โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สุดยอดเกจิเหรียญเบญจภาคีของเมืองแม่กลอง

ภาพถ่ายหลวงพ่อคง ธมมฺโชโต วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
หลวงพ่อคง ธมมฺโชโต วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ถือเป็นพระเกจิที่โด่งดังและทรงอภิญญาที่สุดอีกรูปของเมืองแม่กลอง วัตถุมงคลของท่านล้วนมีคุณวิเศษ ยากที่จะหาใดเสมอเหมือน นอกจากนี้เหรียญปั๊มรุ่นแรกของท่านยังถูกจัดอยู่ในชุดเหรียญเบญจภาคีอีกด้วย

          เล่ากันว่าท่านถือกำเนิดในเรือนแพ เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๗ ในพื้นที่บ้านสำโรง ตำบลโรงหีบ อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม โยมบิดาชื่อนายเกตุ จันทร์ประเสริฐ โยมมารดาชื่อ นางทองอยู่ จันทร์ประเสริฐ

          ปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ท่านมีอายุได้ ๙ ปี โยมบิดาและโยมมารดาได้นำท่านไปฝากที่วัดเหมืองใหม่ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อศึกษาวิชา

          ปี พ.ศ. ๒๔๑๙ หลวงพ่อคงมีอายุได้ ๑๒ ปี โยมบิดาและโยมมารดา ได้นำท่านมาบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเหมืองใหม่ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตามความเชื่อของคนโบราณที่ว่าหากลูกเกิดในเรือนแพและเป็นผู้ชายจะต้องครองสมณเพศเป็นพระภิกษุตลอดชีวิต และเพื่อให้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม

หลวงพ่อคง ธมมฺโชโต วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม

           ระหว่างที่บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดเหมืองใหม่นั้น หลวงพ่อคง ได้ศึกษาวิชาเมตตามหานิยมจากพระอธิการทิม จนมีอายุ ๑๙ ปี ก็ได้ลาสิกขากลับมาอยู่บ้าน เพื่อช่วยการงานของพ่อและแม่ ระหว่างที่อยู่ที่บ้านนี้เอง ท่านเกิดสงสัยในวิชาเมตตามหานิยมที่ร่ำเรียนมา 

          ท่านจึงได้ทดลองวิชาเมตตามหานิยมดูว่าจะขลังจริงหรือไม่ โดยเสกสีผึ้งละลายน้ำให้ไหลไปทางหญิงผู้หนึ่งซึ่งอาบน้ำอยู่ทางใต้น้ำ ปรากฏว่าเย็นวันนั้น หญิงสาวหอบผ้าหอบผ่อนมาหาท่านถึงบ้าน และร้องไห้จะขออยู่ด้วยให้ได้ ทำให้วุ่นวายชี้แจงและแก้ไขกันเป็นการใหญ่

พระอธิการด้วง วัดเหมืองใหม่ อาจารย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

           ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ หลวงพ่อคง ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้ลาโยมบิดาและโยมมารดา เพื่อเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเหมืองใหม่ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้ฉายานามว่า "ธมมฺโชโต" อันแปลว่า "เป็นผู้รุ่งเรืองโดยธรรม" โดยมี

          พระอาจารย์ด้วง วัดเหมืองใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์ 

          พระอธิการจุ้ย วัดบางเกาะเทพศักดิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

          พระอธิการทิม วัดเหมืองใหม่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

          หลังอุปสมบท หลวงพ่อคงได้จำพรรษาที่วัดเหมืองใหม่ เรื่อยมาเพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาทั้งทางคันถธุระ วิปัสสนาธุระ วิชาช่าง และวิชาการทำผงวิเศษต่างๆกับพระอุปัชฌาย์ด้วง เจ้าอาวาสวัดเหมืองใหม่ รวมทั้งศึกษาวิชาอาคมการทำน้ำมนต์ และวิชาเมตตามหานิยมจากพระอธิการทิม อีกด้วย

