ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้(วัดไชยชุมพลชนะสงคราม) กาญจนบุรี พระเกจิที่คนโบราณให้ฉายาว่า "ถ้าเป็นอ้ายเสือต้องวัดใต้"
หลวงพ่อเปลี่ยน (อินทสโร) วัดใต้ หรือ พระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม |
หลวงพ่อเปลี่ยน (อินทสโร) วัดใต้ หรือ พระวิสุทธิรังษี เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม จังหวัดกาญจนบุรี หรือเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า หลวงพ่อวัดใต้ หรือ หลวงปู่วัดใต้
ท่านถือเป็นพระเถระและพระเกจิอาจารย์จอมขมังเวทย์ของเมืองกาญฯ วัตถุมงคลทุกชนิดที่ผ่านมือท่าน จัดเป็นของวิเศษที่แสวงหาของคนทั่วทั้งประเทศ จนมีคำกล่าวที่ว่า "ถ้าเจ้าชู้ต้องวัดเหนือ ถ้าเป็นอ้ายเสือต้องวัดใต้" ซึ่งบ่งบอกถึงคุณวิเศษของหลวงพ่อได้เป็นอย่างดี
หลวงพ่อเปลี่ยน เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ ปีจอ ซึ่งตรงกับวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๕ ที่บ้านม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เดิมมีชื่อว่า ทองคำ เป็นบุตรของโยมบิดาชื่อ หมื่นอินทร์รักษา (นายนิ่ม พูลสวัสดิ์) โยมมารดาชื่อ นางจีบ พูลสวัสดิ์
เมื่อเยาว์วัยหลวงพ่อเปลี่ยน ท่านเกิดในวันแข็งหรือที่คนโบราณนิยมเรียกกันว่า วันเสาร์ห้า ท่านจึงมีนิสัยเป็นนักสู้ มีความเข้มแข็ง ทรหดอดทน จิตใจจึงกว้างขวาง เป็นนักเลง ต่อยตีเขาไปทั่ว เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม และด้วยความที่เป็นผู้ที่มีนิสัยนักเลงนั้นเอง จึงมีสมัครพรรคพวกมาติดสอยห้อยตามมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่วิตกกังวลของโยมบิดา-มารดาเป็นอันมาก
โยมบิดาและโยมมารดา คิดวิตกว่าต่อไปคงจะเอาดีได้ยาก หากปล่อยให้เป็นเยี่ยงนี้ต่อไป โยมบิดาจึงได้ตัดสินใจ นำตัวหลวงพ่อเปลี่ยนไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดใต้ หรือ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม โดยฝากเป็นศิษย์ของท่านพระครูวิสุทธิรังษี(ช้าง) เจ้าอาวาสและเจ้าคณะเมืองกาญจนบุรีในสมัยนั้น
หลังจากท่านมาอยู่วัดได้ไม่นาน ก็เปลี่ยนเป็นคนสุขุมมากขึ้น เยือกเย็นขึ้น หนักแน่นขึ้น มีความสุภาพเรียบร้อยและมีความโอบอ้อมอารีผิดไปเป็นคนละคน โยมบิดาเลยเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ ว่า "เปลี่ยน" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลวงพ่อเปลี่ยน (อินทสโร) วัดใต้ หรือ พระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม |
ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ หลวงพ่อเปลี่ยน มีอายุครบบวช โยมบิดาจึงนำไปอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดใต้ หรือ วัดไชยชุมพลชนะสมคราม ได้รับฉายาว่า "อินทสโร" เพราะพระอุปัชฌาย์เห็นว่าหลวงพ่อเปลี่ยนเป็นคนชะตากล้าแข็งมาก
เพราะเกิดในวันเสาร์ห้า
ถ้าจะให้ฉายาเป็นคนวันเสาร์ ก็เกรงว่าจะกล้าแข็งมากเกินไป
จึงให้ฉายาเป็นคนวันอาทิตย์แทน
โดยมี
พระครูวิสุทธิรังษี(ช้าง) วัดใต้ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการรอด วัดทุ่งสมอ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการกรณ์ วัดชุกพี้ เป็นพระอนุสาวณาจารย์
หลังอุปสมบทหลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร ก็ได้เล่าเรียนทั้งหนังสือขอมและหนังสือไทย เดิมท่านตั้งใจว่าจะบวชเพียง ๗ วัน แต่แล้วด้วยบุญกุศลก็เสริมให้เกิดความปักใจแน่วแน่ หลวงพ่อเปลี่ยน จึงตั้งใจศึกษาและสืบพระศาสนาตราบจนสิ้นอายุขัย
นับตั้งแต่หลวงพ่อเปลี่ยนได้เริ่มบวชเรียน ได้ปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จะร่ำเรียนวิชาไหนก็สำเร็จทุกอย่าง ด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว พูดจริง ทำจริง และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ หลวงพ่อช้าง พระอุปัชฌาย์จึงตั้งให้เป็นพระใบฎีกา เพื่อให้ช่วยในงานด้านพระพุทธศานาตลอดมา
