วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลพระมหาสิทธิการแดง วัดอัมพวันเจติยาราม เหรียญเก่า ๒๔๖๖ ที่คนเฒ่าคนแก่ใช้กันจนเหลือแต่แก่น

พระมหาสิทธิการแดง วัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม

         พระมหาสิทธิการแดง วัดอัมพวันเจติยาราม หรือ ท่านเจ้าคุณพระมหาสิทธิการ ญาณรักขิต วิจิตรมุนี สังฆปาโมกข์(แดง) หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า พระอธิการแดง วัดอัมพวัน อดีตเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ ของวัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม) และเป็นอดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ของวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร แห่งบ้านอัมพวา

         พระมหาสิทธิการแดง ท่านมีนามเดิมชื่อ แดง โยมบิดาชื่อ ม่วง โยมมารดาชื่อ จันทร์ มีพี่น้องรวมด้วยกัน ๗ คนด้วยกัน ตัวท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ที่ตำบลท้ายหาด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม 

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระมหาสิทธิการแดง ท่านมีอายุ ครบ ๒๐ ปี ได้ทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม) โดยมี

         พระสนิทสมณคุณเนตร วัดบ้านแหลม เป็นพระอุปัชฌาย์

         ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระปลัดฐานานุกรม ของพระสนิทสมณคุณ(เนตร) เมื่อพระพระสนิทสมณคุณ(เนตร) เจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม) ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม เพื่อปกครองวัดอัมพวันซึ่งขณะนั้นได้เริ่มทรุดโทรมลง

         คณะสงฆ์พร้อมทั้งประชาชนจึงพร้อมใจกันนิมนต์ พระปลัดแดงขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ในเวลาต่อมา

         ด้วยความที่ท่านบวชแต่เยาว์วัยและเป็นพระเถระที่มีจริยวัตรที่งดงาม เก่งทั้งทางโลกและทางธรรม ประกอบกับท่านมีความรู้ทางด้านไสยท์เวทจนเป็นที่เลื่องลือ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายเป็นที่เคารพรักของชาวแม่กลองเป็นอย่างมาก

         ครั้น พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ในคราวที่ทรงเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้เสด็จแวะทอดพระเนตรวัดอัมพวันเจติยาราม ซึ่งตอนนั้นมีความชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก จึงทรงรับสั่งไว้ในพระราชหัตถเลขาว่า  

         "แต่ก่อนมาเป็นวัดราชาคณะอยู่เสมอ  แต่ได้โทรมเข้าเลยโทรมไม่ฟื้น เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่ การที่ไม่ยอมไปอยู่นั้น เห็นจะเป็นด้วยปราศจากลาภผล ไม่เหมือนวัดบ้านแหลม และวัดพวงมาลัย ซึ่งได้ผลประโยชน์ในทางขลังต่างๆ แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีๆนี่ จนราษฎรในคลองอัมพวา ก็พากันไปทำบุญเสียทีวัดปากน้ำ ลึกเข้าไปข้างใน  การที่จะแก้ไขไม่ให้ร้าง ไม่มีอย่างอื่น  นอกจากหาสมภารที่ดีมาไว้.."  

         หลังจากเสด็จประพาสคราวนั้นแล้ว ได้ทรงแต่งตั้งพระครู(แดง) วัดบ้านแหลม ขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ พระมหาสิทธิการ(แดง) เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระสนิทสมณคุณเนตร ได้ถึงแก่มรณภาพลงทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวันว่างลง

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ท่านได้รับการโปรดเกล้าจาก พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ให้ไปครองวัดอัมพวันเจติยาราม เพื่อให้พัฒนาวัดให้กลับมาเจริญรุ่งเรือง สมดังที่เป็นวัดของราชนิกุลดังเดิม

พระอุโบสถ และพระปรางค์ วัดอัมพวันเจติยาราม

         วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นนิวาสเดิมขององค์ปฐมวงศ์ทางราชนิกุลแห่งบรมราชจักรีวงศ์ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นปีที่เสียกรุงศรีอยุธยา แก่พม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จพระราชสมภพ ณ ที่นี้ 

         เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงอุทิศบริเวณวาสถานให้เป็นที่สร้างวัดถวายแด่พระมารดา เดิมมีชื่อว่า วัดอัมพวา  ตามชื่อตำบลบ้านอัมพวา หรือเรียกที่สวนเดิมของสมเด็จพระรูปว่า  "อัมพวาสวนนอก"

