ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถปริวัตร (พระครูวินัยธรรมอินทร์) ผู้ปลุกเสกเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของไทย
![]() |
พระครูวินัยธรรมอินทร์ หรือ หลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี |
พระครูวินัยธรรม (อินทร์ ปัญญาทีโป) วัดสัตตนารถปริวัตร จังหวัดราชบุรี หรือ หลวงปู่เฒ่าอินทร์เทวดา พระอริยสงฆ์ที่ชาวราชบุรีเคารพนับถือมากอีกรูปหนึ่ง
ท่านเป็นผู้ที่ปลุกเสกเหรียญเก่าแก่ของจังหวัดราชบุรี นั่นก็คือ เหรียญพระพุทธวิริยากร (จิตร ฉันโน) วัดสัตตนารถปริวัตร หรือที่นักนิยมพระเครื่องมักเรียกกันว่า เหรียญเต่า ซึ่งเป็นเหรียญที่แจกในงานพิธีศพของพระพุทธวิริยากร(จิตร)
พระครูวินัยธรรม(อินทร์) วัดสัตนารถปริวัตร เกิดเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ เวลา ๐๙.๔๐ น. ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ โยมบิดาคือ หลวงวิสาหภัคดี (เพชร) โยมมารดาชื่อ ทิม ได้บรรพชาเป็นสามเณรและศึกษาเล่าเรียนที่สำนักพะเนินพลู
ต่อมาได้มาบรรพชาเป็นสามเณรในคณะธรรมยุติกนิกาย ที่วัดอัมรินทราราม (วัดตาลอัมรินทร์) จนอายุครบบวชในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ จึงได้อุปสมบทที่วัดอัมรินทราราม ได้รับฉายาว่า "ปัญญาทีโป" โดยมี
พระสมุทรมุนี (หน่าย) วัดอัมรินทราราม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระสมุห์จิตร วัดอัมรินทราราม (วัดสัตตนารถ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระปลัดโต วัดอัมรินทราราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบถ หลวงพ่ออินทร์ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดอัมรินทรารามเรื่อยมาเพื่อศึกษาวิชา พระธรรมวินัย และพระปริยัติธรรม
ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ หลวงพ่ออินทร์ ท่านอุปสมบทได้ ๖ พรรษา พระสมุทรมุนี (หน่าย) พระอุปัช
ฌาย์ของท่านได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสัตตนารถ หลวงพ่ออินทร์จึงได้ติดตามพระอาจารย์มาจำพรรษาที่วัดสัตตนารถปริวัตรด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๓๓ หลวงพ่ออินทร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ วริยาลงกรณ์ ในทินนาม "พระครูวินัยธรรม"
ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระสมุทรมุนี (หน่าย เขมโก) ได้มรณภาพลงวัดสัตตนารถปริยวัตรจึงว่างเว้นตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัด
ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่ออินทร์ รักษาการเจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริยวัตร ดูแลคณะสงฆ์
![]() |
พระครูวินัยธรรมอินทร์ หรือ หลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี |
วัดสัตตนารถปริวัตร เป็นอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตนิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๑ ถนนวรเดช ตําบลหน้าเมือง อําเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๓ งาน ๘๕ ตารางวา
วัดสัตตนารถปริวัตร ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๔ สร้างขึ้นในสมัยเจ้าพระยาราชบุรี (กลั่น วงศาโรจน์) เป็นเจ้าเมืองราชบุรี ในสมัยระหว่างรัชกาลที่ ๓ - ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่เชิงเขาสัตตนารถ ทิศตะวันออก เดิมชื่อว่า "วัดเขาสัตตนารถ"
ครั้งถึงรัชกาลที่ ๕ ทางรัฐบาลได้ดําเนินการสร้างพระราชวังขึ้นที่เขาสัตตนารถ (เขาวัง) ซึ่งมีวัดเขาสัตตนารถตั้งอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระราช ประสงค์จะให้มีการไถ่ถอนที่วัด คือ ทําผาติกรรมเพื่อให้พ้นจากที่ธรณีสงฆ์
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงได้ทําผาติกรรมวัดเขาสัตตนารถ แล้วดําเนินการสร้างวัดทดแทนขึ้น ณ ที่แห่งใหม่
การสร้างวัดขึ้นมาใหม่นี้ได้ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๔ สถานที่สร้างวัดเป็นที่ตั้งวัดโพธิ์งาม หรือ วัดกลางบ้าน ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ําแม่กลอง ไม่มีพระภิกษุอยู่ อาศัยชํารุดทรุดโทรมมาก
ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างวัดขึ้นใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ขนานนามว่า "วัดสัตตนารถปริวัตร" แปลว่า "วัดที่เปลี่ยนไป หรือย้ายจากเขาสัตตนารถ" แล้วได้สถาปนาให้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระเถระจากวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร มาเป็นเจ้าอาวาสพร้อมด้วยพระภิกษุติดตามอีก ๕ รูป วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๐ วา ๓ ศอก ยาว ๑๖ วา มีเจ้าอาวาสปกครองเท่าที่ทราบนามดังนี้
๑. พระครูศีลคุณธราจารย์ (นิล) พ.ศ. ๒๔๑๔ - ๒๔๒๖
๒. พระสมุทรมุนี (หน่าย เขมโก) พ.ศ. ๒๔๒๖ - ๒๔๓๖
๓. พระครูวินัยธรรม (อินทร์ ปญฺญาทีโบ) พ.ศ. ๒๔๓๗ - ๒๔๓๙ (รักษาการ)
