วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง เจ้าของเบี้ยแก้อันดับหนึ่งเมืองแม่กลอง

หลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง ถือเป็นพระเกจิแห่งลุ่มน้ำแม่กลองเพียงรูปเดียวที่สร้างเบี้ยแก้ ซึ่งถือเป็นเบี้ยแก้อันดับหนึ่งของพระลุ่มน้ำแม่กลอง โดยประวัติของท่านนั้นมิได้มีการจดบันทึกไว้แต่อย่างใด มีแต่เรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า

          หลวงพ่อไพล ท่านเป็นชาวเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมว่าไพล นิ่มน้อม เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘ ที่บ้านห้วยโรง ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี แต่ไม่มีบันทึกถึงโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน

          ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ หลวพ่อไพล ท่านได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพะรภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดห้วยโรง ตำบลห้วยดรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "ธมฺมสโร" โดยมี

          หลวงพ่อสิน วัดห้วยโรง (ก่อนย้ายมาวัดปรกสุธรรมาราม) เป็นพระอุปัชฌาย์

          เมื่อหลวงพ่อไพล ท่านอุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดห้วยโรงเพื่อศึกษาวิชาคาถาอาคมและวิชากรรมฐานกับหลวงพ่อสิน ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์

          ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หลวงพ่อสิน ได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปรกสุธรรมาราม หลวงพ่อไพลท่านจึงได้ขอติดตามหลวงพ่อสินมาอยู่ที่วัดปรกสุธรรมารามด้วย

          ต่อมาพระอธิการนวม เจ้าอาวาสวัดบางแคกลางได้ถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งวัดบางแคกลางได้ว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ หลวงพ่อไพล มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางแคกลาง ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

          วัดบางแคกลาง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ถือเป็นวัดโบราณของจังหวัดสมุทรสงคราม วัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๓ เดิมชื่อ วัดบางแคใน เพราะอยู่ในคลองบางแค 

          เหตุที่เรียกชื่อนี้เพราะหลังจากที่เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) ได้สร้างวัดบางแคนอกขึ้นปัจจุบันคือวัดบางแคใหญ่ ชาวบ้านมักจะเรียกวัดบางแคใน 

          สมัยที่สร้างวัดแรกชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า วัดปทุมเกสร ตามชื่อผู้ถวายที่ดิน คือ นายประทุมและนางเกสร ไม่ทราบนามสกุล ที่ได้ถวายให้กับหลวงพ่อเกตุซึ่งมาปักกลดบำเพ็ญภาวนา 

          นายประทุมและนางเกสรเกิดความเลื่อมใสจึงได้ถวายที่ดินให้ท่านสร้างวัดประมาณ ๑๑ ไร่ เรียกกันว่า สำนักสงฆ์ประทุมเกสร ต่อมาในสมัยหลวงพ่อลับเป็นเจ้าอาวาส ได้เกิดเพลิงไหม้กุฏิสงฆ์ทั้งหมด จึงได้ทำการปลูกสร้างขึ้นใหม่ 

          หลังจากที่หลวงพ่อไพลได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ สร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ สร้างหอสวดมนต์ และโรงเรียนประชาบาล ๒ ชั้น

          และเมื่อวัดพัฒนาขึ้นตามลำดับแล้ว หลวงพ่อไพลและประชาชนเห็นตรงกันว่า วัดนี้อยู่ระหว่างกลางระหว่างวัดปรกสุธรรมารามและวัดบางแคใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า วัดกลาง 

          หลวงพ่อไพลเห็นว่าวัดมีคลองบางแคอยู่หน้าวัดและอยู่ในหมู่บ้าน ตำบลบางแค จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดบางแคกลาง" และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน 

           ในระหว่างที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อไพลท่านได้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านเป็นอันดี เป็นปูชนียบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก เป็นพระเถระผู้เปี่ยมด้วยบารมีธรรม จนเป็นที่ทราบมาจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง สมุทรสงคราม

          ท่านได้ก่อสร้างปฏิสังขรณ์เสนาอุโบสถหลังที่ ๓ (หลังปัจจุบัน) ขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๒.๘๓ เมตร แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ โดยพระอุโบสถมาแล้วเสร็จในสมัยของพระครูสมุทรกิจวิบูลย์ (ชั้น นาถสีโล) เนื่องจากหลวงพ่อไพลมรณะภาพเสียก่อน

          หลวงพ่อไพล ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ นับรวมสิริอายุได้ ๗๙ ปี ๕๕ พรรษา

วัตถุมงคลของหลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง

          เบี้ยแก้หลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง

          หลวงพ่อไพลท่านสร้างเริ่มสร้างเบี้ยแก้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นต้นมา โดยสร้างตามตำหรับของหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง เมืองเพชรฯ ผู้เป็นอาจารย์แต่เบี้ยของท่านจะไม่มีการถัก เพื่อไม่เป็นการทำทัดเทียมเสมออาจารย์ เบี้ยแก้ของท่านมีประสบการณ์มากมาย คนที่นับถือท่านต่างทราบดี ทั้งกันคุณไสย์ ไล่เสนียด ใส่หมอนหนุนนอนให้เด็กที่มักนอนสะดุ้งขวัญผวา และพกติดตัวเวลาค้างอ้างแรมในต่างถิ่น

เบี้ยแก้หลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง ของคุณพรชัย อุโฆษจันทร์

         โดยส่วนประกอบการทำชันของหลวงพ่อไพลนั้นประกอบไปด้วย

         ๑. งาจำกัด
         ๒. งากำจาย
         ๓. พรายกระเด็น
         ๔. ต้นผีพ่าย
         ๕. ต้นผีหน่าย
         ๖. รอดฐานพระขี้
         ๗. เม็งรักข้า
         ๘. กัลปังหาแดง ดำ ขาว
         ๙. ชันเพชร
         ๑๐. ชันโลงใต้ดิน
         ๑๑. ชันยาเรือน้ำมันยาง
         ๑๒. ต้นเพชรสังฆาต
         ๑๓. ขี้ผึ้งเทียนชัย
         ๑๔. ว่าน108 ฯ
         ๑๕. เห็ดหลุม
         ๑๖. ต้นผีหนี
         ๑๗. ต้นผีหนาด
         ๑๘. กระเบนท้องน้ำ
         ๑๙. น้ำปรอท

เบี้ยแก้หลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง ของคุณพรชัย อุโฆษจันทร์

         ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุอาถรรณ์ทั้งสิ้น หลวงพ่อไพลท่านจะลงมือทำเองตั้งแต่คัดตัวเบี้ย ที่ได้ขนาดที่เหมาะสม แล้วจึงนำมวลสารทุกอย่างมาโขลกให้ละเอียด ยกเว้น น้ำมันยาง ชันยาเรือ ชันโรงใต้ดิน ขี้ผึ้งเทียนชัย น้ำปรอท ตัวหอย หลังจากนั้นใส่ไว่ในบาตรพระ แล้วนำมากวนเข้าด้วยกัน ตักส่วนผสมใส่ตัวเบี้ย จากนั้นใส่ปรอทลงไปในตัวเบี้ย หลังจากนั้นนำชันต่างๆ มาเคี่ยว หลังจากนั้นก็นำมาปิดที่ก้นเบี้ย โดยหลวงพ่อไพลท่านจะปลุกเสกเดี่ยว เมื่อเข้มขลังดีแล้วจึงแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์ มีทั้งเลี่ยมนาค เลี่ยมเงินแปะตั๊ง ศิลป์การเลี่ยมจากวัด และไม่เลี่ยม (หากเลี่ยมสแตนเลสจะเป็นยุคหลังไม่ทันหลวงพ่อ)

         โดยหลวงพ่อไพล จะไม่ได้บอกว่าหลวงพ่อใช้คาถาอะไรในการปลุกเสก ถือว่าเป็นเบี้ยแก้อีกสำนักหนึ่งที่น่าใช้ และสร้างตามตำราโบราณจารย์อย่างแท้จริง

          พระร่วงเนื้อตะกั่วหล่อหลวงพ่อไพล

          สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีพุทธลักษณะเป็นแบบพิมพ์พระร่วงที่นิยมสร้างกันมา แต่มีเอกลักษณ์ที่จดจำได้ง่าย มีสร้างด้วยเนื้อตะกั่วเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้จดบันทึกไว้

พระร่วงยืนหลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง ของคุณพรชัย อุโฆษจันทร์

          ด้านหน้า เป็นรูปพระปางประทานพร พระทับยืนบนฐานเขียง 

          ด้านหลัง เรียบ บางองค์มีรอยจารจากมือของหลวงพ่อไพล

          พระนางพญา หลวงพ่อไพล เนื้อตะกั่ว

          สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีพุทธลักษณะเป็นแบบสามเหลี่ยม มีเอกลักษณ์ที่จดจำได้ง่าย มีสร้างด้วยเนื้อตะกั่วเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้จดบันทึกไว้

