ประวัติและวัตถุมงคลพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ ราชบุรี เหรียญหายากของราชบุรี
![]() |
หลวงพ่อพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ ราชบุรี |
พระครูมูล (อุตฺตโม) วัดหนองปลาหมอ ท่านมีนามเดิมว่า มูล แสนสม พื้นเพเป็นคนในพื้นที่บ้านโค้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยหลวงพ่อเกิดเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙ โยมบิดาชื่อนายอ้าย แสนสม โยมมารดาชื่อนางอยู่ แสนสม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนโต
เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ โยมบิดาและโยมมารดา ได้ย้ายครอบครัวมาทำกินที่บ้านดอนกระทือ ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง เมื่ออายุได้ ๗ ปี โยมมารดาเสียชีวิตลง โยมบิดาได้มีภรรยาใหม่ อาหญิงของท่านจึงรับเอาไปอุปการะเลี้ยงดูและนำไปฝากเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ไฝ เจ้าอาวาสวัดหนองปลาหมอ
ท่านพระครูมูล ท่านมีความตั้งใจในการศึกษาและมีความจำเป็นเลิศ จนสามารถอ่านเขียนได้ทั้งภาษาไทย ภาษาขอม และขอมลาวได้อย่างคล่องแคล่ว
ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านมีอายุครบ ๑๘ ปี จึงได้ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารกองประจำการเป็นเวลา ๔ ปี จึงปลดประจำการออกมา
ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลังปลดจากประจำการ ท่านจึงได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหนองปลาหมอ ตําบลหนองปลาหมอ อําเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อเดือนหก ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับฉายาว่า "อุตฺตโม" โดยมี
พระอธิการเข็ม วัดม่วง เป็นพระอุปชฌาย์
พระอธิการเฮี้ยน วัดตาลปากลัด เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์โว๊ะ วัดม่วง เป็นพระอนุสาวนาจารย์เมื่อบวชแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองปลาหมอ ด้วยความที่ท่านมีความสามารถทางบาลีและขอมตั้งแต่เป็นเด็ก
ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ขณะนั้นหลวงพ่อมูล ท่ายบวชเรียนได้เพียง ๘ พรรษา แต่ด้วยความที่ท่านเก่งกาจในภาษาบาลีเป็นอย่างมาก ทำให้ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระอาจารย์ปุ๋ย เจ้าอาวาสวัดหนองปลาหมอได้ถึงแก่มรณภาพ ชาวบ้านในพื้นที่จึงนิมนต์หลวงพ่อมูลขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดหนองปลาหมอ เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ ตําบลหนองปลาหมอ อําเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๓ งาน
วัดหนองปลาหมอ ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๘ เมตร ยาว ๔๗ เมตร มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนามดังนี้
๑. พระคํา
๒. พระสุข
๓. พระคุ้ม
๔. พระทัย
๕. พระไฝ พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๔๒
๖. พระผ่อง พ.ศ. ๒๔๔๒ - ๒๔๕๑
๗. พระพัด พ.ศ. ๒๔๕๑ - ๒๔๕๖
๘. พระปุ๋ย พ.ศ. ๒๔๕๖ - ๒๔๗๓
๙. พระครูมูล อุตตโม พ.ศ. ๒๔๗๓ - ๒๔๙๘
๑๐. พระครูสุจิตธรรมคุณ พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๔๐
๑๑. พระสมพร อธิปญฺโญ พ.ศ. ๒๕๔๑ - ปัจจุบัน
![]() |
หลวงพ่อพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ ราชบุรี |
หลัจากที่หลวงพ่อมูลได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามดำลับ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวนที่ "พระครูมูล"
หลวงพ่อพระครูมูลนั้น ท่านเป็นคนพูดน้อยมาก ท่านถือคติว่าทำดีกว่าพูด ท่านจึงมุ่งมั่นทำงานการพัฒนาวัดหนองปลาหมอ และสร้างศาสนสถาน รวมถึงโรงเรียนให้ทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์ได้มีที่ศึกษา
โดยสร้างโรงเรียนสอนปริยัติธรรมที่ชื่อว่า "ศรีรัตนราษฏร์รังสรรค์" และโรงเรียนประชาบาลสำหรับการศึกษาของบุตร-ธิดาในพื้นที่หนองปลาหมอชื่อว่า "มูลอุปการ" หรือนั่นก็คือ "โรงเรียนชุมชนวัดหนองปลาหมอ" ในปัจจุบันนี้เอง
ชีวิตท่านมุ่งอุทิศเพื่อพระพุทธศาสนา แม้แต่ทรัพย์สมบัติที่ดินที่ท่านได้รับแบ่งมาเป็นมรดก ท่านก็ได้อุทิศแก่พระพุทธศาสนา ท่านถือมั่นในพระธรรมวินัย ฉันแต่อาหารเจ แม้ตอนท่านอาพาธ ลูกศิษย์ได้ขอร้องให้ท่านฉันอาหารคาวเพื่อรักษาร่างกาย แต่ท่านก็ไม่ยอม ท่านถือคติสังขารไม่ใช่ของเรา ขออุทิศตนสร้างบุญแก่พระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง
พระครูมูล ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ นับรวมสิริอายุได้ ๕๙ ปี ๓๗ พรรษา เป็นที่โศกเศร้าอาลัยแก่บรรดาลูกศิษย์มาก.
