โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ พระเกจิสายเหนียวของโพธาราม ราชบุรี

หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ หรือ พระครูประสาทสังวรกิจ(อินทโชโต)  ราชบุรี

          หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ หรือ พระครูประสาทสังวรกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ตําบลบ้านเลือก อําเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ท่านถือเป็นพระเกจิที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของชาวโพธาราม จังหวัดราชบุรี 

          ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านวิปัสสนาธุระและไสยเวทวิทยาคม ที่ขึ้นชื่อเรื่องคงกระพันมหาอุดเป็นเลิศ นับเป็นเพชรน้ำเอกของชาวโพธาราม พระเครื่องของท่านปัจจุบันมีสนนราคาที่ไม่ธรรมดา

          หลวงพ่ออินทร์ ท่านสืบเชื้อสายมาจากลาวเวียงจันทน์มีนามเดิมว่า อินทร์ เสลาหลัก พื้นเพท่านเป็นชาวบ้านเตาเหล็ก ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ 

          โยมบิดาชื่อนายตุย เสลาหลัก โยมมารดาชื่อนางศรี เสลาหลัก มีพี่น้องร่วมกัน ๔ คน คือ นายคิด นายนอน และนายเที่ยง โดยหลวงพ่ออินทร์ เป็นบุตรคนสุดท้อง

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงพ่ออินทร์ ท่านมีอายุครบบวชพอดีจึงได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโบสถ์ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับฉายาว่า "อินทโชโต" โดยมี

          เจ้าอธิการกลิ่น วัดคงคาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

          เจ้าอธิการยอด วัดบ้านเลือก เป็นพระกรรมวาจาจารย์

          เจ้าอธิการโลน วัดดอนตูม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

          หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู๋จำพรรษาที่วัดโบสถ์เรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชา พระธรรมวินัยและคาถาอาคมกับพระอาจารย์จนสำเร็จวิชา

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลังอุปสมบทได้ ๗ พรรษา ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดหนองหญ้าปล้อง ตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

          ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ หลวงพ่อหรุ่ง เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ได้ลาสิกขาบท ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโบสถ์​ว่างลง ขุนเลือกซึ่งเป็นกำนันในสมัยนั้นจึงไปนิมนต์​หลวงพ่ออินทร์ กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์​ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ หรือ พระครูประสาทสังวรกิจ(อินทโชโต)  ราชบุรี

          วัดโบสถ์ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตําบลบ้านเลือก อําเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่ดินตั้งวัดมี เนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๑๗ ตารางวา

          วัดโบสถ์ ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ชื่อของวัดตั้งตามชื่อของหมู่บ้าน วัดได้รับการพัฒนามาตามลําดับ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนามดังนี้

          ๑. พระโคตร

          ๒. พระเย็น

          ๓. พระเกิด

          ๔. พระบุญรอด

          ๕. พระหรุ่ง

          ๖. พระครูประสาทสังวรกิจ (อินทร์ อินทโชโต) พ.ศ. ๒๔๗๐ - ๒๕๑๓

          ๗. พระครูโพธารามพิทักษ์ (เขียน สิริมังคโล)  พ.ศ. ๒๕๑๓ - ปัจจุบัน

หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ หรือ พระครูประสาทสังวรกิจ(อินทโชโต)  ราชบุรี

          หลังจากที่หลวงพ่ออินทร์ ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

          ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านได้สร้างหอสวดมนต์

          ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านเปิดโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกธรรม เพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุและสามเณร ในวัดโบสถ์และวัดใกล้เคียง

          ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ หลวงพ่ออินทร์ เปิดโรงเรียนประชาบาลประจำวัดโบสถ์ เพื่อสอนหนังสือแก่บุตร-ธิดา ในพื้นที่วัดโบสถ์

          ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่ พระครูประสาทสังวรกิจ 

          ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านได้สร้างพระอุโบสถ และสร้างศาลาการเปรียญ

ภาพวันสรงน้ำศพหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ ราชบุรี

          หลวงพ่ออินทร์ท่านได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป ด้วยท่านมีวิทยาคมแก่กล้า พลังสมาธิจิตอยู่ในระดับสูง ปลุกเสกของต่างๆได้ขลังนัก ของขลังต่างๆที่ผ่านมือหลวงพ่อล้วนมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ต้องการของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง

          ท่านยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านแพทย์แผนโบราณ สามารถบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แม้แต่ชานหมากของท่านยังขับไล่พิษงูได้อย่างเหลือเชื่อ วิชาอาคมเลื่องลือในเรื่องขับไล่ภูติผีปีศาจ น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์มีอานุภาพทางสะเดาะเคราะห์ ปัดเคราะห์ แก้เคราะห์ เสริมดวงชะตา สร้างความเป็นสิริมงคล ขจัดปัดเป่าคุณไสยทั้งปวง

          ท่านเก่งกาจทางไสยเวทเป็นอย่างมาก ท่านได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมปลุกเสกวัตถุมงคลพร้อมกับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอื่นๆในสมัยนั้น เช่น หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อเต๋ คงทอง หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง เป็นต้น

          หลวงพ่ออินทร์ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ นับรวมสิริอายุได้ ๗๔ ปีเศษ ๕๓ พรรษา

           ศิษย์เอกผู้สืบทอดวิชาพุทธาคมและตำรับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ไปจากท่าน จนต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ลำดับต่อมาก็คือ พระครูโพธารามพิทักษ์ หรือ หลวงพ่อเขียน สิริมังคโล เจ้าคณะอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 

วัตถุมงคลหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์

           วัตถุมงคลที่หลวงพ่ออินทร์ ได้สร้างไว้มีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ปรากฏหลายประเภท เช่น เสื้อยันต์เกราะเพชร ตะกรุดโทน ตะกรุดชุดคุ้มครองภัย ผ้าประเจียด ผ้ายันต์เมตามหาระรวย ผ้ายันต์ดอกบัว ผ้ายันต์นางกวัก กลีบบัวจารยันต์ พระสมเด็จเนื้อผง พระผงไคลเสมา เหรียญรูปเหมือน เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังมีวิชาสักน้ำมันงาด้านคงกระพันชาตรีและเสน่ห์เมตตามหานิยม

           เหรียญหลวงพ่ออินทร์ รุ่นแรก พิมพ์สี่เหลี่ยม

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ลักษณะของเหรียญเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีหูในตัว ตัวเหรียญเป็นเหรียญข้างเลื่อย มีการจัดสร้างด้วยเนื้อเงินลงยา (แดง น้ำเงิน เหลือง)​ โดยเหรียญที่ลงยาจะเป็นเหรียญข้างเลื่อยทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า แต่จะเป็นเหรียญปั๊มตัดขาดไม่ใช่ข้างเลื่อยแบบเนื้อลงยา จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ พิมพ์สี่เหลี่ยม เนื้อเงินลงยาสีแดง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ของคุณโอ

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ พิมพ์สี่เหลี่ยม เนื้อเงินลงยาสีน้ำเงิน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ พิมพ์สี่เหลี่ยม เนื้อเงินลงยาสีเหลือง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ของคุณโอ๊ต บางแพ

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ พิมพ์สี่เหลี่ยม เนื้ออัลปาก้า รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖

           ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่ออินทร" รอบรูปหลวงพ่อมียันต์หัวใจธาตุ "นะ มะ พะ ทะ" เหนือยันต์แต่ะละตัวมีอุนาโลม ด้านล่างมีตัวยันต์ "อุ" เหนือศรีษะหลวงพ่อ มีอุนาโลม ๑ ตัว

           ด้านหลัง มีอักขระยันต์สี่ ตรงกลางมีอุณาโลมเหนืออักขระยันต์ "นะ" ด้านล่าง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโบสถ์"

           เหรียญหลวงพ่ออินทร์ พิมพ์พุ่มข้าวบิณฑ์ รุ่นแรก

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ลักษณะของเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้อทองแดง ทองแดงกระไหล่เงิน และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ พิมพ์พุ่มข้าวบินฑ์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖

           ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนและด้านข้างมีอักขระยันต์รอบรูปหลวงพ่อ มียันต์หัวใจธาตุ "นะ มะ พะ ทะ" เหนือยันต์แต่ะละตัวมีอุนาโลม ด้านล่างมีตัวยันต์ "อุ" เหนือศรีษะหลวงพ่อ มีอุนาโลม ๑ ตัว

           ด้านหลัง มีอักขระยันต์กรงจักร ตรงกลางมีอักขระยันต์ขอม ด้านบน มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่ออินทร" ด้านล่าง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโบสถ์"

           ชินราชหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ เนื้อผงไคลเจดีย์

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นพระเนื้อผงโดยหลวงพ่ออินทร์ได้นำผงวิเศษที่เก็บสะสมไว้ผสมกับผงไคลเจดีย์ ลักษณะพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยม มีการจัดสร้างทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

พระชินราชเนื้อผงไคลเจดีย์ หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐

           ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของพระพุทธชินราช มีอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "พุทธัง"

