วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม พระเกจิจารย์ผู้ละสังขารด้วยท่านั่งสมาธิ

หลวงพ่อห้อง (พระครูอินทเขมา) วัดช่องลม ราชบุรี

          หลวงพ่อห้อง วัดช่องลม หรือ พระครูอินทเขมา อดีตเจ้าอาวาสวัดช่องลม ตำบลบ้านเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ท่านเป็นเจ้าของเหรียญหล่อโบราณที่มีอายุเก่าแก่เหรียญหนึ่งชาวราชบุรี 

          เป็นเหรียญหล่อโบราณที่มีประสบการณ์สูงมาก โดดเด่นในพุทธคุณโดยเฉพาะคุณวิเศษ ทางด้านคงกระพันชาตรี ชนิดที่ว่าแมลงวันไม่ได้กินเลือด 

          ด้วยรูปพิมพ์ลักษณะของเหรียญและประสบการณ์นี้เอง ในอดีตจึงเข้าใจผิดว่าเป็นเหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน นับได้ว่าเป็นเหรียญหล่อโบราณที่เก่าและมีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดราชบุรี

          หลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ท่านเป็นชาวบ้านโพธิ์ (คำบอกเล่าของหลวงพ่อเปาะได้เล่าให้พระราชวรเวทีฟัง และพระราชวรเวทีได้เล่าให้คุณบุญเสริม ศรีภิรมณ์ฟัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙) 

         ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม จังหวัดราชบุรี ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาเยี่ยมเยียน และทรงฟังธรรม

พระครูอินทเขมา หลวงพ่อห้อง วัดช่องลม

          หลวงพ่อห้อง ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๘ ที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อ แสง โยมมารดาชื่อ นาค (แต่บทความของอาจารย์เภา ศกุนตะสุต ที่ท่านได้บันทึกในหนังสืออาณาจักรพระเครื่องว่าโยมบิดาท่านเป็นคนจีนชื่อ แป๊ะ โยมมารดาชื่อ ขำ อยู่ที่บ้านท่าเสา อำเภอเมือง) 

          จากบันทึกไม่ปรากฏว่ามีพี่น้องจำนวนกี่คน แต่ที่สามารถสืบทราบได้คือมีน้องชายหนึ่งคนชื่อว่า พระครูปลัดครื้น หรือที่ชายบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อเล็ก ซึ่งต่อมาหลวงพ่อเล็กนี่เองที่เป็นเจ้าอาวาสอันดับถัดมาต่อจากหลวงพ่อห้อง (หลวงพ่อใหญ่) ผู้เป็นพี่ชาย

พระปลัดคลื้น พุทธรักขิตะ (หลวงพ่อเล็ก น้องชายหลวงพ่อห้อง)

          ปี พ.ศ. ๒๔๐๙ หลวงพ่อห้องมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดช่องลม ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า “พุทธสโร” โดยมี

          ท่านอธิการจันทร์ วัดช่องลม เป็นพระอุปัชฌาย์ 

          พระปลัดจันทร์ วัดพญาไม้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

          หลวงพ่อเรือง วัดท้ายเมือง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

          หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดช่องลมเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และบำเพ็ญศาสนกิจของสงฆ์ อย่างถูกต้องตามพุทธบัญญัติทุกประการ เนื่องจากท่านปฏิบัติเคร่งในพระธรรมวินัย ทรงศีลาจริยาวัตร ปฏิบัติศาสนกิจโดยมิขาดตกบกพร่อง 

          ปี พ.ศ. ๒๔๒๓ พระอธิการจันทร์ เจ้าอาวาสวัดช่องลมได้มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงได้นิมนต์หลวงพ่อห้องขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

          วัดช่องลม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

          วัดช่องลมตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑ แต่สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมชื่อว่า วัดช้างล้ม เนื่องจากสมัยก่อนทางทิศตะวันตกห่างจากวัดไป เป็นโรงสำหรับขังช้างของทางราชการ 

          เดิมวัดชื่อ "ช้างล้ม" ในอดีตบริเวณวัดเป็นป่าไผ่ มีโขลงช้างมาอาศัยหากินอยู่บริเวณนั้น เมื่อช้างเกิดป่วย เจ็บ และล้มตาย ก็จะตายบริเวณนั้น จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นขนานนามว่า “วัดช้างล้ม” 

          ภายในวัดมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดราชบุรี คือ หลวงพ่อแก่นจันทร์ เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ปางอุ้มบาตร แต่แปลกจากทั่วไป คือบาตรของหลวงพ่อเหมือนสวมอยู่ในถุงบาตรซึ่งมีที่จับ 

