วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พระเกจิอาจารย์เจ้าของเหรียญพระพุทธที่หายาก

หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม (สมัยหนุ่ม)

          หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ถือเป็นพระเกจิอาจารย์เรืองเวทของจังหวัดสมุทรสงคราม รองมาจาก หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย เลยทีเดียว วัตถุมงคลของท่านก็มีผู้นิยมกันมาก ทั้งเหรียญหล่อและเหรียญปั๊ม นอกจากจะมีค่านิยมสูงแล้ว ยังจัดเป็นของดีที่หายากและหวงแหนของชาวแม่กลองอีกสำนักหนึ่งเลยทีเดียว

          หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ที่บ้านบางครก ตำบลสวนทุ่ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เดิมท่านเป็นเด็กกำพร้า พระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ (พี่ชายของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย) ได้นำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม 

          ปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ขณะที่หลวงพ่อบ่าย ท่านมีอายุได้ ๑๐ ปี ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาบาลีกับพระอาจารย์คล้ำ วัดสวนทุ่ง(วัดเฟื้อสุธรรม) ตำบลสวนครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

          ปี พ.ศ. ๒๔๒๔ เมื่อหลวงพ่อมีอายุ ๒๐ ปี ถึงเวลาครบบวช จึงได้อุปสมบทที่วัดทองนพคุณ ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "ธัมมโชโต" โดยมี

          พระอุปัชฌาย์แดง วัดเขาบันไดอิฐ เป็นพระอุปัชฌาย์

          พระอาจารย์พุก วัดสวนทุ่ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

          พระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

           หลังจากที่อุปสมบทแล้วท่านก็จำพรรษาอยู่ที่วัดทองนพคุณ ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นเวลา ๑ พรรษา 

           ในระหว่างที่หลวงพ่อบ่าย จำพรรษาอยู่ที่วัดทองนพคุณนั้น ท่านได้ศึกษาพุทธาคมกับหลวงพ่อพุก วัดสวนทุ่ง และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย พระอาจารย์ทั้ง ๒ ท่านไม่มีสิ่งใดจะสั่งสอนอีก จึงแนะนำให้ไปฝากตัวศึกษาวิชากับหลวงพ่อแก้ว วัดช่องลม ต่อไป

          หลวงพ่อบ่าย ท่านจึงได้ตามหลวงพ่อแก้วมาอยู่ที่วัดช่องลม เพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อแก้ว จึงนับได้ว่าหลวงพ่อบ่ายท่านเป็นผู้ที่ใกล้ชิดหลวงพ่อแก้วมากที่สุด

หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม สมุทรสงคราม

          ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลวงพ่อแก้ว ได้รับนิมนต์ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อบ่าย ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

          วัดช่องลม เป็นวัดราษฏร์ สังกัดมหานิกาย คณะสงฆ์ภาค ๑๕ วัดตั้งอยู่เลขที่ ๑๘ หมู่ที่ ๖ ถนนบางแพ-สมุทรสงคราม ตำบลบ้านปรก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ตั้งวัดจำนวน ๓๓ ไร่ ๒ งาน ๔ ตารางวา

         โดยมีนายปาน นายสังข์ กำนันตุ่ม เป็นผู้ร่วมกันสร้างวัด จากหลักฐานหนังสือรับรองสภาพวัดระบุว่า วัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓ โดยมีพระครูพ่วง เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดเป็นรูปแรก 

          ต่อมาในสมัยพระวินัยธรรมแก้ว เป็นเจ้าอาวาส วัดได้ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก นายพ่วง นางลัย จึงได้ร่วมกับพระวินัยธรรมแก้ว และสัสดีอำเภอ ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ ต่อมาหลวงพ่อแก้วย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย 

          พระครูบ่าย ธมฺมโชโต เป็นเจ้าอาวาส ท่านบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสร้างอุโบสถหลังที่ ๒ ซึ่งหลังแรกที่ดินพังลงแม่น้ำอุโบสถก็พังลงไป สร้างวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฎีสงฆ์ และสร้างพระปรางค์-เจดีย์ไห พ.ศ. ๒๔๘๔ 

