โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่อวง วัดบางวันทอง ผู้สร้างพระสมเด็จบินอันโด่งดัง

หลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม


          หลวงปู่อวง วัดบางวันทอง ท่านเป็นพระที่เดินทางมาจากประเทศเขมร เล่ากันว่าท่านเป็นญาติกับนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งหนีภัยสงครามเข้ามาประเทศไทยพร้อมๆกัน

          หลวงพ่ออวง ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๒  ณ เมืองพระตะบอง ประเทศเขมร มีนามเดิมว่า สุคนธ์ อภัยวงศ์ ไม่มีการการจดบันทึกว่าโยมบิดาและโยมมารดา ท่านชื่อว่าอะไร 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ หลวงพ่ออวง มีอายุได้ ๒๑ ปี ซึ่งถือว่ามีอายุครบบวชแล้ว ท่านจึงได้ทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดแก้ววิจิตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ได้รับฉายาว่า "พุทธปญฺญา"

          หลังจากที่อุปสมบทแล้ว หลวงพ่ออวงท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดแก้ววิจิตรเรื่อยมา โดยท่านรับหน้าที่สอนหนังสือขอม อยู่ที่วัดแก้ววิจิตร 

         โดยในอดีตท่านเคยเป็นทหารวังมาก่อน จึงมีความรู้ทั้งทางวิชาการและเวทย์มนต์คาถา และด้วยการที่ท่านสอนหนังสือได้ จึงมีคนนำบุตรมาฝากเรียนเขียนอ่านกับท่านเป็นจำนวนมาก 

         จนเมื่อชื่อเสียงด้านการสอนหนังสือโด่งดัง จึงถูกนิมนต์ให้มาสอนหนังสือขอมที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งที่นี่เองหลวงพ่ออวง ก็ได้ศึกษาด้านวิชาแพทย์แผนโบราณของสำนักวัดโพธิ์อันโด่งดังด้วย

          ต่อมานานวันเข้าชาวบ้านวัดปราโมทย์ ไปนิมนต์ท่านมาสอนหนังสือขอมที่วัดปราโมทย์ ด้วยวัดปราโมทย์นั้นเปิดโรงเรียนสอนหนังสือแต่ยังขาดแคลนครูอาจารย์ที่จะสอน จึงนิมนต์ท่านมาเป็นครูสอนหนังสือที่วัด

หลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม


          เมื่อท่านย้ายมาที่วัดปราโมทย์ชื่อเสียงของท่านก็เริ่มขจรขจายมากขึ้นในเขตเมืองแม่กลอง ด้วยท่านมีความเก่งกาจหลายด้าน ทั้งการสอนหนังสือ การแพทย์แผนโบราณ และการทำน้ำมนต์ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ส่งบุตรหลานมาเรียนกับท่านเป็นจำนวนมาก

          เมื่อหลวงพ่อเทียน เจ้าอาวาสวัดบางวันทอง มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางวันทองว่างลง ชาวบ้านบางวันทองจึงพร้อมใจกันเดินทางมายังวัดปราโมทย์ เพื่อนิมนต์ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบางวันทององค์ต่อไป

          หลังจากที่ท่านมาปกครองวัดบางวันทอง ท่านก็ได้ทำนุบำรุงวัดจนเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา ทั้งการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ 

          นอกจากนี้หลวงพ่ออวง ท่านได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาจึงได้ทำการก่อตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น ชื่อว่า โรงเรียนวัดบางวันทอง(ปัญญาราษฎร์)  ปัจจุบันคือสำนักงานเทศบาลตำบลเหมืองใหม่

          หลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นับรวมสิริอายุได้ ๙๑ ปี ๖๙ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง

          เหรียญหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง รุ่นแรก

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมาขนาดเล็ก มีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมทำบุญในงานผูกพัทธสีมาของวัดบางวันทอง โดยมีการสร้างด้วยเนื้อโลหะชนิดเดียวคือเนื้อทองแดง และทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่ออวงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักษรไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่ออวง"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานผูกพัทธสีมาวัดบางวันทอง จ.สมุทรสงคราม ๒๔๙๗"

          พระปิดตาหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเหมือนพระปิดตาเนื้อเมฆพัตรของหลวงพ่อปล้อง วัดหลุมดินแต่องต์พระจะไม่มีนิ้วมือและองค์พระจะบางกว่า เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อตอบแทนผู้ที่บริจาคทรัพย์เพื่อสร้างเขื่อนใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แบ่งออกเป็นพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ซึ่งจะแตกต่างกันที่ขนาด จำนวนการสร้างไม่มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง เนื้อเมฆพัตร พิมพ์ใหญ่ ของคุณภาณุ เกตุแก้ว

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี

          ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระใดๆ ในบางองค์มีจาร

          สมเด็จหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเหมือนพระสมเด็จพิมพ์เข่าบ่วง แต่มีพิมพ์ทรงที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน โดยเนื้อหามวลสารที่ใช้ในการสร้างหลวงพ่ออวง ท่านได้ลบผงเองทั้งหมด มีเรื่องเล่ากันว่าพระสมเด็จที่สร้างเมื่อทำการปลุกเสก พระสมเด็จที่ใส่อยู่ในบาตรบินขึ้นมาเหนือบาตรได้ จำนวนการสร้างไม่มีการจดบันทึกไว้

