วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเที่ยง วัดธรรมนิมิต เหรียญดีที่คนลืม

หลวงพ่อเที่ยง (ปณฺฑิโต) วัดธรรมนิมิต สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อเที่ยง วัดธรรมนิมิต หรือ พระอาจารย์เที่ยง ปณฺฑิโต อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ของวัดธรรมนิมิต จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเป็นพระลึกลับอีกรูปหนึ่งของลุ่มน้ำแม่กลอง ท่านไม่มีประวัติที่ชัดเจน ว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เกิดที่ไหนท่านแค่เพียงว่า หลวงพ่อเที่ยงเกิดในปี พ.ศ. ๒๓๗๐

         ปี พ.ศ. ๒๓๙๒ หลวงพ่อเที่ยง ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดธรรมนิมิต ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๒ ได้รับฉายาว่า "ปณฺฑิโต" โดยมี

         ท่านพระอุปัชฌาย์บุญ เจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         ท่านพระอาจารย์มา วัดธรรมนิมิต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         แต่ไม่ปรากฏนามพระอนุสาวนาจารย์ว่าเป็นท่านใด 

         หลังอุปสมบทท่านได้ลาพระอุปัชฌาย์บุญ ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม เป็นเวลาถึง ๔ พรรษา 

         ปี พ.ศ. ๒๓๙๖ หลวงพ่อเที่ยง อุปสมบทถึงพรรษาที่ ๔ ท่านอาจารย์มา วัดธรรมนิมิตได้มรณภาพลง ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ท่านจึงได้ลาเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามกลับออกมาอยู่กับท่านพระอุปัชฌาย์บุญ ที่วัดธรรมนิมิตตามเดิม

         ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๒ พระอุปัชฌาย์บุญ เจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิตได้มรณภาพลง หลวงพ่อเที่ยง ได้ช่วยรักษาการเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต จนเมื่อท่านและศิษยานุศิษย์ได้จัดการฌาปนกิจศพท่านพระอุปัชฌาย์บุญและพระอาจารย์มา พร้อมๆกัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๓ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

         วัดธรรมนิมิตร เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมมีชื่อว่า วัดคอกเป็ด สันนิษฐานว่าคงมีใครทำคอกเลี้ยงเป็ดไว้ในวัดหรือใกล้เขตวัด จึงได้เรียกชื่อวัดเช่นนั้น 

         วัดน่าจะสร้างมาตั้งแต่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาหรือตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสร้างแล้วคงจะมีชื่อเรียกเป็นหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คงไม่ได้เรียกว่า "วัดคอกเป็ด" มาแต่เดิม แต่น่าจะมาเรียกชื่อนี้ภายหลัง 

         จนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชกาลที่ ๔ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ และมอบให้อยู่ในสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายคณะธรรมยุติกนิกาย และตั้งนามให้ใหม่ว่า วัดธรรมนิมิตร (บ้างเขียน วัดธรรมนิมิต)

         พระอุโบสถหลังใหม่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ และได้ลงมือสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ในสมัยที่ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิโมลี (ปั่น สุภโร) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๔

         หลังจากที่หลวงพ่อเที่ยง ท่านจึงได้รับนิมนต์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต โดยมีพระอาจารย์สร้างเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๓ นั้นเอง

         หลังจากหลวงพ่อเที่ยง ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต ท่านและรองเจ้าอาวาส ได้ยึดถือปฏิปทาดำเนินตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด และมีคุณธรรมคือหิริและโอตตัปปะ และท่านทั้งสองมีสามัคคีธรรมกลมเกลียวกันเป็นอย่างดี 

         ช่วยกันแนะนำพร่ำสอนให้พระภิกษุและสามเณรได้ศึกษาพระธรรมวินัยและให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และหมั่นแนะนำพร่ำสอนชาวบ้านให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมและดำรงตนอยู่ในสัมมาปฏิบัติ

          ด้วยความที่หลวงพ่อเที่ยงปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดและมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแพร่ ทำให้ชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนเลี่ยมใส จึงได้พากันไปมาหาสู่และมีใจศรัทธาเสียสละทรัพย์ส่วนตัวบ้าง รวมกันบ้าง เพื่อทำการก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ ไว้ในวัดธรรมนิมิต ดังต่อไปนี้

          ๑. พระยาบำเรอพักตร์ เป็นหัวหน้าสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ สูงประมาณ ๑ เส้นเศษ

