หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ หรือ พระครูสกลวิสุทธิ์ (เหมือน สุวณฺณรตฺตโน) ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์อีกท่านหนึ่งของลุ่มน้ำแม่กลอง ที่อาจไม่เป็นที่คุ้นหูของนักสะสมพระเครื่องส่วนกลางเท่าใดนัก
เนื่องจากในพื้นที่สมุทรสงครามมีพระเกจิอยู่อย่างมากมาย แต่ท่านก็ถือว่าเป็นพระเกจิที่โด่งดังมากในพื้นที่แม่กลอง เนื่องด้วยวัตถุมงคลของหลวงพ่อเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณ วัตถุมงคลบางอย่างจัดเป็นของหายากในปัจจุบัน
หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้าน ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเกิดวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๗ โยมบิดาชื่อนายพ่วง รอดยันต์ โยมมารดาชื่อนางบัว รอดยันต์
ในวัยเด็กท่านเป็นเด็กที่เฉลี่ยวฉลาดกว่าเด็กทั่วไป โยมบิดาและโยมมารดาของท่านจึงนำท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้ได้เล่าเรียนเขียนอ่านกับเจ้าอธิการพูน วัดกลางเหนือ
ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ หลวงพ่อเหมือน ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดกลางเหนือ ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "สุวณฺณรตฺตโน" แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการจดบันทึกหลักฐานว่ามีพระอุปัชฌาย์ และพระครูสวด เป็นท่านใด
หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดกลางเหนือเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและวิชาอาคมต่างๆ
ต่อมาพระอธิการพูน เจ้าอาวาสวัดกลางเหนือได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเหมือน ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลางเหนือ ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
ภาพถ่ายหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ สมุทรสงคราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของคุณภาณุ เกตุแก้ว |
วัดกลางเหนือ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย วัดตั้งอยู่ในตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยที่ตั้งด้านหน้าติดแม่น้ำแม่กลอง อีกด้านติดอยู่กับคลองโรงหีบ
วัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๓ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง เดิมกุฎิสงฆ์ปลูกไว้รอบพระอุโบสถ โดยปลูกไว้ในสระเป็นหลังๆ
ปัจจุบันกุฎิได้ย้ายมาที่ตั้งในปัจจุบัน มีหลักฐานในพระราชพงศาวดารพระเจ้ากรุงธนบุรี กล่าวว่า "หลวงยกกระบัตร (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ได้ล่องเรือจากราชบุรีมาตามลำน้ำแม่กลองผ่านวัดกลาง..."
ในสมัยก่อนนั้นมีวัดกลางใต้ซึ่งอยู่ถัดลงไป แต่ปัจจุบันได้ร้างไปแล้วและเป็นธรณีสงฆ์ของวัดกลางใต้ได้ถูกยุบรวมกับวัดกลางเหนือแล้ว
วัดกลางเหนือ ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม |
หลังจากที่หลวงพ่อเหมือนได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้หลวงพ่อเหมือน ท่านยังเป็นครูสอน ทำการสอนทั้งหนังสือ และวิชาการอย่างอื่นๆ โดยสมันนั้นนิยมเรียนกันตัวต่อตัว โดยท่านได้สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นเพื่อสอนปริยัติธรรมให้กับพระ เณร ภายในวัดและระแวกใกล้เคียง
ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ หลวงพ่อเหมือน ท่านได้สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้น เพื่อสอนปริยัติธรรมให้กับพระ เณร ภายในวัดและระแวกใกล้เคียง และสร้างโรงเรียนวิชาภาษาไทยขึ้นเป็นแห่งแรกในอำเภอบางคนที
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี (สมัยนั้นแม่กลองขึ้นกับราชบุรี) ถึงวัดกลางเหนือ เมื่อวันที่ ๒๔ พศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๐.๒๘ น.