วัตถุมงคลของพระครูมูล
เหรียญหลวงพ่อพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่นแรก
จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มมีหูในตัว โดยสร้างขึ้นในวาระงานฉลองโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีพบด้วยกัน ๔ เนื้อคือ เนื้อทองคำ เนื้อนาก เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง เหรียญของท่านเป็นที่นิยมของนักสะสมพระเครื่องมาก เป็นที่ประจักษ์เชื่อใจได้ว่ามีเหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ แขวนคอแล้วไม่ตายโหง ใช้บล๊อกหน้าบล๊อกเดียว บล๊อกหลังมี ๒ พิมพ์ คือบล็อก "ปริยัติธรรม" และ "ปิริยัติธรรม" โดยมีจำนวนการสร้างดังนี้ เนื้อทองคำและเนื้อนาก สร้างตามจำนวนสั่งทำ เนื้อเงินมีการสร้างด้วยกัน ๒ ครั้งรวมกันแล้วประมาณ ๔,๐๐๐ เหรียญ และเนื้อทองแดงไม่เกิน ๒,๐๐๐ เหรียญ
![]() |
เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ บล็อกปิริยัติธรรม ของคุณลอดู อับดุลเซี๊ยบ |
![]() |
เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ บล็อกปริยัติธรรม เนื้อเงิน |
![]() |
เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ บล็อกปิริยัติธรรม เนื้อทองแดง ของคุณลอดู อับดุลเซี๊ยบ |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อพระครูมูล ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือศรีษะของท่านมีตัว อุณาโลม ๑ ตัว มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "พระครูมูล วัดหนองปลาหมอ"
ด้านหลัง เป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "ที่ระลึกในงานฉลอง ร.ร.ปิริยัติธรรม" สำหรับบล็อกปิริยัตรธรรม หรือ "ที่ระลึกในงานฉลอง ร.ร.ปริยัติธรรม" สำหรับบล็อกปริยัตรธรรม
เหรียญหลวงพ่อพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๒
จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อเงิน |
![]() |
เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อพระครูมูล ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "พระครูมูล วัดหนองปลาหมอ"
ด้านหลัง เป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "ที่ระลึกในงานฉลอง ร.ร.ปริยัติธรรม"
เหรียญหลวงพ่อพระครูมูล รุ่น ๓ (ฉลองมณฑป)
จัดสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเหรียญที่ไม่ทันหลวงพ่อปลุกเสก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ เหรียญรุ่นนี้ถือมาเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์มากมาย มีเหตุการณ์หนึ่งชาวบ้าน ในระแวกวัดนั้น มีชายคนหนึ่งนังอยู่บนรถไถนาคันใหญ่เกิดพลัดตกรถไถนา คนขับก็ไม่รู้มองไม่เห็น เลยขับเหยียบร่างของลุงคนนั้นเต็มๆ แต่ผลปรากฏว่าไม่เป็นอะไรเลย จากเหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดการเล่าขานกันออกไปปากต่อปาก
![]() |
เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๓ ฉลองมณฑป ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อเงิน |
![]() |
เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๓ ฉลองมณฑป ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อพระครูมูล ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือศรีษะของท่านมีตัว อุณาโลม ๑ ตัว มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "พระครูมูล วัดหนองปลาหมอ"
ด้านหลัง เป็นยันต์ยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "ฉลองมณฑป สมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ๒๕๒๕"
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น