ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง พระอาจารย์สร้างเต่าของหลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง
หลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี |
หลวงพ่อย่น ฐิตปัญฺโญ หรือ พระครูพิพิธธรรมาภิรม วัดบ้านฆ้อง ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑ ซึ่งตรงกับวันพุธ เดือน ๖ ปีชวด ที่บ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เล่าเรียนศึกษาที่วัดบ้านฆ้องจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ก็ได้บวชเป็นสามเณรศึกษาเล่าเรียนที่วัดบ้านฆ้องได้ ๓ ปีเศษ
ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ท่านเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีย่างเข้า ๒๑ ก็ได้ลาเพศออกจากสามเณรในวันนั้น เป็นนาคอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ พัทธสีมาวัดบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อวันศุกร์ ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับฉายาว่า "จันทะสะโร" อยู่ในการปกครองของพระอธิการปัด วัดบ้านฆ้อง ได้ปฏิบัติศึกษาเล่าเรียนตามกิจจะครองวัตร ลงอุโบสถ สวดมนต์ภาวนาอยู่เป็นนิจมิได้ขาด จนสามารถขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่ในพรรษาแรก
ในพรรษาที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ หลวงพ่อย่นก็ได้มีความรู้ความเข้าใจในงานช่างไม้ ได้ช่วยพระอาจารย์กระทำการสร้างโบสถ์ ทำใบฎีกา ช่อฟ้า ทำด้วยตนเองไม่ต้องจ้างช่าง สร้างไว้ให้วัดเพื่อเป็นการกุศลสืบทอดพระพุทธศาสนา
หลวงพ่อย่น ฐิตปัญฺโญ หรือ พระครูพิพิธธรรมาภิรม วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี |
ในพรรษาที่ ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้เล่าเรียนภาษาขอม แปลอธิบายพระปาฏิโมกข์ แล้วก็ได้จารเขียนหนังสือเป็นตัวขอม โบราณ หนังสือเจ็ดตำนาน และหนังสือพระปาฏิโมกข์ เขียนด้วยมือของหลวงพ่อเองสร้างไว้ในพระพุทธศาสนา
ในพรรษาที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ หลวงพ่อย่น ก็ได้กราบลาพระอาจารย์จากวัดบ้านฆ้อง เพื่อเดินทางออกธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมยังสถานที่อื่นๆต่อ (ในสมัยก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบเดินทางลำบากอันตรายรอบด้านทั้งสัตว์ป่า โจรผู้ร้าย หรือสิ่งลี้ลับอื่นๆ
ถ้าไม่มีวิชาหรือวิชาไม่แข็งพอก็ยากที่พระอาจารย์ในสมัยก่อนจะยอมอนุญาติให้ไป) หลวงพ่อย่นได้เดินทางมาอยู่ที่วัดสระสี่เหลี่ยม อำเภอสามแก้ว จังหวัดนครปฐม (ปัจจุบันคือ อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม) อยู่ในการปกครองของพระอธิการวัดสระสี่เหลี่ยม ได้ศึกษาปฎิบัติธรรมอยู่ที่วัดสระสี่เหลี่ยมได้ ๒ ปี
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗
ก็ได้กราบลาท่านเจ้าอาวาสวัดสระสี่เหลี่ยมเพื่อออกเดินทางไปปฏิบัติธรรมยังสถานที่อื่นๆต่อ
ได้เดินทางขึ้นไปทางเหนือและได้แวะพำนักพักอาศัยอยู่ที่วัดสมอบท
บ้านเสี้ยน แขวงเมืองชัยนาท (ปัจจุบันวัดสมอบทแห่งนี้เป็นโบราณสถานอยู่ใน
ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท)
เป็นวัดร้างอยู่ในพื้นที่ป่าทุรกันดาร
ภาพพระอุโบสถ วัดบ้านฆ้อง หลังเก่า |
หลวงพ่อย่นก็ได้แวะพักอาศัยอยู่ ๓ วัน พวกชาวบ้านญาติโยมทั้งหลายต่างก็พร้อมใจกันมานิมนต์ถึง ๓ ครั้ง ให้เป็นสมภารที่วัดร้างแห่งนี้ หลวงปู่จึงได้รับและปกครองดูแลต่อไป ในปีแรกมีพระอยู่ในปกครอง ๕ รูป ก็ได้มีการสอน ปฎิบัติธรรม สวดมนต์ ภาวนา ตลอดทั้งปีมิได้ขาด จนมาปีที่ ๒ มีพระอยู่ในการปกครอง ๗ รูป มีการแนะนำ อุบาสก-อุบาสิกา ให้รักษาศีล ฟังธรรมในพรรษามิได้ขาด มาปีที่ ๓ มีพระอยู่ในการปกครอง ๑๐ รูป
หลวงพ่อย่นก็ได้มีการสร้าง จารตัวหนังสือขอมโบราณ เรื่องตำนานชาดกไว้ เพราะชาวบ้านตำบลนี้ชอบฟังเรื่องพระเวสสันดรชาดกเป็นอันมาก จนมาปีที่ ๔ หลวงพ่อย่น มีความรู้ในด้านงานช่างไม้แกะสลักลาย ดอก ดวง ขีดเขียนลงรักปิดทอง จึงได้สร้างธรรมาส ไว้ที่วัดสมอบทขึ้น ๑ หลัง เพื่อเป็นที่ระลึก
