โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ เจ้าของพระปรกลึกลับของเมืองแม่กลอง

หลวงพ่อโห้ หรือ พระครูสุนทรสุตกิต วัดบางพลับ สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ หรือ พระครูสุนทรสุตกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพลับ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ทรงคุณวิเศษอีกองค์หนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม โดยท่านจัดเป็นพระนักพัฒนาที่เก่งกาจมากองค์หนึ่ง 

         เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสถึง ๓ วัด คือ วัดตะโหนดราย วัดแก่นจันทร์เจริญ และวัดบางพลับ เรียกได้ว่าวัดไหนทรุดโทรมให้นิมนต์หลวงพ่อโห้ ไปปกครองวัด วัดนั้นจะกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งแน่นอน

         หลวงพ่อโห้ ท่านมีนามเดิมว่า โห้ นาคสมบัติ พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านหมู่ที่ ๗ ตำบลจอมประทัด อำเภอแม่น้ำอ้อม (ปากท่อ) จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๐ โยมบิดาชื่อนายเผือก นาคสมบัติ โยมมารดาชื่อนางหลำ นาคสมบัติ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ท่านมีอายุได้ ๑๑ ปีเศษ โยมบิดาและโยมมารดาได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือกับหลวงปู่แย้ม วัดยางงาม ตำบลวัดยางงาม อำเภอปากท่อ จังหวัเราชบุรี จนมีความรู้สามารถอ่านออกเขียนได้พอสมควร 

         ต่อมาท่านได้รับราชการเป็นทหารราบอยู่ที่จังหวัดราชบุรี เคยได้ร่วมปราบพวกเงี้ยวภาพอีสานเมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ 

         ต่อมาท่านได้ออกจากราชการแล้วกลับมาอยู่ที่บ้าน แต่กลับมีพฤติกรรมพาลเกเร และได้เป็นโจรไปพักหนึ่ง ต่อมาท่านเกิดเบื่อหน่ายนึกถึงเวรกรรม ท่านจึงได้อุปสมบทเพื่อล้างบาป

          ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ หลวงพ่อโห้มีอายุได้ ๓๗ ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดยางงาม ตำบลวัดยางงาม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบรี ได้รับฉายาว่า  "สุนฺทโร" โดยมี่

         พระอธิการแย้ม วัดยางงาม เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการนวม วัดแจ้งเจริญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการรอด วัดยางงาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดยางงามเรื่อยมาเพื่อศึกษาภาษาไทย-ขอม เพิ่มเติม ท่องมนต์สูตรต่างๆ และปฏิบัติตนอยู่ในพรหมวิหาร

         ต่อมาหลวงพ่อโห้ ท่านได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดตะโหนดราย หมู่ที่ ๑ ตำบลบางกระบือ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านก็ได้พัฒนาวัดตะโหนดรายให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างเป็นลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านได้เป็นกรรมการศึกษา

         ปี พ.ศ.๒๔๗๒ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญได้ว่างลง ทำให้วัดเสื่อมโทรมลง กำนันสดและชาวบ้านบางพรมเห็นว่า ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ต่อไปวัดแก่นจันทร์เจริญจะต้องเป็นวัดร้างเป็นแน่แท้ จึงได้ไปนิมนต์หลวงพ่อโห้ มาเป็นเจ้าอาวาส 

         วัดแก่นจันทร์เจริญ แต่เดิมที่ดินของวัดเป็นบ้านของพระยาดารา และคุณหญิงปิ่น ต่อมาได้ย้ายภูมิลำเนาเข้าไปอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงถวายที่ดินและบ้านแห่งนี้ให้ไว้กับเจ้าอาวาสวัดบางพลับ เพื่อให้สร้างวัด

         เมื่อเจ้าอาวาสวัดบางพลับรับไว้แล้ว ก็จัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นให้พระมาอยู่ พระสงฆ์และชาวบางพรมได้ร่วมกันสร้างวัด คือ พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ ตลอดจนหอสวดมนต์จนแล้วเสร็จ

         จึงขออนุญาตตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๐ และเนื่องจากพื้นที่วัดมีต้นจันทน์ขึ้นอยู่เป็นอันมาก จึงได้ตั้งชื่อว่า วัดแก่นจันทน์ ในระยะเริ่มก่อตั้งวัดแก่นจันทร์เจริญ มีความเจริญรุ่งเรืองดีมาก

          อดีตเจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญเท่าที่สืบค้นได้ คือ หลวงปู่แสงฯ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก และเจ้าอาวาสรูปต่อมาคือหลวงปู่ทอง จนสิ้นหลวงปู่ทอง ในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๕ 