         ต่อมาพระครูใบฎีกาถนอม ปฏิสังขรณ์กุฎีสงฆ์ ศาลาการเปรียญ สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นแต่ยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อย 

         ต่อมาพระอธิการพวง สํวโร ได้ดำเนินการสร้างต่อจนสำเร็จเรียบร้อย และได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นที่เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณร

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ พระครูสมุทรธีรคุณ พิณ สุวณฺโณ ป.ธ.๖ เป็นเจ้าอาวาส ได้ดำเนินการซื้อที่ดินเพิ่มจำนวน ๑๒ ไร่เศษ แล้วย้ายหมู่กุฎีสงฆ์ทั้งหมด มาสร้างในที่ดินแห่งใหม่ทั้งหมดดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ และดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญทรงไทย ปรับลานวัด สร้างเขื่อนกันน้ำเซาะตลิ่ง

         ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระครูสมุทรกิตติวัฒน์ สร้างศาลาเอนกประสงค์ เมรุ โรงครัว

         ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ ทดแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมน้ำท่วมขัง เพราะอุโบสถหลังเก่าอยู่ต่ำกว่าระดับถนน ย้ายโรงฝึกงาน โรงอาหาร โรงเรียนวัดช่องลม สร้างศาลาทรงไทย บูรณะกุฎีสงฆ์ 

         สร้างกำแพงแก้วหน้าวัดข้างวัดหน้าโรงเรียนวัดช่องลมยาวตลอดแนวเขตวัด ปรับภูมิทัศน์ สร้างอาคารปฏิบัติธรรม สร้างหลวงพ่อบ้านแหลม สูง ๙ เมตร และหลวงปู่ทวด โพธิสัตโต องค์ใหญ่ 

          เพื่อให้พุทธศาสนิกชน สักการบูชาขอพร เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรสงคราม และบูรณะถาวรวัตถุเรื่อยมา มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเข้าแนววัดเจริญสวยงามขึ้นตามลำดับ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสที่มีการจดบันทึกไว้ดังนี้

          ๑. พระครูพ่วง ไม่ทราบฉายา

          ๒. พระครูวินัยธรรมแก้ว พฺรหฺมสโร

          ๓. หลวงพ่อบ่าย ธมฺมโชโต

          ๔. พระครูใบฎีกาถนอม ฐิตธมฺโม

          ๕. พระครูพวง สํวโร

          ๖. พระครูสมุทรธีรคุณ (พิณ สุวณฺโณ ป.ธ.๖ /อดีตเจ้าคณะตำบลบ้านปรก)

          ๗. พระครูสมุทรกิตติวัฒน์ (บุญชอบ สุขวณฺโณ)

หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม จ.สมุทรสงคราม

          หลังจากที่หลวงพ่อบ่ายได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านรักษาการเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย (จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๙)

          ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ หลวงพ่อบ่าย ได้ทำการย้ายวัดใหม่ เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งวัดช่องลม เดิมติดโค้งน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งพังไปเรื่อยๆทุกปี จนท้ายที่สุดน้ำกัดเซาะพังจวนจะถึงกุฏิ หลวงพ่อบ่าย จึงโยกย้ายวัดมาตั้งวัดใหม่ในพื้นที่ปัจจุบัน

          ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงพ่อบ่าย ได้โยกย้ายก่อสร้างพระอุโบสถใหม่ เพราะพระอุโบสถเดิมถูกน้ำเซาะใกล้กำแพงโบสถ์แล้ว

เสนาสนะต่างๆภายในวัดช่องลม ที่สร้างในสมัยหลวงพ่อบ่าย

          ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงพ่อบ่าย ท่านได้ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป.๓  จำนวน ๑ หลังด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว   เปิดทำการสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วให้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนธรรมโชติ"

          โดยที่การก่อสร้างหรือการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ นั้นหลวงพ่อไม่เคยบอกใคร ไม่เคยเรี่ยไรนอกวัด เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวว่าหลวงพ่อจะทำอะไร ก็จะมีผู้คนจำนวนมากมายมาร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ 

