีกเหรียญหนึ่งของหลวงพ่อบ่าย เหรียญมีเอกลักษณ์ชัดเจน ทั้งยังสร้างก่อนเหรียญหล่ออรุณเทพบุตรของหลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม ตัวเหรียญหล่อมีลักษณะเป็นรูปไข่ หล่อแบบเป้าประกบหน้า-หลัง มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหล่ออรุณเทพบตร หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ มีเม็ดบัวรองรับเป็นอาสนะ ด้านซ้ายขวาเป็นรูปเทวดาสวมชฏายอดแหลม ในมือถือพระขรรค์ ด้านล่างมีอักขระขอมอ่านได้ความว่า "ธัมมโชโต"
ด้านหลัง มีการผูกอักขระยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง
"ภู ภิ ภุ ภะ" อันเป็นเอกลักษณ์ของพระเกจิสายแม่กลอง
รอบขอบเหรียญมีลอดลายดอกไม้ล้อไปกับขอบเหรียญ
เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พิมพ์เศียรโล้น(เหรียญวัจชังลม)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ตัวเหรียญหล่อมีลักษณะเป็นรูปใบสาเก หล่อแบบเป้าประกบหน้า-หลัง มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหล่อโบราณพิมพ์เศียรโล้น(วัจชังลม) หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ของคุณตือ ท่าพระจันทร์ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ห่มจีวรเฉียงพาดสังฆาฏิ มีอาสนะรอง องค์พระมีตัว อุ แทนเกศเปลวเพลิง จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ มีรูปพญานาคอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระ ใต้พญานาค มีอักขระขอมอ่านว่า "อะ โธ" ส่วนด้านล่างใต้อาสนะเป็นตัวอักษรอ่านว่า "วัจชังลม"
ด้านหลัง
บนสุดมีอักขระขอมตัว "อุ" ใต้ตัวอุมีการผูกยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง "ภูภิภุภะ" และอักขระยันต์อื่นๆ
เหรียญหล่อโบราณพิมพ์เศียรแหลม (เหรียญ วจชง)
![]() |
เหรียญหล่อโบราณพิมพ์เศียรแหลม หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ปีพ.ศ. ๒๔๖๐ ของคุณจิมมี่ ลานโพธิ์ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ห่มจีวรเฉียงพาดสังฆาฏิ มีอาสนะรอง มีรูปพญานาคอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระ ใต้พญานาค มีอักขระขอมอ่านว่า "อะ โธ" ส่วนด้านล่างใต้อาสนะเป็นตัวอักษรอ่านว่า "วจชง"
เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พิมพ์เสมาเล็ก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ตัวเหรียญเป็นเหรียญหล่อโบราณแบบเบ้าประกบ สร้างด้วยเนื้อโลหะทองผสมแก่ทองเหลือง มีหูในตัว มีบางตำราว่าสร้างแจกในคราวฉลองโบสถ ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหล่อโบราณ พิมพ์เสมา หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ |
ด้านหน้า เป็นรูปเสมาภายในเหรียญมีลวดลายแบบใบเสมาโบราณ ไม่มีอักขระใดๆ
เหรียญปั๊มหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ข้างกระบอกค่อนไปในทางกลม ตัวเหรียญมีหูเชื่อม เท่าที่พบเห็นมีเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว ในบางเหรียญมีกะไหล่ทอง สมัยก่อนมีการแบ่งลักษณะเหรียญออกเป็น ๒ บล็อกคือ "บล็อกแตก" และ "บล็อกไม่แตก" จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม รุ่นแรก บล็อกไม่แตก สร้างปี พ.ศ. ๒๔๖๑ |
ด้านหน้า แกะเป็นรูปหลวงพ่อบ่ายแบบครึ่งองค์ ห่มจีวรแบบลดไหล่ พาดผ้าสังฆฏิ มีช่อรวงข้าวล้อมรอบเหนือรวงข้าวมีตัว อุ อยู่บนยอด รอบนอกมีอักขระยันค์ล้อมรอบไปกับตัวเหรียญ
เหรียญปั๊มพัดยศ หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นเหรียญรูปไข่ ตัวเหรียญมีหูเชื่อม สร้างด้วยเนื้อเงิน ทองเหลือง อัลปาก้า ทองแดง และทองแดงกะไหล่ทอง มูลเหตุที่เรียกกันว่าเหรียญพัดยศเพราะภายในเหรียญมีตาลปัด แบ่งเป็น ๒ บล็อกคือ "บล็อกยันค์ ภู ภิ ภุ ภะ" และ "บล็อกหลังยันต์ห้า" จำนวนการสร้างไม่มีการบันทึกไว้ แต่น่าจะมีจำนวนน้อยมาก
