หลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี |
หลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม หรือ พระธรรมวิรัตสุนทร วัดโชติทายการาม ท่านถือเป็นพระเกจิขมังเวทย์ของคนดำเนินสะดวก ราชบุรี ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ของวัดโชติทายการาม
หลวงพ่อเชย มีนามเดิมว่า เชย ศุขเกษม พื้นเพเป็นชาวณตำบลบางคณฑี อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม เกิดวันพุธแรม ๔ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีวอก ตรงกับวันพุธที่ ๒๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๑๕ โยมบิดาชื่อนายฉาก ศุขเกษม โยมมารดาชื่อนางบัว ศุขเกษม ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพทำสวน มีพี่น้องร่วมกัน ๕ คน คือ๑. นายชม ศุขเกษม
๒. พระธรรมวิรัตสุนทร
๓. นางพวง มณเฑียร
๔. นางสาวเงิน ศุขเกษม
๕. นายศุช ศุขเกษม
สมัยเด็ก โยมบิดาได้นำท่านไปฝากไว้กับพระอธิการช่วง เจ้าอธิการวัดโชติทายการาม เพื่อเล่าเรียนเขียนอ่านอักขระ ตามที่นิยมในสมัยนั้น ซึ่งหลวงพ่อเชยเล่าว่า
หลวงพ่อช่วง ท่านนี้เป็นพระที่บวชที่วัดเลียบ (ราษฏรบูรณะ) จังหวัดพระนคร ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วัดบางคนทีใน จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาชาวบ้านได้สร้างวัดขึ้นใหม่คือวัดโชติทายการาม จึงนิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส
โดยท่านได้เล่าเรียนและบรรพชาเป็นเณรอยู่ได้ ๑ พรรษา จึงลาสิกขาออกไปอยู่บ้านช่วยบิดามารดาประกอบสัมมาอาชีพต่อไป
หลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี |
สมัยนั้นถ้าเอ่ยชื่อ “นายเชย ลูกกำนันฉาก” แล้วละก็ ทั่วทั้งตำบลบางคนทีใน คลองโรงหีบ สี่หมื่น ไปจนถึงคลองดำเนินสะดวก ต่างยอมรับในความเด่นดังกันทั้งนั้น จนทำให้พ่อแม่เกิดความวิตกถึงอนาคตที่อาจจะพบจุดจบก่อนวัยอันควร
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อเชย ท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ โยมบิดา-โยมมารดา จึงจัดการอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมาวัดโชติทายการาม ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า “คงฺควชฺโร” โดยมี
พระปลัดพูล วัดกลางเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากนั้นแล้วจึงไปศึกษาเล่าเรียนวิชาทางวิปัสสนากรรมฐาน และลงกระหม่อม จากหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ศึกษาเกี่ยวกับการทำน้ำมนต์ และรักษาโรคด้วยสมุนไพรจากหลวงพ่อร้าย วัดเขายี่สาร และหลวงพ่ออ่วม วัดไทร จนเชี่ยวชาญ
ภายหลังหลวงปู่ช่วง มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงนิมนต์หลวงพ่อเชย รักษาการณ์เจ้าอาวาส
ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ หลวงพ่อเชย ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแทนตำแหน่งที่ว่างลง
หลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี |
วัดโชติทายการาม เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเถรวาท สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของคุณปู่มั่ง มั่งมี คหบดีผู้มีใจกุศล ถวายที่ดินของตนเพื่อสร้างวัด กับทั้งบอกบุญชาวบ้านรวมเงินได้ ๑ ชั่งเศษ ก่อสร้างกุฏิ ๑ หลัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ แล้วนิมนต์พระภิกษุช่วง จากวัดบางคนฑีใน มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
วัดโชติทายการาม สร้างขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขุดคลองดำเนินสะดวก ได้ ๑๑ ปี