พระอธิการทิม (ฮิม แซ่ตั้ง) วัดเหมืองใหม่ พระอาจารย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          ระหว่างที่จำพรรษาที่วัดเหมืองใหม่ ได้ศึกษาคัมภีร์มูลกัจจายน์ ซึ่งเป็นตำราเรียนบาลีไวยากรณ์ในสมัยโบราณที่เต็มไปด้วยพระสูตรสนธิต่างๆ กับอาจารย์นก ซึ่งเป็นฆราวาสชื่อดังในละแวกนั้นเป็นเวลาถึง ๑๓ ปี จนคล่องแคล่วแตกฉานสามารถแปลธรรมบทตลอดจนคัมภีร์ต่างๆ ได้โดยง่าย

          ด้วยความที่หลวงพ่อคง มีอุปนิสัยที่รักในการศึกษาเล่าเรียนจึงชื่นชอบที่จะไปศึกษาวิชากับพระอาจารย์ต่างๆเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ทำให้ท่านไปฝากตัวร่ำเรียนวิชากับพระอาจารย์ชื่อดังอื่นๆอีกมากมายได้แก่

          หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง เรียนวิชาการลงนะปัดตลอด

          สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ฤทธิ์ วัดอรุณราชวราราม เรียนวิชาการลงกระหม่อมด้วยขมิ้น

          หลวงพ่อปาน วัดโรงธรรม เรียนวิชาตะกรุดมหาปราบและเสื้อยันต์ 

          หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด เรียนวิชาตะกรุดมหาระงับ

          หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก เรียนวิชาพระกัมมัฏฐาน

          หลวงพ่อเทียน วัดละมุดใน เรียนวิชากายทิพย์ หายตัว พลางตัว

          หลวงพ่อคง วัดศรัทธาราษฏร์ เรียนวิชา มีดหมอ ทำน้ำมนต์(ไล่ผี ปีศาจ) แพทย์แผนโบราณ

          พระปลัดทิม วัดบางลี่บน เรียนวิชาทำน้ำมนต์โภคทรัพย์และวิชาดูดวงชะตา

          หลวงพ่อไล้(ร้าย) วัดเขายี่สาร เรียนวิชาทำลูกอม(ลูกอมมหากัน) และวิชากระสุนคต

          หลวงพ่อชู วัดดาวโด่ง เรียนวิชามหาประสาน

          ปี พ.ศ. ๒๔๔๗  หลวงพ่อคง อยู่จำพรรษาที่วัดเหมืองใหม่ ได้ ๒๐ พรรษา ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อมว่างลง ชาวบ้านบางกะพ้อมจึงพร้อมใจกันอาราธนาท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อมทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
 
          วัดบางกะพ้อม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 

          มีตำนานเล่ากันมาว่า ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ มีชาวบ้าน ๒ คนซึ่งเป็นสามีภรรยากันได้หนีศึกสงครามมาตั้งหลักทำมาหากินที่บ้านบางกะพ้อมแห่งนี้ โดยยึดการสานกระพ้อม (ภาชนะคล้ายกระชุ แต่ใหญ่กว่า) เพื่อยังชีพ 

          แต่อยู่ได้ไม่นานนักก็ถูกพม่าบุกโจมตี ครั้นจะหนีก็ไม่ทัน จึงเข้าไปหลบอยู่ในกระพ้อมที่สานเอาไว้และได้อธิษฐานว่า ถ้ารอดพ้นจากความตายครั้งนี้ไปได้จะจัดการสร้างวัดและวิหารขึ้นตรงนี้ 

          ต่อมาเมื่อรอดพ้นจากอันตรายใดๆ จึงปฏิบัติตามคำพูดที่กล่าวไว้โดยสร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดบังกับพ้อม ต่อมาชื่อคงเพี้ยนไปหรือถูกเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม กลายเป็น "วัดบางกะพ้อม" มาจนถึงปัจจุบันนี้