พระนางพญา หลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง เนื้อตะกั่ว

          ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทะนั่งปางมารวิชัย หูบายศรี ขอบรอบองค์พระยกสูงล้อไปกับพิมพ์พระ 

          ด้านหลัง เรียบ บางองค์มีรอยจารจากมือของหลวงพ่อไพล

          พระร่วงนั่ง เนื้อผงว่านผสมชันยาเรือ หลวงพ่อไพล

          สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ องค์พระสร้างจากเนื้อผงว่านผสมชันยาเรือ องค์พระมีพุทธลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายมน มีน้ำหนักเบา จำนวนการสร้างไม่ได้จดบันทึกไว้

พระร่วงนั่ง เนื้อผงว่านยาชัน หลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง ของคุณพรชัย อุโฆษจันทร์

          ด้านหน้า เป็นรูปพระปางมารวิชัย พระทับนั่งบนฐานเขียงด้านล่างมีฐานบัว ๑ ชั้น รอบองค์พระมีกนกเป็นรัศมีล้อไปกับพิมพ์พระ 

          ด้านหลัง เรียบ บางองค์มีรอยจารของหลวงพ่อไพล
 
          เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อไพล รุ่นแรก (แววนกยูง)

          สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยมีลักษณะคล้ายเหรียญหยดน้ำ หรือบางครั้งก็เรียกว่า แววนกยูง วัตถุประสงค์หลักในการจัดสร้างนั้น เพื่อไว้แจกจ่ายแก่ผู้บริจาคเงินสำหรับสร้างพระอุโบสถของวัด สร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้จดบันทึกไว้ แต่หลวงพ่อได้แจกจ่ายเรื่อยมาจนเหรียญหมดไปจากวัด

เหรียญหลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ของคุณพรชัย อุโฆษจันทร์

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อไพลครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อไพล"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ของหลวงพ่อไพล

          เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อไพล รุ่น ๒

          สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยพระครูสมุทรกิจวิบูลย์ (ชั้น นาถสีโล) มีลักษณะคล้ายเหรียญรูปไข่ วัตถุประสงค์หลักในการจัดสร้างนั้น เพื่อไว้เป็นที่ระลึกในการหล่อพระประธานของวัดบางแคกลาง สร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้จดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองเหลือง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อไพลครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อไพล" ด้านบนมีอักษรภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกหล่อพระประธานวัดบางแคกลาง"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๑๐ มีนา ๒๕๑๑"

          เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อไพล รุ่น ๓

          สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยพระครูสมุทรกิจวิบูลย์ (ชั้น นาถสีโล) มีลักษณะเหรียญคล้ายเหรียญแววนกยูงรุ่นแรก วัตถุประสงค์หลักในการจัดสร้างนั้น เพื่อไว้เป็นที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาของวัดบางแคกลาง สร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้จดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อไพล วัดบางแคกลาง รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองเหลือง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อไพลครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อไพล" ด้านบนมีอักษรภาษาไทยเขียนว่า "ในงานผูกพัทธสีมา ๒๕๑๔"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์และรูปจำลองพระประธานในโบสถ์ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบางแคกลาง"

          โดยสมัยก่อนยายของข้าพเจ้าเล่าให้ฟังว่า พระของท่านไม่มีค่างวดอะไร บริจาคเท่าไหร่ท่านก็แจกให้ อยากได้เท่าไหร่ก็หยิบเอา แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อไพลท่านมีความเมตตาสูง ไม่ยึดติดกับทรัพย์สินต่างๆ และการที่ท่านเป็นเช่นนี้ จึงทำให้การสร้างพระอุโบสถ์ของวัดบางแคกลาง จึงไม่แล้วเสร็จในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส แต่คุณงามความดีของท่านก็ยังเป็นที่เล่าขานกันมาจวบจนปัจจุบัน.


โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

3 ความคิดเห็น:

  1. ผมมีรูปมวลสารในการทำเบี้ยแก้ของหลวงพ่อ พร้อมลายมือท่านเลยครับ อยากให้นำไปรวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อศึกษาและเป็นประโยชน์แกคนรุ่นต่อ ๆ ไปครับ

    ตอบลบ
  2. ผมมีรูปมวบสารในการทำเบี้ยแก้ของหลวงปู่ไพล พร้อมลายมือท่านเลยครับ

    ตอบลบ
  3. อยากให้นำไปรวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่่่่่่่อไปครับ

    ตอบลบ