เหรียญบล็อกหลังยันต์ ภู ภิ ภุ ภะ
![]() |
เหรียญพัดยศหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม บล็อกยันค์ ภู ภิ ภุ ภะ ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เนื้อเงิน ของคุณตี๋ วัดไทร |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อบ่ายประทับนั่งสมาธิ บนตั่ง มีอาสนะรองรับ ขวามือของหลวงพ่อปรากฏรูปตาลปัดตั้งอยู่ ด้านซ้าย-ขวา มีอักขระยันต์ขอม อ่านได้ความว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้องค์พระมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "ธรรมโชโต ภิกขุ"
เหรียญบล็อกหลังยันต์ห้า
![]() |
เหรียญพัดยศหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม บล็อกยันค์ห้า เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ |
ด้านหน้า เหมือนกับบล็อก ภุภิภูภะ คือมีรูปหลวงพ่อบ่ายประทับนั่งสมาธิ บนตั่ง มีอาสนะรองรับ ขวามือของหลวงพ่อปรากฏรูปตาลปัดตั้งอยู่ ด้านซ้าย-ขวา มีอักขระยันต์ขอม อ่านได้ความว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้องค์พระมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "ธรรมโชโต ภิกขุ"
เหรียญพระพุทธหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม
เป็นเหรียญปั๊มข้างเรื่อย ที่จัดว่าหายากอีกเหรียญหนึ่ง ลักษระเหรียญเป็นรูปหยดน้ำมีหูในตัว กล่าวกันว่าสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ที่พบเจอมีเพียงเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญพระพุทธหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ของคุณบัญชา อุดมกาญจน์ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานบัว ๒ ชั้น องค์พระห่มจีวรพาดผ้าสังฆฏิ ไม่ปรากฏตัวอักษรหรืออักขระเลขยันต์ใดๆ
เหรียญหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม (รุ่น ๒)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ นี้เป็นปีที่ทางวัดได้มีการจัดงานฉลองโบสถและหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อบ่ายขนาดเท่าองค์จริง จึงมีการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกไว้สำหรับแจกญาติโยม และผู้มีจิตศรัทธาโดยทางวัดได้จัดสร้างเหรียญรูปไข่มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญรุ่น ๒ หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อบ่ายครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆฏิ มีอักขระยันต์ล้อมรอบ
เสื้อยันต์หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม
หลวงพ่อบ่าย ท่านได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้ขนาดชนิดด้วย ทั้งตะกรุดโทน ตะกรุดพิศมร ผ้ายันต์ ลูกอม เสื้อยันต์ และเหรียญสตางค์รู ซึ่งหาดูได้ยากชาวบ้านที่มีก็หวงแหนกันมา จนปัจจุบันของขลังบางอย่างก็ไม่สามารถยืนยันว่าเป็นของหลวงพ่อหรือไม่จะมีก็แต่เสื้อยันต์ที่พอจะยืนยันและเล่นหากันเป็นสากลเท่านั้น
![]() |
เสื้อยันต์หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ภาพจากสมาคมพระเครื่อง |
จัดสร้างด้วยผ้าลินินมีทั้งสีขาวและสีแดง เข้าใจว่าสร้างคนละวาระกัน ลักษณะเหมือนเสื้อยันต์ทั่วไป แต่มีการลงอักขระที่เป็นมาตราฐานของหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
การลงอักขระจะลงด้วยดินสอดำ มูลเหตุในการจัดสร้างเพื่อให้ทหารไว้ออกไปรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง.
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น