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) ทรงประสูติ ณ ที่แห่งนี้

         ภายหลังต่อมาท่านนักปราชญ์ผู้เฟื่องฟูทางภาษาบาลี   ท่านเลยแปลภาษาไทยเป็นภาษาบาลีเสียเลยว่า "อัมพวาพาหิรุทยานประเทศ" ชื่อวัดอัมพวันเจติยารามนี้เข้าใจว่าจะเป็นชื่อพระราชทานในสมัยบูรณะปฎิสังขรณ์ครั้งรัชกาลที่ ๓  หรือรัชกาลที่ ๔ นี้เอง เพราะคำว่า "เจติยาราม" ทำให้เข้าใจว่าเป็นชื่อที่เกิดขึ้นภายหลังที่สร้างพระปรางค์แล้ว  

         ชื่อ"อัมพวันเจติยาราม" ก็เป็นชื่อที่มีความหมายไพเราะเหมาะสม กล่าวคือ "อัมพวัน" โดยพยัญชนะก็แปลว่า "สวนมะม่วง" โดยความหมายก็หมายถึง"อัมพวาสวนนอก" 

         และต้นมะม่วงยังเป็นต้นไม้เกี่ยวเนื่องอยู่ในพุทธประวัติด้วย "เจติย" โดยความหมายก็แปลว่า"ที่เคารพบูชา" และ "อาราม"  หมายความว่า "ที่อยู่อันร่มรื่นเกษมสำราญ" ชื่อ "วัดอัมพวันเจติยาราม" จึงมีความหมายว่า "สวนมะม่วงอันร่มรื่นเกษมสำราญเป็นสถานที่เคารพบูชา"

รายนามเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม ที่มีการจดบันทึกไว้ได้แก่

         ๑. พระวินัยมุนี(บัว) ผู้สร้างวัดปทุมคณาวาส และวัดท้ายหาด

         ๒. พระวินัยมุนี (น้อย)

         ๓. พระราชศรัทธาโสภิต (ศรี)

         ๔.พระสนิทสมณคุณ (เนตร)

         ๕. พระมหาสิทธิการ (แดง) พ.ศ. ๒๔๕๔ -​  พ.ศ. ๒๔๖๓

         ๖. พระมหาสิทธิการ(ถมยา) (นิมนต์มาจากวัดบางขันแตก) (พ.ศ. ๒๔๖๓ - ๒๔๗๑)

         ๗. พระครูสมุห์ฮ้อ (พ.ศ. ๒๔๗๑ - พ.ศ. ๒๔๗๕)

         ๘.พระครูอัมพวันเจติยาภิบาล (ลิบ) (พ.ศ. ๒๔๗๕ - พ.ศ. ๒๔๘๕

         ๙. พระอัมพวันเจติยาภิบาล (เจริญ ขนติโก)  (พ.ศ. ๒๔๘๕ -​ พ.ศ. ๒๕๒๒)​

         หลังจากที่พระมหาสิทธิการแดง ได้มาเป็นเจ้าาอาวาสครองวัดอัมพวัน ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และยังสร้างถาวรวัตถุต่างๆ

ราชกิจจานุเบกษา
พระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๓๗ หน้า ๒๒๕๘

         และด้วยที่ท่านเป็นพระที่มีจริยวัตรที่งดงาม ชาวบ้านในพื้นที่จึงมีความศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก ทำให้วัดอัมพวันที่เคยซบเซากลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง และเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงพ่อแแดงได้เป็นหนึ่งในพระเถระผู้ใหญ่ที่ถวายรายงานต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์มลฑลราชบุรี  ณ ที่ประทับแรมวัดบ้านแหลม ทรงตรัสถามความเป็นไปแห่งคณะสงฆ์เมืองนี้ และประทานพระโอวาทเนื่องด้วยการปกครอง 

         แล้วประทานย่ามตรามหาสมณุตมาภิเษกแก่ พระมหาสิทธิการแดง วัดอัมพวันฯ เจ้าคณะเมือง พระวินัยธรถม วัดบางขันแตก ผู้รั้งคณะแขวงเมือง และพระอธิการแก้ว วัดพวงมาลัย เจ้าอธิการธูป วัดใหญ่ ผู้มีมารยาทและอัทธยาศัย และอายุพรรษาสมเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๒๐.๐๐ น.

         หลวงพ่อแดง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ นับรวมสิริอายุได้ ๖๗ ปี ๔๗ พรรษา.

