โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ ราชบุรี

หลวงพ่อชุ่ม (จันทโชติ) วัดท่ามะเดื่อ ราชบุรี

          หลวงพ่อชุ่ม (จันทโชติ) วัดท่ามะเดื่อ จังหวัดราชบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เข้มขลังอีกรูปหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ท่านเป็นพระเกจิที่มีพุทธาคมเข้มขลังในสายพระนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน เป็นผู้สร้างตำนาน "ปาฏิหาริย์ปราบผี" จนมีชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาตลอดมา

          หลวงพ่อชุ่ม ท่านเกิดเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๐๓ ที่บ้านดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โยมบิดาชื่อนายทับ จันทร์ทัพ โยมมารดาชื่อนางโต จันทร์ทัพ มีพี่น้องรวมกัน ๕ คน ประกอบไปด้วย

          ๑. นายทรัพย์
          ๒. นางกอง (โยมมารดา ของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม)
          ๓. นางแก้ว
          ๔. หลวงพ่อชุ่ม
          ๕. นายโทน

          ในราวปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ขณะที่หลวงพ่อชุ่ม มีอายุได้ ๒๓ ปี หลวงพ่อชุ่มได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโพธิบัลลังก์ ได้รับฉายาว่า "จันทโชติ" ในสมัยนั้นหลวงพ่อชุ่ม ถือว่าเป็นพระเถราจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยในยุคนั้นในพิธีอุปสมบทพระใหม่แต่ละครั้ง หลวงพ่อกล่อม วัดขนอน มักถูกนิมนต์ให้ไปเป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมีหลวงพ่อชุ่มกับหลวงพ่อหวาน วัดโพธิ์บัลลังก์ เป็นพระคู่สวด อยู่เสมอ

          หลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ เป็นพระนักปฏิบัติธรรมชอบสมถะ เชี่ยวชาญทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตลอดจนรอบรู้วิทยาคม เวทมนตร์อาคมต่างๆ ศิษย์ทั้งหลายให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก แม้ในการซ้อมรบเสือป่า ลูกเสือสมุทรเสนาที่ค่ายหลวงคราวใด จะต้องนิมนต์หลวงพ่อไปประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทุกครั้งไป

วัดท่ามะเดื่อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

          วัดท่ามะเดื่อ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองด้านตะวันออก ในพื้นที่ตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี แต่เดิมบริเวณวัดมีต้นมะเดื่อใหญ่อยู่ที่ท่าน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่า "วัดท่ามะเดื่อ" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดอุทุมพราราม" แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดท่ามะเดื่อ จนถึงปัจจุบัน

          วัดท่ามะเดื่อ เป็นวัดที่ตั้งมากว่าร้อยปี ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง เล่ากันว่าบริเวณที่ตั้งวัดแต่เดิมเป็นป่ารกทึบแนวเดียวกับวัดบ้านโป่ง มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก มีต้นมะเดื่อใหญ่ริมแม่น้ำแม่กลอง มีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้

          ๑. หลวงพ่อชุ่ม จันทโชติ
          ๒. พระอธิการอิ่ม
          ๓. พระอธิการละมูล
          ๔. พระอธิการปลอด
          ๕. พระอธิการภักดี
          ๖. พระใบฏีกาอินทร์ทอง (รักษาการแทนเจ้าอาวาส)
          ๗. พระครูจิ๋ว สุพพโจ
          ๘. พระครูโสภณวรการ (ไฮ้ ประเสริฐศรี)


          ตามประวัติก่อนที่หลวงพ่อชุ่ม จะมาปกครองวัดท่ามะเดื่อ เดิมทีวัดท่ามะเดื่อมีพระผู้ถือธุดงค์ผ่านมาแวะอาศัยเพียงระยะสั้นๆ นอกฤดูพรรษา บางคราวมีพระภิกษุบางรูปอยู่จำพรรษาบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็จาริกจากไปแสวงบุญที่อื่นหมด ไม่มีพระอยู่จำพรรษาเป็นระยะเวลานานๆ

