หลวงพ่อพรต วัดศรีโลหะราษฏร์บำรุง กาญจนบุรี |
หลวงพ่อพรต วัดศรีโลหะฯ ถือเป็นพระเถระยุคเก่าองค์หนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี ท่านเป็นเจ้าอาวาสอันดับที่ ๖ ของวัดศรีโลหะ และยังเป็นอาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชาให้แก่หลวงพ่อนารถ วัดศรีโลหะฯเจ้าอาวาสรูปถัดมาด้วย
หลวงพ่อพรต (จนฺทโสภะ) วัดศรีโลหะ หรือ พระครูยวิวัตรวิบูล ท่านเป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๒๑ โดยไม่มีการจดบันทึกว่าโยมบิดาและโยมมารดาของท่านชื่อว่าอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ขณะนั้นหลวงพ่อพรต มีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๑ ณ วัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพฯ ได้รับฉายาว่า "จนฺทโสภะ" โดยมี
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(แสง) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระกัลยาณุคุณ(กล้ำ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระธรรมเจดีย์(อุ่ม) เป็นพระอนุสาวนาจารย์หลังอุปสมบทได้พำนักจำพรรษา ณ วัดมหาพฤฒาราม เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเจนจบ จึงได้ออกเดินธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ
กระทั่งถึงวัดศรีโลหะฯ ท่านเห็นว่าสถานที่แห่งนี้สงบวิเวก เหมาะแก่การฝึกวิปัสสนากัมมัฎฐาน จึงได้ทำการจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้
พระเจดีย์ที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อพรต วัดศรีโลหะ |
ขณะที่ท่านได้พำนักจำพรรษา ณ วัดศรีโลหะฯนั้น หลวงพ่อฉาว เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ซึ่งท่านเป็นพระคณาจารย์ยุคเก่าที่แก่กล้าพระเวทย์วิทยาคมอีกองค์หนึ่ง และเคยสร้างพระเครื่องบรรจุกรุเอาไว้หลวงพ่อพรตจึงได้ศึกษาวิชาเพิ่มเติมจากหลวงพ่อฉาว
นอกจากนี้แล้วยังได้ศึกษาจากตำราโบราณ ซึ่งเป็นตำราตกทอดมานานของวัด แล้วท่านยังได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์กับ พระครูวิสุทธิรังษี หรือ หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร แห่งวัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้)
ด้วยความรักและเคารพในครูบาอาจารย์ ท่าถึงกับลั่นวาจาไว้ว่า "ถ้าท่านเจ้าคณะจังหวัดยังอยู่(หมายถึงหลวงพ่อเปลี่ยน) ท่านจะไม่สร้างวัตถุมงคลใดๆขึ้นมา"
ภายหลังหลวงพ่อฉาว เจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ได้มรณภาพ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา
วัดศรีโลหะราษฏร์บำรุง เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๐ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โดยชาวจีนผู้หนึ่งชื่อนายโหละ ซึ่งตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ในบริวเณนี้ เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น ระยะแรกมีกุฏิเพียงไม่กี่หลัง
ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า "วัดตาเจ๊กโหละ" ครั้นต่อมาพระศรีสวัสดิ์ผู้ครองเมืองศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี ซึ่งมีหน้าที่เก็บส่วยให้หลวง ได้มาตั้งเตาถลุงแร่รวมโลหะที่ริมท่าน้ำใกล้วัด และพระศรีสวัสดิ์ผู้นี้ได้ทำนุบำรุงวัด และได้ทำการเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า "วัดศรีโละ"
ต่อมาได้ทำการเปลี่ยนชื่อวัดใหม่อีกครั้งว่า "วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง" จวบจนบัดนี้ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังคงเรียกกันว่าวัดศรีโลหะ แต่เพียงสั้นๆ
ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จประพาสมาทางน้ำมาตรวจคณะสงฆ์ที่กาญจนบุรี ได้แวะมาตรวจที่วัดศรีโลหะฯ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
หลวงพ่อพรตท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายรายงานถึงเรื่องต่างๆ ต่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้เป็นอย่างดี สมเด็จท่านได้กล่าวชื่นชมหลวงพ่อพรตในด้านการพัฒนาวัดและชื่นชมฝีมือช่างของหลวงพ่อ
วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จกลับจากการตรวจคณะสงฆ์ที่กาญจนบุรี ได้แวะกลับมาที่เมืองราชบุรี ถึงพลับพลาหน้าวัดท่าเรือ แขวงพระแท่น เมืองราชบุรี
ขณะนั้นพระครูท้วม วัดท่าเรือ เป็นเจ้าคณะแขวง แต่เป็นผู้ขาดความเอาใจใส่ในหน้าที่ เฉื่อยชา และมึนตึง กราบทูลการงานในหน้าที่ให้ทราบไม่ได้ตลอด มีพระดำรัสถามข้อความอะไรก็ไม่เข้าใจ ไม่สมควรเป็นพระผู้ใหญ่ปกครองคณะต่อไป
พระอธิการปิ๋ว วัดกระทุ่มน้อย ผู้มาเฝ้าเป็นเพียงเจ้าอาวาส ยังสามารถกรายทูลการงานให้ทรงทราบได้มากกว่า ประกอบคณะแขวงพระแท่นนี้อยู่ติดกับคณะแขวงวังขนาย เมืองกาญจนบุรี ที่มีคณะสงฆ์ที่จัดการปกครองได้เรียบร้อยดีด้วยมี พระครูวิสุทธฺรังสีเป็นเจ้าคณะเมือง
จึงตรัสรับสั่งให้แยกคณะแขวงพระแท่น จากคณะเมืองราชบุรี ยกไปขึ้นกับคณะเมืองกาญจนบุรี และถอนพระครูท้วมออกจากตำแหน่งเจ้าคณะแขวงพระแท่น
ทรงตั้งเจ้าอธิการพรต เจ้าอาวาสวัดศรีโลหะฯ เจ้าคณะหมวดตำบลท่าม่วง อำเภอวังขนาย เมืองกาญจนบุรี เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงพระแท่นฯ อีกหนึ่งตำแหน่งด้วย
ภายหลังจากการตรวจคณะสงฆ์ในครั้งนั้น ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูยติวัตรวิบูล พระครูสัญญาบัตร ตำแหน่งเจ้าคณะหมวด ๒
หลวงพ่อพรต ปกครองวัดเรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ รวมศิริอายุได้ ๕๙ ปี ๓๙ พรรษาวัตถุมงคลหลวงพ่อพรต วัดศรีโลหะ
ล็อกเก็ตหลวงพ่อพรต วัดศรีโลหะ รุ่นแรก
สร้างขึึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานศพของท่าน โดยเหรียญดังกล่าวสร้างแบบ ๒ ชิ้นประกบกัน โดยมีหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เป็นประธานจัดสร้าง มีการสร้างด้วยเนื้อเงินลงยาและเนื้อทองฝาบาตรกระไหล่ทอง สามารถแบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์ยันต์นูน และพิมพ์ยันต์จม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้ แต่น่าจะสร้างขึ้นจำนวนน้อยมากปัจจุบันพบเห็นหมุนเวียนน้อยมาก จัดเป็นพระมีราคาอีกเหรียญของเมืองกาญจนบุรี
ล็อกเก็ตหลวงพ่อพรต วัดศรีโลหะฯ พิมพ์ยันต์จม เนื้อเงินลงยา พ.ศ. ๒๔๗๙ |
ล็อกเก็ตหลวงพ่อพรต วัดศรีโลหะฯ พิมพ์ยันต์นูน เนื้อเงินลงยา พ.ศ. ๒๔๗๙ |
ล็อกเก็ตหลวงพ่อพรต วัดศรีโลหะฯ พิมพ์ยันต์จม เนื้อทองฝาบาตร พ.ศ. ๒๔๗๙ ของคุณทวีโชค |
ล็อกเก็ตหลวงพ่อพรต วัดศรีโลหะฯ พิมพ์ยันต์จม เนื้อทองฝาบาตร พ.ศ. ๒๔๗๙ |
ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อพรต ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักษรภาษาไทยเขียนว่า "พระครูยะติวัตรวิบูล" ใต้รูปเป็นช่อชัยพฤกษ์
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ๒ แบบ คือแบบยันต์จม และยันต์นูน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ ซึ่งประกอบไปด้วยยันต์ นะครอบจักรวาน และยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ "นะ โม พุท ธา ยะ"
ล็อกเก็ตหลวงพ่อพรต จัดเป็นพระที่หายากชิ้นหนึ่งของเมืองกาญจนบุรี ด้วยจำนวนการสร้างที่น้อย มีรูปแบบสวยงามนอกจากนี้ยังมีพระเกจิที่เก่งกาจอีกหลายรูปรวมกันปลุกเสกอาทิ เช่น
หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ กาญจนบุรี
หลวงพ่อดอกไม้ วัดดอนเจดีย์ กาญจนบุรี
หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาญจนบุรี
หลวงปู่ดี วัดเหนือ กาญจนบุรี
หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี
หลวงพ่อปิ๋ว วัดหวายเหนียว กาญจนบุรี
พระปลัดจู วัดใต้ กาญจนบุรี
หลวงพ่อก้าน วัดใต้ กาญจนบุรี
ซึ่งจากรายชื่อที่กล่าวมาถือว่าเป็นเหรียญที่รวบรวมพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของเมืองกาญจน์แทบทั้งสิ้น พุทธคุณของล็อกเก็ตหลวงพ่อพรต จึงดีเด่นครอบจักรวาลเป็นที่แสวงหาของคนในยุคปัจจุบัน.
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น