          บางรายถวายอิฐบ้าง บางรายถวายไม้บ้าง บางรายถวายกระเบื้องบ้าง บางรายไม่มีทรัพย์ก็เอาแรงมาถวาย บางรายถวายปัจจัยบ้าง สุดแต่ว่าใครมีอะไรก็นำมาทำบุญตามกำลังศรัทธา

หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อบ่าย ท่านได้รับการถ่ายทอดพุทธาคมจากหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ท่านจึงมีอำนาจพุทธาคมเข้มขลังและเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ของแม่กลอง 

          ท่านได้รับเกียรตินิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ในงานหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และในงานพุทธาภิเษกใหญ่ๆ แทบทุกงาน 

          นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระสหธรรมิกกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม โดยท่านได้แลกเปลี่ยนวิชาและการสร้างวัตถุมงคลต่างๆอีกด้วย

          หลวงพ่อบ่าย ท่านเป็นพระที่เก่งแบบหาได้ยากยิ่งรูปหนึ่ง เพราะนอกจากจะได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นพระที่ปฏิบัติตัวตรงตามพุทธบัญญัติแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่ควรยกย่องอีกหลายประการ นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาอีกด้วย

          หลวงพ่อบ่าย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ นับรวมสิริอายุได้ ๘๑ ปี ๖๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม

          หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างด้วยกัน พุทธคุณโดดเด่นทาง มหาอุตย์ คงกระพันชาตรี คลาดแคล้ว ที่สามารถรวบรวมได้มีดังต่อไปนี้

          เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พิมพ์ใบตำลึง

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ถือเป็นเหรียญหล่อรุ่นแรกของหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณมีหูในตัวประกบพิมพ์หน้า-หลัง รูปร่างคล้ายใบตำลึง ชาวบ้านที่รับแจกจึงเรียกกันว่า เหรียญใบตำลึง จนติดปาก สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พิมพ์ใบตำลึง ปี พ.ศ. ๒๔๕๙

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธปางสมาธิพาดผ้าสังฆฏิ องค์พระมีเส้นซุ้มและอาสนะ มีอักขระยันต์ล้อมรอบไปกับองค์พระล้อไปพิมพ์ทรงของเหรียญ

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง อันเป็นเอกลักษณ์ของพระเกจิสายแม่กลอง ด้านล่างมีตัวเลขไทย ๒๔๕๙ ระบุปีที่สร้าง

          เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พิมพ์อรุณเทพบุตร

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ จัดเป็นเหรียญหล่อโบราณที่ได้รับความนิยมอีกเหรียญหนึ่งของหลวงพ่อบ่าย เหรียญมีเอกลักษณ์ชัดเจน ทั้งยังสร้างก่อนเหรียญหล่ออรุณเทพบุตรของหลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม ตัวเหรียญหล่อมีลักษณะเป็นรูปไข่ หล่อแบบเป้าประกบหน้า-หลัง มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่ออรุณเทพบตร หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ มีเม็ดบัวรองรับเป็นอาสนะ ด้านซ้ายขวาเป็นรูปเทวดาสวมชฏายอดแหลม ในมือถือพระขรรค์ ด้านล่างมีอักขระขอมอ่านได้ความว่า "ธัมมโชโต"

           ด้านหลัง มีการผูกอักขระยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง "ภู ภิ ภุ ภะ" อันเป็นเอกลักษณ์ของพระเกจิสายแม่กลอง รอบขอบเหรียญมีลอดลายดอกไม้ล้อไปกับขอบเหรียญ

          เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พิมพ์เศียรโล้น(เหรียญวัจชังลม)

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ตัวเหรียญหล่อมีลักษณะเป็นรูปใบสาเก หล่อแบบเป้าประกบหน้า-หลัง มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

 เหรียญหล่อโบราณพิมพ์เศียรโล้น(วัจชังลม) หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ของคุณตือ ท่าพระจันทร์

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ห่มจีวรเฉียงพาดสังฆาฏิ มีอาสนะรอง องค์พระมีตัว อุ แทนเกศเปลวเพลิง จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ มีรูปพญานาคอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระ ใต้พญานาค มีอักขระขอมอ่านว่า "อะ โธ" ส่วนด้านล่างใต้อาสนะเป็นตัวอักษรอ่านว่า "วัจชังลม"