หลวงพ่อย่นได้รับเป็นสมภารปกครองวัดสมอบทเป็นเวลา ๔ ปีบริบูรณ์ ก็ได้มีคนเดินทางขึ้นมานิมนต์ตามให้กลับมาที่วัดพะเนียงแตก จังหวัดนครปฐม จึงได้มอบหน้าที่ให้พระที่สมควรปกครองอยู่ต่อไป ก็ได้ลาจากวัดสมอบทเดินทางมายังวัดพะเนียงแตก
และได้ทำเครื่องประดับประดาเมรุศพให้พระครูวัดพะเนียงแตกที่ได้มรณะภาพ (ไม่แน่ใจว่าจะเป็นหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เพราะตามประวัติท่านมรณะภาพในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๐ กว่า ปี พ.ศ. สมัยนั้นอาจจะคลาดเคลื่อนกันได้) หลวงพ่อย่นก็ได้กระทำการที่วัดพะเนียงแตกอยู่ ๒ เดือนจึงสำเร็จ
หลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี |
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็ได้เดินทางกลับมาอยู่ที่วัดบ้านฆ้อง อยู่ในการปกครองของพระอธิการชื่น เจ้าคณะตำบลบ้านฆ้อง ได้ช่วยท่านปฏิสังขรกุฏิสงฆ์ อยู่ได้ ๑ พรรษา ก็มีคนเดินทางมานิมนต์ให้ไปจำพรรษาเป็นสมภารปกครองที่วัดบ้านฆ้องน้อย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
ซึ่งในสมัยนั้นมีพระอยู่ในการปกครอง ๗-๘ รูป ก็ได้มีการแนะนำบอกสอน ปฏิบัติ ภาวนา แนะนำอุบาสก-อุบาสิกา รักษาศีลอุโบสถ แสดงธรรมเทศนาให้ฟังตลอดทั้งพรรษา แล้วก็มีพระได้เดินทางขึ้นมานิมนต์ตามให้กลับมาอยู่ที่วัดบ้านฆ้องใหญ่อีก ก็ได้กลับมาอยู่ในการปกครองของพระอธิการชื่นได้ ๒ เดือน
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ก็มีคนเดินทางมานิมนต์ให้หลวงพ่อย่นไปเป็นสมภารอีก ก็ขัดเขาไม่ได้เพราะมานิมนต์ถึง ๓ ครั้ง จึงรับนิมนต์ ก็ได้กราบลาพระอธิการชื่น จากวัดบ้านฆ้อง ไปอยู่ที่วัดบ้านหลวงหนองกระพือ ตำบลบ้านหลวง อำเภอสามแก้ว จังหวัดนครปฐม (ปัจจุบันคือ วัดหนองกระพี้ ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม) ก็ได้เป็นสมภารปกครองวัดมีพระอยู่ในการปกครองประมาณ ๗-๘ รูป ได้มีการร่วมมือชักชวนช้าวบ้านร่วมกันปฏิสังขรกุฏิ ขึ้นอีก ๒ หลัง ปกครองอยู่ที่วัดหลวงหนองกระพือได้ ๒ ปีเศษ
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ก็มีพระขึ้นไปตามให้กลับมาอยู่วัดบ้านฆ้องอีก ท่านจึงก็ได้มอบหน้าที่ให้พระที่สมควรปกครองอยู่ต่อไป ก็ลาจากวัดหลวงหนองกระพือกลับมาอยู่ที่วัดบ้านฆ้องอีก ก็ได้ช่วยพระอธิการชื่น แกะสลัก ลงรักปิดทอง วาดภาพ ทำใบฎีกาช่อฟ้าสร้างศาลา
ภาพถ่ายหลวงพ่อย่น (นั่งองค์ที่ ๓) และ หลวงพ่อยศ (นั่งองคืที่ ๔) วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี |
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระอธิการชื่นมรณะภาพ หลวงปู่ย่นก็ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านฆ้องตั้งแต่นั้นมา อยู่ในการปกครองของเจ้าคณะอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีวัดที่ขึ้นอยู่ในการปกครองทั้งหมด ๖ วัด
ตั้งแต่ได้รับตำแหน่งหน้าที่มาก็มีพระอยู่ในอาราม ๒๐-๓๐ รูปทุกปี มีโรงเรียนสอนพระธรรมวินัย มีครูสอนอยู่ในวัดทุกปีมิได้ขาด ปฏิบัติสวดมนต์อยู่เป็นนิจ มีอุบาสก-อุบาสิกา รักษาศีลอุโบสถในพรรรษทุกปี ๒๐-๓๐ คน มีโรงเรียนสอนเด็กๆมีการซ่อแซมปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม และได้มีการสร้างศาลาขึ้นอีก ๑ หลัง หมดทุนทรัพย์ไป ๑,๕๐๐ บาท ก็สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๗๐
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงพ่อย่น ก็ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลบ้านฆ้อง อยู่ในการปกครองของเจ้าคณะแขวง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ก็ได้มีการสร้างหอระฆังขึ้นอีก ๑ หลังเป็นแบบอิฐและปูน หลวงพ่อสร้างด้วยมือของตนเองไม่ได้จ้างช่างแต่อย่างใดร่วมมือร่วมใจกับญาติโยมสร้างขึ้นมาจนสำเร็จ
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็ได้พร้อมใจกับชาวบ้านช่วยกันเฉลี่ยทรัพย์กันตามศรัทธาร่วมสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นอีก ๑ หลัง ยาวประมาณ ๗ ห้อง เป็นแบบมุงกระเบื้องและในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ก็ได้สร้างโรงเรียนสอนเด็กขึ้นมาอีก ๑ หลัง แต่ยังไม่ได้ทาสี เนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลก ข้าวของหายาก ก็สร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๘๔