๔. พระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน) พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๕๗
๕. พระครูอุดมธีรคุณ (เพิ่ม อุชุโก) พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๕๙
๖. พระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) พ.ศ. ๒๔๕๙ - ๒๔๙๑
๗. พระราชนันทมุนี (ชื่น เขมิโย) พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๕๐๙
๘. พระเทพสุเมธี (หยวก จตฺตมโล) พ.ศ. ๒๕๐๙ - ๒๕๔๕
๙. พระราชเมธาภรณ์ (ประยูร ฐิตจิตฺโต) พ.ศ. ๒๕๔๕ - ปัจจุบัน
![]() |
พระครูวินัยธรรมอินทร์ หรือ หลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถปริวัตร |
เล่ากันว่า หลวงพ่อพระครูวินัยธรรม(อินทร์) ท่านสนใจในด้านวิปัสสนากรรมฐาน และฝึกฝนจนสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านเป็นอย่างมาก
หลวงพ่ออินทร์ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสัตตนารถมาโดยตลอดจนหลวงพ่อหน่ายมรณภาพ และพระพุทธวิรากร (จิตร) มาเป็นเจ้าอาวาส
ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงพ่อจิตรก็มรณภาพ ในงานพิธีศพหลวงพ่อจิตรได้มีการสร้างเหรียญที่ระลึก ที่มักเรียกกันว่า "เหรียญเต่า"
เนื่องจากรูปเหรียญขอบด้านข้างมีขอบยื่นออกมาทำให้มองดูรูปเหรียญแล้วคล้ายๆ รูปเต่า โดยเหรียญนี้หลวงพ่ออินทร์ท่านเป็นผู้ปลุกเสก
พระครูวินัยธรรม (อินทร์) จำพรรษาที่วัดสัตตนารถฯ มาด้วยดีเสมอมา จนถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๒ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถ
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถฯ รุ่นแรก
สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เมื่อคราวที่หลวงพ่ออินทร์ มีอายุครบ ๗๒ ปี คณะศิษย์และชาวบ้านจึงได้ขออนุญาตหลวงพ่อจัดสร้างเหรียญรูปท่านเพื่อแจกในงานทำบุญอายุ มีการสร้างด้วยกัน ๒ แบบ คือแบบตัวหนังสือตรง กับตัวหนังสือโค้ง ด้านข้างของเหรียญจะเป็นขอบข้างเลื่อย
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถฯ รุ่นแรก บล็อก พ.ศ. ๒๔๗๓ ตรง(นิยม)
สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา ข้างเลื่อย สร้างด้วย เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง จำนวนการสร้างบล็อกหลังหนังสือตรงนี้ มีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่ได้รับไปจะเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิด ว่ากันว่าบล็อกนี้เป็นบล็อกที่สร้างครั้งแรก ที่พบเจอส่วนใหญ่กะไหล่จะคล้ำ
![]() |
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถปริวัตร รุ่นแรก บล็อก พ.ศ. ๒๔๗๓ ตรง (นิยม) |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่ออินทร์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฎิ ประทับนั่งเต็มองค์บนอาสนะ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวินัยธรรมอินทร์"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ขอมจำนวน ๖ แถว ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๗๓"
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถฯ รุ่นแรก บล็อก พ.ศ. ๒๔๗๓ โค้ง
สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับเหรียญพิมพ์ พ.ศ. ตรง ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา ข้างเลื่อย สร้างด้วยเนื้อทองแดง มีทั้งที่เป็นกะไหล่ทอง และกะไหล่เงิน และเนื้ออ้ลปาก้า สาเหตุของการสร้างเกิดจากเหรียญหนังสือตรงที่แจกไปนั้นไม่เพียงพอ ยังมีผู้ที่ยังไม่ได้รับอีกมากจึงต้องสร้างเพิ่ม แต่ด้านหลังจะเป็นตัวหนังสือโค้ง มีจำนวนการสร้างที่มากกว่าพิมพ์หนังสือตรงอยู่มาก ซึ่งบล็อกหนังสือโค้งส่วนหนึ่งที่เหลือจากการแจกให้แก่ศิษย์ไปแล้วท่านได้เก็บรักษาไว้ เพื่อแจกในงานศพของท่านอีกด้วย สามารถแบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์คือ พิมพ์เลข พ.ศ. หนา และพิมพ์เลข พ.ศ. บาง
![]() |
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถปริวัตร รุ่นแรก บล็อก พ.ศ. ๒๔๗๓ โค้ง พิมพ์เลข พ.ศ. หนา |
![]() |
เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดสัตตนารถปริวัตร รุ่นแรก บล็อก พ.ศ. ๒๔๗๓ โค้ง พิมพ์เลข พ.ศ.บาง |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่ออินทร์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฎิ ประทับนั่งเต็มองค์บนอาสนะ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวินัยธรรมอินทร์"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ขอมจำนวน ๖ แถว ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๗๓" โค้งล้อไปกับขอบเหรียญ
เหรียญพระวินัยธรรม (อินทร์) รุ่นแรก ปัจจุบันหายากพอสมควร โดยเฉพาะเหรียญบล็อกหลังหนังสือตรง ซึ่งสร้างจำนวนน้อยกว่าเหรียญหนังสือโค้ง แต่เหรียญข้างเลื่อยของทั้ง ๒ บล็อกก็หายากเช่นกัน ใครมีควรเก็บไว้ให้ดี.
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น