โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น เหรียญเก่าของราชบุรี

หลวงพ่อฮั้ว (ปุณณสิริ) วัดกลางวังเย็น จ.ราชบุรี

          หลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น หรือ พระครูอาจารโสภณ  ฮั้ว ปุณณสิริ แห่งวัดกลางวังเย็น ถือเป็นพระเกจิยุคเก่าอีกรูปหนึ่งของจังหวัดราชบุรี โดยประวัติของท่านที่สามารถสืบค้นได้มีอยู่น้อยนิด เท่าที่พอทราบจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่สามารถลำดับได้ดังนี้

          หลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น ท่านเจ้าอาวาสลำดับที่ ๕ ของวัดกลางวังเย็น เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ที่บ้านหัวนาคราม ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี นามเดิมชื่อ ฮั้ว นามสกุล แซ่ตัน ท่านเป็นคนไทยเชื้อสายจีน 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ หลวงพ่อฮั้วมีอายุได้ ๑๓ ปี ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกลางวังเย็น เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ จนกระทั่งอายุได้ ๑๕ ปีเศษ ท่านจึงลาสิกขาบท เพื่อมาช่วย บิดา-มารดา ค้าขาย

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ หลวงพ่อฮั้ว ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดกลางวังเย็น ตำบลวังเย็น อำเภอลำพยา (บางแพ) จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "ปุณฺณสิริ" โดยในส่วนของพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ พระอนุสาวนาจารย์ นั้นไม่สามารถสืบค้นได้

         หลังจากอุปสมบท ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดกลางวังเย็นเรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชา พระธรรมวินัย และพระคาถาตลอดจนบทสวดมนต์ต่างๆ จนสำเร็จวิชามากมาย

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ พระอธิการเงินได้มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลางวังเย็นได้ว่างลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อฮั้วขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดกลางวังเย็น ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

วัดกลางวังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี

          วัดกลางวังเย็น เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๒ เดิมชื่อวัดเพียง หรือ วัดกลาง ตั้งอยู่ที่ ๖ ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ได้รับพระราชทานวิสุงคารามในปี พ.ศ. ๒๔๔๕  อันดับเจ้าอาวาสวัดกลางวังเย็นที่สามารถสืบค้นได้มีดังนี้

          ๑. พระมหานาค อริยเจ้า

          ๒. พระเสาร์

          ๓. พระสี

          ๔. พระเงิน

          ๕. พระครูอาจารโสภณ (ฮั้ว แซ่ตัน)

          ๖. พระครูโสภณ ชม บุญถนอม

          ๗. พระครูโสภณ สาย ภู่ระหงษ์

          ๘. พระครูโสภณ เริ่ม คงสิน

          ๙. พระครูโสภณอาจารคุณ เขียน

         หลังจากที่หลวงพ่อฮั้ว ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ท่านปกครองดูแลวัดด้วยความวิริยะ อุตสาหะ  ทุ่มเท แรงกาย แรงใจ จนวัดเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น ถึงขนาดที่มีพระภิกษุจำพรรษาที่วัดร่วมร้อยรูป

        หลวงพ่อฮั้ว ท่านเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีจริยาวัตรที่งดงาม ท่านเป็นพระที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาจิต อุทิศเวลาให้กับพระศาสนาอย่างแท้จริง 

         นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ทรงวิทยาคม และสติปัญญาดีสามารถท่องจำเจ็ดตำนานได้ใน ๗ วัน อีกทั้งท่านยังเป็นหมอยาที่เลื่องชื่อไปไกล เป็นที่พึ่งพา นับถือของชาววังเย็น และชาวพุทธทั่วไป

         ต่อมาหลวงพ่อฮั้วท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระครูฮั้ว พระอุปัชฌาย์ ตำแหน่งเจ้าคณะหมวดวังเย็น (เจ้าคณะตำบล) หลังจากนั้นท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงลำพยา จังหวัดราชบุรี ตามลำดับ

           ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๔.๔๐ น. ได้เสด็จถึงวัดใหม่ (วัดโชค) วัดนี้ในหมายเสด็จไม่ได้กะจะประทับ แต่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์และราษฏร์มาออกันคอยรับเสด็จเป็นจำนวนมาก

          ตรัสให้เรือพระที่นั่งเทียบที่ท่าวัด เสด็จขึ้นให้พระสงฆ์และราษฏร์เฝ้า ทรงทราบว่าวัดนี้เป็นที่อยู่ของพระครูธรรมเสนา(แจ่ม) เจ้าคณะแขวงโพธาราม ตรัสว่าชอบ เพราะที่ประทับแรมจัดที่ว่าการอำเภอนั้นไม่เหมาะ ตรัสสั่งให้จัดประทับแรม ณ วัดนี้ 

         พระครูธรรมเสนาและราษฏร์ได้ทราบ ต่างก็แสดงอาการยินดีที่จะได้ต้อนรับเสด็จ ทรงปฏิสันถารแก่พระสงฆ์และพวกราษฏรเหล่านั้นแล้วเสด็จนมัสการพระในอุโบสถ แล้วประทับที่ศาลาการเปรียญ ประทานย่ามตรามหาสมณุตมาภิเษกแก่พระครูธรรมเสนา เป็นประสาทการฯ