สมเด็จหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม

สมเด็จหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม

สมเด็จหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม

          ด้านหน้า เป็นพระสมเด็จหูบายศรี นั่งสมาธิเข่าบ่วง บนฐาน ๕ ชั้น มีซุ้มระฆังครอบองค์พระอีกทีแบบสมเด็จทั่วๆไป

          ด้านหลัง เรียบมน ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

          สมเด็จหลังผ้าหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเหมือนพระสมเด็จทั่วไป แต่มีพิมพ์ทรงที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน โดยเนื้อหามวลสารที่ใช้ในการสร้างหลวงพ่ออวง ท่านได้ลบผงเองทั้งหมด มีเรื่องเล่ากันว่าพระสมเด็จพิมพ์นี้เป็นพระที่เก่าแก่ที่สุดของท่าน จัดเป็นพระพิมพ์ที่หายากของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่มีการจดบันทึกไว้

สมเด็จหลังผ้าหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง ของคุณปิง พระนาย

          ด้านหน้า เป็นพระสมเด็จหูบายศรี นั่งสมาธิเข่าบ่วง บนฐาน ๖ ชั้น มีซุ้มระฆังครอบองค์พระอีกทีแบบสมเด็จทั่วๆไป

          ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระยันต์ใดๆ แต่จะมีลายผ้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระพิมพ์นี้

          พระคงหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นพระเนื้อผงแบบพระคง เนื้อพระออกสีดำ โดยมวลสารที่ใช้ในการสร้างหลวงพ่ออวง ท่านได้รวบรวม ลบผง ผสมผงเองทั้งหมด สร้างน้อยหายาก จำนวนการสร้างไม่มีการจดบันทึกไว้

พระคงหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง

          ด้านหน้า เป็นพระเนื้อผงพิมพ์คล้ายพระคง ลำพูน แต่ไม่มีใบโพธิ์

          ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

          พระกลีบบัวหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นพระเนื้อผงทรงกลีบบัวที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน โดยเนื้อหามวลสารที่ใช้ในการสร้างหลวงพ่ออวง ท่านได้ลบผงเองทั้งหมด สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ พิมพ์คือ พิมพ์เล็ก และ พิมพ์ใหญ่ คาดว่าสร้างพร้อมกับพระสมเด็จของท่าน จำนวนการสร้างไม่มีการจดบันทึกไว้

พระกลีบบัวหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม พิมพ์ใหญ่

พระกลีบบัวหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม พิมพ์เล็ก

          ด้านหน้า เป็นพระพุทธปางสมาธิเข่าบ่วง บนฐานบัว ๒ ชั้น มีซุ้มรูปใบโพธิ์รอบองค์พระอีกที ล้อไปกับพิมพ์พระ

          ด้านหลัง เรียบมน ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

          พระผงหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นพระเนื้อผงพิมพ์ทรงคล้ายพระสรรค์ โดยเนื้อหามวลสารที่ใช้ในการสร้างหลวงพ่ออวง ท่านได้รวบรวมและลบผงเองทั้งหมด คาดว่าสร้างพร้อมกับพระสมเด็จของท่าน คนสมัยก่อนนิยมนำพระพิมพ์นี้ไปฝนกินเป็นยารักษาโรคจึงทำให้พระพิมพ์นี้ค่อนข้างที่จะหายากในปัจจุบัน จำนวนการสร้างไม่มีการจดบันทึกไว้

พระกลีบบัวหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม

          ด้านหน้า เป็นพระพุทธนั่งปางมารวิชัยบนฐานบัว ๒ ชั้น 

          ด้านหลัง เรียบมน ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ (บางองค์มีจาร)

          เหรียญหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง รุ่นสอง พิมพ์ที่ ๑

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ลักษณะเหมือนเหรียญทรงเสมาทั้วไป มีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมทำบุญในงานทำบุญอายุ ๘๔ ปี ของหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง โดยมีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้าลงยา และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้ออัลปาก้าลงยา

เหรียญหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่ออวงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักษรไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่ออวง พุทธปญฺญา เจ้าอาวาสวัดบางวันทอง"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อนุสรณ์ในงานทำบุญอายุ ๘๔ ปี ๒๐ ก.พ. ๒๕๐๖"

          เหรียญหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง รุ่นสอง พิมพ์ที่ ๒

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ลักษณะเหมือนเหรียญทรงเสมาทั้วไป มีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมทำบุญในงานทำบุญอายุ ๘๔ ปี ของหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง โดยมีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้ออัลปาก้า

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่ออวงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักษรไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่ออวง พุทธปญฺญา เจ้าอาวาสวัดบางวันทอง"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๖" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ

          เหรียญหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง รุ่นแจกงานศพ

          เป็นเหรียญที่สร้างไม่ทันท่าน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ลักษณะเป็นเหรียญแบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงานประชุมเพลิงศพของหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง โดยมีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญงานศพหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง 2513 อัลปาก้า
เหรียญแจกงานศพหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญแจกงานศพหลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้ออัลปาก้า

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่ออวงครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักษรไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่ออวง พุทธปญฺโญ วัดบางวันทอง สมุทรสงคราม"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานประชุมเพลิง ๒๘ มี.ค. ๒๕๑๓"



โดย : สารานุกรมลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อ


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้