ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่แขก วัดบางปลา พระเกจิผู้สืบทอดวิชาจากหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด(นุต)ผู้ขลังวิชา
![]() |
หลวงพ่อแขก วัดบางปลา หรือ พระครูสมุทรวุฒาจารย์(แขก) สมุทรสาคร |
หลวงพ่อแขก วัดบางปลา หรือ พระครูสมุทรวุฒจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ท่านเป็นพระเกจิที่เลืองเวทอีกหนึ่งท่านของเมืองสมุทรสาคร เก่งกาจไม่เป็นรองใครเนื่องจากท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดพระเกจิยุคเก่าของเมืองสมุทรสาคร
หลวงพ่อแขก พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีนามเดิมว่า แขก ศิริโวหาร (ในใบมรณะบัตร ระบุนามสกุล โอฬาร) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๐
โยมบิดาชื่อนายสูญ ศิริโวหาร มีเชื้อสายจีน โยมมารดาชื่อนางนับ ศิริโวหาร เป็นชาวมอญบ้านเกาะบางปลา โดยท่านเป็นลูกคนโตมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ทั้งหมด ๑๐ คน ดังนี้
๑. พระครูสมุทวุฒาจารย์ (แขก ศิริโวหาร , โอฬาร)
๒. นายเลี้ยง โอฬาร
๓. นางทองมี อยู่พิทักษ์
๔. นายโก๊ โอฬาร
๕. นายโล้ เหล็กดี
๖. นายเคี้ยว โอฬาร
๗. นายโง้ โอฬาร
๘. นางเฮี๊ยะ โอฬาร
๙. นางฮวย โอฬาร
๑๐. นายเต็ม โอฬาร
เมื่อวัยเยาว์โยมบิดาและโยมมารดาได้นำท่านไปฝากเรียนอักษรสมัย หนังสือไทย หนังสือขอม และหนังสือรามัญจากพระอาจารย์นุ๊ต หรือ หลวงปู่เฒ่า เก้ายอด ณ สำนักวัดบางปลา
เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การประกอบอาชีพแล้ว ท่านจึงได้ออกจากสำนักกลับมาช่วยบิดามารดา ประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวนจาก และค้าขายของ
ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ หลวงพ่อแขกมีอายุได้ ๒๒ ปีบริบูรณ์ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า "อุตฺตโม" โดยมี
พระอธิการทรง(สงค์) วัดบางปลา เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการปรก วัดบางหญ้าแพรก เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูปลัด วัดป้อมวิเชียรโชติการาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางปลาเรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และวิชาอาคมตามตำราของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด(นุต)
ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ พระอธิการทรงได้ถึงแก่มรณภาพ ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงยกให้หลวงพ่อแขก รักษาการเจ้าอาวาส
ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ หลังจากที่หลวงพ่อแขก รักษาการเจ้าอาวาสได้ ๑ ปี และจัดการงานศพของหลวงพ่อทรงเสร็จสิ้นแล้ว คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อแขกขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
![]() |
หลวงพ่อปู่เฒ่าเก้ายอด(ทรง) วัดบางปลา สมุทรสาคร |
วัดบางปลา เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๕ บ้านบางปลา หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๓๔ ตารางวา
วัดบางปลา ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๐ ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาแม่น้ําท่าจีน สันนิษฐานว่า วัดบางปลา สร้างมาแต่สมัยกรุงธนบุรี บริเวณที่สร้างวัดเดิมเป็นป่ากระบูนติดกับแม่น้ำท่าจีน
ในราวปี พ.ศ. ๒๓๒๐ ได้มีคนในตระกูล "ซองขันปอง" ๒ คนพี่น้อง เห็นว่าสถานที่นี้เหมาะสมจึงได้จับจองเพื่อสร้างวัดโดยครั้งแรกสร้างเป็นสํานักสงฆ์ ต่อมาได้แรงศรัทธาจากชาว บ้านสร้างอุโบสถจําลองเพื่อเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์
ในขณะที่สร้างอุโบสถจําลองนั้น ได้มีพระธุดงค์องค์หนึ่งนามพระเปรียญ ได้มาปักกลด อยู่บริเวณนี้ ชาวบ้านได้อาราธนาให้อยู่จําพรรษา ต่อมาท่านได้อุปัชฌาย์และเป็นเจ้าคณะตําบล ครั้นพระเปรียญได้มรณภาพแล้ว
พระนุต (หลวงปู่เฒ่าเก้ายอด) ได้ดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาส สืบแทนท่านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นถาวร(หลังเก่า) โดยมีคหบดีชาวจีนผู้มีจิตศรัทธาชื่อหลงสั้น ได้บริจาคเงินสร้าง อุโบสถแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ได้ถึงแก่กรรมก่อน
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๒๐ หลงเฮง กับอําแดงบัว ซึ่งเป็นบุตรชายและบุตรสะใภ้ได้บริจาคทรัพย์สร้างต่อจนแล้วเสร็จ สถาปัตยกรรมของอุโบสถหลังเก่าและหน้าบันมีเครื่องถ้วยประดับปูนปั้นลายมังกรชิงดวงแก้ว วิหารเก่าแล้วภาพพุทธประวัติอายุกว่า ๒๐๐ ปีเขียนโดยจิตรกรชาวศรีลังกาและชาวยุโรป