ภาพปูนปั้นภายในพระอุโบสถ วัดบางกะพ้อม ฝีมือปั้นของหลวงพ่อคง

          หลังจากที่หลวงพ่อคงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม ท่านได้ทำการฟื้นฟูบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัด ซึ่งชำรุดทรุดโทรม ด้วยท่านมีฝีมือในเชิงช่างเป็นอย่างสูง จึงทำให้สามารถสร้างความเจริญให้แก่วัดสำเร็จลุล่วงได้ในเวลาอันสั้น 

          นอกจากนี้ท่านยังมีความชำนานในการปั้นพระพุทธรูปต่างๆ ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านั้น มักถูกขอไปประดิษฐานตามวัดต่างๆในพื้นที่แม่กลอง

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ หลวงพ่อคง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลบางกะพ้อมและแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์  

         หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านก็ได้พัฒนากิจการงานต่างๆในพระพุทธศาสนา ทำให้ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพถ่ายหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
หลวงพ่อคง ธมมฺโชโต วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม ของคุณปรางค์ อุ้มบาตร

          หลวงพ่อคง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา หลังจากที่ท่านกำลังตกแต่งพระขนง (คิ้ว) ประธานองค์ใหม่ภายพระอุโบสถของวัดแหลนหาย (วัดธรรมโชิต) สมุทรสาคร บนนั่งร้าน หลวงพ่อท่านได้นั่งสมาธิและมรณภาพลงด้วยความสงบ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ นับรวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี พรรษาที่ ๕๘

วัตถุมลคลของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          หลวงพ่อคง ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลากหลายชนิดด้วยกันทั้งเสื้อยันต์ ตะกรุด ลูกอม พระเนื้อผง เหรียญหล่อและเหรียญปั๊มแบบต่างๆ ซึ่งวัตถุมงคลทุกชนิดที่หลวงพ่อสร้างมีพุทธคุณโดดเด่น ชนิดที่เรียกว่าเล่ากันไม่จบไม่สิ้น

          เหรียญหล่ออรุณเทพบุตรหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยขุนอัมพวันนุวัตรเขตร (พอน ศรีสกุล) ปลัดขวาอำเภออัมพวา เป็นผู้หล่อถวาย มีการสร้างด้วยเนื้อทองผสมแก่ทองเหลืองที่เหลือจากการหล่อพระประธานมาสร้าง ลักษณะเป็นเหรียญหล่อรูปไข่ มีหูในตัว มีลักษณะคล้ายเหรียญหล่ออรุณเทพบุตรของหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม แต่ด้านหลังจะเรียบไม่มียันต์ จำนวนการสร้างประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหล่ออรุณเทพบุตร หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม 2460
เหรียญหล่ออรุณเทพบุตรหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ของคุณบุญส่ง ธาดาประดิษฐ์
เหรียญหล่ออรุณเทพบุตรหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ มีเม็ดบัวรองรับเป็นอาสนะ ด้านซ้ายขวาเป็นรูปเทวดาสวมชฏายอดแหลม ในมือถือพระขรรค์ ด้านล่างมีโบว์แต่ไม่มีอักขระใดๆ

          ด้านหลัง เรียบ เกือบทุกเหรียญหลวงพ่อจะจารอักขระยันต์อ่านได้ว่า "อะ ระ หัง"  

          เหรียญหล่อหนุมานแบกพระโมคคัลลาน์-พระสารีบุตร

         สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยค้นพบบนกุฏิของหลวงพ่อ แต่หลวงพ่อไม่ได้นำมาแจก จนเมื่อมรณภาพทางวัดจึงนำออกมาแจกในงานบุพโพ (พิธีเผาน้ำเหลืองและจีวร) ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณรูปใบสาเก สร้างด้วยเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง เหรียญนี้มีชื่อเรียกที่แตกต่างออกไปเช่น เหรียญหล่อหนุมานแบกแท่น เหรียญหล่อหนุมานแบกพระสาวก ซึ่งก็คือเหรียญแบบเดียวกันแบ่งย่อยออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือพิมพ์ อุ บน และพิมพ์ไม่มีอุ