วัดมีชื่อเดิมว่า วัดใหม่ ตั้งอยู่ฝั่งขวาของคลองดำเนินสะดวก ต่อมามีผู้สร้างวัดใหม่ขึ้นอีกวัดหนึ่งที่ตำบลสี่หมื่น เรียกว่า "วัดใหม่สวนพริก" หลวงพ่อช่วงจึงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น "วัดโชติทายการาม" และเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน
วัดโชติทายการาม นับว่าเป็นวัดที่มีความเก่าแก่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นทางเรือเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗
ในครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหลวงพ่อช่วงเป็นพระครูสัญญาบัตร และพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูวรปรีชาวิหารกิจ"
และเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินต้น ณ วัดแห่งนี้ด้วย
ภายในวัดมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่องค์หนึ่งนามว่า หลวงพ่อลพบุรีราเมศร์ เป็นพระปางมารวิชัย สมัยลพบุรี ใครไปใครมามักจะบนบานตามใจปราถนาเสมอ และเห็นผลทุกครั้งไป ทำให้เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทราอย่างมาก มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้
๑. พระครูวรปรีชาวิหารกิจ (หลวงพ่อช่วง) พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๕๐
๒. พระธรรมวิรัตสุนทร (หลวงพ่อเชย) พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๔๙๕
๓. พระครูบรรณาการวิมล (หลวงพ่อยนต์) พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๕๐๗ (ลาสิกขา)
๔. พระครูสุนทรธรรมรัต (หลวงพ่อไซร,พิชัย) พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๔๒
๕. พระมหาประกอบ โชติปุญฺโญ ป.ธ.๗ พ.ศ. ๒๕๔๒ - ปัจจุบัน
ภาพถ่ายที่เข้าใจกันว่าคือหลวงพ่อช่วง วัดโชติทายการาม หลังจากมรณภาพ |
หลังจากที่หลวงพ่อเชยท่านได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์วัด ก่อสร้างถาวรวัตถุ และเสนาสนะต่างๆภายในวัด จนวัดมีความเจริญรุ่งเรืองมาก
โดยท่านได้ใช้ความสามารถเชิงช่าง สร้างสิ่งก่อสร้างไว้หลายอย่าง รวมทั้งใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาช่วยเหลือ ญาติโยมจนได้รับการยกย่องให้เป็น “เทพเจ้าแห่งดำเนินสะดวก”
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๗.๕๗ น. เสด็จถึงวัดโชติทายการาม ในคลองดำเนินสะดวกซึ่งเป็นหมายเสด็จเป็นที่พักแรม
พระครูอินทเขมา(ห้อง) วัดช่องลม เจ้าคณะเมืองราชบุรี และพระครูอิน (หลวงพ่อดำ) วัดตาลบำรุงกิจ เจ้าคณะแขวงอำเภอดำเนินสะดวก เป็นหัวหน้าพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ตำรวจภูธรลูกเสือและนักเรียนยืนแถวเป่าแตรเดี่ยวรับเสด็จ
เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่ง ประทานปฏิสันถารแก่พระสงฆ์และข้าราชการ เสด็จออกพระสงฆ์บนศาลาการเปรียญ พระครูอินทเขมา(ห้อง) เจ้าคณะเมือง นำพระสงฆ์เฝ้าถวายดอกไม้ธูปเทียน และถวายรายงาน
ทรงถามถึงความเป็นไปของพระสงฆ์ในวัดโชติทายการาม ซึ่งพระอธิการเชย ก็ตอบได้อย่างคล่องแคล่วเป็นที่พอพระทัย ทรงประทานย่ามตราต่างชั้นและหนังสือธรรมต่างๆ ให้เป็นรางวัล วันรุ่งขึ้นจึงเสด็จวัดคูหาสวรรค์ และเสด็จตรวจคณะสงห์จังหวัดสมุทรสงครามต่อไป
ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌายะ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นพระธรรมธร ในตำแหน่งฐานานุกรมของพระเทพกวี (มณี) เจ้าคณะมลฑลราชบุรี (วัดบวรนิเวศ)
ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดดำเนินสะดวก (เจ้าคณะตำบล) และได้รับตำแหน่งพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่พระครูธรรมวิรัต
ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก โดยใช้ราชทินนามเดิม
