โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน ​พระเกจิขรัวเฒ่าแห่งวัดบ้านทวน กาญจนบุรี

หลวงพ่อม่วง (จันทสโร) วัดบ้านทวน หรือ พระครูสิงคิคุณธาดา วัดบ้านทวน กาญจนบุรี

          หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน หรือ พระครูสิงคิคุณธาดา (ม่วง จันทสโร) วัดบ้านทวน อำเภอบ้านทวน (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอพนมทวน) จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นพระเถระยุคเก่าที่เป็นที่เคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง วัตถุมงคลของท่านมีความศักดิ์สิทธิ์จะค่อนข้างที่จะหายาก จนมีคำกล่าวขวัญถึงวัตถุมงคลของหลวงพ่อว่า "ถ้าใครมีเหรียญของวัดบ้านทวน ใครจะมาก่อกวนก็ไม่ต้องกลัวอะไร"

          หลวงพ่อม่วง เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปี พ.ศ. ๒๓๗๘ ณ บ้านทวน จังหวัดกาญจนบุรี โยมบิดาชื่อ มั่น โยมมารดาชื่อ ใย มีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน พอหลวงพ่อม่วงมีอายุได้ ๑๑ ปี โยมบิดาและโยมมารดา ได้นำหลวงพ่อม่วงไปฝากกับพระอธิการศรี เจ้าอาวาสวัดบ้านทวนในสมัยนั้น ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้หลวงพ่อม่วงได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยและและหนังสือขอม ตามแบบอย่างโบราณ

          สมัยก่อนนั้นการเล่าเรียนเขียนอ่านทั้งหลายต้องไปร่ำเรียนที่วัด กุลบุตรที่ไปเรียนต้องปรนนิบัติ อุปฐากอาจารย์ คือเป็นศิษย์พระ รับใช้ท่าน กินนอนที่วัดเสร็จหรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่าเด็กวัด ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนแต่อย่างใดเลย โดยการเรียนนั่น ไม่ใช่ว่าจะร่ำเรียนแต่หนังสือแต่อย่างเดียว แต่ยังได้ฝึกวิชาการต่างๆ อีกมากมายแลัวแต่ว่าพระอาจารย์นั้นจะประสิทธิ์ประสาทวิชาอะไรให้บ้าง เช่น การช่างและวิทยาคุณอื่นๆ เนื่องจากวัดถือเป็นแหล่งกำเนิดศิลปะวิทยาการต่างๆ

          หลวงพ่อม่วง ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนด้วยความขยันหมั่นเพียร จนสามารถออกเขียนได้สมควรแก่ความนิยมในสมัยนั้นแล้ว ก็ได้ลาพระอธิการศรีกลับมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ได้เป็นกำลังของครอบครัว

หลวงพ่อม่วง (จันทสโร) วัดบ้านทวน หรือ พระครูสิงคิคุณธาดา วัดบ้านทวน กาญจนบุรี


          จวบจนเมื่อหลวงพ่อม่วง มีอายุได้ ๒๑ ปี จึงเข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบ้านทวน อำเภอบ้านทวน จังหวัดกาญจนบุรี  ได้ฉายาว่า "จันทสโร" โดยมี 

          พระอธิการศรี วัดบ้านทวน เป็นพระอุปัชฌายะ 

          พระอาจารย์ช้าง วัดบ้านทวน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

          ในส่วนของพระอนุสาวนาจารย์นั้น ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ว่าเป็นพระองค์ใด จะมีก็แต่คำบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ว่า เป็นพระธุดงค์มาจากจังหวัดสมุทรสงคราม 

         ซึ่งพระธุดงค์องค์ดังกล่าว มีวิชาทำแหวนพิรอดอันลือชื่อ ถักลวดลายได้งดงาม มีทั้งแหวนพิรอดใส่นิ้วและสวมแขน ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่หลวงพ่อม่วงในเวลาต่อมา

          หลังจากที่หลวงพ่อม่วงได้บวชแล้ว ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย จนท่องบทสวดมนต์ และพระปาฏิโมกข์ได้อย่างแม่นยำ นอกจากเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว ท่านยังชอบเรียนวิชากรรมฐาน สมถะ วิปัสสนาธุระ และฝึกพลังจิต

ภาพถ่ายหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน กาญจนบุรี
หลวงพ่อม่วง (จันทสโร) วัดบ้านทวน หรือ พระครูสิงคิคุณธาดา วัดบ้านทวน กาญจนบุรี