และช่วงสมัยรัชกาลที่๕ เสด็จประพาสต้น เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ทรงหยุดพักทำครัว และเสวยพระกระยาหารที่วัดนี้
วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๔๑ เมตร มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนามดังนี้
๑. พระเปรียญ พ.ศ. ๒๓๒๐ - ๒๓๖๔
๒. พระนุต พ.ศ. ๒๓๖๕ - ๒๔๑๙
๓. พระทรง พ.ศ. ๒๔๒๐ - ๒๔๕๕
๔. พระครูสมุทรวุฒาจารย์ (แขก) พ.ศ. ๒๔๕๖ - ๒๕๐๖
๕. พระครูสาครวุฒิชัย (สุรี ฉนฺโท) พ.ศ. ๒๕๐๗ - ๒๕๓๖
๖. พระครูวุฒิสาครธรรม (ล้อม อุทโย) พ.ศ. ๒๕๓๘ - ปัจจุบัน
![]() |
ภาพถ่ายหลวงพ่อทรง วัดบางปลา สมุทรสาคร ของคุณโสฬศ๑๖ |
หลังจากที่หลวงพ่อแขกได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ สร้างถังเก็บน้ำ ๑ ใบ
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ สร้างกุฏิคร่อมถังเก็บน้ำ
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ สร้างศาลายาว , บูรณะกุฏิ ๓ หลัง , สร้างทุ่นซีเมนต์
ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ บูรณะกุฏิ ๑ หลัง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ สร้างกุฏิ ๑ หลัง
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ สร้างถังเก็บน้ำคอนกรีต , สร้างกุฏิ ๒ หลัง
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม
ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ สร้างเจดีย์
ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ สร้างกุฏิหลังเล็ก ๑ หลัง
ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สร้างศาลาหน้าวัด
ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ สร้างโรงเรียนเพิ่มเติม
ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ บูรณะทุ่นหน้าวัด
ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ สร้างทุ่นหน้าวัดพร้อมด้วยสะพาน , สร้างโรงเรียนประชาบาลวัดบางปลา
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ บูรณะปฏิสงขรณ์กุฏิสงฆ์
ด้วยคุณงามความดีของท่านที่พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมากนี้เอง ทำให้ท่านได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในการปกครองคณะสงฆ์ ตลอดทั้งยังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ดังนี้
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลบ้านเกาะ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรี ในราชทินนามที่ "พระครูสมุทรวุฒาจารย์"
![]() |
หลวงพ่อแขก วัดบางปลา หรือ พระครูสมุทรวุฒาจารย์(แขก) สมุทรสาคร |
หลวงพ่อแขก ท่านเป็นพระมหาเถระเชื้อสายรามัญที่มีอุปนิสัย สงบเสงี่ยม เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างมาก ซึ่งจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่แถบวัดบางปลากล่าวว่า ท่านมักจะฉันอาหารแบบเอกาหรือฉันเพียงมื้อเดียวเท่านั้น
ซึ่งท่านจะนำอาหารคาวหวานทุกอย่างนำมาใส่ภายในบาตรและฉันในบาตรนั้นใบเดียว และก่อนที่ท่านจะฉันน้ำหรือสรงน้ำทุกครั้ง ท่านจะต้องกรองน้ำก่อนเพื่อป้องกันสัตว์เล็กๆที่ท่านมองไม่เห็นตาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าท่านเป็นพระที่เคร่งวินัยเป็นอย่างมาก
อีกทั้งหลวงพ่อแขก ท่านยังเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีวิชาอาคมเวทย์อันเข้มขลัง มีผู้คนทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์เดินทางมาขอฝากตัวเป็นศิษย์มากมาย
ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด อาทิเช่น ผ้ายันต์ , ตะกรุด , รูปถ่ายตัวท่าน แต่ที่เป็นสากลและนิยมกันมากคือเหรียญปั๊มรูปเหมือนของท่าน
ซึ่งวัตถุมงคลของหลวงปู่แขกทุกชนิดล้วนมากล้นด้วยพุทธคุณและประสบการณ์ ที่เหล่าลูกศิษย์ลูกหาต่างไปพบพาลประสบเจอกันมามากมาย จึงทำให้เกิดความนิยมและเป็นที่ต้องการเสาะแสวงหาของชาวบ้านโดยทั่วไป
จนทำให้ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านขึ้นแท่นเป็นพระเครื่องยอดนิยมของจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีผู้ต้องการเช่าหาบูชากันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
หลวงปู่แขก ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เวลา ๐๘.๓๕ น. นับรวมสิริได้ ๙๖ ปี ๗๕ พรรษา.
