วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อทองสุข วัดราษฎร์บูรณะ สมุทรสงคราม เจ้าของยาต้มใบมะนาว ๑๐๘ ใบอันเล้นลับ

พระครูทองสุข (สุวรรณคงฺโค) วัดราษฎร์บูรณะ สมุทรสงคราม

        หลวงพ่อทองสุข สุวรรณคงฺโค วัดราษฎร์บูรณะ ( วัดใหม่ราษฎร์บูรณะ ) ท่านเกิดประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๒ ภูมิลำเนาเดิมของท่านอยู่บ้านคลองแค ใกล้ๆกับวัดราษฎร์บูรณะ บิดาของท่านชื่อนายดี ส่วนโยมมารดาของท่านชื่อนางบุญมี ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม ๓ คน ดังนี้

        คนที่ ๑ นายแปลก 

        คนที่ ๒ หลวงพ่อทองสุข

        คนที่ ๓ นายทรัพย์ ชาวบ้านเรียก คุณตาทรัพย์ บวชเป็นพระเคยอยู่ที่วัดบางวันทอง ร่วมสมัยกับหลวงปู่ตาด เก่งทางยาแผนโบราณ ภายหลังสึกออกมาเป็นหมอยา

        เมื่อหลวงพ่อทองสุข มีอายุสมควรแก่การศึกษาเล่าเรียน โยมบิดาและโยมมารดาจึงได้จำไปฝากตัวกับพระอาจารย์โม วัดราษฏร์บูรณะเพื่อเล่าเรียนวิชาจนอ่านออกเขียนได้

รูปถ่ายหลวงพ่อโม วัดราษฏร์บูรณะ สมุทรสงคราม
หลวงพ่อโม วัดราษฏร์บูรณะ สมุทรสงคราม

        ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เมื่อหลวงพ่อทองสุข มีอายุได้ ๒๐ ปี บริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดราษฏร์บูรณะ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒ ตรงกับเดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ วันพฤหัสบดี ได้รับฉายาว่า "สุวรรณคงฺโค" โดยมี 

        หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง เป็นพระอุปัชฌาย์

        พระปลัดจันทร์ วัดเหมืองใหม่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

        พระอาจารย์โม วัดราษฏร์บูรณะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

        เมื่ออุปสมบทแล้วได้อยู่จำพรรษาที่วัดราษฏร์บูรณะเรื่อยมา เพื่อร่ำเรียนพระธรรมวินัยและวิชาอาคมต่างๆ กับหลวงพ่อโม 

        ต่อมาได้ไปศึกษาวิชาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงพ่อตาด ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และนอกจากนี้ท่านยังได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค หรือปัจจุบันคือวัดตรีจินดาวัฒนารามอีกด้วย

        ครอบครัวนี้เก่งทางยาแผนโบราณ ซึ่งต่อมา หลวงพ่อสุขเองท่านก็เก่งทางยาแผนโบราณด้วยเช่นกัน ยาที่เป็นที่รู้จักของท่านก็คือ ยาต้มใบมะนาว ๑๐๘ ใบ 

        นอกจากนี้ด้วยความที่วัดอยู่ติดกับวัดละมุด หลวงพ่อทองสุข จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเทียน เพื่อร่ำเรียนวิชาอาคมอีกด้วย

        หลวงพ่อทองสุข ท่านยังเป็นพระสหมิกธรรมกับหลวงพ่อธูป วัดแคนางเลิ้ง กรุงเทพฯอีกด้วย เวลาที่หลวงพ่อทองศุุขได้รับกิจนิมนต์มาที่กรุงเทพฯทีไร ก็มักจะไปมาหาสู่กันโดยตลอด

ภาพถ่ายหลวงพ่อทองศุข วัดราษฎร์บูรณะ แจกในงานทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒

        ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ หลังจากที่ท่านอุปสมบทได้เพียง ๖ พรรษา พระอาจารย์โมได้มรณะภาพลง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์หลวงพ่อทองสุข ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดราษกร์บูรณะสืบแทน

        วัดราษฎร์บูรณะ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ริมคลองแควอ้อม ในพื้นที่บ้านหัวหาด หมู่ที่ ๙ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ด้านหลังวัดจดถนนผลไม้ใกล้กับวัดละมุด สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๐ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง 

        ต่อมานายสุขและนางเงิน พร้อมด้วยน้องสาว ได้บริจาคทรัพย์และที่ดิน เพื่อให้สร้างวัดขึ้นใหม่ พร้อมด้วยสังฆารามต่างๆ จึงได้เรียกชื่อวัดว่า “วัดใหม่ยายเงิน” ตามนามของผู้บริจาค

        อุโบสถเดิมของวัดเป็นไม้สักทรงผ่ากระดาน หันหน้าอุโบสถไปทางคลองแควอ้อม ศาลาการเปรียญ ตลอดจนกุฏิสงฆ์ เป็นเรือนไม้สักทรงไทยทั้งสิ้น ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา 

