วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ ราชบุรี เหรียญ​หายากของราชบุรี

หลวงพ่อพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ ราชบุรี

          พระครูมูล (อุตฺตโม) วัดหนองปลาหมอ ท่านมีนามเดิมว่า มูล แสนสม พื้นเพเป็นคนในพื้นที่บ้านโค้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยหลวงพ่อเกิดเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙  โยมบิดาชื่อนายอ้าย แสนสม โยมมารดาชื่อนางอยู่ แสนสม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนโต

          เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ โยมบิดาและโยมมารดา ได้ย้ายครอบครัวมาทำกินที่บ้านดอนกระทือ ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง เมื่ออายุได้ ๗ ปี โยมมารดาเสียชีวิตลง โยมบิดาได้มีภรรยาใหม่ อาหญิงของท่านจึงรับเอาไปอุปการะเลี้ยงดูและนำไปฝากเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ไฝ เจ้าอาวาสวัดหนองปลาหมอ

          ท่านพระครูมูล ท่านมีความตั้งใจในการศึกษาและมีความจำเป็นเลิศ จนสามารถอ่านเขียนได้ทั้งภาษาไทย ภาษาขอม และขอมลาวได้อย่างคล่องแคล่ว

          ครั้นอายุครบ ๑๘ ปี จึงได้ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารกองประจำการเป็นเวลา ๔ ปี จึงปลดประจำการออกมา หลังปลดประจำการท่านจึงได้เข้าอุปสมบทเมื่อเดือนหก ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ขณะมีอายุ ๒๒ ปี ได้รับฉายาว่า "อุตฺตโม" โดยมี

          พระอธิการเข็ม วัดม่วง เป็นพระอุปชฌาย์ 
          พระอธิการเฮี้ยน วัดตาลปากลัด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 
          พระอาจารย์โว๊ะ วัดม่วง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

          เมื่อบวชแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองปลาหมอ ด้วยความที่ท่านมีความสามารถทางบาลีและขอมตั้งแต่เป็นเด็ก

          ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ขณะนั้นหลวงพ่อมูล ท่ายบวชเรียนได้เพียง ๘ พรรษา แต่ด้วยความที่ท่านเก่งกาจในภาษาบาลีเป็นอย่างมาก ทำให้ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์

          พอถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๑ พระอาจารย์ไฝ เจ้าอาวาสวัดหนองปลาหมอ ถึงแก่มรณภาพ ชาวบ้านในพื้นที่จึงนิมนต์ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองปลาหมอสืบแทน

หลวงพ่อพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ ราชบุรี


          ด้วยความสามารถและประกอบคุณงามความดีในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวนที่ "พระครูมูล"

          ในด้านของอุปนิสัยของหลวงพ่อพระครูมูลนั้น ท่านเป็นคนพูดน้อยมาก ท่านถือคติว่าทำดีกว่าพูด ท่านจึงมุ่งมั่นทำงานการพัฒนาวัดหนองปลาหมอ และสร้างศาสนสถาน รวมถึงโรงเรียนให้ทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์ได้มีที่ศึกษา 

          โดยสร้างโรงเรียนสอนปริยัติธรรมที่ชื่อว่า "ศรีรัตนราษฏร์รังสรรค์" และโรงเรียนประชาบาลสำหรับการศึกษาของบุตร-ธิดาในพื้นที่หนองปลาหมอชื่อว่า "มูลอุปการ"  หรือนั่นก็คือ "โรงเรียนชุมชนวัดหนองปลาหมอ" ในปัจจุบันนี้เอง

          ชีวิตท่านมุ่งอุทิศเพื่อพระพุทธศาสนา แม้แต่ทรัพย์สมบัติที่ดินที่ท่านได้รับแบ่งมาเป็นมรดก ท่านก็ได้อุทิศแก่พระพุทธศาสนา ท่านถือมั่นในพระธรรมวินัย ฉันแต่อาหารเจ แม้ตอนท่านอาพาธ ลูกศิษย์ได้ขอร้องให้ท่านฉันอาหารคาวเพื่อรักษาร่างกาย แต่ท่านก็ไม่ยอม ท่านถือคติสังขารไม่ใช่ของเรา ขออุทิศตนสร้างบุญแก่พระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง

          พระครูมูล วัดหนองปลาหมอ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ นับรวมสิริอายุได้ ๕๙ ปี ๓๗ พรรษา เป็นที่โศกเศร้าอาลัยแก่บรรดาลูกศิษย์มาก.