วัตถุมงคลหลวงพ่อแขก วัดบางปลา
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้อดีบุกเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นแรก เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ |
![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นแรก เนื้อดีบุก ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อุปชาแขก" ด้านล่างของเหรียญมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบางปลา"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ด้านล่างมีตัวเลขเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๘๘" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อแจกในงานฉลองอายุครบ ๘๕ พรรษาของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทวุฒาจารย์" ด้านล่างของเหรียญมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "แขก อุตฺตโม"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระเขียนว่า "ที่ระลึกงานฉลองอายุครบ ๘๕ พรรษา" ด้านล่างมีตัวเลขเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๙๕" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นสาม
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่น ๓ เนื้อเงิน ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ |
![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่น ๓ เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูแขก" ด้านล่างของเหรียญมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบางปลา"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ด้านล่างมีตัวเลขเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๐" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นสาม (บล็อกแตก)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมในงานศพของท่าน ในคราวโดยเก็บอัฎฐิไว้ในโกฎบนวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เหรียญรุ่นนี้ใช้บล็อกแบบเดียวกับเหรียญรุ่นสาม จนมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นเหรียญรุ่นสาม แต่สามารถแยกออกด้วยการดูบล็อกด้านหน้าที่จะมีรอยแตกของเหรียญ
![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่น ๓ บล็อกแตก เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูแขก" โดยบนศรีษะของท่านจะมีขีดเป็นรอยแตก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบล็อกนี้ ด้านล่างของเหรียญมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบางปลา"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ด้านล่างมีตัวเลขเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๐"
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นสาม (บล็อกสระแอห่างหู)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ แล้วนำมาแจกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยทำการสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมในงานนำอัฏฐิไปบรรจุใสโกฏปูนใหญ่ ด้านข้างพระอุโบสถหลังเก่า ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัวแบบเดียวกับเหรียญรุ่น ๓ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
ปัจจุบันเข้าใจผิดว่าเป็นเหรียญรุ่นสามอีกบล็อกหนึ่ง แต่สามารถแยกออกด้วยการดูบล็อกด้านหน้า-ด้านหลัง เพราะเป็นเหรียญที่มีการแกะบล็อกใหม่ โดยเหรียญนี้ได้รับการปลุกเสกโดย หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม พุทธคุณจึงไม่ธรรมดา![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่น ๓ บล็อกแอห่างหู เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูแขก" โดยคำว่า "แขก" สระแอ ไม่ชิดหูซึ่งเป็นที่มาของชื่อบล็อก ด้านล่างของเหรียญมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบางปลา"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ด้านล่างมีตัวเลขเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๐"
พทุธคุณของวัตถุมงคลหลวงปู่แขก วัดบางปลา โดดเด่นในแทบทุกด้านทั้งทางคลาดแคล้วคงกระพันและเมตตามหานิยม คนสมุทรสาครพบเจอกันมาเยอะ ใครได้ครอบครองวัตถุมงคลของท่านถือเป็นคนที่มีวาสนาจงเก็บรักษาไว้ให้ดี.
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น