         สภาพของวัดแก่นจันทร์เจริญ ก็กลับไปชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จนเหลือแต่ กุฏิฝากระดาน ๒ หลังที่คงสภาพดีอยู่ ไม่มีเจ้าอาวาสปกครองวัด

         หลังจากที่หลวงพ่อโห้ ท่านได้รับมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้จัดการดูแลบูรณปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างเสนาสนะขึ้นมาใหม่ จนวัดแก่นจันทน์เจริญ จึงกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

         และในทุกวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี หลวงพ่อโห้ได้ชักชวนทายก ทายิกา ร่วมกันตักบาตรขนมครก เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีทำบุญตักบาตรนับเนื่องแต่พุทธกาล 

         โดยประเพณีตักบาตรขนมครกนี้ ได้มีการเลียนแบบมาจากประเพณีการตักบาตรขนมเบื้องของพระราชพิธีในวัง ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมา จนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

         สมัยก่อนญาติโยมจะซื้อ ขนมครก-น้ำตาลทราย จากแม่ค้าขายขนมครกที่พายเรือมาจอดขายอยู่หน้าวัด เพื่อนำมาทำบุญตักบาตรแก่พระสงฆ์ เงินที่แม่ค้าขายขนมครกได้ทั้งหมดจะนำไปถวายวัด วัดแก่นจันทร์เจริญจึงได้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้รับการแต่งตั่งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงพ่อโห้ ท่านได้รับการแต่งตั่งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูสุนทรสุตกิจ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระอธิการอุ่ม ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพลับ ได้ลาสิกขาไปเนื่องด้วยปัญหาสุขภาพ คณะกรรมการสงฆ์ของอำเภอบางคนที และคณะกรรมการสงฆ์ของจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีท่านเจ้าคุณพระมหาสิทธิการทอง เจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน 

         ร่วมกับคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งมีหลวงอรรถวิจิตรจรรยารักษ์ อดีตข้าหลวงประจำจังหวัดสมุทรสงคราม มีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่า วัดบางพลับเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญ และในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ควรที่จะได้รับการทะนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป เพื่อรักษาเกียรติของวัดเก่าๆ ไว้

         จึงพร้อมใจกันไปอาราธนาท่านพระครูสุนทรสุตกิจ (หลวงพ่อโห้) เจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญ ซึ่งท่านเป็นผู้ชำนาญในการก่อสร้างให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางพลับทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

หลวงพ่อโห้ หรือ พระครูสุนทรสุตกิต วัดบางพลับ สมุทรสงคราม

         วัดบางพลับ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่ที่หมู่ ๔ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

         วัดบางพลับถือเป็นวัดเก่าแก่ ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๘ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยแม่ทัพในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะมีบุษบกของแม่ทัพเรือ ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญหลังเก่า สำหรับตั้งพระพุทธรูป

         วัดได้รับรับวิสุงคามสีมา เมื่อ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ มีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดที่จดบันทึกไว้ดังนี้

         ๑. หลวงพ่อห้ายอด

         ๒. พระอธิการเอี่ยม

         ๓. พระอธิการช้าง

         ๔. พระอธิการเฮง

         ๕. พระอธิการอุ่ม พ.ศ. ๒๔๔๗ - ๒๔๘๑

         ๖. พระครูสุนทรสุตกิจ (โห้ สุนฺทโร) พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๙

         ๗. พระครูสมุทรวิริยะคุณ (มงคล อติสสโร) พ.ศ. ๒๔๘๙ -  ๒๕๑๑

         ๘. พระอธิการแฟง (เขมทตฺโต) พ.ศ. ๒๕๑๑ - 

         ๙. พระครูสมุทรสารคุณ - ปัจจุบัน

         วัดบางพลับในยุคต้นๆ สมัยหลวงพ่อห้ายอดเป็นเจ้าอาวาส วัดเจริญรุ่งเรืองมากทั้งด้านเสนาสนะ และภิกษุสงฆ์ จวบจนถึงยุคของพระอธิการเอี่ยม และพระอธิการช้าง เป็นเจ้าอาวาสวัด วัดก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองอยู่ 

         แต่หลังจากที่พระอธิการช้างได้มรณะภาพลง วัดบางพลับก็ได้เสื่อมโทรมลงเป็นอันมาก และวัดได้ทรุดโทรมมาโดยตลอด

         จนมาถึงพระอธิการอุ่ม ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพลับ รับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อมา วัดก็ยังไม่สามารถเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกได้ จนวัดนั้นแทบจะกลายเป็นวัดร้าง