           ด้านหลัง เป็นรูปจำลองเจดีย์ ยอดพระเจดีย์มีเส้นรัศมีแฉก ด้านล่าง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ว บ"

           เหรียญชินราชหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ พิมพ์ตุ้งติ้ง

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ลักษณะของเหรียญทรงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก มีหูในตัว จัดสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

ชินราชหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ เนื้อทองเหลือง ปี พ.ศ. ๒๕๐๖

           ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของพระพุทธชินราช

           ด้านหลัง เป็นรูปจำลองหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือศรีษะหลวงพ่อ มีอุนาโลม ๑ ตัว ด้านล่าง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวัดโบสถ์"

           เหรียญฉลองสมณศักดิ์ หลวงพ่ออินทร์

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะของเหรียญทรงกลมมีหูในตัว มีการจัดสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญฉลองสมณศักดิ์หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗

           ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านข้างมีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูประสาทสังวรกิจ หลวงพ่ออินทร์วัดโบสถ์"

           ด้านหลัง มีรูปพระพุทธปางมารวิชัย มีอักขระยันต์ขอม มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์ ๒๕๐๒" ด้านล่าง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระประทานพร"

           เหรียญหลวงพ่ออินทร์ พิมพ์พุ่มข้าวบิณฑ์ รุ่นสอง(ยันต์​คต)​

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๐ โดยหลวงพ่ออินทร์ได้แจกในคราวที่ทางวัดได้ทำการย้ายกุฎิในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีหูในตัว แบบเดียวกับเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ รุ่นแรก แต่แตกต่างกันที่ตัวอุนาโลม เหนือยันต์ "พะ" ปลายจะโค้ง ไม่เหยียดตรงแบบรุ่นแรก มีการจัดสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง

          โดยในช่วงปีนั้นมีการปั๊มเหรียญจำนวนมากกว่า ๑ ครั้ง ทำให้เกิดมีเหรียญแบบมีกลากและไม่มีกลาก นอกจากนี้เมื่อมีการปั๊มเหรียญ​เนื้ออัลปาก้าทำให้บล็อ​กชำรุด จึงมีการแกะบล็อก​ใหม่แต่ยันต์​ยังคงคตเหมือนกัน จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญหลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ พิมพ์พุ่มข้าวบินฑ์ รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๙

           ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่ออินทร์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนและด้านข้างมีอักขระยันต์รอบรูปหลวงพ่อ มียันต์หัวใจธาตุ "นะ มะ พะ ทะ" เหนือยันต์แต่ะละตัวมีอุนาโลม ด้านล่างมีตัวยันต์ "อุ" เหนือศรีษะหลวงพ่อ มีอุนาโลม ๑ ตัว

           ด้านหลัง มีอักขระยันต์กรงจักร ตรงกลางมีอักขระยันต์ขอม ด้านบน มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่ออินทร" ด้านล่าง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโบสถ์"
 
           สำหรับพิธีกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมทั้งคนในท้องถิ่นและคนต่างถิ่น ที่โด่งดังมากคือ พิธี "แต่งแก้" หรือ "พิธีแก้เคราะห์กรรม" ทั้งนี้ พระครูโพธารามพิทักษ์ หรือที่รู้จักกันในนาม "หลวงพ่อเขียน สิริมังคโล" เจ้าคณะอำเภอโพธาราม และเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี(ผู้เป็นศิษย์ หลวงพ่ออินทร์ )

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ ราชบุรี

          เล่ามาว่า ลาวที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ประมาณ พ.ศ.๒๓๒๒ ได้นำเอาบุญประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและความเชื่อก็ติดมาด้วย แต่ด้วยระยะกว่า ๒๐๐ ปี ทำให้วัฒนธรรมสูญไปตามกาลเวลาเกือบทั้งหมด บุญประเพณีแข่งกลอง บุญบั้งไฟ ที่เคยมีก็หายไปเสียส่วมมาก ภาษานั้นจะพูดกันในหมู่ผู้สูงอายุเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีวัดบางแห่งที่สวดให้พรญาติโยมเป็นภาษาบาลีสำเนียงลาวอยู่ในยุคปัจจุบัน.


ข้อมูล : หนังสืออนุสรณ์พระทานเพลิงศพหลวงพ่ออินทร์ วันที่ ๑-๒ เมษายน ๒๕๑๕
หมายเหตุ : หลวงพ่ออินทร์ ท่านไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหญ้าปล้องอย่างที่มีคนเข้าใจกัน
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง



***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้