หลวงพ่อเกีย วัดภุมรินทร์ สมุทรสงคราม |
สมัยก่อนคนไม่ทราบประวัติของท่านถึงขนาดยกให้ท่านเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม แต่พอสืบค้นกันอย่างจริงจังถึงได้ทราบว่าเป็นพระในยุคเดียวกัน
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ประวัติที่ชัดเจน ของหลวงพ่อเกีย ไม่มีการจดบันทึกไว้ ทราบแต่เพียงว่าท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๔๑๕ โดยไม่ปรากฏชื่อของโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน
หลวงพ่อเกีย วัดภุมรินทร์กุฏิทอง จ.สมุทรสงคราม |
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อเกีย ท่านมีอายุครบวชพอดี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางลี่กุฎิทอง ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "พรหมโชโต" โดยมี
พระปลัดทิม วัดบางลี่บน (วัดบางลี่กุฎิทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางลี่บนเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐาน และวิชาอาคมต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์จนสำเร็จวิชาต่างๆ
หลวงพ่อเกีย วัดภุมรินทร์กุฏิทอง จ.สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อเกียถือเป็นพระเกจิอาจารย์สำคัญอีกรูปหนึ่งของเมืองแม่กลองในสมัยก่อน ท่านเป็นศิษย์ใกล้ชิดของหลวงพ่อพระปลัดทิม วัดบางลี่บน หรือวัดบางลี่กุฎิทอง พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองสมุทรสงคราม
ซึ่งเดี๋ยวนี้เหลือแต่ชื่อ เพราะปัจจุบันแม่น้ำแม่กลองได้กัดเซาะพื้นที่วัดจนพังหมดแล้ว และได้ย้ายกุฎิทองหลังดังกล่าว มาปลูกสร้างในพื้นที่วัดภุมรินทร์ ชาวบ้านจึงเรียกวัดภุมรินทร์ ว่าวัดวัดภุมรินทร์กุฎิทอง มาจนถึงปัจจุบัน
ท่านสามารถพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างตาเห็น โดยร่ำเรียนวิชามาจากพระอาจารย์ที่เคยพยากรณ์ดวงชะตาของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระราชินีในรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่ครั้งยังเล็ก
ลูกศิษย์ของท่านมีมากมายทั้ง หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม วัดหนองบัว และศิษย์ใกล้ชิดอย่างหลวงพ่อเกีย วัดภุมรินทร์
พระปลัดทิม วัดบางลี่บน พระอาจารย์ของหลวงพ่อเกีย |
ครั้นต่อมาเจ้าอาวาสวัดภุมรินทร์ได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านจึงเดินทางมานิมนต์หลวงพ่อเกีย ไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดภุมรินทร์กุฎีทอง เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเถรวาท สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งเหนือของปากคลองประชาชมชื่น (คลองบางลี่) ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
เป็นวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดที่มีทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ และสิ่งเคารพภายในวัด รวมทั้งมีทัศนียภาพที่เหมาะสม ควรแก่การเยี่ยมชม
จากหลังฐานโบราณบันทึกไว้ว่าวัดภุมรินทร์กุฎีทองเป็นวัดโบราณ ข้อมูลจากกรมการศาสนาระบุว่า เริ่มเป็นวัดมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๓๓๐ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง ต่อมาครอบครัวของนางภู่ สามีไม่ปรากฏ เป็นเถ้าแก่โรงหีบอ้อยอยู่จังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยลูกสาว ลูกเขย และเครือญาติ
ได้ร่วมกันจัดสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ให้แก่วัด อาทิ อุโบสถ (ต่อมาสร้างใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐) ศาลาการเปรียญ กุฎิ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๑ และได้รัวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖
นางภู่ และครอบครัว (พงษ์พิทักษ์) เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ได้การคลองบางจาก ตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม (บริเวณนี้ สมัยโบราณมีวัดร้าง ชื่อว่า วัดตะลิงปลิง)
ภาพถ่ายหลวงพ่อเกีย วัดภุมรินทร์กุฏิทอง จ.สมุทรสงคราม |
เมื่อหลวงพ่อเกียได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนสร้างถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
หลวงพ่อเกีย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ นับรวมสิริอายุได้ ๖๖ ปี พรรษา ๔๖
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเกีย วัดภุมรินทร์กุฏิทอง
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๔๖๗ ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณแบบเบ้าประกบ มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อทองเหลืองผสม พระพิมพ์นี้จัดเป็นพระพิมพ์มาตราฐานที่พบเห็นได้ทั่วไป จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระหล่อพิมพ์พระพุทธหลวงพ่อเกีย วัดภุมรินทร์กุฏิทอง เนื้อทองผสม |
พระหล่อพิมพ์พระพุทธหลวงพ่อเกีย วัดภุมรินทร์กุฏิทอง เนื้อทองผสม |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ พระเศียรมีประภามณฑล ประทับนั่งสมาธิบนอาสนะฐานเขียง พระพักตร์มีจมูกปากคิ้วคางชัดเจน
ด้านหลัง มีัอักขระยันต์อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" กำกับด้วย "อุณาโลม" ที่บนสุด
พระกลีบบัวหลวงพ่อเกีย วัดภุมรินทร์
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๔๖๗ ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณเบ้าประกบทรงคล้ายระฆังคว่ำมีพระพุทธนั่งข้างในแบบสมาธิเพชร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระที่สร้างในยุคแรกเพราะเป็นพระเนื้อสัมฤทธิ์ออกสีแดงเก่ากว่าพิมพ์พระพุทธมาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระหล่อพิมพ์กลีบบัว หลวงพ่อเกีย วัดภุมรินทร์กุฏิทอง |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ประทับนั่งสมาธิบนอาสนะฐานบัวหงาย พระพักตร์กลมโต มองเห็นจมูกปากคิ้วคางชัดเจน รอบองค์พระมีเม็ดไข่ปลาล้อไปกับพิมพ์พระ
ด้านหลัง เขียนยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" กำกับด้วย "อุณาโลม" ที่ตรงกลาง
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น