          องค์พระมีความสูงตั้งแต่พระเกตุมาลา ถึงพระบาท ๒ เมตร ๒๖ เซนติเมตร เล่ากันว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์ลอยน้ำมาจากบ้านแก่งหลวง จังหวัดกาญจนบุรี จนกระทั่งมาขึ้นฝั่งที่วัดมหาธาตุ ในสมัยหลวงพ่อจันทร์ 

         ต่อมาหลวงพ่อจันทร์ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม จึงอัญเชิญหลวงพ่อแก่นจันทน์ มายังวัดช่องลม ทางวัดจะมีการจัดงานสมโภชน์หลวงพ่อแก่นจันทน์ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี และแห่รอบตลาดในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์

         วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นต้นมา มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้

          ๑. พระอาจารย์น้อย (ครองวัดสมัยรัชกาล​ที่​ ๑)​

          ๒. พระอาจารย์จันทร์

          ๓. พระครูอินทเขมา(ห้อง พุทธสโร) พ.ศ. ๒๔๒๓-๒๔๖๙

          ๔. พระปลัดครื้น พุทธรักขิตะ พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๓ (น้องชายหลวงพ่อห้อง)

          ๕. พระราชเขมาจารย์(เปาะ อินทสโร) พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๕๑๙

          ๖. พระราชวรเวที กวีธะโร (เจ้าคุณเทศน์)

          ๗. พระครูโสภณปัญญาวัฒน์(ปัญญาทีโป) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

พระครูอินทเขมา หลวงพ่อห้อง วัดช่องลม

          หลังจากที่หลวงพ่อห้องได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่น พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิและอื่นๆ อีกมากมาย คณะสงฆ์เห็นคุณงามความดีของท่าน จึงแต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้

          ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูอินทเขมา ตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัด

          ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี

ภาพถ่ายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

          ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี ได้เสด็จทอดพระเนตรวัดช่องลม เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงทอดพระเนตรวัด ซึ่งขณะนั้นพระอุโบสถสร้างใหม่ หลังใหญ่โต มีกุฏิฝากระดานมุงกระเบื้องเป็นหมู่ใหญ่ แต่การก่อสร้างไม่เป็นระเบียบ แออัดไม่น่าอยู่

         ทรงประทานกัปปิยภัณฑ์ช่วยในการปฏิสังขรณ์วัดแก่พระครูอินทเขมา(ห้อง) เจ้าคณะเมืองแล้ว เสด็จเยี่ยมศาลารัฐบาล แล้วเสด็จทอดพระเนตรวัดศรีสุริยวงศ์ฯ ต่อไป

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลังจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรวจการคณะสงฆ์มณฑลราชบุรีเสร็จสิ้นแล้ว ทรงเห็นว่าหลวงพ่อห้อง ท่านชราภาพมากแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์

          หลวงพ่อห้องเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีจริยวัตรที่น่าเลื่อมใส ท่านได้ช่วยระงับอธิกรณ์น้อยใหญ่ และบริหารคณะสงฆ์ด้วยดีเสมอมา นอกจากนี้ท่านยังได้บำรุงพระพุทธศาสนาโดยการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ภายในวัดช่องลมให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด 

          นอกจากนี้ท่านยังช่วยเหลือวัดอื่นๆ ในจังหวัดราชบุรีตามกำลังและสติปัญญาของท่าน ในปีหนึ่งๆ จะมีผู้มาขออุปสมบทกับท่านเป็นจำนวนมาก

          สมัยก่อนท่านเป็นอาจารย์สักยันต์ที่มีชื่อเสียง ท่านได้สร้างเหรียญหล่อและเหรียญปั๊มเพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน ผู้ที่ได้รับไปต่างมีประสพการณ์มากมาย โดยเฉพาะเหรียญหล่อโบราณของท่าน เป็นเหรียญหล่อที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก 

          โดยเฉพาะทางด้านคงกระพันชาตรี เป็นที่ประจักษ์ของชาวจังหวัดราชบุรี เพราะเหตุที่ลูกศิษย์ของท่านหลายๆคน คงกระพันหนังเหนียว ยิงฟันไม่เข้า ดังเช่นกรณีของเสือฮุยกับเสือแป้นฉาย

          เสือฮุย สมัยก่อนถือเป็นจอมโจรที่ชื่อเสียงว่าหนังเหนียว ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อห้อง เนื่องจากหลวงพ่อห้องให้เหรียญหล่อไว้ที่ตัว 

         ทำให้กับเสือฮุยหนังเหนียว จนเมื่อเสือฮุยถูกจับและถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต ในวันเข้าสู่แดนประหาร คมมีดของเพชรฆาตไม่สามารถทำอันตรายเสือฮุยได้

         จนกระทั่งทางการต้องไปขอร้องเกลี่ยกล่อมให้ยอมรับโทษแต่โดยดี เพราะฝืนฟันอยู่อย่างงี้จะทำให้ช้ำตายทรมานเสียยิ่งกว่า เสือฮุยจึงยอมปลงใจยอมรับโทษ 