ภาพถ่ายหลวงพ่อจั่น วัดเหมืองใหม่ สมุทรสงคราม
หลวงพ่อจั่น วัดเหมืองใหม่ สมุทรสงคราม พระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อทองศุข

        หลังจากได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส หลวงพ่อสุข ได้เห็นความสำคัญในด้านการศึกษาจึงได้เปิดโรงเรียนสอนหนังสือให้แก่บุตรธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นที่สอน โดยว่าจ้างครูมาสอน

        นอกจากนี้ท่านยังทำการสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นอุโบสถคอนกรีตก่ออิฐถือปูน เพื่อทดแทนหลังเดิมที่เป็นไม้และผุพังไปตามการเวลา และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “วัดราษฎร์บูรณะ” 

        สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชมและนมัสการ ได้แก่ พระประธานในอุโบสถ และหน้าบันของอุโบสถ เป็นรูปหน้ากาล ซึ่งแปลกกว่าวัดอื่นๆ กุฏิ หอฉัน หอสวดมนต์ ทรงไทยโบราณทั้งสิ้น ต้นตะเคียนใหญ่ และต้นพิกุล อายุ ๓๐๐ ปี

รูปหล่อหลวงพ่อทองสุข วัดราษฏร์บูรณะ สมุทรสงคราม


        หลวงพ่อทองสุข ปกครองวัดราษฏร์บูรณะเรื่อยมาจนถึงแก่มรณถาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๒ นับรวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี ๖๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อสุข วัดราษฎร์บูรณะ

        ในช่วงต้นหลวงพ่อสุขท่านได้สร้าง ตะกรุดโทนเนื้อฝาบาตร เชือกคาดเอว และพิรอดแขน โดยท่านทำแจกลูกศิษย์มาเรื่อยๆ พุทธคุณ กันเขี้ยวงาสารพัด เป็นที่เลื่องลือ ปัจจุบันหาชมได้ยาก

        เชือกคาดเอวหลวงพ่อทองสุข วัดราษฎร์บูรณะ

        เชือกคาดเอวของหลวงพ่อทองสุขนั้น จะทำมาจากผ้าดิบห่อศพสีขาว นำมาลงอักขระยันต์ต่างๆด้วยดินสอ แล้วควั้นเป็นเกลียวเชือกขมวดปม นอกจากมีขาวแล้วเชือกคาดเอวจะมีที่เป็นสีอื่นๆด้วยแต่หายากมากๆ

เชือกคาดเอว หลวงพ่อทองสุข วัดราษฏณ์บูรณะ สมุทรสงคราม

        ด้านหัว หัวเชือกจะมีการขมวดปม สำหรับร้อยปลายเชือก เพื่อใว้คาดเอวได้สะดวกจัดเป็นของหายากไม่ค่อยได้พบเห็น

ปี พ.ศ. ๒๕๐๐

        วัดราษฎร์บูรณะ ได้จัดงานปิดทองฝังลูกนิมิตพระอุโบสถหลังใหม่ หลวงพ่อสุขท่านก็ออกวัตถุมงคล แจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน ดังนี้

        เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดราษฎร์บูรณะ รุ่นแรก

        สร้างเมื่อคราวฉลองโบสถ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว จำนวนการสร้าง ๓,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดราษฏร์บูรณะ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐

        ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักษรไทยเขียนว่า "พระครูทองศุข วัดราษฏร์บูรณะ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ๒๕๐๐"

        ด้านหลัง มียันต์สาม เหนือยันต์สามมีอุณาโลม ๑ ตัว

        รูปหล่อลอยองค์หลวงพ่อทองสุข วัดราษฎร์บูรณะ รุ่นแรก

        สร้างเมื่อคราวฉลองโบสถ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นรูปหล่อปั๊ม จัดสร้างด้วยเนื้อทองผสมจำนวนการสร้างไม่มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดว่าน่าจะน้อยกว่าเหรียญมากนัก

รูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อทองสุข วัดราษฏร์บูรณะ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐

        ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อทองสุข นั่งสมาธิ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ นั่งบนฐานเขียง มีอักษรไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่อสุข"

        ด้านหล้ง ไม่มีอักขระใดๆ ใต้ฐานเรียบไม่มีการอุดกริ่ง

         แหวนหลวงพ่อทองสุข วัดราษฎร์บูรณะ รุ่นแรก

        ลักษณะเป็นแหวนปั๊มแล้วเชื่อมที่ท้องแหวน ทำขึ้นเพื่อแจกในคราวฉลองพระอุโบสถ จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

แหวนหลวงพ่อทองสุข วัดราษฏร์บูรณะ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐


        ด้านหน้า ตรงหัวแหวนมีรูปจำลองหลวงพ่อทองสุข ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านซ้ายมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อรหัง" ด้านขวามีอักขระขอมอ่านได้ว่า "พุทโธ"

        ด้านหลัง ท้องแหวนด้านในเรียบ ไม่มีอักขระใดๆ


ข้อมูลบางส่วนจากคุณกีรกร แก้วเล็ก
โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น