หลวงพ่อแดง วัดทำนบ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๒ แต่อัตโนประวัติอื่นๆไม่ว่าจะเป็น ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ โยมบิดา-มารดาของท่านคือใคร ไม่มีการบันทึกไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ทราบเพียงว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ของทางวัดต่อจากหลวงพ่อทิม เพียงเท่านั้น
นอกจากนี้ยังพบเพียงประวัติความเป็นมาของวัดจากศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมที่กล่าวถึงวัดทำนบไว้เพียงสั้นๆดังนี้
วัดทำนบ หรือ วัดธรรมนบ ตั้งอยู่เลขที่ ๖๓ บ้านทำนบ หมู่ ๑ ตำบลวัดแก้ว อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๙๕ ตารางวา
ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาบำเพ็ญกุศล วัดทำนบตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้
๑. หลวงพ่อทิม
๒. หลวงพ่อแดง
๓. หลวงพ่อพวง
๔. หลวงพ่อแก้ว
๕. พระครูปัญญาพลพิพัฒน์ (หลวงพ่อโต๊ะ)
๖. พระครูปัญญาธิการ (หลวงพ่อบุญช่วย)
หลวงพ่อแดง วัดทำนบ ท่านได้สร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนของท่านขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ กล่าวกันว่า เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเนื่องในงานทำบุญฉลองอายุครบ ๖๐ ปี จัดเป็นเหรียญยุคเก่าอีกเหรียญหนึ่งของจังหวัดราชบุรีวัตถุมงคลของหลวงพ่อแดง วัดทำนบ
เหรียญหลวงพ่อแดง วัดทำนบ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อแดง วัดทำนบ มี ๒ บล็อก สมัยก่อนแยกบล็อกด้วยการดูที่โบว์เรียก บล็อกศรห่าง กับ บล็อกศรชิด โดยมีจุดสังเกตุที่หัวลูกศรที่มีเลข ๒๔ จะมีระยะห่างไม่เท่ากัน โดยพิมพ์ศรห่าง หัวลูกศรจะไม่ติดกับโบว์ด้านล่าง แต่พิมพ์ศรชิด หัวลูกศรจะยาวจรดที่โบว์ สร้างด้วยเนื้อทองแดง และทองแดงกระไหล่ทอง
มีรูปร่างลักษณะเหรียญที่คล้ายกันกับเหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อฟัก
วัดบ้านโป่ง ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑
โดยเฉพาะอักขระขอมทั้งในด้านหน้าและด้านหลัง เป็นอักขระเหมือนกัน ต่างกันบ้างในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเท่านั้นเช่น มีการเลื่อยขอบเหรียญให้เหมือนเหรียญเต่าวัดสัตตนารท
เหรียญหลวงพ่อแดง วัดทำนบ ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เนื้อทองแดง บล็อกศรห่าง |
ด้านหน้า
ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแดงครึ่งรูปห่มจีวรแบบลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ
ด้านล่างทำเป็นรูปโบว์ บรรจุอักขระขอม "อินทสโร" อันเป็นนามฉายาของท่าน
ปลายของโบว์บรรจุตัวเลขไทย ปีที่สร้าง คือ ‘๒๔๖๒’
ด้านบนมีอักขระขอมอ่านได้ว่า ‘อาปามะจุปะ ทีมะสังอังขุ สังวิธาปุกะยะปะ’