วัตถุมงคลของพระครูมูล

          เหรียญหลวงพ่อพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่นแรก

          จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มมีหูในตัว โดยสร้างขึ้นในวาระงานฉลองโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีพบด้วยกัน ๔ เนื้อคือ เนื้อทองคำ เนื้อนาก เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง เหรียญของท่านเป็นที่นิยมของนักสะสมพระเครื่องมาก เป็นที่ประจักษ์เชื่อใจได้ว่ามีเหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ แขวนคอแล้วไม่ตายโหง ใช้บล๊อกหน้าบล๊อกเดียว บล๊อกหลังมี ๒ พิมพ์ คือบล็อก "ปริยัติธรรม" และ "ปิริยัติธรรม" โดยมีจำนวนการสร้างดังนี้ เนื้อทองคำและเนื้อนาก สร้างตามจำนวนสั่งทำ เนื้อเงินมีการสร้างด้วยกัน ๒ ครั้งรวมกันแล้วประมาณ ๔,๐๐๐ เหรียญ และเนื้อทองแดงไม่เกิน ๒,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ บล็อกปิริยัติธรรม ของคุณลอดู อับดุลเซี๊ยบ
.
เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ บล็อกปริยัติธรรม เนื้อเงิน

เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ บล็อกปิริยัติธรรม เนื้อทองแดง ของคุณลอดู อับดุลเซี๊ยบ

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อพระครูมูล ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือศรีษะของท่านมีตัว อุณาโลม ๑ ตัว มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "พระครูมูล วัดหนองปลาหมอ"

          ด้านหลัง เป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "ที่ระลึกในงานฉลอง ร.ร.ปิริยัติธรรม" สำหรับบล็อกปิริยัตรธรรม หรือ "ที่ระลึกในงานฉลอง ร.ร.ปริยัติธรรม" สำหรับบล็อกปริยัตรธรรม

          เหรียญหลวงพ่อพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๒

          จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อเงิน

เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อพระครูมูล ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "พระครูมูล วัดหนองปลาหมอ"

          ด้านหลัง เป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "ที่ระลึกในงานฉลอง ร.ร.ปริยัติธรรม"

          เหรียญหลวงพ่อพระครูมูล รุ่น ๓ (ฉลองมณฑป)

          จัดสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเหรียญที่ไม่ทันหลวงพ่อปลุกเสก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ เหรียญรุ่นนี้ถือมาเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์มากมาย มีเหตุการณ์หนึ่งชาวบ้าน ในระแวกวัดนั้น มีชายคนหนึ่งนังอยู่บนรถไถนาคันใหญ่เกิดพลัดตกรถไถนา คนขับก็ไม่รู้มองไม่เห็น เลยขับเหยียบร่างของลุงคนนั้นเต็มๆ แต่ผลปรากฏว่าไม่เป็นอะไรเลย จากเหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดการเล่าขานกันออกไปปากต่อปาก

เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๓ ฉลองมณฑป ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อเงิน

เหรียญพระครูมูล วัดหนองปลาหมอ รุ่น ๓ ฉลองมณฑป ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อพระครูมูล ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือศรีษะของท่านมีตัว อุณาโลม ๑ ตัว มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "พระครูมูล วัดหนองปลาหมอ"

          ด้านหลัง เป็นยันต์ยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "ฉลองมณฑป สมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ๒๕๒๕"


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น