          พิมพ์อุบน บ้างก็เรียกว่าพิมพ์พระบาทชิด เป็นเหรียญหล่อของหลวงพ่อคงที่สร้างน้อยหายาก ออกที่วัดบางกะพ้อม จำนวนการสร้างประมาณ ๒,๕๐๐ เหรียญ
เหรียญหล่อหนุมานแบกพระโมคคัลลาน์-พระสารีบุตร หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พิมพ์อุบน ปี พ.ศ. ๒๔๖๐
เหรียญหล่อหนุมานแบกพระโมคคัลลาน์-พระสารีบุตร หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พิมพ์อุบน ปี พ.ศ. ๒๔๖๐

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานพร มีพระอัครสาวกยืนซ้ายและขวา ด้านล่างมีหนุมานแบกพระอัครสาวกทั้ง ๒ ไว้ พระบาทของพระพุทธเจ้าชิดกับศรีษะของหนุมาน

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "เม อะ มะ อุ นะ มะ พะ ทะ" โดยตัวบนสุดของเหรียญจะเป็นตัว อุ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพิมพ์

          พิมพ์ไม่มี อุ บ้างก็เรียกว่าพิมพ์พระบาทห่าง เป็นเหรียญหล่อที่สร้างแล้วไปออกให้บูชา ที่วัดปากสมุทร จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
 
เหรียญหล่อหนุมานแบกเสมาพิมพ์ไม่มีอุ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม
เหรียญหล่อหนุมานแบกพระโมคคัลลาน์-พระสารีบุตร หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พิมพ์ไม่มี อุ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ของคุณปรางค์ อุ้มบาตร
 
เหรียญหล่อหนุมานแบกพระโมคคัลลาน์-พระสารีบุตร หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พิมพ์ไม่มี อุ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานพร มีพระอัครสาวกยืนซ้ายและขวา ด้านล่างมีหนุมานแบกพระอัครสาวกทั้ง ๒ ไว้ พระบาทของพระพุทธเจ้าจะห่างจากศรีษะของหนุมาน

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ นะ มะ พะ ทะ" โดยจะไม่ปรากฏอักขระตัว อุ ด้านบนสุดของเหรียญ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพิมพ์

          เหรียญพระพุทธหน้าเดียวหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

           สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมาหล่อโบราณเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง มีหูในตัว  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพิมพ์พระพุทธหน้าเดียว หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อโลหะผสม

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ มีอาสนะรองรับ

           ด้านหลัง เรียบในบางเหรียญปรากฏรอยจาร

          เหรียญพระพุทธหลังปีนักษัตรหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ แบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง และเนื้อสัมฤทธิ์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพระพุทธหลังปีนักษัตรหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม2460
เหรียญหล่อพระพุทธหลังปีนักษัตรหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม (ปีแพะ) ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อทองผสม ของคุณปรางค์ อุ้มบาตร

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานบัว ข้างองค์พระมีกนกข้างสวยงาม

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "อุ มะ อะ" ใต้อักขระยันต์มีรูปสัตว์ปีนักสัตว์ต่างๆ

          เหรียญพระพุทธหลังยันต์หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ แบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง และเนื้อสัมฤทธิ์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อพระพุทธหลังยันต์หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม2460
เหรียญหล่อพระพุทธหลังยันต์หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อทองผสม ของคุณปรางค์ อุ้มบาตร

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานบัว ข้างองค์พระมีกนกข้างสวยงาม

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์

           เหรียญพระพุทธพิมพ์หยดน้ำหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ ที่สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง และเนื้อสัมฤทธิ์ แล้วนำมาแต่งพิมพ์ให้เป็นรูปทรงหยดน้ำหรือกลีบบัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธ พิมพ์หยดน้ำ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. 2460
เหรียญพระพุทธ พิมพ์หยดน้ำ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อสัมฤทธิ์

เหรียญพระพุทธ พิมพ์หยดน้ำ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. 2460
เหรียญพระพุทธ พิมพ์หยดน้ำ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อโลหะผสม

