ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน เจ้าของเหรียญหล่อ ๑ ในเบญจภาคีของไทย
หลวงปู่รอด พุทธสณฺโฑ วัดบางน้ำวน ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ |
หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน หรือ หลวงพ่อรอด "พุทธสณฺโฑ" วัดบางน้ำวน พระเกจิผู้เข็มขลังแห่งสมุทรสาคร เดิมท่านเป็นชาวปทุมธานี มีเชื้อสายมอญ-รามัญ
หลวงปู่รอดท่านเกิดเมื่อวันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๔ โยมบิดาชื่อ ทองดี บุญส่ง โยมมารดาชื่อ เกษม บุญส่ง ครอบครัวท่านเป็นคหบดีชาวมอญ
ภาพถ่ายหลวงพ่อรอด วัดบางน้ำวน สมุทรสาคร ของคุณโสฬส๑๖ |
หลวงปู่แค วัดบางน้ำวน พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่รอด |
หลังจากที่บิดา-มารดาของหลวงปู่รอดได้ยกท่านให้แก่พระอุปัชฌาย์แคแล้ว ปรากฏว่าหลวงปู่รอด ท่านก็เป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายหายจากโรคภัยนานาที่รุมเร้า พระอุปัชฌาย์แค จึงตั้งชื่อให้ท่านว่า "รอด" ตั้งแต่บัดนั้นมา
ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ หลวงปู่รอด มีอายุได้ ๑๒ ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ศึกษาเล่าเรียนกับพระอุปัชฌาย์แค ที่วัดบางน้ำวนจนกระทั่ง อายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางน้ำวน ตำบลบางโทรัด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า "พุทธสณฺโฑ" โดยมี
พระอุปัชฌาย์แค วัดบางน้ำวน เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์แจ้ง วัดใหญ่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
พระอาจารย์ปัน วัดใหญ่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ภาพถ่ายเก่าหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน (นั่งซ้ายมือองค์แรก) |
เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่รอดก็ได้ปรนนิบัติรับใช้และศึกษาวิทยาคมต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์แค จนหมดสิ้นในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องด้วยหลวงปู่รอดเป็นผู้มีปัญญาไหวพริบดีเกินกว่าใครๆ นอกจากนี้หลวงปู่รอด ท่านยังมีอุปนิสัยรักสงบ จึงมุ่งมั่นปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัด มีจริยวัตรที่งดงาม
ภาพถ่ายเก่าของหลวงปู่รอด พุทธสณฺโฑ วัดบางน้ำวน |
ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ หลวงปู่รอดได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดบางน้ำวน หลังจากที่พระอุปัชฌาย์แคมรณภาพลง ชาวบ้านบางน้ำวนจึงได้ทำการนิมนต์หลวงปู่รอด ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน
หลังจากได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจนเจริญรุ่งเรือง โดยได้รับความร่วมมืออันดีจากชาวบ้านบางน้ำวน เนื่องด้วยหลวงปู่รอดเป็นพระที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก
นอกจากจะพัฒนาวัดของท่านแล้วท่านยังช่วยเหลือวัดอื่นๆ อีกด้วย เรื่องของการศึกษาท่านก็ได้จัดให้มีการสอนพระปริยัติธรรม และสร้างโรงเรียนประชาบาลให้เด็กๆ ในแถบนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนชื่อ "โรงเรียนรอดพิทยาคม"
ภาพถ่ายเก่าของโรงเรียนรอดพิทยาคม |
ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลบางโทรัด
ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูชั้นประทวน และเป็นกรรมการศึกษา
หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ นับรวมสิริอายุได้ ๘๑ ปี ๖๑ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
หลวงปู่รอด ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่งกล้าทางด้านวิทยาคมมาก ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างเช่น ตะกรุดโทน เหรียญหล่อ เหรียญปั๊มรุ่นแซยิด เหรียญหล่อพิมพ์พนมมือ เหรียญปั๊มเสมา เสื้อยันต์ เครื่องรางไม้แกะ
หลวงปู่รอด พุทธสณฺโฑ วัดบางน้ำวน ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ |
ซึ่งวัตถุมงคลที่สร้างแต่ละอย่างล้วนเป็นของหายากและมีคุณวิเศษอย่างล้ำลึกเป็นที่แสวงหาของคนทั้งประเทศ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๖๕
เหรียญหล่อสามเหลี่ยมหลวงปู่รอด
สร้างด้วยเนื้อทองผสม ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๖๐-๒๔๖๕ ตามประวัติเล่าว่า หลังจากที่หลวงปู่แค ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์และบิดาบุญธรรมของหลวงปู่รอด ได้มรณภาพลง หลวงปู่รอดท่านก็ได้ติดต่อช่างมาปั้นหุ่นรูปเหมือนหลวงปู่แคขนาดเท่าองค์จริง เพื่อไว้บูชากราบไหว้ อันแสดงถึงความกตัญญูกตเวที