          ๒. นายเพ็ง และนางแตง ภรรยา เป็นหัวหน้าสร้างวิหาร และพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่ (พระพุทธไสยาสน์) ยาว ๓ วาเศษ

          ๓. ผู้ใหญ่อินทร์ โปรา สร้างหอสวดมนต์ ๒ ชั้น ๑ หลัง

          ๔. นายพลับ และนางจีบภรรยา สร้างศาลา ๑ หลัง (ไม่ทราบว่าเป็นศาลาการเปรียญหรือศาลาอะไร)

          ๕. นายปุ๊น ปุนสิริ เป็นหัวหน้าช่วยปฏิสังขรณ์

          ๖. นางแจ่ม วีระไวทยะ และนางนาค มหัคฆกาญจนะ เป็นหัวหน้าช่วยบำรุงวัด

          ๗. นางบู่ แซ่เล้า และนางปุก สุคนธมาน เป็นหัวหน้าชุดบำรุงวัด

          ๘. ท่านขุนอนุกรม และนางกลีบ จะเกร็งรัฐ เป็นหัวหน้าอุบาสกอุบาสิกา

          ๙. นายหรุ่น และนางหนู ภรรยา เป็นหัวหน้าอุบาสกอุบาสิกา

        ๑๐. นายผัน นางโหมด มุสิกนันท์ เป็นมรรคทายก

        ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสร็จตรวจคณะสงฆ์มลฑลราชบุรี หลวงพ่อเที่ยง วัดธรรมนิมิต ในฐานะที่เป็นผู้ที่ทรงคุ้นเคยมาก่อนได้ลงมาเฝ้าในเรือพระที่นั่ง เมื่อเช้าวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ (ก่อนเวลาเสวยเช้า) 

         สมเด็จท่านได้ทรงปฏิสันถาร และตรัวถามถึงทุกข์สุขของหลวงพ่อเที่ยงแล้ว ประทานย่ามตรามหาสมณุตมาภิเษก กับหนังสือหัวใจไตรสิกขา และธรรมสุภาษิตเป็นที่ระลึก

         วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยังได้เสร็จออกจากวัดบ้านแหลม มาเสวยเช้าที่วัดธรรมนิมิต ตามคำชวนของหลวงพ่อเที่ยง 

         หลวงพ่อเที่ยง ปกครองวัดเรื่อยมาจนได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะ นับรวมสิริอายุได้ ๘๓ ปี ๖๑ พรรษา.

         ในการนี้ท่านเจ้าคุณพระเขมาภิมุขธรรม วัดพิชัยญาติการาม กรุงเทพมหานคร มาเยี่ยมศพท่านฯ เมื่อท่านเจ้าคุณฯ กลับกรุงเทพแล้ว ได้นำข่าวมรณภาพของท่านเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต ไปกราบทูลให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงทราบแล้ว 

         ท่านเจ้าคุณพระเขมาภิมุขธรรมได้กราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อขอให้พระอาจารย์ถนอมมาเป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสก็ทรงอนุญาตให้มา


รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่อเที่ยง (ปณฺฑิโต) วัดธรรมนิมิต สมุทรสงคราม

          ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้เสด็จมาเยี่ยมศพท่านพระอาจารย์เที่ยง แล้วได้ทรงรับสั่งให้เตรียมการฌาปณกิจศพ โดยทรงพระกรุณารับเป็นประธาน และทรงพระกรุณาสร้างกุฎิอุทิศให้ท่านอาจารย์เที่ยง ๑ หลัง เพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับคุณงามความดีแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว 

          ปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น ทางวัดคิดจัดการฌาปณกิจศพท่านอาจารย์เที่ยง โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นประธาน พระอาจารย์ถนอมเป็นรองประธาน พระอาจารย์แม้นเป็นผู้ช่วย ฝ่ายคฤหัสถ์ที่เป็นกรรมการ คือ


          ๑. ท่านขุนนิพัทธ์ หะริณสุต

          ๒. ท่านขุนอนุกรม จะเกร็งรัฐ

          ๓. ท่านขุนศรี ปุนสิริ

          ๔. ท่านขุนบวรประชานันท์

         ๕. ท่านขุนอาชีวกิจโกศล

         ๖. ผู้ใหญ่เบี้ยว นางอยู่ สมบูรณ์

         ๗. นายปุ๊น ปุนสิริ

         ๘. เถ้าแก่อินทร์ ปุนสิริ

         ๙. นางบู่ สุคนธมาน

       ๑๐. นางปุก สุคนธมาน

       ๑๑. นายเฮง และนางมอญ มหัคฆกาญจนะ

       ๑๒. นางลาภ สิริชาติ

       ๑๓. นางแป้น สิริชาติ

          พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์และท่านที่เคารพนับถือ ร่วมกันทำการฌาปณกิจศพหลวงพ่อเที่ยง โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเริ่มวางพระเพลิงก่อน มีมหรสพพอสมควรแก่ฐานะ งานณาปณกิจของหลวงพ่อเที่ยงมาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลังจากที่ตั้งศพไว้ถึง ๒ ปี.

