ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่อ้น วัดบางจาก เจ้าของพระสมเด็จหลังประทุน ศิษย์เอกสมเด็จโต พรหมรังสี
หลวงปู่อ้น วัดบางจาก หรือ วัดเกษมสรณาราม สมุทรสงคราม |
หลวงปู่อ้น วัดบางจาก หรือ วัดเกษมสรณาราม จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าของเมืองแม่กลอง ร่วมยุคกับ หลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ หลวงพ่อกลัด วัดบางพรหม พระปลัดทิม วัดเหมืองใหม่ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๐ กว่า
หลวงปู่อ้น ท่านเป็นพระที่มีรูปร่างสูงใหญ่ มีวาจาไพเราะ มีเมตตาธรรมสูง กล่าวกันว่าหลวงปู่อ้น ท่านสำเร็จวิชากสิณ มีพลังจิตสูง เวลามีผู้มาขอน้ำมนต์ ท่านเพียงเพ่ง ‘อาโปกสิณ’ แวบเดียวก็ใช้ได้แล้ว สมัยก่อนท่านนิยมเดินธุดงค์และไปปริวาสธุดงค์ไปกับกลุ่มของหลวงพ่อดำ วัดตาลบำรุงกิจ แต่ประวัติของท่านกลับไม่มีหลักฐานปรากฏเป็นที่แน่ชัด
จากบันทึกของ พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) เลขานุการเสนาบดี กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นคนแรกที่ค้นคว้าและเขียนบันทึกประวัติของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่เกิดทันยุคนั้น และหนังสือจดหมายเหตุต่างๆ บางตอน ได้มีกล่าวถึงประวัติของหลวงปู่อ้น ไว้ดังนี้
หลวงปู่อ้น วัดบางจาก หรือ วัดเกษมสรณาราม สมุทรสงคราม |
หลวงปู่อ้น มีนามเดิมว่า ม.ร.ว.อ้น อิศรางกูร ท่านมีนิสัยรักสันโดษ เมื่ออุปสมบทที่วัดระฆังโฆสิตารามแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่วัด คอยปรนนิบัติและศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน รวมทั้งวิชาไสยเวท กับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
เล่ากันมาว่าท่านยังได้ติดตามท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต เดินทางมาที่อัมพวาบ่อยๆ จนหลวงปู่อ้นสนิทสนมกับหลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก, หลวงปู่เอี่ยม วัดบางจาก และหลวงปลัดทิม วัดเหมืองใหม่
ต่อมาท่านได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดปรกคลองวัว หรือ วัดปรกสุธรรมาราม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ระยะหนึ่ง จากนั้นย้ายไปจำพรรษาที่ วัดบางจาก หรือ วัดเกษมสรณาราม จังหวัดสมุทรสงคราม จนมรณภาพ
ด้วยความที่ หลวงปู่อ้น เป็นพระที่สมถะ รักสันโดษ ท่านจึงไม่ยอมรับตำแหน่งยศศักดิ์ใดๆ คงดำรงตนเป็นพระลูกวัดจนชราภาพ ท่านถือเป็นศิษย์อาวุโสของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทีเดียว ท่านมักล่องเรือไปจำพรรษาที่วัดบางจาก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ซึ่งปัจจุบันคือ วัดเกษมสรณาราม อำเภออัมพวา เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่เงียบสงบ จนกระทั่งออกพรรษา จึงกลับมาเยี่ยมนมัสการ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ครั้งละนานๆ เป็นเช่นนี้ประจำทุกปี
บรรยากาศภายในพระอุโบสถ วัดบางจาก สมุทรสงคราม |