          นอกจากนี้หลวงพ่อม่วง ท่านยังได้เดินรุกขมูลธุดงค์ในป่าลึก เพื่อฝึกฝนตนเองตามแบบอย่างพระในสมัยโบราณ สมัยก่อนการเดินทางทุรกันดารจริงๆไม่เจริญเหมือนทุกวันนี้ และอาณาเขตเมืองกาญจนบุรีติดต่อกับประเทศพม่า การเดินธุดงค์ก็นิยมไปนมัสการเจดีย์ชเวดากองเมืองย่างกุ้ง พระมุเตาเมืองหงสาวดี และหลวงพ่อม่วง ท่านก็ธุดงค์ไปถึงพม่า จึงนับว่าท่านมีความอดทนต่อความยากลำบากด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง

          หลวงพ่อม่วง ท่านเป็นผู้ที่ขยันและเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ไม่เคยขาดทำวัตรสวดมนต์ สนใจในการศึกษาเล่าเรียน หลังจากอุปสมบทได้ ๘ พรรษา ก็ได้เป็นพระคู่สวดประจำวัดบ้านทวน พอถึงพรรษาที่ ๑๒ พระอธิการศรี มรณะภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง ชาวบ้านทวนจึงร่วมกันนิมนต์หลวงพ่อม่วงขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านทวนสืบต่อแทน และเป็นเจ้าคณะตำบลบ้านทวน เรียกว่า เจ้าอธิการม่วง

          ด้วยความที่หลวงพ่อม่วง ท่านเป็นพระที่มีความสามารถทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จึงมีคนเลื่อมใสเคารพนับถือเป็นอันมาก พอพรรษาที่  ๒๑ ได้เป็นพระอุปัชฌายะ อุปสมบทกุลบุตรปีหนึ่งๆเป็นจำนวนมากมาย ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอบ้านทวน

หลวงพ่อม่วง (จันทสโร) วัดบ้านทวน หรือ พระครูสิงคิคุณธาดา วัดบ้านทวน กาญจนบุรี

            ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราชวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลราชบุรี เสด็จเมืองกาญจนบุรี ทรงเห็นว่าคณะสงฆ์ในจังหวัดกาญจนบุรีมีความสงบเรียบร้อย 

           ก็โปรดและทรงยกย่องเจ้าวัดเจ้าคณะนั้นๆ นับแต่พระครูวิสุทธิรังสี(เปลี่ยน) เจ้าคณะเมือง ตลอดมาถึงเจ้าคณะ แขวงอำเภอและพระคณาธิการ

           ในขณะนี้หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน อายุเวลานั้นชราถึง ๘๐ ปีแล้ว ได้เดินทางไปรับเสด็จถึงเมืองกาญจนบุรี และทูลการงานได้คล่องแคล่ว ในครั้งเสด็จถึงเมืองกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ 

           วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราชวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เสด็จถึงวัดบ้านทวน แขวงบ้านทวน เมืองกาญจนบุรี

           พระอธิการม่วง กับพระสงฆ์ในแขวงประมาณ ๔๐ รูป พร้อมด้วยชาวบ้านประมาณ ๕๐๐ คนเฝ้ารับเสด็จ เสด็จเข้านมัสการพระในโบสถ์แล้ว เสด็จประทับหน้าโบสถ์ ประทานโอกาสให้ราษฏร์ได้เฝ้าทั่วกัน

          ทรงประทานสายสิญจน์ผูกข้อมือเด็ก ทรงทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆในวัด เวลา ๒ ทุ่ม เสด็จออกให้พระสงห์เฝ้าที่พลับพลา 

           วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นวันเสด็จกลับ พวกชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวาย ทรงรับประเคนแล้ว เสวยเช้าบนศาลาการเปรียญพร้อมด้วยพระสงฆ์ผู้ตามเสด็จ ทรงแสดงธรรมเทศนา แล้วประทานของแจก เวลา ๙.๑๓ น. เสด็จออกจากวัดบ้านทวน

           ด้วยคุณงามความดีของเจ้าอธิการม่วง หลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้เสร็จสิ้นการตรวจการแล้ว ท่านได้ทรงออกพระมหาสมณศาสน์ แต่งตั้งให้เจ้าอธิการม่วง วัดบ้านทวน แขวงบ้านทวน เมืองกาญจนบุรี เป็นเจ้าคณะแขวงบ้านทวน เมืองกาญจนบุรี กิตติมาศักดิ์  เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘

           ปี พ.ศ. ๒๔๕๙  ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร เจ้าคณะแขวงฯ เป็นที่พระครูสิงคิคุณาธาดา