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ มีอาสนะรองรับ

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์

          เหรียญหล่อนางกวักหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณแบบมีหูในตัว ที่สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง และเนื้อสัมฤทธิ์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อนางกวักหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม2460
เหรียญหล่อนางกวักหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เนื้อทองผสม

          ด้านหน้า เป็นรูปนางกวักประทับนั่งบนฐานเขียง

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์

          เสื้อยันต์วิรุฬจำบัง หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          เป็นเสื้อยันต์ที่เป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทย มีการตัดเย็บที่ปราณีตกว่าเสื้อยันต์ทั่วไป มีกระดุมไว้สำหรับติดหรือกลัดเสื้อ โดยกระดุมจะมีทั้งที่ทำมาจากงาช้าง เปลือกหอย และกระดุมทั่วไป เชื่อกันว่าเด่นในการคุ้มครองป้องกันใส่เสื้อนี้แล้วศัตรูจะมองไม่เห็น เป็นวิชาที่หลวงพ่อคง ร่ำเรียนมาจากหลวงพ่อปาน วัดโรงธรรม จำนวนการสร้างน้อยมากปัจจุบันหาชมของแท้ๆได้ยาก

เสื้อยันต์วิรุฬจำบังหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม
เสื้อยันต์วิรุฬจำบังหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ของคุณคมศร กลุ่มสารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
เสื้อยันต์วิรุฬจำบังหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม
เสื้อยันต์วิรุฬจำบังหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ของคุณคมศร กลุ่มสารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
เสื้อยันต์วิรุฬจำบังหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          ด้านใน จารอักขระตามตำหรับของหลวงพ่อปาน วัดโรงธรรมผู้เป็นอาจารย์ มีเรื่องเล่ากันว่าหากสวมเสื้อยันต์นี้แล้วข้าศึกและคนที่คิดร้ายจะมองไม่เห็นตัว

          เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ โดย พ.อ. พระยาศรีสุรสงคราม ได้ว่าจ้างนายสนั่น ช่างแกะพิมพ์ข้างวัดสุทัศน์เป็นผู้แกะพิมพ์เหรียญ แล้วจ้างห้างอมราภรณ์ ตึกดิน ปั๊มเหรียญ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่เนื้อทองแดงผสมทองเหลืองมีหูเชื่อม ในบางเหรียญที่ผ่านการใช้จะมีลักษณะเหมือนเหรียญฝาบาตร จำนวนการสร้างประมาณ ๓,๐๐๐ เหรียญ ตัวเหรียญใช้แม่พิมพ์เดียวแต่สามารถแยกออกตามด้านข้างเหรียญมี ๒ พิมพ์ คือ

           ๑. บล็อกข้างเรียบ ด้านข้างของเหรียญมีลักษณะเรียบเนียนไม่มีริ้วรอย ประมาณ ๒,๘๐๐ เหรียญ

           ๒. บล็อกขอบสตางค์ ด้านข้างของเหรียญมีลักษณะเป็นรอยเลื่อยถี่ๆ มีลักษณะขอบเหมือนเหรียญบาท จึงเรียกว่า "ขอบสตางค์" ประมาณ ๒๐๐ เหรียญ ทั้งนี้ขอบสตางค์จะมีราคาแพงกว่าข้างกระบอกเล็กน้อย เนื่องจากหายากกว่า

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ของคุณณัฐวัฒน์ รัตนอุไร

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ปี พ.ศ. ๒๔๘๔

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌาย์คง วัดบางกะพ้อม ชนมายุ ๗๗ ปี พ.ศ. ๒๔๘๔" ด้านล่างมีรูปดอกจันทร์

          ด้านหลัง มีอักขระขอม จำนวน ๔ แถวอ่านได้ว่า "สพฺพพุทธานุภาเวน สพฺพลนฺตาปวชชิโต สพพสมตฺถสมฺปนฺโน สีติภูโตสทาภว" ด้านบนมีการผูกยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "ศิษย์สร้างบูชาพระคุณของหลวงพ่อ" ด้านบนยันต์มีอักขระไทยเขียนว่า "ลาภผลพูนทวี"

          เหรียญปาดตาลหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ มีการสร้างด้วยเนื้อเงินฉลุลงยา และเนื้อทองแดง เหรียญรุ่นปาดตาลนี้ สร้างในสมัยของหลวงพ่อปล้อง เจ้าอาวาสรูปถัดมา เพื่อใช้แจกในงานศพของหลวงพ่อคง ซึ่งสร้างหลังจากหลวงพ่อคงได้มรณภาพแล้ว หรือไม่ทันท่าน

          แต่ด้วยฤทธานุภาพด้านมหาอุตคงกระพัน ที่ว่าโดนกันมานักต่อนัก ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า มีคนถูกแทงด้วยมีดปาดตาล ซึ่งถือว่าเป็นมีดที่คมมากแต่ไม่เข้า หลังจากนั้นชาวบ้านจึงเรียกเหรียญรุ่นดังกล่าวว่า เหรียญปาดตาล และนิยมเล่นหามาจนถึงปัจจุบัน

เหรียญปาดตาล หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เนื้อเงินลงยา ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ของคุณยอดชาย ตั้งศิริกุลพร

เหรียญปาดตาล หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ปี พ.ศ. ๒๔๘๖

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ที่ระลึก"

          ด้านหลัง มีอักขระขอมผูกเป็นยันต์ มีเลขไทยบอกปีที่สร้าง "๒๔๘๖"

           เหรียญปาดตาลหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม บล็อกมรณะ

          สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าฉลุลงยา และเนื้อทองแดง เหรียญรุ่นปาดตาลบล็อกมรณะนี้ สร้างในสมัยของหลวงพ่อไสว พุทธฺสโรเป็นเจ้าอาวาส โดยสร้างตามแบบเหรียญปาดตาลของหลวงพ่อคง ที่แจกในงานศพ แต่ด้านหลังมีคำว่ามรณะ เพื่อใช้แจกให้แก่ผู้ที่ร่วมทำบุญกับทางวัดบางกะพ้อม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญปาดตาล หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เนื้อเงินลงยา บล็อกมรณะ 2504
เหรียญปาดตาลหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เนื้ออัลปาก้าลงยาสีเขียว บล็อกมรณะ ปี พ.ศ. ๒๕๐๔
เหรียญปาดตาล หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เนื้อทองแดง บล็อกมรณะ ปี พ.ศ. 2504
เหรียญปาดตาลหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เนื้อทองแดง บล็อกมรณะ ปี พ.ศ. ๒๕๐๔

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ที่ระลึก"

          ด้านหลัง มีอักขระขอมผูกเป็นยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "มรณะ ๒๔๘๖"

          พระผงพิมพ์เล็บมือ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๔ มีการสร้างด้วยเนื้อผงผสมดินเผาตามตำหรับการลบผงของหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง หลวงพ่อหรุน วัดช้างเผือก และพระอธิการด้วง-พระอธิการทิม วัดเหมืองใหม่ องค์พระมีลักษณะเป็นรูปเล็บมือ

พระพิมพ์เล็บมือ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิ บนฐานชุกชี ๓ ชั้น รอบองค์พระมีเส้นซุ้มทรงระฆังบังคับพิมพ์ล้อไปกับองค์พระ

          ด้านหลัง อูมนูน มีอักขระยันต์ขอมอ่านได้ว่า "อะ อุ"

           พระผงพิมพ์โคนสมอ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างก่อนปี  พ.ศ. ๒๔๘๔ มีการสร้างด้วยเนื้อผงผสมดินตามตำหรับการลบผงของหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง หลวงพ่อหรุน วัดช้างเผือก และพระอธิการด้วง-พระอธิการทิม วัดเหมืองใหม่ องค์พระมีลักษณะเป็นรูปจำลองของพระประธานในภายโบสถ ชาวบ้านมักเรียกกันว่าพระโคนสมอ

พระโคนสมอ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พิมพ์พระประธาน

พระโคนสมอหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สมาธิ
พระโคนสมอหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พิมพ์สมาธิ