หลวงพ่อโห้ หรือ พระครูสุนทรสุตกิต วัดบางพลับ สมุทรสงคราม

         หลังจากที่หลวงพ่อโห้ได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุต่างๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดังเช่น

         ๑. ท่านได้ย้ายและปฏิสังขรณ์หอสวดมนต์ ๑ หลัง

         ๒. สร้างกุฏิขึ้นใหม่ แทนของเก่าที่ชำรุโ ๑ หลัง

         ๓. สร้างหอฉันระหว่างกุฏิ ๑ หลัง

         ๔. สร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ๑ หลัง

         ๕. สร้างศาลาท่าน้ำ ถนน และสะพานข้ามคลอง

         นอกจากนี้ ท่านยังได้พัฒนาการศึกษา และสนับสนุนการศึกษาเป็นอย่างดีทั้งสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม และอุปถัมภ์โรงเรียนจันทร์เอียงศึกษาคาร ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ และโรงเรียนสุนทรานุกูล หรือ โรงเรียนประชาบาลวัดบางพลับ (สุนทรานุกูล) ในปัจจุบัน

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะที่หลวงพ่อโห้ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพลับอยู่นั้น พระอธิการเย็น เจ้าอาวาสวัดบางกุ้ง ได้ลาสิกขาบทไป ระหว่างนั้นท่านจึงได้มารักษาการณ์ดูแลปกครองวัดบางกุ้งอีกวัดหนึ่งด้วย

         หลวงพ่อโห้ ท่านเป็นพระเกจิชื่อดังรูปหนึ่ง ท่านได้สร้างวัตถุมงคลเพื่อแจกชาวบ้านทั้ง เหรียญ พระสมเด็จ ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ และตะกรุดโทน ซึ่งวัตถุมงคลต่างๆของท่านนั้นล้วนมีประสพการณ์มากมาย

         หลวงพ่อโห้ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพ​ลงในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๙ นับรวมสิริอายุได้ ๗๙ ปี ๔๐ พรรษา

วัตถุมงคลของหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ

         พระปรกหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สมัยก่อนคนโบราณมักเรียกพระพิมพ์นี้ของหลวงพ่อโห้ ว่าพระคงหลวงพ่อโห้บ้าง บ้างก็เรียกว่าพระรัศมีบ้าง พุทธลักษณะเหมือนพระนาคปรกตัวหนอนของวัดกัลยาฯ โดยสร้างด้วยเนื้อดินผสมผง มีวรรณะออกดำ แต่เนื่องจากประวัติที่ไม่ชัดเจน เซียนพระบางคนก็เล่นเป็นพลวงพ่ออุ่ม วัดบางพลับ อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อนที่ลาสิกขาบทไปแล้วสร้างพระทิ้งไว้ที่วัด และเมื่อหลวงพ่อโห้มาเป็นเจ้าอาวาสได้นำมาแจกจ่ายกับชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง

พระนาคปรกหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ สมุทรสงคราม

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปปางนาคปรก องค์พระประทับนั่งบนฐาน ๓ ชั้นซ้อนเสมอกัน 

         ด้านหลัง เรียบ นูนเล็กน้อยตามแบบพระกดพิมพ์โบราณ

         เหรียญหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ รุ่นแรก พิมพ์ยันต์พุทมีอุ (นิยม)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เพื่อแจกในคราวที่หลวงพ่อโห้มีอายุครบ ๖ รอบ หรือ ๗๒ ปี ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงหยดน้ำแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ ๗๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ รุ่นแรก พิมพ์ยันต์พุทมีอุ (นิยม) ปี พ.ศ. ๒๔๘๗

         ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อโห้ครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ ไม่มีผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรสุตกิจ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ตรงกลางเป็นยันต์ตัว นะทรหด ด้านล่างมีอักขระยันต์ตัว "นะ" และอักขระภาษาไทยเขียนว่า "9/3/87" ซึ่งเป็นปีที่มีการสร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ รุ่นแรก(ย้อนยุค) พิมพ์ยันต์พุทไม่มีอุ

         สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ในสมัยพระอธิการแฟง (เขมทตฺโต)เป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงหยดน้ำแบบมีหูในตัวแบบเดียวกับเหรียญรุ่นแรก มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม้ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ รุ่นแรก(ย้อนยุค) พิมพ์ยันต์พุทไม่มีอุ ปี พ.ศ. ๒๔๘๗

         ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อโห้ครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ ไม่มีผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรสุตกิจ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ (ตัวพุทไม่มีสระ อุ)​ ด้านล่างมีอักขระยันต์ตัว "นะ" และอักขระภาษาไทยเขียนว่า "9/3/87" 




โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้