          ยอมเอาเหรียญหล่อโบราณของหลวงพ่อห้องที่ซุกซ่อนไว้ออกจากร่างกาย จากนั้นศรีษะของเสือฮุยก็หลุดกระเด็นออกจากร่างกายของเสือร้ายทันที ชดใช้เวรกรรมที่ก่อไว้

ภาพในวันประหารเสือแป้นฉาย จากเพจเรื่องเล่า ภาพเก่า ในอดีต

          เสือแป้นฉาย ก็เป็นศิษย์ของหลวงพ่อห้องเช่นเดียวกัน ได้รับการสักยันต์พระมหาโมคคัลลานะ ทำให้หนังเหนียวยิงฟันไม่เข้า จึงย่ามใจประพฤติตนไปทางทางโจรเป็นผู้ร้าย ฆ่าชิงทรัพย์จนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้าน

          ต่อมาทางการได้ล้อมจับ และสามารถจับกุมตัวได้เพราะลูกน้องคนสนิททรยศ เมื่อถึงวันพิพากษาให้ประหารชีวิต ณ ลานประหารท่ามกลางฝูงชนที่เข้ามาชมกันอย่างมากมาย 

          โดยมีพระยาไกรเพชรรัตนสงคราม สมุหเทศาภิบาล เป็นประธาน ส่วนเพชฌฆาตนั้นเดินทางมาจากพระนคร คือ หมื่นสาหัส เป็นดาบที่ ๑ (ผู้ลงมือฟันคอ) นายอ้น เป็นดาบที่ ๒ (ฅนรำล่อและเชือดคอซ้ำ)

          เมื่อถึงกำหนดเวลา ปรากฏว่า ดาบ ๑ ฟันไม่เข้า ดาบ ๒ เชือดคอก็ไม่เข้า เป็นที่ฮือฮาของฝูงชน ร้อนถึงแม่ของเสือแป้นฉาย ต้องไปขอร้องให้ลูกรับโทษเสียแต่โดยดี เพื่อจะได้ไม่ทรมานอีกต่อไป

          เสือแป้นฉายจึงยอมรับโทษ โดยทำน้ำมนต์มารดตัวเพื่อถอนวิชาออกจากตัว หลังรดน้ำมนต์ การประหารจึงเป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อยดี

รูปหล่อจำลองหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ด้วยสังขารและการทำงานอย่างหนักหลวงพ่อห้องจึงเริ่มมีอาการอาพาธ จนราวต้นเดือนพฤษภาคม หลวงพ่อห้องก็เริ่มอาพาธหนักขึ้น แพทย์มาเยียวยารักษาท่านแนะนำให้หลวงพ่อห้องฉันอาหารมื้อเย็นเพิ่ม เพื่อจะได้ช่วยให้อาการดีขึ้น 

          แต่ด้วยท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ท่านไม่ยอมฉันอาหารเย็นเลย ท่านบอกกับลูกศิษย์ที่เฝ้าดูแลท่านว่า “ถึงแม้จะถึงชีวิตก็จะไม่ขอล่วงพระธรรมวินัยแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็จะไม่ยอม”

          หลวงพ่อห้อง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราในวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ในเวลาตี ๔ กับ ๕๕ นาที ในท่านั่งสมาธิ นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี พรรษาที่ ๖๑

วัตถุมงคลของหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม

          ในสมัยที่หลวงพ่อห้องยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้สร้างพระเครื่องในรูปแบบเหรียญปั้มและเหรียญหล่อโบราณ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ พุทธคุณโดดเด่นด้านมหาอุตย์ คงกระพัน ยิงฟันไม่เข้า

          เหรียญปั๊มหลวงพ่อห้องแบ่งออกเป็น ๓ พิมพ์ ๔ บล็อค จำนวนสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้แค่คาดว่าน่าจะไม่มาก

          เหรียญปั๊มหลวงพ่อห้อง รุ่นแรก พิมพ์หนังสือใหญ่ ธะ กลับ (บล็อก ๑)

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่ สร้างด้วยเนื้อทองแดง มีห่วงเชื่อม พิมพ์นี้จัดเป็นพิมพ์ที่หายากที่สุด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญปั๊มหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ พิมพ์หนังสือใหญ่ ธะกลับ

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อห้อง ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต นั่งสมาธิเต็มองค์ ใต้องค์หลวงพ่อมีอาสนะบัวคว่ำ-บัวหงายรองรับไว้ มีอักษรไทยเขียนว่า "ว,ช,ล," มีอักขระขอม ๔ ตัว เขียนว่า "พุท ธะ สัง มิ"โดยตัว ธะ ช่างได้แกะแม่พิมพ์ผิดถือเป็นพิมพ์ที่หายาก

