โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระครูอุดมสุตกิจ หรือ หลวงพ่อพลบ วัดปราโมทย์ สมุทรสงคราม เหรียญดีราคาเยาว์

หลวงพ่อพลบ (พระครูอุดมสุตกิจ) วัดปราโมทย์ จ.สมุทรสงคราม
หลวงพ่อพลบ (พระครูอุดมสุตกิจ) วัดปราโมทย์

         เหรียญที่ออกในนามวัดปราโมทย์ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยพระครูอุดมสุตกิจ (พลบ อุตตโม) ดำเนินการจัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งนับว่าเป็นเหรียญที่มีอายุค่อนข้างเก่าเหรียญหนึ่ง และยังเชื่อถือได้ในคุณวิเศษอีกด้วย

         เพราะได้รับการปลุกเสกจากหลวงปู่ใจ วัดเสด็จและหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง ในส่วนกลางนั้นเหรียญดังกล่าวไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และไม่มีราคาค่างวดเท่าไหร่นัก แต่ในท้องถิ่นกลับได้รับความนิยมและเป็นที่แสวงหาของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

         วัดปราโมทย์ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านปราโมทย์ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ เดิมชื่อวัดโรงหวี  

         จากหลักฐานหนังสือพระราชทานวิสุงคามสีมาอุโบสถหลังเก่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ปรากฏว่า สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ วัดปราโมทย์ได้รับการบูรณะและพัฒนามาโดยตลอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖

หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง วัดปราโมทย์ สมุทรสงคราม

         ภายในวัดปราโมทย์ มีพระพุทธรูปปูนปั้นศักดิ์สิทธิ์ปางพระศรีอาริย์ อายุเก่าแก่กว่า ๑๐๐ ปี  ขนาดหน้าตักกว้าง ๔.๑๒ เมตร สูงจากฐานถึงพระเศียร ๔.๓๒ เมตร สร้างโดย หลวงพ่อตุ๊ย อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๓  ของวัดชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า หลวงพ่อโต

         เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดสืบต่อกันมาเท่าที่ทราบนามจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

                 ๑. หลวงพ่อฤกษ์

                 ๒. หลวงพ่อเมือง

                 ๓. หลวงพ่อตุ๊ย

                 ๔. หลวงพ่อพลบ (พระครูอุดมสุตกิจ) พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๕๐๐

                 ๕. หลวงพ่อสุย (พระครูปราโมทย์สมุทรคุณ รูปที่ ๑) พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๒๒

                 ๖. พระครูปราโมทย์สมุทรคุณ รูปที่ ๒ (พีระ) พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๔๕

                  ๗. พระครูปราโมทย์ปัญญาวัฒน์ (บุญเลิศ เตชปญฺโญ) พ.ศ. ๒๕๔๕-ปัจจุบัน

         กล่าวถึงพระครูอุดมสุตกิจ (หลวงพ่อพลบ อุตตโม) เป็นเจ้าอาวาสผู้จัดสร้างเหรียญนี้ เป็นเจ้าอาวาสวัดปราโมทย์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านจึงได้มรณภาพลง ซึ่งในระหว่างที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส สภาพของวัดมีความเจริญมากจากการบูรณะพัฒนาของท่าน

หลวงพ่อพลบ (พระครูอุดมสุตกิจ) วัดปราโมทย์

         หลวงพ่อพลบ เป็นนักปฏิบัติธรรม ที่ถ่อมตนยึดมั่นในพระรัตนตรัย ไม่นิยมการสร้างเครื่องรางของขลังแม้จะเป็นอุปัชฌาย์บวชคนไว้มาก เมื่อมีผู้มากราบเพื่อขอลาสิกขาสิ่งที่ท่านมอบให้เป็นเครื่องระลึกก็คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จนเป็นที่กล่าวกันดีในหมู่ผู้ที่เคยบวชเรียน

         มูลเหตุของการสร้างเหรียญคราวหนึ่ง เมื่อการก่อสร้างพระอุโบสถสำเร็จลง และมีการผูกพัทธสีมาทางคณะศิษย์ฯ ได้ขอให้ท่านจัดสร้างของที่ระลึก เพื่อมอบให้แก่ผู้มาร่วมพิธี

         ในฐานะที่ท่านเป็นพระภิกษุที่มีสาธุชนให้ความเคารพนับถือมากรูปหนึ่ง และขณะนี้ก็มีอายุกาลพรรษามากแล้ว จึงสมควรจัดทำเป็นเหรียญรูปเหมือนขึ้น

         ครั้งแรกท่านไม่เห็นด้วยเพราะไม่นิยมในเรื่องของเหรียญนี้ ทั้งดูจะไม่เหมาะสมที่ทำเป็นรูปของท่าน ต่อมาบรรดาศิษย์และผู้ที่นับถือได้พากันอ้อนวอน