รูปหล่อจำลองหลวงปู่แค หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน สมุทรสาคร |
การหล่อรูปเหมือนในครั้งนี้ ทางคณะศิษย์วัดบางน้ำวนได้จัดงานกันครั้งยิ่งใหญ่ และได้ประกอบพิธีเททองหล่อพระรูปหล่อ แบบสามเหลี่ยม ในลักษณะนั่งยกขอบด้านหลังเรียบ หล่อด้วยเนื้อทองผสมสีเหลืองอมแดงและ เหลืองอมเขียว
พระชุดนี้หลวงพ่อหงส์ วัดบางพลี ศิษย์ของหลวงปู่รอด บอกว่าสร้างรวมกันถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่าพระธรรมขันธ์ โดยหลวงปู่รอดได้แจกจ่ายให้กับผู้มาช่วยงานโดยเฉพาะ ส่วนที่เหลือนำมาบรรจุไว้ในเจดีย์หน้าวัดสามารถแบ่งเป็นพิมพ์ต่างๆ ได้ดังนี้
พิมพ์พนมมือข้างเดียว
ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่มีหู สร้างด้วยเนื้อทองผสม องค์ที่โดนอากาศจนเกิดอ็อกไซค์จะมีสีเหลืองอมแดง ส่วนในบางองค์จะมีเนื้อสีเหลืองอมเขียว
เหรียญหล่อสามเหลี่ยมพิมพ์พนมมือข้างเดียว หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ของร้านเล็ก เจริญนคร |
เหรียญหล่อสามเหลี่ยมพิมพ์พนมมือข้างเดียว หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ของร้านเล็ก เจริญนคร |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่ง ปางพนมมือ ขอบสามเหลี่ยมขององค์พระยกสูง มือข้างขวาขององค์พระยกขึ้นคล้ายประทานพร ใต้องค์พระมีฐานบัวหงายเป็นอาสนะ
ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ ใต้ฐานขององค์พระมีรอยชนวนรูปสามเหลี่ยมซึ่งถือเป็นการต่อชนวนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระรุ่นนี้
พิมพ์พนมมือสองข้าง
ขนาดเท่ากับพิมพ์พนมมือข้างเดียว องค์พระมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่มีหู สร้างด้วยเนื้อทองผสม
องค์ที่โดนอากาศจนเกิดอ็อกไซค์จะมีสีเหลืองอมแดง
ส่วนในบางองค์จะมีเนื้อสีเหลืองอมเขียว
เหรียญหล่อสามเหลี่ยมพิมพ์พนมมือ ๒ ข้าง หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่ง ปางพนมมือ ขอบสามเหลี่ยมขององค์พระยกสูง มือทั้งสองข้างมีลักษณะพนมมือ ใต้องค์พระมีฐานบัวหงายเป็นอาสนะ
ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ ใต้ฐานขององค์พระมีรอยชนวนรูปสามเหลี่ยมซึ่งถือเป็นการต่อชนวนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระรุ่นนี้
พิมพ์แจกแม่ครัว
องค์พระมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองผสม
องค์ที่โดนอากาศจนเกิดอ็อกไซค์จะมีสีเหลืองอมแดง
ส่วนในบางองค์จะมีเนื้อสีเหลืองอมเขียว จำนวนการสร้างน้อยมาก จัดเป็นเหรียญหล่อที่หายากของหลวงพ่อ
เหรียญหล่อสามเหลี่ยมพิมพ์แจกแม่ครัว หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิ ปางพนมมือ ขอบสามเหลี่ยมขององค์พระยกสูง มือทั้งสองข้างมีลักษณะพนมมือ ใต้องค์พระมีฐานบัวหงายเป็นอาสนะ
ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ ใต้ฐานขององค์พระมีรอยชนวนรูปสามเหลี่ยมซึ่งถือเป็นการต่อชนวนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระรุ่นนี้
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗
เหรียญหล่อแซยิด หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งตรงกับปีที่หลวงพ่อมีอายุ ครบ ๗๒ ปี ชาวบ้านบางน้ำวนได้พร้อมใจกันจัดงานฉลองแซยิดให้หลวงปู่รอด ในงานดังกล่าวได้มีการจัดสร้างเหรียญจอบไว้เป็นที่ระลึก มีทั้งที่เป็นเหรียญหล่อและเหรียญปั๊ม โดยเหรียญหล่อนั้นถือเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูงสุดของหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ถูกจัดอยู่ในเบญจภาคีเหรียญหล่อ ในองค์ที่มีสภาพสวยๆราคาทะลุ ๗ หลักไปอย่างง่ายดาย
เหรียญหล่อแซยิดนี้ มีลักษณะเป็นเหรียญรูปจอบ สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง มีหูสำหรับห้อยพระในตัว
เหรียญหล่อแซยิด หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงปู่รอด ในลักษณะนั่งมีอาสนะรองรับ องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มือทั้งสองข้างจับที่หัวเข่า มีอักขระไทยซ้ายขวา อ่านว่า "วัดบาง น้ำวน" ใต้องค์พระมีอักขระไทยอ่านว่า "พุทธสัณโท งานแซยิด พศ ๒๔๗๗" ข้างขอบของเหรียญมีเส้นนูนล้อไปกับพิมพ์พระ
ด้านหลัง เรียบในบางองค์มีรอยจาร
เหรียญปั๊มแซยิด หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