          ด้านหลัง บนสุดมีอักขระขอมตัว "อุ" ใต้ตัวอุมีการผูกยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง "ภูภิภุภะ" และอักขระยันต์อื่นๆ

          เหรียญหล่อโบราณพิมพ์เศียรแหลม (เหรียญ วจชง)

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ตัวเหรียญหล่อมีลักษณะเป็นรูปใบสาเก หล่อแบบเป้าประกบหน้า-หลัง มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

 เหรียญหล่อโบราณพิมพ์เศียรแหลม หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ปีพ.ศ. ๒๔๖๐ ของคุณจิมมี่ ลานโพธิ์

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ห่มจีวรเฉียงพาดสังฆาฏิ มีอาสนะรอง มีรูปพญานาคอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระ ใต้พญานาค มีอักขระขอมอ่านว่า "อะ โธ" ส่วนด้านล่างใต้อาสนะเป็นตัวอักษรอ่านว่า "วจชง"

          ด้านหลัง บนสุดมีอักขระขอมตัว "นะ" ใต้ตัวนะมีพระคาถา ๔ แถวเรียงลงมาอ่านว่า "กิ ริ มิ ทิ กุ รุ มุ ทุ เก เร เม เท กึ รึ มึ ทึ" ส่วนด้านล่วงสุดเป็นตัวอักษร "อ"

          เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม พิมพ์เสมาเล็ก

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ตัวเหรียญเป็นเหรียญหล่อโบราณแบบเบ้าประกบ สร้างด้วยเนื้อโลหะทองผสมแก่ทองเหลือง มีหูในตัว มีบางตำราว่าสร้างแจกในคราวฉลองโบสถ ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อโบราณ พิมพ์เสมา หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐

          ด้านหน้า เป็นรูปเสมาภายในเหรียญมีลวดลายแบบใบเสมาโบราณ ไม่มีอักขระใดๆ

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า  "ภูภิภุภะ" อันเป็นยันต์ครูของหลวงพ่อบ่าย

          เหรียญปั๊มหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม รุ่นแรก 

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ข้างกระบอกค่อนไปในทางกลม ตัวเหรียญมีหูเชื่อม เท่าที่พบเห็นมีเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว ในบางเหรียญมีกะไหล่ทอง สมัยก่อนมีการแบ่งลักษณะเหรียญออกเป็น ๒ บล็อกคือ "บล็อกแตก" และ "บล็อกไม่แตก" จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม รุ่นแรก บล็อกไม่แตก สร้างปี พ.ศ. ๒๔๖๑

          ด้านหน้า แกะเป็นรูปหลวงพ่อบ่ายแบบครึ่งองค์ ห่มจีวรแบบลดไหล่ พาดผ้าสังฆฏิ มีช่อรวงข้าวล้อมรอบเหนือรวงข้าวมีตัว อุ อยู่บนยอด รอบนอกมีอักขระยันค์ล้อมรอบไปกับตัวเหรียญ

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์จำนวน ๔ แถว ด้านล่าง มีอักษรไทยระบุปีที่สร้าง "พ,ศ,๒๔๖๑"

          เหรียญปั๊มพัดยศ หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นเหรียญรูปไข่ ตัวเหรียญมีหูเชื่อม สร้างด้วยเนื้อเงิน ทองเหลือง อัลปาก้า ทองแดง และทองแดงกะไหล่ทอง มูลเหตุที่เรียกกันว่าเหรียญพัดยศเพราะภายในเหรียญมีตาลปัด แบ่งเป็น ๒ บล็อกคือ "บล็อกยันค์ ภู ภิ ภุ ภะ" และ "บล็อกหลังยันต์ห้า" จำนวนการสร้างไม่มีการบันทึกไว้ แต่น่าจะมีจำนวนน้อยมาก

          เหรียญบล็อกหลังยันต์​ ภู ภิ ภุ ภะ

เหรียญพัดยศหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม บล็อกยันค์ ภู ภิ ภุ ภะ ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เนื้อเงิน ของคุณตี๋ วัดไทร