อาปามะจุปะ เป็นหัวใจพระวินัย อา ย่อมาจาก อาทิกรรม ปา ย่อมาจาก ปาจิตตีย์
มะ ย่อมาจาก มหาวรรค จุ ย่อมาจาก จุลวรรค ปะ ย่อมาจาก ปริวาร
เหรียญหลวงพ่อแดง วัดทำนบ ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เนื้อทองแดง บล็อกศรชิด ของคุณวุฒิ นาสาร |
ทีมะสังอังขุ เป็นหัวใจพระสูตร คือ ที ย่อมาจาก ทีฆะนิกาย มะ ย่อมาจาก มัชฌิมนิกาย สัง ย่อมาจาก สังยุตตนิกาย อัง ย่อมาจาก อังคุตตนิกาย ขุ ย่อมาจาก ขุททกนิกาย
สังวิธาปุกะยะปะ เป็นหัวใจพระธรรม ๗ คัมภีร์ คือ สัง ย่อมาจาก พระสังคิณี วิ ย่อมาจาก พระวิภังค์ ธา ย่อมาจาก พระธาตุกถา ปุ ย่อมาจาก พระบุคคบัญญัติ กะ ย่อมาจาก พระกถาวัตถุ ยะ ย่อมาจาก พระยมก ปะ ย่อมาจาก พระมหาปัฏฐาน
เหรียญหลวงพ่อแดง วัดทำนบ ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เนื้อทองแดง บล็อกศรชิด |
ด้านหลัง เหรียญด้านล่างผูกเป็นรูปโบว์ มีอักษรไทยจารึกว่า ‘ให้ไว้เปนที่ระฤก’ ด้านบนสุดเป็นตัวอุณาโลมเปล่งรัศมี ล่างลงมาเป็นยันต์สามที่ผูกเป็นยันต์ห้า บรรจุอักขระขอมไว้ในยันต์สาม ซึ่งมียันต์ตรงกลาง บรรขุอักขระขอมไว้ คือ มะ อะ อุ
มะ อะ อุ เป็นหัวใจพระไตรปิฎก หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
อักขระด้านนอกยันต์ข้างยันต์สาม คือ นะ มะ พะ ทะ เป็นหัวใจของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นอักขระหนุนให้พระคาถาทุกชนิดมีความขลัง เนื่องจากได้เสริมธาตุให้เกิดพลัง
อักขระในขมวดยันต์ห้า คือ นะ โม พุท ธา ยะ อันเป็นหัวใจพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ คือ นะ หมายถึง พระกุกกุสันโธ โม หมายถึง พระโกนาคมน์ พุท หมายถึง พระกัสสป ธา หมายถึง พระสมณโคดม ยะ หมายถึง พระศรีอาริยเมตไตย
ส่วนอักขระนอกยันต์ห้า คือ พุท ธะ สัง มิ อันเป็นหัวใจพระไตรสรณาคมน์ คือ พุท ถอดมาจาก พุทธัง ธะ ถอดมาจาก ธัมมัง สัง ถอดมาจาก สังฆัง มิ ถอดมาจาก สรณังคัจฉามิ
พุทธคุณของเหรียญหลวงพ่อแดง วัดทำนบ
กล่าวในด้านพุทธคุณของอักขระยันต์เหล่านี้ กล่าวว่า ‘อาปามะจุปะ’ ดีในทางคงกระพันชาตรี ป้องกันอาวุธ แคล้วคลาด ‘ทีมะสังอังขุ’ ดีสารพัดประการ ‘สังวิธาปุกะยะปะ’ ดีสารพัดทั้งด้านคงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม ‘นะโมพุทธายะ’ เป็นคาถาให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ ใช้ได้ดีทุกประการ ‘มะอะอุ’ เป็นคาถามหามงคลมีคุณภาพเหลือล้น และ ‘พุทธะสังมิ’ ดีทางเมตตา ค้าขาย เจ้านายรัก แคล้วคลาด
จากพระคาถาที่บรรจุอยู่ในเหรียญข้างต้นจึงกล่าวได้ว่าเหรียญหลวงพ่อแดงนั้นดีในทุกๆด้าน จัดเป็นเหรียญดีเหรียญเก่าที่น่าเก็บสะสมเป็นอย่างยิ่ง.
* ภาพถ่าย : ของคุณโสฬส๑๖ คาดกันว่าคือภาพถ่ายของหลวงพ่อแดง วัดทำนบ ราชบุรี แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ ๑๐๐%
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น