เป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อย ตัวเหรียญมีลักษณะเป็นเหรียญรูปจอบ สร้างด้วยเนื้อทองแดง มีหูสำหรับห้อยพระในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญปั๊มแซยิด หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ปีพ.ศ. ๒๔๗๗ |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงปู่รอด ในลักษณะนั่งมีอาสนะรองรับ องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มือทั้งสองข้างจับที่หัวเข่า ด้านข้างมีอักขระไทยซ้าย-ขวา อ่านว่า "วัดบาง น้ำวน" ใต้องค์พระมีอักขระไทยอ่านว่า "พุทธสัณโท งานแซยิด พ.ศ. ๒๔๗๗" ข้างขอบของเหรียญมีเส้นนูนล้อไปกับพิมพ์พระ
ด้านหลัง เรียบในบางองค์มีรอยจาร
เหรียญหล่อหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน แจกกรรมการ
เหรียญหล่อพิมพ์นี้จัดเป็นพิมพ์ที่หายากมากอีกพิมพ์หนึ่ง มีลักษณะเป็นเหรียญหล่อสี่เหลี่ยม สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง ไม่มีหูสำหรับห้อยพระ จำนวนการสร้างน้อยมาก แต่ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหล่อหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน พิมพ์แจกกรรมการ ของคุณเอก อัมพวา |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงปู่รอด ในลักษณะนั่งมารวิชัย มีอาสนะรองรับ องค์หลวงปู่ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างขอบของเหรียญมีเส้นนูนล้อไปกับพิมพ์พระ
ด้านหลัง เรียบในบางองค์มีรอยจาร
ปี พ.ศ. ๒๔๘๒
เหรียญปั๊มเสมาหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
หลวงปู่รอด สร้างเป็นที่ระลึกได้รับสถาปนาฯ เป็นพระครู เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒
เหรียญรุ่นนี้สร้าง เป็นรุ่นสุดท้ายของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมาแบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญปั๊มเสมา หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า มีรูปหลวงปู่รอดครึ่งองค์ ด้านล่างมีอักษร "พระครูรอต" ใช้(ต.เต่า สะกด)
ด้านหลัง แบบเรียบมีอักขระ ๕ โดยที่แถว ๔ แถวเเรกเป็นอักขระขอมอ่านได้ความว่า "อรหัง ชัยยะ
ยาวะเท อายอะเย" แถวล่างสุดเป็นภาษารามัน
เครื่องรางของขลังหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
หลวงปู่รอด ท่านได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้มากมายทั้งตะกรุด เสื้อยันต์ แผ่นปิดหัวเสา เครื่องรางไม้แกะต่างๆ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเครื่องรางบางอย่างที่น่าจดจำและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังนี้
คชสิงห์หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
คชสิงห์ไม้แกะหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ของคุณธนาคม ว่องไว |
คชสิงห์ไม้แกะหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ของคุณธนาคม ว่องไว |
ที่ฐานของคชสิงห์จะมีรอยจารด้วยเหล็กจารอักขระยันต์ตามตำราของหลวงปู่รอด ถือเป็นเครื่องรางยุคต้นของหลวงปู่ ที่เป็นที่แสวงหาเป็นอย่างยิ่ง
เสื้อยันต์หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
สร้างด้วยผ้าลินินสีขาว ลักษณะเหมือนเสื้อยันต์ทั่วไป ตัวเสื้อไม่ได้มีการตัดเย็บที่ปราณีตแบบเสื้อวิรุฬจำบังของหลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม
แต่มีการลงอักขระที่เป็นมาตราฐานของหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
มีการลงอักขระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
เสื้อยันต์หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน |
การลงอักขระจะลงด้วยดินสอดำ มูลเหตุในการจัดสร้างเพื่อให้ทหารไว้ออกไปรบในสงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง
สร้างด้วยแผ่นโลหะทองแดงหรือแผ่นโลหะทองเหลือง โดยชาวบ้านจะเป็นผู้นำแผ่นโลหะมาให้หลวงปู่จารอักขระต่างๆ
แผ่นยันต์ดวงปิดหัวเสา หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน |
ใช้สำหรับติดหัวเสาของบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล หรือใช้ทำน้ำมนต์ ตัวแผ่นโลหะมีทั้งที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมและแผนวงกลม จัดเป็นเครื่องรางที่เป็นมาตราฐานอีกชิ้นหนึ่งของหลวงปู่ ปัจจุบันหาชมของแท้ได้ยาก
ด้านพุทธคุณ วัตถุมงคลของหลวงปู่รอด ทุกชิ้นเลื่องลือเป็นที่รู้จักในด้านอยู่ยง คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม ได้ดีเลิศ
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
Facebook : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
Facebook Group : กลุ่มสารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น