หลวงพ่อช้างองค์นี้ เป็นพระที่มีวิทยาอาคมแก่กล้ามาก เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วทั้งเมืองกาญจน์และเมืองใกล้เคียง ก่อนจะได้เป็นเจ้าคณะเมืองกาญจน์ ได้แสดงฝีมือในทางทำน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่วัดขนอนเหนือ เมืองราชบุรี พร้อมกับหลวงพ่อกลิ่น วัดเหนือ น้ำมนต์ของสองวัดนี้ ทำแล้วไม่หก ไม่ไหล เป็นการสอบไล่ครั้งสำคัญ เพราะแต่เดิมการปกครองคณะสงฆ์เมืองกาญจน์ต้องขึ้นกับเมืองราชบุรี
เมื่อชื่อเสียงร่ำลือไปถึงท่านพระครูธรรมเสนานี(ดี) วัดขนอน ซึ่งปกครองคณะสงฆ์เมืองกาญจน์ในสมัยนั้นว่า ขณะนี้ที่เมืองกาญจนบุรีมีอาจารย์แก่กล้า ๒ องค์ คือวัดใต้และวัดเหนือ เห็นสมควรจะปกครองตนเองได้ จึงได้เรียกมาทดสอบที่วัดขนอน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าเก่งกล้าจริงตามที่ร่ำลือต่อหน้าเจ้าบ้านเจ้าเมืองและประชาชนเป็นอันมาก
จึงได้รับบาตรที่ทำน้ำมนต์ไม่หกมาเป็นรางวัลคนละลูกเก็บรักษาไว้เป็นอนุสรณ์ และทางการก็ได้แต่งตั้งหลวงพ่อช้าง ขึ้นเป็นพระครูวิสุทธิรังษี เป็นเจ้าคณะเมืองกาญจนบุรี และให้หลวงพ่อกลิ่น วัดเหนือ เป็นพระสิงคิบุรคณาจารย์รองเจ้าคณะเมืองกาญจนบุรี แต่นั้นมาการคณะสงฆ์เมืองกาญจน์ก็ไม่ต้องไปขึ้นกับเมืองราชบุรีอีกต่อไป
หลวงพ่อเปลี่ยน (อินทสโร) วัดใต้ หรือ พระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม |
หลังจากที่พระครูวิสุทธิรังสี (ช้าง) ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงได้แต่งตั้งหลวงปู่เปลี่ยน ให้ดำรงตำแหน่งพระใบฎีกาเปลี่ยน เป็นรองเจ้าอาวาสช่วยท่านปกครองวัด
วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔๔ ไร่ ๒ งาน ๘๑ ตารางวา
วัดไชยชุมพลชนะสงคราม หรือ วัดใต้ เพราะวัดอยู่ทางใต้ของกำแพงเมือง ตามเรื่องเล่าจากผู้สูงอายุเล่าว่า พระยาตาแดงเป็นผู้สร้าง แต่จะเป็นการสร้างขึ้นใหม่ หรือซ่อมแซมบูรณะต่อเติมจากของเดิมซึ่งมีอยู่มาก่อนแล้วก็ได้ เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ยังหาหลักฐานไม่ได้
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔
ภายในวัดมีพระเจดีย์เก่าแก่ที่ตั้งอยู่ใกล้พระอุโบสถหลังเก่า กรมศิลปากรได้จัดขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ ตามประกาศครั้งที่ ๑ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘
ในสมัยโบราณกองทัพไทยได้เคยชุมพลเหล่าทหารที่ทะแกล้วร่วมพิธีตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงเทพารักษ์ทางไสยศาสตร์ ก่อนที่จะออกไปรบประจันกับเหล่าศัตรู
โดยชุมชุมร่วมพิธีกัน ณ ตรงที่ตั้งพระเจดีย์องค์นี้ และได้สร้างเจดีย์นี้เพื่อเป็นนิมิตฉลองชัย ชื่อ ไชยชุมพล แสดงว่าพระเจดีย์นี้สร้างขึ้นในที่ชุมพล ต่อมาขนานนามวัดให้เหมาะสมตามชัยนิมิตนี้
อาคารเสนาสนะทีสำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถหลังเก่า สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๐ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เช่น ภาพพรหมลูกฟัก ภาพเทวดา ภาพพระราหูอมจันทร์ และผนังด้านข้างเขียนภาพประวัติขุนแผนย่างกุมารทอง ตามบทประพันธ์เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
พระอุโบสถหลังใหม่ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังคา ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาแลงปางตรัสรู้ ขนาดหน้าตัดกว้าง ๔ ศอก ๑ คืบ สูง ๕ ศอก ๑ คืบ สร้างสมัยทวารวดี และศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๖๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังคา ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา ภายในเขียนภาพจิตรกรรม วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้
๑. พระอธิการสวด
๒. พระอธิการเกด
๓. พระอธิการคง
๔. พระครูวิสุทธิรังสี (ช้าง)
๕. พระวิสุทธิรังสี (หลวงปู่เปลี่ยน อินฺทสโร)
๖. พระปลัดจู จนฺทโชติ
๗. พระครูวัตตสารโสภณ (พระอาจารย์ก้าน)