          ด้านหลัง บรรจุอักขระขอมจำนวน ๔ บรรทัด อ่านว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ มะ อะ อุ" 

          เหรียญปั๊มหลวงพ่อห้อง รุ่นแรก พิมพ์หนังสือใหญ่ (บล็อก ๒)

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่ สร้างด้วยเนื้องทองแดง มีห่วงเชื่อม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญปั๊มหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ พิมพ์หนังสือใหญ่

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อห้อง ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต นั่งสมาธิเต็มองค์ ใต้องค์หลวงพ่อมีอาสนะบัวคว่ำ-บัวหงายรองรับไว้ มีอักษรไทยเขียนว่า "ว,ช,ล," มีอักขระขอม ๔ ตัว เขียนว่า "พุท ธะ สัง มิ" 

          ด้านหลัง บรรจุอักขระขอมจำนวน ๔ บรรทัด อ่านว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ มะ อะ อุ"

          เหรียญปั๊มหลวงพ่อห้อง รุ่นแรก พิมพ์หนังสือใหญ่ (บล็อก ๒ แตก)

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เหมือนกับบล็อก ​๒ แต่เกิดการชำรุดของบล็อก ทำให้มีรอยแตก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่ สร้างด้วยเนื้องทองแดง มีห่วงเชื่อม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญปั๊มหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๕  พิมพ์หนังสือใหญ่ (แตก)

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อห้อง ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต นั่งสมาธิเต็มองค์ ใต้องค์หลวงพ่อมีอาสนะบัวคว่ำ-บัวหงายรองรับไว้ มีอักษรไทยเขียนว่า "ว,ช,ล," มีอักขระขอม ๔ ตัว เขียนว่า "พุท ธะ สัง มิ" 

          ด้านหลัง บรรจุอักขระขอมจำนวน ๔ บรรทัด อ่านว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ มะ อะ อุ"

          เหรียญปั๊มหลวงพ่อห้อง รุ่นแรก พิมพ์หนังสือเล็ก (บล็อก​ ๓)

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่ สร้างด้วยเนื้องทองแดง มีห่วงเชื่อม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดว่าน่าจะมีจำนวนการสร้างมากที่สุดในทั้ง ๓ บล็อก

เหรียญปั๊มหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ พิมพ์หนังสือเล็ก

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อห้อง ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต นั่งสมาธิเต็มองค์ ใต้องค์หลวงพ่อมีอาสนะบัวคว่ำ-บัวหงายรองรับไว้ มีอักษรไทยเขียนว่า "ว,ช,ล," มีอักขระขอม ๔ ตัว เขียนว่า "พุท ธะ สัง มิ" 

          ด้านหลัง บรรจุอักขระขอมจำนวน ๔ บรรทัด อ่านว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ มะ อะ อุ"

          เหรียญหล่อหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม

          สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณรูปไข่ มีห่วงในตัว มีสร้างด้วยเนื้อโลหะ ๓ เนื้อประกอบด้วย เนื้อเงินบ้องยาสูบ เนื้อขันลงหิน และเนื้อชินตะกั่ว สมัยก่อนนิยมแยกกันเป็น ๒ พิมพ์ คือพิมพ์หน้าใหญ่ และพิมพ์หน้าเล็ก แต่เมื่อมีการศึกษากันอย่างจริงจัง เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากการถอดพิมพ์มาจากหุ่นเทียนทำให้หน้าตาของหลวงพ่อแตกต่างไปบ้างเล็กน้อย แต่ต้นแบบน่าจะมีพิมพ์เดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อห้องวัดช่องลมปี2465เนื้อเงิน
เหรียญหล่อหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อเงิน ของคุณโอ๊ต บางแพ
เหรียญหล่อหลวงพ่อห้องวัดช่องลมปี2465เนื้อเงิน
เหรียญหล่อหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อเงิน ของคุณต่อ สาย2 
เหรียญหล่อหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองเหลือง

เหรียญหล่อหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี2465 เนื้อทองเหลือง
เหรียญหล่อหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองเหลือง ของคุณปรางค์ อุ้มบาตร

เหรียญหล่อหลวงพ่อห้องวัดช่องลมปี2465เนื้อดีบุก
เหรียญหล่อหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อดีบุก
เหรียญหล่อหลวงพ่อห้อง วัดช่องลม ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองเหลือง

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อห้อง นั่งขัดสมาธิ ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิ เหนือศรีษะหลวงพ่อมีอักขระขอม ๔ ตัว เขียนว่า "พุท ธะ สัง มิ" 

         ด้านหลัง เหรียญมีอักขระขอมจำนวน ๔ แถว อ่านว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ มะ อะ อุ"



ภาพบางส่วนจาก เพจหนังสือพระเครื่องเมืองราชบุรี
 
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น