            หลวงพ่อม่วง (พระครูสิงคิคุณธาดา) บำรุงศาสนกิจมาด้วยความเรียบร้อย ท่านไม่เคยเจ็บป่วยออดแอด แต่พอชรามากก็หนีกฎธรรมชาติไม่พ้น ได้ถึงมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ สิริอายุได้ ๙๓ ปี พรรษา ๗๑ได้ทิ้งคุณงามความดีไว้เป็นที่ร่ำลือมาจนทุกวันนี้.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน

           หลวงพ่อม่วง เมื่อได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสิงคิคุณาธาดา บรรดาศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพเลื่อมใส ได้แสดงมุทิตาจิตทำบุญฉลองเป็นงานใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ออกเหรียญรูปไข่เป็นรูปท่านครึ่งองค์ ห่มลดไหล่ เหรียญหลวงพ่อม่วงนั้น มี ๒ แบบ คือแบบเหรียญหล่อและเหรียญปั๊ม สามารถจำแนกออกเป็นพิมพ์ต่างๆได้ดังนี้

           เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรก พิมพ์หน้าแก่

           สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๓ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดง มีลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่ มีหูเชื่อม จำนวนการจัดสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ เล่าต่อๆกันมาว่าสร้างไว้ประมาณ ๓๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรก พิมพ์หน้าแก่ ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อทองแดง

           ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทนอ่านได้ว่า "พระครูสิงคิคุณธาดา" มีอักขระขอมรอบเหรียญ ๑๖ ตัวอ่านได้ว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ สัง วิ เพา ปุ กะ ยะ ปะ" มาจากพระคาถาอิติปิโส มงคลฯ กับหัวใจพระธรรม ๗ คัมภีร์

           ด้านหลัง มีข้อความว่า “ที่ระฤก อุปชาวัดบ้านทวน” และมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อิโส มิโส โมอะ นะลือ"

           เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรก พิมพ์หน้าหนุ่ม

           สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๓ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงอย่างเดียว มีลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่ มีหูเชื่อม จำนวนการจัดสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรก พิมพ์หน้าหนุ่ม ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อทองแดง

           ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทนอ่านได้ว่า "พระครูสิงคิคุณธาดา" มีอักขระขอมรอบเหรียญ ๑๖ ตัวอ่านได้ว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ สัง วิ เพา ปุ กะ ยะ ปะ" มาจากพระคาถาอิติปิโส มงคลฯ กับหัวใจพระธรรม ๗ คัมภีร์

           ด้านหลัง มีข้อความว่า “ที่ระฤก อุปชาวัดบ้านทวน” และมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อิโส มิโส โมอะ นะลือ"

           เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรก พิมพ์หน้าแก่โบราณ

           สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๓ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงอย่างเดียว มีลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างกระบอกรูปไข่ มีหูเชื่อม จำนวนการจัดสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรก พิมพ์หน้าแก่โบราณ ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อทองแดง

           ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทนอ่านได้ว่า "พระครูสิงคิคุณธาดา" มีอักขระขอมรอบเหรียญ ๑๖ ตัวอ่านได้ว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ สัง วิ เพา ปุ กะ ยะ ปะ" มาจากพระคาถาอิติปิโส มงคลฯ กับหัวใจพระธรรม ๗ คัมภีร์

           ด้านหลัง มีข้อความว่า “ที่ระฤก อุปชาวัดบ้านทวน” และมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อิโส มิโส โมอะ นะลือ"

           เหรียญหล่อหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรก พิมพ์ยันต์เล็ก

           สัญนิจฐานว่าสร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๓ มีลักษณะพิมพ์คล้ายเหรียญปั๊ม แต่ใช้วิธีการสร้างด้วยการหล่อโลหะแทน จัดสร้างด้วยเนื้อโลหะที่หลากหลายสามารถจำแนกออกได้เป็น เนื้อเงิน เนื้อสำริด เนื้อฝาบาตร และเนื้อดีบุก มีลักษณะเป็นเหรียญหล่อรูปไข่ มีหูเชื่อม จำนวนการจัดสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรก พิมพ์ยันต์เล็ก ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อสำริด

           ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทนอ่านได้ว่า "พระครูสิงคิคุณธาดา" มีอักขระขอมรอบเหรียญ ๑๖ ตัวอ่านได้ว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ สัง วิ เพา ปุ กะ ยะ ปะ" มาจากพระคาถาอิติปิโส มงคลฯ กับหัวใจพระธรรม ๗ คัมภีร์

           ด้านหลัง มีข้อความว่า “ที่ระฤก อุปชาวัดบ้านทวน” และมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อิโส มิโส โมอะ นะลือ"

           เหรียญหล่อหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรก พิมพ์ยันต์ใหญ่

           ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ สัญนิจฐานว่าสร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๓ จัดสร้างด้วยเนื้อโลหะที่หลากหลายสามารถจำแนกออกได้เป็น เนื้อเงิน เนื้อสำริด เนื้อฝาบาตร และเนื้อดีบุก มีลักษณะเป็นเหรียญหล่อรูปไข่ มีหูเชื่อม จำนวนการจัดสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรก พิมพ์ยันต์ใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อเงิน

           ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทนอ่านได้ว่า "พระครูสิงคิคุณธาดา" มีอักขระขอมรอบเหรียญ ๘ ตัว

           ด้านหลัง มีข้อความว่า “ที่ระฤก อุปชาวัดบ้านทวน” และมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อิโส มิโส โมอะ นะลือ"

           แขวนพิรอด หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน

           สร้างด้วยผ้าดิบหรือผ้าห่อศพในสมัยก่อนลองอักขระยันต์ตามตำหรับที่หลวงพ่อม่วง ท่านร่ำเรียนมาจากพระอนุสาวนาจารย์ของท่าน ที่เดินธุดงค์มาจากจังหวัดสมุทรสงคราม โดยเมื่อลงอักขระยันต์เสร็จแล้ว จึงม้วนควันเป็นเชือกและถักเป็นแหวน เสร็จแล้วจึงลงรักจีนไว้

แหวนพิรอดหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน

           เมื่อบริกรรมคาถาแล้วจึงโยนเข้ากองไฟ ถ้าวงไหนไม่ถูกไฟไหม้ถือว่าใช้ได้ จึงค่อยนำมาแจกจ่ายกันในหมู่ลูกศิษย์จัดเป็นวัตถุมงคลอีกประเภทของหลวงพ่อม่วงที่หาชมของแท้ได้ยากแล้วในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างพิรอดแขนอีกด้วย

           ด้านพุทธคุณของเหรียญของหลวงพ่อม่วงนี้ มีผู้คนนิยมแสวงหากันเป็นอย่างมาก ด้วยเพราะมีประสบการณ์ในทางมหานิยม และแคล้วคลาดอันตราย อยู่ยงคงกระพันชาตรี ก็มีคนเห็นฤทธิ์กันมามากชนิดว่าเหนียวแมลงวันไม่ได้กินเลือดเลยทีเดียว ปัจจุบันจัดเป็นพระที่หาได้ยากแล้ว ด้วยเป็นเหรียญยุคก่อน ออกมานานแล้วจนมีคำกล่าวติดปากของคนในพื้นที่ว่า “ใครมีเหรียญวัดบ้านทวน ใครจะมาก่อกวนก็ไม่ต้องกลัว”.

ข้อสังเกตุ :

           จากประวัติเก่าที่บอกเล่าว่าท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๓๖๖ เมื่อนับอายุของหลวงพ่อ ณ ตอนที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี ๕ จังหวัดคือ สมุทรสงคราม,ราชบุรี,กาญจนบุรี,เพชรบุรี,และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้นแปลว่าหลวงพ่อม่วงมีอายุ ๙๒ ปีแล้ว และหลังจากนั้น ๑ - ๒ ปีท่านถึงได้รับสมณศักดิ์ที่พระครูสิงคิคุณาธาดา ซึ่งน่าจะอยู่ในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๙ - ๒๔๖๐ ทำให้ความน่าเชื่อเดิมที่ว่าท่านมรณะภาพในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้นจึงไม่เป็นความจริง

           และด้วยพุทธลักษณะของเหรียญด้านหน้าคล้ายกับเหรียญของหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง ราชบุรี ที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ และด้านหลังคล้ายกับเหมือนกับเหรียญของหลวงพ่อม่วง วัดคุ้งกระถิน จังหวัดราชบุรี ที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ซึ่งน่าจะสร้างไล่เลี่ยกันและสร้างจากโรงปั๊มเหรียญเดียวกัน

           ก็น่าเชื่อได้ว่า ประวัติของท่านผิดพลาดที่ปี พ.ศ. เกิด หรือปีที่ท่านมรณะภาพ ซึ่งน่าจะมีการจำสับสนหรือบอกเล่าผิดๆกันมาแต่แรก เพราะฉนั้นหลวงพ่อม่วงน่าจะมรณะภาพหลังปี พ.ศ. ๒๔๖๐ อย่างแน่นอนและที่สำคัญคือเหรียญของหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน สร้างทันท่านอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสืบหากันต่อไป.


* อ้างอิงจาก http://www.gongtham.net/my_data/mydata_mahasamana/index.php
โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้