          สิ่งก่อสร้างทั้งหมดภายในวัดได้เริ่มขึ้นสมัยหลวงพ่อชุ่ม มาอยู่วัดท่ามะเดื่อ ทั้งอุโบสถ กุฏิสงฆ์ หอฉันศาลาการเปรียญหลังเก่า ซึ่งปัจจุบันพระมหาปรีชา สามตถิโก เจ้าคณะตำบลปากแรด และเจ้าอาวาสวัดท่ามะเดื่อรูปปัจจุบัน ได้ทำการบูรณะในสิ่งที่ชำรุดไปบ้างแล้ว

หลวงพ่อชุ่ม (จันทโชติ) วัดท่ามะเดื่อ ราชบุรี

          ในสมัยก่อนมีเรื่องเล่าของหลวงพ่อชุ่ม กับควายธนู ซึ่งเป็นเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ เป็นที่กล่าวขานกันว่า ครั้งหนึ่งมีโจรเข้าไปขโมยควายของญาติที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับหลวงพ่อ หลวงพ่อชุ่มได้เสกควายธนูไล่จนโจรหนีหายเตลิดเปิดเปิงไปเลยทีเดียว แม้แต่สัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ยังไปอยู่ร่วมห้องกับท่านโดยที่ไม่ทำอันตรายหลวงพ่อแม้แต่น้อย

          ส่วนเรื่องราวการปราบผี ในอดีตบริเวณวัดท่ามะเดื่อเป็นป่ารกร้างน่ากลัว ชาวบ้านกล่าวกันว่ามีผีดุ เมื่อเดินผ่านหน้าวัดจะถูกผีหลอกเป็นประจำ หลวงพ่อชุ่มใช้วิทยาคมปราบผีปีศาจจนหนีกระเจิง

          หลวงพ่อชุ่มเป็นพระถือสันโดษ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีปฏิปทาปฏิบัติน่าเลื่อมใส ทำวัตรสวดมนต์ถือครองผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต บิณฑบาตเป็นกิจไม่เคยขาด

          หลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ สิริอายุได้ ๖๒ ปี ๓๙ พรรษา แม้ท่านจะละสังขารไปแล้ว แต่ความเลื่อมใสศรัทธาที่มีหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ ยังคงปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ

ปี พ.ศ. ๒๔๖๓

          เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ รุ่นแรก

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพื่อออกให้บูชาในคราวที่หลวงพ่อมีอายุครบ ๖๐ ปี (งานแซยิด)​ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ปั๊มข้างกระบอก มีหูเชื่อมสำหรับคล้องกับสร้อย มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะชนิดเดียวเท่านั้น คือเนื้อทองแดง มีด้วยกัน ๒ พิมพ์ คือพิมพ์หน้ายาว และพิมพ์หน้าสั้น จำนวนการสร้างมิได้มีการระบุไว้

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ พิมพ์หน้ายาว

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ พิมพ์หน้ายาว

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ พิมพ์หน้าสั้น

          ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อชุ่มครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ซ้อนในวงกลม ๒ ชั้น ด้านในวงกลมล่างเป็นโบภายในโบมีข้อความขอมอ่านได้ว่า "จันทโชติ" ปลายโบมีตัวเลขไทย "๒๔" และ "๖๓" ซึ่งเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่มีการสร้างเหรียญ ขอบเหรียญด้านหน้าเขียนอักขระล้อมรอบวงกลม
          ด้านหลัง มีอักขระยันต์และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ไว้เปนที่ระฦก"

 ปี พ.ศ. ๒๔๗๐

          เหรียญรุ่นเสมาหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ

          สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ กว่า เท่าที่พบมีจำนวนน้อยมาก ลักษณะเป็นเหรียญเสมามีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จัดเป็นเหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อที่ลึกลับ เนื่องจากไม่มีประวัติการสร้างที่ชัดเจน

เหรียญหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๔๖๙

          ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อชุ่มเต็มองค์ประทับนั่งบนอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทย เขียนว่า "ท่านพระอธิการชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ" 
          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ต่างๆ