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุได้ ๕๕ พรรษา ทางเจ้าคณะจังหวัดได้ตั้งชื่อฉายาให้ใหม่ว่า "ฐิตปัญฺโญ" และได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ก็ได้ทำหน้าที่ปกครองเรื่อยมาจนในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ หลวงพ่อย่นก็ได้รับตราตั้งเป็น "พระครูพิพิธธรรมาภิรม" จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗
ภาพถ่ายในงานศพหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี |
และในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ อนุสรณ์อีกหนึ่งชิ้นที่สำคัญที่หลวงพ่อที่ได้สร้างไว้คือ ได้สร้างโรงเรียนวัดบ้านฆ้องขึ้น (ปัจจุบันคือวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม) ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
ปัจจุบันก็ยังคงเปิดให้มีการเรียนการสอนอยู่ นับว่าเป็นสถานที่ ที่มีคุณประโยชน์ต่อลูกหลานในเขตอำเภอโพธารามเป็นอย่างมาก
หลวงพ่อย่น ได้มรณะภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙ รวมศิริอายุได้ ๗๘ ปี ๕๗ พรรษา.
วัตถุมงคลหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้องเหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก
สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ด้วยเนื้อโลหะเงิน(หายาก) และเนื้อโลหะทองเหลือง โดยสร้างเป็นลักษณะคล้ายเหรียญรูปล่างคล้ายเต่า แบบมีหูในตัว โดยการให้การปั๊มตัดขอบ โดยตัวเหรียญจะมีความนูนและหนา แบ่งออกเป็น ๒ บล็อคคือบล็อคหน้ายักษ์ และบล็อคหน้านาง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พิมพ์หน้ายักษ์ |
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ (ขอบ) |
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พิมพ์หน้านาง |
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ "นะ มะ พะ ทะ" ตรงกลางมียันต์ "อุ"
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่น ๒สร้างหลังจากที่เต่ารุ่นแรกหมดไปจากวัดอย่างรวดเร็ว โดยให้ช่างแกะบล็อคใหม่ สร้างด้วยเนื้อโลหะทองเหลือง โดยสร้างเป็นลักษณะคล้ายเหรียญรูปร่างคล้ายเต่า แบบมีหูในตัว โดยการให้การปั๊มตัดขอบคล้ายเหรียญรุ่นแรกแต่จะมีขนาดเล็กกว่าและบางกว่า เหรียญเต่ารุ่นแรกเป็นอย่างมาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่น ๒ ของคุณบิว |
ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิ ประทับบนฐานบัว ด้านข้างองค์พระมีอักขระยันต์ ๔ ตัว อ่านได้ว่า "นา สัง สิ โม" ตัวสิ ไม่มีสระอิ
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ "นะ มะ พะ ทะ" ตรงกลางมียันต์ "อุ"
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่น ๓ไม่ทราบปีสร้างที่แน่นอน โดยหลวงพ่อให้ช่างทำการแกะบล็อคใหม่ สร้างด้วยเนื้อโลหะทองเหลือง โดยสร้างเป็นลักษณะคล้ายเหรียญรูปร่างคล้ายเต่า แบบมีหูในตัว โดยการให้การปั๊มตัดขอบคล้ายเหรียญเต่ารุ่นแรก ในวงการจำแนกออกได้เป็น ๒ พิมพ์คือ พิมพ์หน้ายักษ์ และพิมพ์หน้านาง(หน้านกแก้ว) จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่น ๓ พิมพ์หน้ายักษ์ |
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่น ๓ พิมพ์หน้านาง(หน้านกแก้ว) |
ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิ ประทับบนฐานบัว ด้านข้างองค์พระมีอักขระยันต์ ๔ ตัว อ่านได้ว่า "นา สัง สิ โม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ "นะ มะ พะ ทะ" ตรงกลางมียันต์ "อุ"
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่น ๔สร้างราวปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ด้วยเนื้อโลหะทองเหลือง โดยสร้างเป็นลักษณะคล้ายเหรียญรูปร่างคล้ายเต่า แบบมีหูในตัว โดยการให้การปั๊มตัดขอบ ซึ่งเหรียญรุ่นนี้มีการนำบล็อกของรุ่น ๒ มาแก้ไขโดยใส่ข้อความภาษาไทยลงไปที่บล็อกด้านหลัง ทำให้ช่างเกิดการเข้าใจผิดแกะบล็อกผิดไปก่อนจะแก้ไข ทำให้เหรียญรุ่น ๔ นี้มี ๒ บล็อกด้วยกันคือ พิมพ์บ้านฆ้อง กับพิมพ์บ้านฆ้อน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้องรุ่น ๔ พิมพ์บ้านฆ้อน |