๘. พระธรรมคุณาภรณ์(ไพบูลย์ กตปุญฺโญ)
๙. พระเทพปริยัติโสภณ(ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙ พธ.บ. M.A)
หลังจากที่หลวงพ่อเปลี่ยนได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ท่านได้พัฒนาวัดจนสวยงามยิ่งนักทั้งทางการศึกษาและฝ่ายธรรม ฝ่ายกุลบุตรก็เจริญก้าวหน้า โดยได้จัดตั้งโรงเรียนประจำจังหวัด คือโรงเรียนวิสุทธรังษี เป็นที่เชิดชูอยู่จนกระทั่งบัดนี้ และต่อมาท่านก็ได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยความดีงามของท่าน ทั่วทั้งเมืองกาญจน์ไม่ว่าวัดไหนต้องการอะไรหลวงพ่อจะช่วยจนเต็มกำลัง
ส่วนเรื่องทางไสยศาสตร์เวทมนตร์ของหลวงพ่อ ใครๆก็รู้กันทั่วว่าเก่งจริง ในกรุงเทพฯ สมัย ร.๕ - ร.๖ หากมีพิธีทางไสยศาสตร์แล้ว จะขาดหลวงพ่อวัดใต้เมืองกาญจน์ไม่ได้เลย ดังปรากฏพัดรองและย่ามที่หลวงพ่อได้รับไปจากกรุงเทพฯ เช่น งานถวายพระเพลิง ร.๕ งานเสวยราชย์ ร.๖ งานฉลองครบ ๑๕๐ ปี พัดจักรี ฯลฯปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงพ่อเปลี่ยนได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหารฯ ให้เติมสร้อยต่อท้ายนามของหลวงพ่อว่า "พระวิสุทธิรังษี ชินศาสนโสภี สังฆปาโมกข์"
นอกจากนี้หลวงพ่อเปลี่ยน ยังได้รับการชมเชยจาก ร.๕ ในคราวเสด็จประพาสเมืองกาญจน์โดยนำพระสงฆ์ ๒๐ รูปมาสวดมนต์รับเสด็จที่พลับพลาว่า สวดมนต์เก่ง สวดได้ชัดเจน ตลอดจนการลีลา สังโยคน่าฟัง และขัดตำนานได้ไพเราะ
หลวงพ่อเปลี่ยนจึงได้รับของพระราชทานหลายอย่างเป็นที่โปรดปรานของ ร.๖ ลักษณะของหลวงพ่อเป็นมหาอำนาจ มีความน่าเกรงขามยิ่งนัก จนถึงกับมีคำขวัญว่า "เจ้าชู้ต้องวัดเหนือ เป็นอ้ายเสือต้องวัดใต้" วัดเหนือหมายถึง พระครูอดุลยสมณกิจ(ดี) ในสมัยนั้นซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็นพระเทพมงคลรังษี เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อสืบแทนหลวงพ่อเปลี่ยน
หลวงพ่อเปลี่ยน (อินทสโร) วัดใต้ หรือ พระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม |
หลวงพ่อเปลี่ยน ท่านชอบทางวิปัสสนาธุระ และได้ฝึกฝนจนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว วัดไหนจะมีพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง สร้างพระพุทธรูปต้องมานิมนต์หลวงพ่อเปลี่ยนร่วมลงแผ่นอักขระ หรือถ้าท่านว่างก็จะอาราธนามาร่วมพิธีด้วยเสมอเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
ขุนโจรชื่อดังของเมืองกาญจน์เช่น เสือสาย เสือหัด เสือแก้ว เสือหนอม และรุ่นเก่าคือ อาจารย์บัว อาจารย์บาง ก็เคารพยำเกรงหลวงพ่อเปลี่ยนมาก นอกจากนี้ยังมีพระเกจิอีกหลากหลายรูปที่มาฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อร่ำเรียนวิชาจากท่านดังรายชื่อต่อไปนี้
พระเทพมงคลรังษี (ดี) วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จ. กาญจนบุรีพระเทพสังวรวิมล (เจียง) วัดเจริญสุขาราม บางคณฑี จ. สมุทรสงคราม
พระครูธรรมวิถีสถิตย์ (โต) วัดคู้ธรรมสถิตย์ จ. สมุทรสงคราม
พระครูญาณสาคร (แฉ่ง) วัดปากอ่าวบางตะบูน ตำบลบางตะบูน อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี
พระกาญจนวัตรวิบูลย์ (สอน) วัดลาดหญ้า จ. กาญจนบุรี
พระครูวัตตสารโสภณ(ก้าน) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จ. กาญจนบุรี
พระครูวรวัฒน์วิบูลย์ วัดหวายเหนียว จ. กาญจนบุรี
พระครูยติวัตรวิบูลย์ (พรต) วัดศรีโลหะราษฎร์ ฯลฯ จ. กาญจนบุรี
พระครูสุขวรคุณ (ทวน) วัดหนองพังตรุ ฯลฯ อ.ท่าม่วง จ. กาญจนบุรี
พระครูจันทสโรภาส (เที่ยง) วัดม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ. กาญจนบุรี
พระวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินฺทสโร) ได้เจริญอายุต่อมาจนย่างเข้า ๘๕ ปี ก็ได้อาพาธด้วยโรคชราตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ คณะแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณพยายามรักษาแต่อาการก็มีทรงกับทรุดมาโดยลำดับ