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมวิรัตสุนทร
หลวงพ่อเชย ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของคลองดำเนินสะดวก ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ของหลวงพ่อถนอม วัดเนกขัมมาราม และพระเกจิอีกหลายองค์ในพื้นพี่ดำเนินสะดวก
หลวงพ่อเชย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณะภาพลงด้วยโรคชราและโรคในลำคอเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ เวลา ๑๙.๒๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๘๑ ปี ๖๑ พรรษา.วัตถุมงคลของหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม
หลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลากหลายชนิด ทั้งตะกรุดโทน ลูกอม ผ้ายันต์ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นของที่หาได้ยาก ลูกศิษย์ของท่านมีทั้งฆราวาสและพระภิกษุ ยกตัวอย่างเช่น หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี รวมไปถึง “เจ้าพ่อป่องเหลือง” และอดีตขุนโจรชื่อดังอย่าง เสือบุญมี เขี้ยวบางยาง เสือปุ้ย “เจ้าพ่อคลองตาปลั่ง” บ้านแพ้ว แม้แต่ “ตี๋ใหญ่” ก็ยังมาฝากตัวเป็นศิษย์ด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นแรก บล็อก ๑๙ จุดหน้าแก่
จุดสังเกตุของพิมพ์นี้ให้สังเกตุที่เม็ดไข่ปลา เหนือคำว่าพระครูธรรมาวิรัต ที่สามารถนับรวมกันได้ ๑๙ จุด จึงเป็นที่มาของพิมพ์นี้
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ พิมพ์ ๑๙ จุดหน้าแก่ |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระไทยเขียนว่า "พระธรรมวิรัต"
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นแรก บล็อก ๑๙ จุดหน้าหนุ่ม
จุดสังเกตุของพิมพ์นี้ให้สังเกตุที่เม็ดไข่ปลา เหนือคำว่าพระครูธรรมาวิรัต ที่สามารถนับรวมกันได้ ๑๙ จุด โดยบล็อกด้านหน้ารูปหลวงพ่อเชย จะดูหนุ่มกว่าบล็อกหน้าแก่ จึงเป็นที่มาของพิมพ์นี้
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ พิมพ์ ๑๙ จุดหน้าหนุ่ม ของผู้ใหญ่อั๋น สะพานดำ |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระไทยเขียนว่า "พระครูธรรมวิรัต"
ด้านหลัง มีรูปจำลองพระอุโบสถ ภายในรูปจำลองพระอุโบสถมีอักขระยันต์ "เฑาะห์" มีอักขระไทยเขียนว่า "พิธีผูกพัทธสีมา วัดโชติทายการาม อ.ดำเนินสะดวก ๒๔๙๔"
พิมพ์นี้จะเหมือนกับพิมพ์ ๑๙ จุด แต่เป็นเหรียญที่มีการทำกระไหล่ทอง เพื่อไว้แจกจ่ายแก่แม่ครัวและชาวบ้านที่ช่วยงานผูกพัทธสีมาของวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ แต่เพียงเท่านั้น ไม่ได้ทำแจกจายทั่วไป ทำให้จำนวนการสร้างน้อยมาก เชื่อกันว่ามีจำนวนการสร้างแค่ประมาณ ๑๐๐ เหรียญ จัดเป็นเหรียญที่หายากอีกเหรียญหนึ่งของหลวงพ่อเชย
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ พิมพ์ ๑๙ จุด กระไหล่ทอง ของคุณยุทธ ศรีสุวรรณ |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระไทยเขียนว่า "พระครูธรรมวิรัต"
ด้านหลัง มีรูปจำลองพระอุโบสถ ภายในรูปจำลองพระอุโบสถมีอักขระยันต์ "เฑาะห์" มีอักขระไทยเขียนว่า "พิธีผูกพัทธสีมา วัดโชติทายการาม อ.ดำเนินสะดวก ๒๔๙๔"
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นแรก บล็อก ๑๖ จุด
จุดสังเกตุของพิมพ์นี้ให้สังเกตุที่เม็ดไข่ปลา เหนือคำว่าพระครูธรรมาวิรัต ที่สามารถนับรวมกันได้ ๑๖ จุด จึงเป็นที่มาของพิมพ์นี้
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ พิมพ์ ๑๖ จุด ของคุณธเนศ ธนิกกุล |
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นแรก บล็อก ๑๕ จุด
จุดสังเกตุของพิมพ์นี้ให้สังเกตุที่เม็ดไข่ปลา เหนือคำว่าพระครูธรรมาวิรัต ที่สามารถนับรวมกันได้ ๑๕ จุด จึงเป็นที่มาของพิมพ์นี้