เหรียญเต่าหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้องรุ่น ๔ พิมพ์บ้านฆ้อง |
ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ ห่มจีวรพาดผ้าสังฆาฏิ ประทับบนฐานบัว ด้านข้างองค์พระมีอักขระยันต์ ๔ ตัว อ่านได้ว่า "นา สัง สิ โม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ "นะ มะ พะ ทะ" ตรงกลางมียันต์ "อุ" และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อย้น วัดบ้านฆ้อง" สำหรับพิมพ์ฆ้อง และอีกขระภาษาไทยที่เขียนว่า "หลวงพ่อย้น วัดบ้านฆ้อน" สำหรับพิมพ์ฆ้อน
เหรียญหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก พิมพ์ห่มดอง
สร้างในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อแจกให้ในงานวางศิลาฤกษ์โรงเรียนวัดบ้านฆ้อง สร้างเป็นลักษณะเหรียญทรงเสมา แบบมีหูในตัว โดยการให้การปั๊มตัดขอบ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะ เนื้อทองแดง และเนื้อฝาบาตร มีทั้งกระไหล่เงินและกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้
เหรียญหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ พิมพ์ห่มดอง |
ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อย่น ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อย้น" ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูพิพิธธรรมาภิรม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานวางศิลาฤกษ์โรงเรียน วัดบ้านฆ้อง"
เหรียญหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก พิมพ์ห่มคลุมสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อแจกให้ในงานวางศิลาฤกษ์โรงเรียนวัดบ้านฆ้อง สร้างเป็นลักษณะเหรียญทรงเสมา แบบมีหูในตัว โดยการให้การปั๊มตัดขอบ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะ เนื้อทองแดง และเนื้อฝาบาตร มีทั้งกระไหล่เงินและกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้
เหรียญหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ พิมพ์ห่มคลุม ของคุณเม |
เหรียญหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ พิมพ์ห่มคลุม |
ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อย่น ครึ่งองค์ ห่มจีวรแบบห่มคลุม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อย่น"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานวางศิลาฤกษ์โรงเรียน วัดบ้านฆ้อง"
เหรียญนาคปรกหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง พิมพ์ใหญ่สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงหยดน้ำย่อมุมแหลม มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญนาคปรกหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง พิมพ์ใหญ่ |
ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางนาคปรก
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวัดบ้านฆ้องใหญ่"
เหรียญนาคปรกหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง พิมพ์เล็กสร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงจอบ มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญนาคปรกหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง พิมพ์เล็ก |
ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางนาคปรก
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวัดบ้านฆ้องใหญ่"
ล็อกเก็ตหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้องสร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๙ สร้างเป็นภาพถ่ายหลวงพ่อย่น ในล็อคเก็ตนิเกิ้ล มีหูในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้
ล็อกเก็ตหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง ราชบุรี |
ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อย่น ครึ่งองค์ ห่มจีวรแบบห่มคลุม ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูพิพิธธรรมาภิรม (ย่น)"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์
ข้อมูลประวัติ : คัดลอกมาจากบันทึกเก่าโบราณที่เขียนโดยลายมือของหลวงพ่อย่น,เพจศิษย์หลวงปู่ย่น และคณาจารย์ วัดบ้านฆ้อง
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น