วัดเกษมสรณาราม หรือ วัดบางจาก ตั้งในพื้นที่บ้านบางช้าง ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๐ เดิมชื่อ “วัดใหม่ตาเพชร” ตามผู้บริจาคที่ดินให้สร้างวัด คือ “ตาเพชร” วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเกษมสรณาราม” ตามบัญชาของ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฐายี) ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และได้รับการพัฒนาและบูรณปฏิสังขรณ์อย่างต่อเนื่องให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาจวบจนปัจจุบัน
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนเล่าต่อๆกันมาว่า ช่วงที่ หลวงปู่อ้น จำพรรษาที่วัดบางจากนั้น ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างสูง จึงได้สร้าง “พระพิมพ์” ขึ้นจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามจำนวนพระธรรมขันธ์
เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาตามคตินิยมแต่โบราณกาล ส่วนหนึ่งเพื่อไว้แจกแก่ผู้ที่เคารพศรัทธาตามสมควร และอีกส่วนหนึ่งได้นำบรรจุกรุพระเจดีย์ไว้ ๒ แห่ง คือ วัดเกาะลอย อำเภอวัดเพลง จังหวัด ราชบุรี และ วัดปรกคลองวัว อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ดูจากเนื้อหามวลสารขององค์พระ เชื่อมั่นว่าท่านใช้สูตร การลบผงพุทธคุณ เช่นเดียวกับที่ร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์อย่างแน่นอน
มวลสารหลักในการสร้างพระของหลวงปู่อ้น วัดบางจาก เป็นปูนเปลือกหอย ผสมด้วยผงวิเศษตามสูตร เช่น ผงปถมัง อิทธิเจ มหาราช ตรีนิสิงเห ผงพุทธคุณ ธรรมคุณ ผงอิติปิโส นะร้อยแปด ผงอักขระสูตรสนธิ ฯลฯ ข้าวสุก ข้าวก้นบาตร ขี้ธูปพระประธาน กล้วยน้ำว้า ดอกไม้บูชาพระ ตัวประสานคือ น้ำอ้อยและน้ำมันตังอิ๊ว ที่พิเศษและเป็นเอกลักษณ์ก็คือ การผสมเยื่อกระดาษสา โดยรวบรวมตำราต่างๆ ที่ขาดและชำรุด ซึ่งสร้างจากกระดาษสาหรือกระดาษปะว่าวมาแช่น้ำจนยุ่ย แล้วนำมาตำเป็นส่วนผสม ทำให้เนื้อองค์พระมีความหนึกเนียน เฉกเช่น “พระสมเด็จ” ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ
และจากการแบ่งสัดส่วนเพื่อแจกจ่ายและเข้าบรรจุกรุ “พระหลวงปู่อ้น” จึงแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ พระที่ไม่ได้บรรจุกรุ และ พระที่บรรจุในกรุ ซึ่งจะมีคราบนวลและขี้กรุตามลักษณะของพระกรุโดยทั่วไป
วัตถุมงคลของหลวงปู่อ้น วัดบางจาก
หลวงปู่อ้น สร้างพระสมเด็จหลายพิมพ์ทรงด้วยกัน มีอาทิ พิมพ์สมเด็จ ๓ ชั้น, พิมพ์เล็บมือ, พิมพ์ประคำรอบ แต่พระหลวงปู่อ้น พิมพ์สมเด็จ ๓ ชั้น ถือเป็นพิมพ์นิยม ซึ่งทั้งเนื้อมวลสารและพุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระสมเด็จ ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มากที่สุด
นอกจากนี้พระของท่านมักถูกนำไปส่วนสำคัญในการซ่อมพระสมเด็จของสมเด็จโตด้วย เนื่องจากอายุพระและมวลสารที่ใกล้เคียงกันจังทำให้พระของท่านมีจำนวนที่ลดลงและหายาก
สมเด็จหลังประทุน หลวงปู่อ้น วัดบางจาก