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ พิมพ์ ๑๕ จุด |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระไทยเขียนว่า "พระครูธรรมวิรัต"
ด้านหลัง มีรูปจำลองพระอุโบสถ ภายในรูปจำลองพระอุโบสถมีอักขระยันต์ "เฑาะห์" มีอักขระไทยเขียนว่า "พิธีผูกพัทธสีมา วัดโชติทายการาม อ.ดำเนินสะดวก ๒๔๙๔"
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นแรก บล็อก ๑๕ จุด กะไหล่ทอง(แจกแม่ครัว)
พิมพ์นี้จะเหมือนกับพิมพ์ ๑๕ จุด แต่เป็นเหรียญที่มีการทำกระไหล่ทอง เพื่อไว้แจกจ่ายแก่แม่ครัวและชาวบ้านที่ช่วยงานผูกพัทธสีมาของวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ แต่เพียงเท่านั้น ไม่ได้ทำแจกจายทั่วไป ทำให้จำนวนการสร้างน้อยมาก เชื่อกันว่ามีจำนวนการสร้างแค่หลักสิบเท่านั้น จัดเป็นเหรียญที่หายากอีกเหรียญหนึ่งของหลวงพ่อเชย
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ พิมพ์ ๑๕ จุด กระไหล่ทอง ของคุณศักดิ์ ดำเนิน |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระไทยเขียนว่า "พระครูธรรมวิรัต"
ด้านหลัง มีรูปจำลองพระอุโบสถ ภายในรูปจำลองพระอุโบสถมีอักขระยันต์ "เฑาะห์" มีอักขระไทยเขียนว่า "พิธีผูกพัทธสีมา วัดโชติทายการาม อ.ดำเนินสะดวก ๒๔๙๔"
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นแรก บล็อก ๑๓ จุด
จุดสังเกตุของพิมพ์นี้ให้สังเกตุที่เม็ดไข่ปลา เหนือคำว่าพระครูธรรมาวิรัต ที่สามารถนับรวมกันได้ ๑๓ จุด จึงเป็นที่มาของพิมพ์นี้
เหรียญหลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม รุ่นหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ พิมพ์ ๑๓ จุด ของคุณธเนศ ธนิกกุล |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระไทยเขียนว่า "พระครูธรรมวิรัต"
ปี พ.ศ. ๒๔๙๕
หลวงพ่อเชย วัดโชติการาม ได้เหรียญรูปไข่เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๕ เป็นที่ระลึกงานทำบุญอายุและฉลองสมณะศักดิ์ จัดเป็นเหรียญที่นิยมและเสาะแสวงหากันอย่างมากในหมู่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อเชยเพราะมีพุทธานุภาพและประสบการณ์ในหลายๆด้าน มีประสบกันมาบ่อยๆ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่สร้างด้วยเนื้อทองแดง แบ่งออกเป็น ๒ ชนิดคือ ชนิดแจกกรรมการ และเหรียญธรรมดา
เหรียญแจกกรรมการ เป็นเหรียญทองแดงกระไหล่ทอง ตัดหูเหรียญ ด้านหลังเชื่อมเข็มกลัดเพื่อไว้ติดกับเสื้อผ้า
เหรียญฉลองสมณะศักดิ์ หลวงพ่อเชย วัดโชติการาม รุ่น ๒ พิมพ์แจกกรรมการ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ |
เหรียญฉลองสมณะศักดิ์ หลวงพ่อเชย วัดโชติการาม รุ่น ๒ พิมพ์แจกกรรมการ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ของคุณชาญ ดำเนิน |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระไทยเขียนว่า "พระธรรมวิรัตสุนทร เจ้าคณะอำเภอ ดำเนินสะดวก"
เหรียญธรรมดา เป็นเหรียญทองแดงผิวไฟ มีหูเหรียญในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญฉลองสมณะศักดิ์ หลวงพ่อเชย วัดโชติการาม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ของคุณยุทธ ศรีสุวรรณ |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเชยครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระไทยเขียนว่า "พระธรรมวิรัตสุนทร เจ้าคณะอำเภอ ดำเนินสะดวก"
ขอบคุณพี่ศักดิ์ ดำเนิน ที่ให้ข้อมูลวัตถุมงคล
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประวัติและวัตถุมงคล พระอุปัชฌาย์อ่วม ติสฺสรสฺโส (หลวงพ่ออ่วม) วัดไทร พระเกจิแม่กลองที่อายุถึง ๑๐๐ ปี
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น