          เหรียญหลวงพ่อชุ่มดังกล่าวได้รับการยอมรับว่ามีพุทธคุณด้านเมตตา แคล้วคลาด คงกระพันชาตรีจัดเป็นเหรียญหายากและเป็นที่นิยมของวงการพระเครื่องและชาวราชบุรีเป็นอย่างมาก

ปี พ.ศ. ๒๔๙๒

          เหรียญรูปไข่หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

          หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ได้สร้างเหรียญรูปไข่หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เพื่อขึ้นมอบให้วัดท่ามะเดื่อ ได้นำออกให้สาธุชนบูชา หารายได้ซ่อมแซมเสนาสนะของวัดท่ามะเดื่อ เนื่องจากหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม มีศักดิ์เป็นหลานหลวงพ่อชุ่ม และมาบวชเป็นสามเณรอาศัยวัดท่ามะเดื่อ ศึกษาวิทยาอาคมกับหลวงพ่อชุ่มซึ่งเป็นหลวงน้า ประสงค์จะแทนคุณทางวัดและพระอธิการชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ออกวัดท่ามะเดื่อ ปี. พ.ศ. ๒๔๙๒

          ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเงินครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเอ่านได้ว่า "ให้ไว้เป็นที่ระลึก" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่อเงิน" 
          ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ภายในยันต์ห้ามียันต์น้ำเต้า

          ภาพถ่ายหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ (ห้อยคอ)

          ลักษณะเป็นภาพถ่ายขนาดเล็กไว้สำหรับห้อยคอ เข้าใจว่าสร้างขึ้นจำนวนน้อย จัดเป็นภาพหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อที่ลึกลับ เนื่องจากไม่มีประวัติการสร้างที่ชัดเจน ซึ่งภาพถ่ายหลวงพ่อชุ่มทั้งหมดจะเริ่มสร้างในยุคกลางถึงยุคหลัง

ภาพถ่ายเก่าขนาดห้อยคอ หลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ ราชบุรี

          ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อชุ่มนั่งสมาธิเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนสังฆาฎิมีการจารอักขระยันต์ด้วยหมึกดำ 
          ด้านหลัง มีการจารอักขระยันต์หลายๆแบบ อย่างใบนี้เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ คล้ายยันต์ของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

          มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าในคราวงานศพของหลวงพ่อชุ่ม ชาวบ้านดอนยายหอม ที่มาในงานศพได้แอบลักลอบขโมยรูปถ่ายหลวงพ่อชุ่ม ที่มีเพียงใบเดียวของวัดไป ขณะที่ชาวบ้านวัดท่ามะเดื่อกำลังวุ่นวายกับการจัดการงานศพ พอชาวบ้านทราบเข้าก็ได้รวมกลุ่มติดตามกันไปหมายจะทวงรูปคืน ขบวนที่ติดตามไปนั้นมีทั้งมีดทั้งปืนหมายจะฆ่าฟันให้หายแค้น แต่เมื่อติดตามไปก็คลาดกันอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งน่าจะเป็นพระความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อชุ่ม

          นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ประหลาดของบ้านเจ๊กไช้ ซึ่งมีภาพของหลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ ตั้งไว้บนบ้าน ครานั้นเกิดเหตุเพลิงไหม้ตลาดบ้านโป่งวอดวายไปทั้งตลาดมีเพียงบ้านของเจ๊กไช้ผู้เดียวที่ไม่ถูกไฟไหม้ บนบ้านมีภาพถ่ายหลวงพ่อชุ่มอยู่บานหนึ่ง ทางวัดท่ามะเดื่อรู้เข้าจึงไปขอถ่ายสำเนารูปนั้นมาเก็บไว้ที่วัด ภาพถ่ายของหลวงพ่อชุ่มจึงมีให้สืบค้นได้จนถึงปัจจุบัน.


ข้อมูล : เพจกลุ่มคนรักษ์หลวงพ่อชุ่ม วัดท่ามะเดื่อ จ.ราชบุรี
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง



***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้