         ท่านจึงนำเรื่องไปปรึกษากับเจ้าคุณพระครูสุทธิสารวุฒิจารย์ (หลวงปู่ใจ)  วัดเสด็จ ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่ท่านให้ความเคารพนับถือมาก ไม่ว่าจะประกอบการสิ่งใดก็มักจะไปขอคำแนะนำอยู่เสมอ ซึ่งปรากฏว่าหลวงปู่ใจ ท่านเห็นด้วยกับความประสงค์ของเหล่าสานุศิษย์

         เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ โดยแบ่งออกเป็น ๒ แบบ หรือ ๒ พิมพ์ คือแบบหน้าเดียว และชนิด ๒ หน้า และบางเหรียญมีการตัดหูเหรียญแล้วเชื่อมเป็นเข็มกลัดคล้ายของหลวงพ่อเชย วัดโชติการาม เพื่อไว้แจกกรรมการอีกด้วย

วัตถุมงคลของหลวงพ่อพลบ วัดปราโมทย์

          เหรียญหลวงพ่อพลบ วัดปราโมทย์ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกเพื่อเป็นที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดปราโมทย์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อพลบ วัดปราโมทย์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อพลบ วัดปราโมชน์ แจกกรรมการ
เหรียญหลวงพ่อพลบ วัดปราโมทย์ รุ่นแรก แจกกรรมการ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ของคุณพ้ง เมืองราช
 
         ด้านหน้า ปรากฏรูปหลวงพ่อพลบ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระภาษาไทยว่า "พระครูอุดมสุตกิจ"

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดปราโมทย์ อ.บางคนที จ.ว.สมุทรสงคราม ๑๐ มี.ค. ๒๔๙๘ "
 
          เหรียญหลวงปู่ใจ หลังหลวงพ่อพลบ วัดปราโมทย์ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และแจกเพื่อเป็นที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมา วัดปราโมทย์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อพลบ วัดปราโมทย์ รุ่นแรก พิมพ์ ๒ หน้า ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดงรมดำ
               
         ด้านหน้า ปรากฏรูปหลวงปู่ใจ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ริมขอบเป็นลายกนกและโบว์ มีอักขระขอม "มะ อะ อุ" อยู่ข้างซ้าย-ขวา และด้านบน รูปของหลวงปู่ใจที่โบว์ ด้านล่างมีตัวหนังสือว่า "เจ้าคุณสุทธิสารรวุฒาจารย์"

         ด้านหลัง เป็นรูปหลวงพ่อพลบ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปมีอักษรไทยว่า "พระครูอุดมสุตกิจ"

         เหรียญทั้ง ๒ ชนิดทั้ง ๒ แบบ เมื่อสร้างเสร็จ หลวงพ่อพลบได้นำไปถวาย หลวงปู่ใจ วัดเสด็จปลุกเสกให้ จากนั้นจึงนำไปถวาย หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เพชรบุรี ปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง

         ที่นำไปให้หลวงพ่อทองสุข ปลุกเสกนั้นเนื่องจากท่านรู้จักคุ้นเคยกันดี ตั้งแต่ครั้งที่หลวงพ่อทองสุข อุปสมบท อยู่ที่วัดปราโมทย์แห่งนี้ และเรียนทั้ง ๒ พิมพ์ได้รับการปลุกเสกพร้อมกันกับเหรียญฉลองกุฏิ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ของหลวงพ่อทองสุข ด้วย

         ฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหรียญพระครูอุดมสุตกิจ (พลบ อุตตโม) จะเข้มแข็งและเปี่ยมไปด้วยอานุภาพเพียงใด เพราะทางหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ และหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เป็นพระคณาจารย์ ที่ทรงไว้ซึ่งวิทยาคม และมีพลังจิตสูงจนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไป

         วัตถุมงคลของพระคณาจารย์ทั้ง ๒ รูป มีประสบการณ์เป็นที่เลื่องลือและมีการเช่าหากันด้วยราคาแพงแต่เหรียญของหลวงพ่อพลบ ดูจะสู้ไม่ได้ในเรื่องของราคาและไม่ได้รับความสนใจจากนักนิยมในส่วนกลาง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าด้อยในเรื่องคุณค่าแห่งกฤษฎาคมและนักพุทธนิยม

         ในท้องถิ่นต่างแสวงหากันอยู่ นับว่าเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ประสงค์จะแสวงหาไว้เป็นสิริมงคลและคุ้มครองป้องกันภัยมากกว่าที่จะมีไว้เพื่อการโอ้อวดกันและพอที่จะหาได้ในราคาเยาวชนทั้งปลอดภัยจากของเทียมอีกด้วย.


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง



***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้