หลวงพ่อเปลี่ยน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่การมรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา ๐๙.๒๕ นาฬิกา นับรวมสิริอายุได้ ๘๕ ปีบริบูรณ์ ๖๔ พรรษา
และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่ยิ่งของเมืองกาญจน์เลยทีเดียว แม้ว่าหลวงปู่เปลี่ยนจะล่วงลับไปนานแล้ว ทว่าเกียรติคุณของท่านยังปรากฏโด่งดังอยู่จนทุกวันนี้.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ในยุคแรกๆ หลวงพ่อเปลี่ยน ได้จัดสร้างวัตถุมงคลที่เป็นตะกรุดลูกอม โดยทำมาจากเงินและทองแดง มีฤทธิ์ทางด้านมหาอุด และเมตตามหานิยม บ้างก็ใช้กระดาษว่าวลงอักขระม้วนถักแบบหมอน ทารักปิดทองใช้ทางเมตตาและแคล้วคลาด เพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาจนต่อมาจึงได้ทำเหรียญรูปอาร์มขึ้นแจก
เหรียญรูปอาร์มหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ตอนนั้นหลวงพ่อเปลี่ยน มีอายุได้ ๖๗ ปี ท่านได้สร้างเหรียญขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป โดยลักษณะเหรียญเป็นเหรียญรูปอาร์มหรือโล่ สร้างด้วยเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์ยันต์ตรง และพิมพ์ยันต์เบี่ยง
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นแรก พิมพ์ยันต์ตรง ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ของป๋าพยัพ คำพันธุ์ |
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นแรก พิมพ์ยันต์ตรง ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ของป๋าพยัพ คำพันธุ์ |
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นแรก พิมพ์ยันต์ตรง ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ |
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นแรก พิมพ์ยันต์เบี่ยง ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ของคุณอั้ม ท่าไม้ |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเปลี่ยน ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ นั่งเต็มองค์บนตั่ง มีหนังสือไทยในเหรียญด้านหน้าเขียนว่า "ที่ระลึกทำบุญอายุครบปี พระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพร การบุรี พ.ศ. ๒๔๗๒"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อริยสัจ ๔ อ่านได้ว่า "ทุ สะ นิ มะ" อยู่ในวงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด แปลว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เนื้อผง
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านได้สร้างเหรียญขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป
โดยลักษณะคล้ายเหรียญพระรูปไข่ แต่สร้างด้วยเนื้อผง
จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้
เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เนื้อผง ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเปลี่ยนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ของหลวงพ่อ
เหรียญลงถมหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้
สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลวงพ่อเปลี่ยนสร้างเหรียญขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป
โดยลักษณะเหรียญเป็นเหรียญรูปไข่ เนื้อเงินลงถม
จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้
เหรียญลงถมหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เนื้อเงินลงถม ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเปลี่ยนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ มีอักขระยันต์ต่างๆ และมีหนังสือไทยในเหรียญด้านหน้าเขียนว่า "วิสุทธิรังษี"
ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ
เข็มกลัดหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้
สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๖๐ หลวงพ่อเปลี่ยนแหวนขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป
โดยลักษณะของเข็มกลัด สร้างจากเนื้อโลหะทองเหลือง
เข็มกลัดหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ ปี พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๖๐ |
เป็นลายเซนต์ของหลวงพ่อวัดใต้ อ่านได้ว่า "วิสุทธิรังษี" จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้
แหวนหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้
สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลวงพ่อเปลี่ยนแหวนขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป โดยลักษณะของแหวนเป็นรูปไข่เนื้อเงินลงถม มี ๒ แบบด้วยกัน จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้
แหวนหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ ทั้ง ๒ แบบ เนื้อเงินลงถม ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเปลี่ยนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ มีอักขระยันต์ต่างๆ และมีหนังสือไทยในเหรียญด้านหน้าเขียนว่า "วิสุทธิรังษี"
ด้านหลัง ท้องแหวนเรียบไม่มีอักขระใดๆ
เสื้อยันต์หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้
สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลวงพ่อเปลี่ยน สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับทหาร ตำรวจใช้ในช่วงสงคราม
เสื้อยันต์หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ |
โดยลักษณะของเสื้อยันต์ จะเป็นผ้าดิบสีแดง ลงยันต์ต่างๆด้วยหมึกดำ โดยใช้วิธีแกะบล็อกยันต์แล้วปั๊มไปที่เสื้อ จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่น ๒ (หลังหนังสือ ๓ แถว)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากที่หลวงพ่อได้มรณภาพลงแล้ว โดยลักษณะเหรียญเป็นเหรียญเสมาทรงสูง มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นสอง พิมพ์หนังสือ ๓ แถว ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นสอง พิมพ์หนังสือ ๓ แถว ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง |
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นสอง พิมพ์หนังสือ ๓ แถว ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน ของคุณศิริพงษ์ วงศ์ระพี |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเปลี่ยนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ มีหนังสือไทยในเหรียญด้านหน้าเขียนว่า "หลวงพ่อวัดใต้"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีหนังสือไทยเขียนว่า "พระวิสุทธิรังษี(เปลี่ยน) วัดชัยชุมพลชนะสงคราม ๒๔๐๕-๒๔๙๐"
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่น ๔ (หลังหนังสือ ๔ แถว)
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อแจกในงานศพของหลวงพ่อ โดยลักษณะเหรียญเป็นเหรียญเสมาทรงสูง แบบเดียวกับพิมพ์หนังสือ ๓ แถว แต่มีการแก้ไขบล็อกด้านหลังใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง
จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่น ๔ พิมพ์หนังสือ ๔ แถว ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเปลี่ยนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ มีหนังสือไทยในเหรียญด้านหน้าเขียนว่า "หลวงพ่อวัดใต้"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีหนังสือไทยเขียนว่า "พระวิสุทธิรังษี(เปลี่ยน) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี วัดชัยชุมพลฯ ชาตะ ๒๔๐๔ มรณะ ๒๔๙๐"
พุทธคุณของหลวงพ่อเปลี่ยน มีประสบการณ์มามากมาย ทั้งเรื่องปืน มีด แล้วรับรองทีเดียว
เพราะหลวงพ่อเป็นนักเลงเก่า ชอบทางคงกระพันชาตรีอยู่แล้ว
เรื่องเมตตาในคาถาก็แสดงอยู่แล้วว่าทั้ง มรรคผล พร้อม จัดว่าครบเครื่อง ใครครอบครองไว้จงรักษาให้จงดี ปัจจุบันหายากยิ่งแล้ว.
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่ทำของหลวงพ่อทวนมั้งหรอครับ วัดหนองพังตรุ
ตอบลบhttps://www.pra-maeklong.com/2022/04/watnongpangtru.html
ลบทำครับ กำลังรวบรวมข้อมูลครับ
ตอบลบ