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อบ่ายประทับนั่งสมาธิ บนตั่ง มีอาสนะรองรับ ขวามือของหลวงพ่อปรากฏรูปตาลปัดตั้งอยู่ ด้านซ้าย-ขวา มีอักขระยันต์ขอม อ่านได้ความว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้องค์พระมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "ธรรมโชโต ภิกขุ"

          ด้านหลัง มีการผูกยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง "ภูภิภุภะ" มีเส้นวงกลมล้อมตัวยันต์ล้อไปกับขอบเหรียญ

          เหรียญบล็อกหลังยันต์​ห้า

เหรียญพัดยศหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม บล็อกยันค์ห้า เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ปี พ.ศ. ๒๔๖๑

          ด้านหน้า เหมือนกับบล็อก ภุภิภูภะ คือมีรูปหลวงพ่อบ่ายประทับนั่งสมาธิ บนตั่ง มีอาสนะรองรับ ขวามือของหลวงพ่อปรากฏรูปตาลปัดตั้งอยู่ ด้านซ้าย-ขวา มีอักขระยันต์ขอม อ่านได้ความว่า "พุท ธะ สัง มิ" ใต้องค์พระมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "ธรรมโชโต ภิกขุ"  

          ด้านหลัง มีการผูกยันต์ห้า หรือยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ และมีอักขระยันต์ล้อมรอบ

          เหรียญพระพุทธหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม

          เป็นเหรียญปั๊มข้างเรื่อย ที่จัดว่าหายากอีกเหรียญหนึ่ง ลักษระเหรียญเป็นรูปหยดน้ำมีหูในตัว กล่าวกันว่าสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ที่พบเจอมีเพียงเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ของคุณบัญชา อุดมกาญจน์

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานบัว ๒ ชั้น องค์พระห่มจีวรพาดผ้าสังฆฏิ ไม่ปรากฏตัวอักษรหรืออักขระเลขยันต์ใดๆ

          ด้านหลัง เรียบในบางเหรียญปรากฏรอยจาร

          เหรียญหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม (รุ่น ๒)

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ นี้เป็นปีที่ทางวัดได้มีการจัดงานฉลองโบสถและหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อบ่ายขนาดเท่าองค์จริง จึงมีการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกไว้สำหรับแจกญาติโยม และผู้มีจิตศรัทธาโดยทางวัดได้จัดสร้างเหรียญรูปไข่มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้


เหรียญรุ่น ๒ หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๔๘๔

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อบ่ายครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆฏิ มีอักขระยันต์ล้อมรอบ

          ด้านหลัง มีการผูกยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง "ภูภิภุภะ" ใต้ยันต์มีตัวเลขไทยระบุปีที่สร้าง "๒๔๕๔" รอบเหรียญมีอักษรไทยเขียนว่า "ที่ระลึกฉลองโบศถ์และหล่อรูปหลวงพ่อวัดช่องลม"

          เสื้อยันต์หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม

          หลวงพ่อบ่าย ท่านได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้ขนาดชนิดด้วย ทั้งตะกรุดโทน ตะกรุดพิศมร ผ้ายันต์ ลูกอม เสื้อยันต์ และเหรียญสตางค์รู ซึ่งหาดูได้ยากชาวบ้านที่มีก็หวงแหนกันมา จนปัจจุบันของขลังบางอย่างก็ไม่สามารถยืนยันว่าเป็นของหลวงพ่อหรือไม่จะมีก็แต่เสื้อยันต์ที่พอจะยืนยันและเล่นหากันเป็นสากลเท่านั้น

เสื้อยันต์หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ภาพจากสมาคมพระเครื่อง

          จัดสร้างด้วยผ้าลินินมีทั้งสีขาวและสีแดง เข้าใจว่าสร้างคนละวาระกัน ลักษณะเหมือนเสื้อยันต์ทั่วไป แต่มีการลงอักขระที่เป็นมาตราฐานของหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
การลงอักขระจะลงด้วยดินสอดำ มูลเหตุในการจัดสร้างเพื่อให้ทหารไว้ออกไปรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง.
 


โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง
  
บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น