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พิมพ์ทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า คล้าย พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ แต่หลวงปู่อ้นได้สร้างพิมพ์ด้านหลังให้เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไป โดยทำพื้นด้านหลังโค้งและนูนเป็นพิเศษ จึงนิยมเรียกว่า “สมเด็จหลังประทุน” เพราะมีลักษณะเหมือนประทุนเรือ
สมเด็จหลวงปู่อ้น วัดบางจาก พิมพ์ฐาน ๓ ชั้น หรือพิมพ์หลังประทุน |
ด้านหน้า มีองค์พระประธานประทับนั่งปางสมาธิ เหนืออาสนะฐานหมอน ๓ ชั้น ฐานชั้นล่างสุดตรงกลางเป็นร่องลึกซึ่ง
ด้านหลัง นูนอูมไม่มีอักขระใดๆ
พระพิมพ์นี้คนสมัยก่อนนิยมนำเอาพระของท่านมาแกะ เพื่ออุปโลกน์ขายเป็นพระสมเด็จ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เพราะพระของหลวงปู่อ้น นับเป็นหนึ่งใน “พระเครื่องตระกูลพระสมเด็จ” ที่มีเนื้อหามวลสาร พิมพ์ทรง และพุทธลักษณะโดยทั่วไป ใกล้เคียงกับ พระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มากที่สุด
สมเด็จประคำรอบ หลวงปู่อ้น วัดบางจาก
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พิมพ์นี้มีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนพระสมเด็จทั่วไป แต่มีพิมพ์ทรงที่เป็นเอกลักษณ์ ชาวบ้านที่ได้รับแจกนิยมเรียกว่า สมเด็จประคำรอบ เนื่องจากรอบองค์พระมีจุดไข่ปลาล้อมรอบไปกับขอบขององค์พระ
สมเด็จหลวงปู่อ้น วัดบางจาก พิมพ์ประคำรอบ |
สมเด็จหลวงปู่อ้น วัดบางจาก พิมพ์ประคำรอบ |
ด้านหน้า มีองค์พระประธานประทับนั่งปางสมาธิ เหนืออาสนะฐานหมอน ๒ ชั้น โดยรอยต่อของแต่ละชั้นจะมีเม็ดบัว หรือกลับบัว รอบองค์พระมีกรอบสี่เหลี่ยมเป็นเส้นบังคับพิมพ์ รอบนอกของเส้นสี่เหลี่ยม มีเม็ดจูดกลมๆ รอบเส้น
ด้านหลัง เรียบเนื้อพระหนึกนุ่ม ในองค์ที่ผ่านการใช้มาจะมีเนื้อจัดเก่าคร่ำคราสมอายุพระ
พระพิมพ์เล็บมือหรือกลับบัว หลวงปู่อ้น วัดบางจาก
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นพระที่หลวงปู่อ้น ท่านสร้างไว้แจกชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากพระมีขนาดเล็ก ลักษณะพระเป็นแบบพระพิมพ์เล็บมือทั่วๆไป
พระพิมพ์เล็บมือหลวงปู่อ้น วัดบางจาก |
พระพิมพ์เล็บมือหลวงปู่อ้น วัดบางจากของคุณปรางค์ อุ้มบาตร |
พระพิมพ์เล็บมือหลวงปู่อ้น วัดบางจากของคุณปรางค์ อุ้มบาตร |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปางมารวิชัย มีอาสนะรองรับ ๓ ชั้น ภายในชั้นอาสนะมีบัวคว่ำ-บัวหงาย อยู่ภายในชั้น รอบองค์พระมีเส้นซุ้ม ๒ เส้น ล้อไปกับพิมพ์พระ
ด้านหลัง นูนเรียบไม่มีอักขระใด
ด้วยพุทธคุณที่ปรากฏโดดเด่นในด้านเมตตามหานิยม กับองค์พระที่เมื่อถูกสัมผัสก็จะหนึกนุ่มซึ้ง ที่เรียกว่าเนื้อจัด งดงาม จึงเป็นที่นิยมและแสวงหาของพุทธศาสนิกชน ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในพระเครื่องสำคัญของเมืองแม่กลอง เป็นที่หวงแหนยิ่งนัก ปัจจุบันหาดูหาเช่ายากยิ่ง
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประวัติและวัตถุมงคล พระอุปัชฌาย์อ่วม ติสฺสรสฺโส (หลวงพ่ออ่วม) วัดไทร พระเกจิแม่กลองที่อายุถึง ๑๐๐ ปี
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น