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งปารมารวิชัย หรือบางพิมพ์จะเป็นปางสมาธิ บนฐานชุกชีพาดด้วยผ้าทิพย์ รอบองค์พระมีเส้นซุ้มทรงระฆังครอบบังคับพิมพ์ล้อไปกับองค์พระ องค์พระอวบอิ่มลึกและคมชัด

          ด้านหลัง เรียบในบางองค์มีรอยจาร

          พระผงพิมพ์พระสังกัจจายน์ มะอะอุ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๔ มีการสร้างด้วยเนื้อผงผสมดินตามตำหรับการลบผงของหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง หลวงพ่อหรุน วัดช้างเผือก และพระอธิการด้วง-พระอธิการทิม วัดเหมืองใหม่ องค์พระมีลักษณะเป็นรูปจำลองของพระสังกัจจายน์ ทรงสามเหลี่ยม

พระสังกัจจายน์ มะอะอุ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์พระสังกัจจายน์ บนฐานเขียง รอบองค์พระมีเส้นซุ้มทรงระฆังบังคับพิมพ์ล้อไปกับองค์พระ ภายในฐานเขียงมีอักขระยันต์ อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ"

          ด้านหลัง เรียบในบางองค์มีรอยจาร

          ลูกอมมหากัน หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นวิชาที่หลวงพ่อคงไปเล่าเรียนมาจากหลวงพ่อไล้ วัดเขายี่สาร แต่ลูกอมของท่านจะไม่ได้คลุกลัก มีการสร้างด้วยกัน ๒ แบบคือแบบลงรักถักเชือก และแบบเปลือยในตลับเงิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

ลูกอมมหากัน หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม
ลูกอมมหากัน หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

ลูกอมมหากัน หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม
ลูกอมมหากัน หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          เป็นเครื่องรางที่ต้องจดจำรายละเอียดความเก่าและการถักให้ดี เพราะจัดเป็นเครื่องรางที่มีการปลอมแปลงกันมาก เช่าหาควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

          ตะกรุดหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จัดเป็นของดีที่หาได้ยากของหลวงพ่อคง โดยการถักนั้นจะเป็นเอกลักษณ์คือเป็นลายจรเข้ขบฟัน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ตะกรุดหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม
ตะกรุดหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

ตะกรุดหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม
ตะกรุดหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

             เป็นเครื่องรางที่ต้องจดจำรายละเอียดความเก่าและการถักให้ดี เพราะจัดเป็นเครื่องรางที่มีการปลอมแปลงกันมาก เช่าหาควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

          ด้านพุทธคุณของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อมนั้น มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า มีพุทธคุณด้านคงกระพัน โดยเฉพาะเหรียญรุ่นปาดตาล หรือแม้กระทั้งคลาดแคล้ว เมตตามหานิยมก็มิได้เป็นรองใครวมดังคำของอาจารย์เภาที่ว่า

รูปหล่อจำลองหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

          เมื่อครั้งอาจารย์เภา ศกุนตะสุต ปรมาจารย์เหรียญผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ยังมีชีวิตอยู่ มีผู้เรียนถามท่านว่า

 "...หลวงปู่ศุขวัดมะขามเฒ่า หลวงปู่เฒ่าวัดหนัง หลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติ อาจารย์เภาจะเลือกพระเถระองค์ใดว่าท่านเด่นดังมากที่สุด..."

อาจารย์เภาตอบว่า

"...ฉันขอเลือกหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เพราะว่าท่านเป็นหลวงพ่อของฉัน ถึงจะยิงกันฉันก็ไม่กลัว..."

          จากหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า อาจารย์เภา ศกุนตะสุต ท่านมีความเชื่อมั่น และเคารพหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม อยู่เหนือพระเถระองค์อื่นๆ ทั้งหมด นี้เป็นประสบการณ์จากการสนทนากับปรมาจารย์เหรียญ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าทรงคุณวุฒิทางด้านนี้อย่างแท้จริง.



หนังสือของ คุณสามารถ คงสัตย์
โดย : สารานุกรมลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อ


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้