วัตถุมงคลหลวงพ่อเที่ยง วัดธรรมนิมิต

          เหรียญหลวงพ่อเที่ยง วัดธรรมนิมิต รุ่นแรก

          สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อเป็นเหรียญที่ระลึกในงานศพของหลวงพ่อเที่ยง ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ขอบกระบอก มีหูเชื่อมสำหรับคล้องเหรียญ สร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญหลวงพ่อเที่ยง วัดธรรมนิมิต รุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๖๑ ของคุณยอดชาย ตั้งศิริกุลพร

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อที่ยง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏินั่งเต็มองค์บนอาสนะ มีตั่งรองรับ ใต้ตั่งมีเลขไทย "๒๔๖๑" รอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า  "ที่ระฤกในงาน ศพท่านปัณฑิตะ"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์อะระหัง จำนวน ๔ แถว คล้ายเหรียญหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม จังหวัดราชบุรี อ่านว่า "อะ ระ หัง อะ หัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ"

          เหรียญหลวงพ่อเที่ยง วัดธรรมนิมิต รุ่นสอง

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ลักษณะเป็นเหรียญรูปอาร์มหรือเหรียญโล่มีหูในตัว จัดสร้างโดยพระอาจารย์แม้น อิสิทินฺโน รองเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว จัดเป็นเหรียญหายากอีกเหรียญหนึ่ง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญหลวงพ่อเที่ยง วัดธรรมนิมิตร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อที่ยง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปจำลองของเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า  "ที่ระลึก ท่านปัณฑิตะเที่ยง วัดธรรมนิมิตร"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์อะระหัง อ่านว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ"

          เหรียญหลวงพ่อเที่ยงหลังอาจารย์แม้น วัดธรรมนิมิต

          สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ลักษณะเป็นเหรียญรูปอาร์มหรือเหรียญโล่มีหูในตัว จัดสร้างโดยพระอาจารย์แม้น อิสิทินฺโน รองเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญหลวงพ่อเที่ยงหลังอาจารย์แม้น วัดะรรมนิมิตร ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเที่ยงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปจำลองของเหรียญมีอักขระยันต์เขียนว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ"

          ด้านหลัง เป็นรูปจำลองอาจารย์แม้นครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปจำลองของเหรียญมีอักขระยันต์เขียนว่า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ"

          เหรียญหลวงพ่อเที่ยง วัดธรรมนิมิตร ปี ๒๕๑๑

          สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ลักษณะเป็นเหรียญรูปอาร์มหรือเหรียญโล่มีหูในตัวจัดสร้างโดยพระอาจารย์แม้น อิสิทินฺโน วัดธรรมนิมิต  สร้างด้วยเนื้อทองแดง และทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อที่ยงครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ 

          ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเที่ยงปณฺฑิตะ วัดธรรมนิมิต พ.ศ.๒๕๑๑"

          พุทธคุณของเหรียญท่านปี ๒๔๖๑ ถือได้ว่าครบเครื่องเพราะระดับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส มาเป็นประธานเองแล้ว ยอมต้องมีพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของกรุงเทพและสมุทรสงคราม ร่วมปลุกเสกเป็นอย่างดีแน่นอน

           หรือจะเป็นเหรียญรุ่นหลังๆมาก็มิใช่ว่าจะด้อยพุทธคุณเพราะพระอาจารย์​แม้น ท่านก็ไม่ธรรมดาจัดเป็นเสือซ่อนเล็บอีกหนึ่งเกจิเลยที่เดียว พระที่ท่านปลุกเสกพุทธคุณ​ย่อมไม่ธรรมดาแน่นอน

           แต่ด้วยเหตุที่เป็นเหรียญตายจึงทำให้ค่านิยมไม่สูงมากนัก ยังพอสามารถเอื้อมถึงได้ แต่ถ้าสวยๆราคาก็แรงมิใช่ย่อยด้วยเหตุที่หายากนั่นเอง.

ข้อมูล : เพจวัดธรรมนิมิต สมุทรสงคราม
โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น