         ในการนี้พระครูฮั้ว เจ้าคณะแขวงลำพยา เมืองราชบุรี ได้เข้าเฝ้าถวายรายงานถึงความเป็นไปของคณะสงฆ์ในการดูแลของท่าน เป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงประทานย่ามตรามหาสมณุตมาภิเษกแก่พระครูฮั้ว

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสร็จสิ้นการตรวจคณะสงฆ์มณฑลราชบุรีแล้ว ท่านได้พระราชทานแต่งตั้งพระครูฮั้ว ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูอาจารโสภณ

          หลวงพ่อฮั้ว ท่านได้สร้างวัตถุมงคล เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน เนื่องด้วยแถบบ้านหัวนาคราม เป็นเขตที่ห่างไกล ชาวบ้านเมื่อมีปัญหาเดือดร้อนก็มักจะมาขอพึ่งบารมีของท่าน 

         โดยท่านก็มักจะทำตะกรุดโทน ลูกอม แจกจ่ายชาวบ้าน เพื่อไว้คอยปัดเป่าทุกข์ภัยให้กับชาวบ้าน ปัจจุบันถือเป็นของที่หายาก

          หลวงพ่อฮั้ว ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ นับรวมสิริอายุได้ ๕๑ ปี ๓๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น

           เหรียญปั๊มหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น ปี พ.ศ. ๒๔๖๑

          สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะของเหรียญที่ถอดแบบมาจากเหรียญหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง คือเป็นเหรียญรูปไข่ ขอบกระบอก ห่วงเชื่อม มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดว่าน่าจะไม่เกิน ๑,๐๐๐ เหรียญ สามารถจำแนกออกได้เป็น ๒ บล็อก คือ

          เหรียญปั๊มหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น รุ่นแรก บล็อก ๑ อุ ตรง

เหรียญหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ บล็อค ๑ อุ ตรง

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อฮั้วแบบครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีโบว์ ปลายโบว์มีตัวเลข "๒๔๖๑" บอกปีที่สร้าง กลางโบว์มีฉายาของท่าน เป็นอักขระขอมอ่านได้ว่า "ปุณณสิริ" ด้านบนมีอักขระยันต์ล้อมรอบไปกับขอบเหรียญอ่านได้ว่า "อาปามะจุปะ ทีมะสังอังขุ สังวิธาปุกะยะปะ"

          ด้านหลัง จารึกอักขระยันต์ประกอบไปด้วย ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ยันต์หัวใจธาตุทั้งสี่ ยันต์พุทธสังมิ ด้านบนสุดของเหรียญมีอักขระยันต์ตัว อุ เหนือตัว อุ มีรัศมีโดยพิมพ์นี้ตัว อุ รัศมี จะไม่กลับด้าน ด้านล่างมีโบว์ภายในโบว์มีอักษรภาษาไทยอ่านว่า "สร้างวัดกลางวังเย็น"

         เหรียญปั๊มหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น รุ่นแรก บล็อก ๒ อุ กลับ

เหรียญหลวงพ่ออํ้ว วัดกลางวังเย็น บล็อก1 เงิน
เหรียญหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ บล็อค ๒ อุ กลับ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ บล็อค ๒ อุ กลับ เนื้อทองแดง

           ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อฮั้วแบบครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีโบว์ ปลายโบว์มีตัวเลข "๒๔๖๑" บอกปีที่สร้าง กลางโบว์มีฉายาของท่าน เป็นอักขระขอมอ่านได้ว่า "ปุณณสิริ" ด้านบนมีอักขระยันต์ล้อมรอบไปกับขอบเหรียญอ่านได้ว่า "อาปามะจุปะ ทีมะสังอังขุ สังวิธาปุกะยะปะ"

          ด้านหลัง จารึกอักขระยันต์ประกอบไปด้วย ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ยันต์หัวใจธาตุทั้งสี่ ยันต์พุทธสังมิ ด้านบนสุดของเหรียญมีอักขระยันต์ตัว อุ เหนือตัว อุ มีรัศมีโดยพิมพ์นี้ตัว อุ รัศมี จะกลับด้าน ด้านล่างมีโบว์ภายในโบว์มีอักษรภาษาไทยอ่านว่า "สร้างวัดกลางวังเย็น"

          เหรียญหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น รุ่น แจกงานศพ

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยหลวงพ่อชมเจ้าอาวาสในสมัยนั้น เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานศพของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญเสมาข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น ปี พ.ศ. ๒๔๖๖

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อฮั้ว นั่งสมาธิห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ นั่งเหนือไก่ ด้านบนอักขระขอม อ่านได้ว่า "มะอะอุ" เหนือสุดมีตัว อุนาโลม มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "พระครูอาจารย์โสภณ อายุ ๕๑ พรรษา ๓๐ พรรษา"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ มีอักขระไทยเขียนว่า "ที่ระฦกในงานศพ พ.ศ. ๒๔๖๖"

          เหรียญหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น จัดเป็นเหรียญที่หายากเนื่องด้วยจำนวนการสร้างน้อย พุทธคุณโดดเด่นในทุกๆด้าน ตามอักขระยันต์ที่ปรากฏ สวยๆสนนราคาหลักหมื่นมาเนินนานแล้ว.



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้