วัตถุมงคลของพระมหาสิทธิการแดง วัดอัมพวันเจติยาราม

         เหรียญหลวงพ่อแดง วัดอัมพวันเจติยาราม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาคอน้ำเต้าข้างเลื่อย แบบมีหูในตัว เหรียญสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่มีการบันทึกไว้

เหรียญพระมหาสิทธิการแดง วัดอัมพวันเจติยารามปี 2466-ทองแดง
เหรียญพระมหาสิทธิการแดง วัดอัมพวันเจติยาราม ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เนื้อทองแดง

เหรียญพระมหาสิทธิการแดง วัดอัมพวันเจติยาราม ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เนื้อทองแดง
เหรียญพระมหาสิทธิการแดง วัดอัมพวันเจติยาราม ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เนื้อทองแดง ของคุณเปี้ยง

         ด้านหน้า เป็นรูปพระมหาสิทธิการ(แดง) ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ประทับนั่งบนอาสนะและมีตั่งรอบรับอีกทีหนึ่ง ไม่มีอักขระใดๆ

         ด้านหลัง เป็นยันต์ ๔ ตัวในตารางยันต์หัวใจธาตุ อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ" ด้านล่างตารางมีเลขไทย "๒๔๖๖" อันเป็นปีที่จัดสร้างเหรียญ

         ด้านพุทธคุณ มีความเชื่อกันว่าเหรียญของท่านเน้นทางด้านคลาดแคล้ว เมตตามหานิยม เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมากในพื้นที่ จะหาพระที่มีสถาพสวยๆนั้นหาได้จากเย็นนัก ที่พบเจอก็จะเจอแต่สึกๆ บางเหรียญแทบไม่มีเค้าว่าหลวงพ่ออะไร เรียกว่าใช้กันจนเหลือแต่แก่นเลยทีเดียว หากมีโอกาสพบเจออย่าปล่อยให้หลุดมือเป็นอันขาด.

เกร็ดความรู้ : จากเพจมุมพระเครื่อง

         ในหนังสือ ‘ยอดพระเครื่องแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง’ มีการกล่าวถึงเหรียญปั๊มรูปเหมือนพระมหาสิทธิการ (แดง) ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ว่าน่าเสียดายว่าไม่มีบันทึกประวัติการสร้างเหรียญ ไถ่ถามผู้รู้บางท่าน บอกว่า เหรียญดังกล่าวเป็นเหรียญปั๊มขอบเลื่อย มีเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียว แต่มีแบบกะไหล่ทอง และแบบผิวไฟจัดเป็นเหรียญหายากของจังหวัดสมุทรสงคราม ‘เมืองแม่กลอง’ ทีเดียว

         แต่จะสร้างขึ้นก่อนหรือหลังจากพระมหาสิทธิการ (แดง) มรณภาพไปแล้ว ยังค้นไม่พบหลักฐาน แต่จากประวัติของพระครูถาวรวิทยาคม (เพิ่ม ทิฏโฐ) วัดสรรเพชญ ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ณ วัดบางขันแตก มีพระครูมหาสิทธิการ (ถมยา) เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เมื่อพระครูมหาสิทธิการ (ถมยา) ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด และได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดบพิตรภิมุข หรือ วัดเชิงเลน กรุงเทพมหานคร หลวงพ่อเพิ่มก็ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดสรรเพชญ

ภาพพระมหาสิทธิการถมยา วัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม
พระมหาสิทธิการถมยา วัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม

          ซึ่งก็น่าคิดได้ว่า เมื่อพระครูมหาสิทธิการ (ถมยา) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม ทั้งยังเป็นพระอุปัชฌาย์ ก็น่าที่พระมหาสิทธิการ (แดง) จะมรณภาพไปแล้ว 

         ทั้งประวัติของพระครูถาวรวิทยาคม (เพิ่ม ทิฏโฐ) บอกว่าได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสมุห์ฐานานุกรมของพระครูมหาสิทธิการ (ถมยา) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ซึ่งขณะนั้นได้รับให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเจ้าคณะจังหวัดองค์ต่อมาคือ พระมหาสิทธิการ (ทอง) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นที่ ‘พระครูมหาสิทธิการ’ ดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓

         นอกจากนี้จากบันทึกข้างต้น ยอมมีข้อถกเถียงตามมาอีกว่าเหรียญของพระครูสมุห์ฮ้อ ที่บ้างว่าสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ กว่าๆ บ้างก็ว่าสร้างปี พ.ศ. ๒๔๗๐ กว่าๆ นั้นเท็จจริงเป็นอย่างไร? 

         เพราะพระครูสมุห์ฮ้อ เป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวันฯ ต่อจากพระครูมหาสิทธิการ (ถมยา) ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงทำให้เหรียญหลวงพ่อฮ้อ สร้างปี พ.ศ. ๒๔๗๑ กว่าๆ หลังจากที่ท่านย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว

         ปัจจุบันมีการพบข่าวในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ เล่ม ๓๗ หน้า ๒๒๕๘ จึงทราบข่าววันมรณภาพ​และอายุของพระมหาสิทธิการแดง และยังทำให้สามารถทราบถึงปีที่พระครูมหาสิทธิการ (ถมยา) มาครองวัดอีกด้วย


ข้อมูล : ราชกิจจานุเบกษา จากคุณอาคม ยุทธการ

โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น