ท่านได้ชื่นชมหลวงพ่อเหมือนที่เห็นคุณค่าของการศึกษาหลังตรวจเยี่ยมแล้ว ท่านทรงเปิดคลุมป้ายนามโรงเรียน "โรงเรียนตัวอย่างวัดกลางเหนือ อำเภอบางคนที"
เสร็จพิธีเปิดโรงเรียนแล้ว ท่านได้เสด็จโบสถ์ ทรงนมัสการพระ เสร็จสิ้นแล้วได้ประทานย่ามตรามหาสมณุตมาภิเษกแก่พระอธิการเหมือน และประทานกัปปิยภัณฑ์เท่าพระชนมพรรษาเป็นจำนวนราคา ๕๖ บาท เป็นส่วนทรงช่วยบำรุงโรงเรียน
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ทางราชการรับเป็นโรงเรียนของรัฐขยายการศึกษาเปิดสอนตั้งแต่ประถมปีที่ ๑–๔ และมัธยมศึกษาปีที่ ๑– ๓
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อเหมือนที่ได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ พระครูสกลวิสุทธิ์
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ทางราชการได้ตัดชั้นประถมศึกษาออกทั้งหมด คงไว้แต่มัธยมศึกษาและขยายออกไปจนถึงมัธยมบริบูรณ์ (ปัจจุบันโรงเรียนสกลวิสุทธิ์เปิดสอนแผนกอาชีวศึกษาด้วย)
ในสมัยที่หลวงพ่อเหมือนเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้มีการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซม และสร้างใหม่ โดยมีพุทธศาสนิกชนให้ความร่วมมือบริจาคสินทรัพย์เป็นจำนวนมาก
ทำให้วัดกลางเหนือมีศาสนสถานและศาสนวัตถุที่มั่นคงถาวร ตั้งแต่อุโบสถ ศาลาการเปรียญทรงไทย กุฏิสงฆ์ทรงไทย และสมัยใหม่ ศาลาท่าน้ำ หอฉัน ตลอดจนอาคารเรียน ฯลฯ
อุโบสถสร้างใหม่ ก่ออิฐถือปูน งดงามมาก ผนังอุโบสถเป็นรูปเทพนม เรื่องรามเกียรติ์ เหนือผนังอุโบสถสร้างเป็นวิมาน พระประธานในอุโบสถสร้างด้วยศิลาแดง ปางมารวิชัยแบบสุโขทัยคู่มากับวัด และเจดีย์ใหญ่หน้าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ยอดเจดีย์
พระครูสกลวิสุทธิ์ หรือ หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ |
หลวงพ่อเหมือน ท่านศึกษาร่ำเรียนวิชาจากหลวงพ่อกลัด วัดบางพรม ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ร่ำเรียนวิชามหาอุตม์ การทำผ้าเช็ดหน้ามหานิยม เชือกถักคาดเอว การทำผงอิทธิเจ มหาราช ปถมัง ธงค้าขาย และคาถาเมตตามหานิยม
นอกจากนี้ท่านยังฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อร่ำเรียนวิชาทางเมตตามหานิยมเพิ่มเติมอีกด้วย วัตถุมงคลของท่านจึงเข้มขลังและมีพุทธคุณมากมาย ชาวบ้านต่างๆ ที่ได้รับวัตถุมงคลของท่านไปต่างมีประสพการณ์ต่างๆมากมาย
นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่มีความเมตตาเป็นอย่างสูง ท่านได้อนุญาติให้ชาวบ้านโพธารามนิมนต์พระพุทธรูปหินทรายที่เป็นพระประธานของวัดกลางใต้
ให้กับคณะชาวบ้านวัดกำแพงใต้ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อไปเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดกำแพงใต้ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโสรชัย วัดกำแพงใต้
หลวงพ่อเหมือน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓ นับสิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี ๙ เดือน ๗๕ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ
อิทธิวัตถุมงคลของหลวงพ่อ มีทั้ง ตะกรุด ผ้ายันต์ พระเครื่องเนื้อโลหะ
และพระเนื้อดินเผา ที่รู้จักกันดีเป็นเหรียญรูปเหมือนของท่าน โดยวัตถุมงคลของหลวงพ่อโดดเด่นด้านเมตตา มหานิยม
เหรียญหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงพ่อเหมือนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ ‘พระครูสกลวิสุทธิ์’ และเพื่อเป็นการฉลองตำแหน่งดังกล่าว ทางคณะศิษย์ฯ ได้ทำการของอนุญาติหลวงพ่อ จัดทำเหรียญรุ่นแรกของท่านขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ญาติโยมที่มารวมงานและบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื้อยรูปทรงหยดน้ำ แบบมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงอย่างเดียวเท่านั้นโดยมีทั้ง กระไหล่ทอง และ กระไหล่เงิน โดยทุกเหรียญต้องเป็นเหรียญข้างเลื่อยเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ บางตำรากล่าวกันว่าสร้างประมาณ ๕๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน |
ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเหมือนนั่งเต็มองค์เอามือทั้งสองจับที่เข่า ด้านบนรูปเหมือนมีอักษรไทยจารึกว่า "พระครูสกลวิสุทธิ์ (เหมือน สุวณฺณรตฺตโน)" ด้านล่างรูปเหมือนมีตัวเลขปีสร้าง "๒๔๗๕"
ด้านหลัง ตรงกลางเหรียญมียันต์อักขระขอม อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ซึ่งก็คือ หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์ ยันต์นี้บางท่านเรียกว่า "ยันต์น้ำเต้า" บ้างเรียก "ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์" ด้านบนมียันต์ตัวอุณาโลม จำนวน ๓ ตัว
พระกลีบบัว หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ รุ่นแรก
สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงพ่อเหมือนท่านสร้าง พระพิมพ์กลีบบัว เนื้อผงดำ นี้ไว้โดย มอบหน้าที่ให้ อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว ซึ่งเป็นอาจารย์สักยันต์ผู้มีชื่อเสียงของเมืองแม่กลอง และเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย หลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม โดยขณะนั้นอาจารย์รื่น มาพำนักที่วัดกลางใต้ (ปัจจุบันเป็นวัดร้างและถูกยุบแล้ว) เป็นผู้เขียนลบผงพุทธคุณ เพื่อมาใช้เป็นมวลสารหลัก ด้วยหลวงพ่อเหมือนเชื่อมั่นในการลบผงของอาจารย์รื่น ว่าท่านทำผงได้ขลังจริง
อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว |
โดยสร้างพระได้จำนวนไม่มาก มอบให้ศิษย์ที่มาบวชเรียนอยู่ใกล้ชิด ปรากฏมีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ครอบจักรวาล มีชื่อเสียงได้รับความนิยมมากแบ่งออกเป็น
พระกลีบบัว พิมพ์ใหญ่ข้างยันต์หลังเรียบ (นิยม) รุ่นแรก
พระกลีบบัวหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ รุ่นแรก ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พิมพ์ใหญ่หลังเรียบ ของคุณเบนจมิน ท่าพระจันทร์ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปางสมาธิพาดผ้าสังฆาฏิ ฐานมีกลีบบัว ๙ กลีบ มีอักขระยันต์ทั้งด้านข้างซ้านและขวา ขององค์พระ
พระกลีบบัว พิมพ์เล็กข้างยันต์หลังยันต์
สร้างด้วยเนื้อดินผสมผง พิมพ์กลีบบัว แต่มีขนาดเล็กกว่าพิมพ์ใหญ่ รายละเอียดในพิมพ์พระด้อยกว่าพิมพใหญ่ เนื้อองค์พระเป็นสีดำละเอียด ไม่มีกรวดทรายในองค์พระ
พระกลีบบัวหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ รุ่นแรก ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พิมพ์เล็กหลังเรียบ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปางสมาธิพาดผ้าสังฆาฏิ ฐานมีกลีบบัว ๙ กลีบ มีอักขระยันต์ทั้งด้านข้างซ้านและขวา ขององค์พระ
พระกลีบบัว หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ รุ่นสอง พิมพ์เล็กหลังยันต์
สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังจากที่พระกลีบบัวรุ่นแรกหมดไป หลวงพ่อเหมือนท่านจึงได้สร้างพระพิมพ์กลีบบัว เนื้อผงดำขึ้นอีกครั้ง โดยใช้แม่พิมพ์ด้านหน้าที่ชำรุดไม่มากของพิมพ์เล็กมากดพิมพ์ใหม่ แต่ด้านหลังแกะพิมพ์พระขึ้นมาใหม่ให้มียันต์ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระกลีบบัวหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พิมพ์เล็กข้างยันต์หลังยันต์ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปางสมาธิพาดผ้าสังฆาฏิ ฐานมีกลีบบัว ๙ กลีบ มีอักขระยันต์ทั้งด้านข้างซ้านและขวา ขององค์พระ
พระกลีบบัว หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ รุ่นสอง พิมพ์ใหญ่ยันต์เล็กหลังเรียบ
สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังจากที่พระกลีบบัวรุ่นแรกหมดไป หลวงพ่อเหมือนท่านจึงได้สร้างพระพิมพ์กลีบบัว เนื้อผงดำขึ้นอีกครั้ง โดยมีการแกะพิมพ์พระขึ้นมาใหม่ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระกลีบบัวหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พิมพ์ใหญ่-ยันต์เล็ก |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปางสมาธิพาดผ้าสังฆาฏิ ฐานมีกลีบบัว ๙ กลีบ มีอักขระยันต์ทั้งด้านข้างซ้านและขวาขององค์พระ โดยยันต์จะมีขนาดเล็กแต่แกะได้สวยงาม
พระกลีบบัว หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ รุ่นสอง พิมพ์ใหญ่หลังยันต์
สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังจากที่พระกลีบบัวรุ่นแรกหมดไป หลวงพ่อเหมือนท่านจึงได้สร้างพระพิมพ์กลีบบัว เนื้อผงดำขึ้นอีกครั้ง โดยมีการแกะพิมพ์พระขึ้นมาใหม่ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระกลีบบัวหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พิมพ์ใหญ่-หลังยันต์ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธนั่งปางสมาธิพาดผ้าสังฆาฏิ ฐานมีกลีบบัว ๙ กลีบ
ผ้ายันต์สรงน้ำหลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เนื่องในโอกาสที่หลวงพ่อเหมือน มีอายุครบ ๙๐ ปี ทางคณะศิษย์ฯ จึงจัดงานสรงน้ำหลวงพ่อเหมือนขึ้นในวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๖ และในงานนี้เองได้มีการสร้างผ้ายันต์ ที่ระลึกในงานสรงน้ำทำบุญอายุหลวงพ่อเหมือนครบ ๙๐ ปี จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ผ้ายันต์ที่ระลึกในงานสรงน้ำ หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ |
บนผ้ายันต์เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเหมือนนั่งสมาธิเต็มรูป ลงสีเหลืองบริเวณผ้าจีวรดูสวยงาม ด้านข้างรูปเหมือนมียันต์นะภัทรกัปป์ (นะ โม พุท ธา ยะ) และอักขระขอม ‘อิ สวา สุ’ และยันต์เฑาะว์ขัดสมาธิ ๒ ตัว มีข้อความว่า "พระครูสกลวิสุทธิ ที่ระลึกในงานสรงน้ำ เมื่ออายุ ๙๐ ปี ๑๙ เมษายน ๒๔๙๖"
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น