ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร ราชบุรี เหรียญสายธรรมยุตที่มีราคาแพง
หลวงพ่อเม้ย หรือ พระครูเมธีธรรมานุยุต วัดลาดเมธังกร ราชบุรี |
หลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร หรือ พระครูเมธีธรรมานุยุต อดีตเจ้าอาวาสวัดลาดเมธังกร ถือเป็นอีกหนึ่งพระเถระยุค ๒๕๐๐ ที่โด่งดังมากในพื้นที่จังหวัดราชบุรี พระเครื่องของท่านมีประสบการณ์มากมาย แก่ผู้ที่ห้อยบูชา เรื่องเหนียวนี่รับรองได้เพราะคนพื้นที่และระแวกใกล้เคียงโดนกันมาเยอะ
หลวงพ่อเม้ย ท่านเป็นคนราชบุรีมาแต่กำเนิด มีชื่อว่า เม้ย นามสกุล พระสุทธพันธุ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒ ณ ตำบลคลองลาด แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการบันทึกชื่อของโยมบิดาและมารดาไว้ ต่อมาโยมบิดาและโยมมารดาได้ย้ายถิ่นฐานมาทำมาหากินที่บ้านโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี
ในสมัยเด็กหลวงพ่อเม้ย ได้มีโอกาสมาศึกษาเล่าเรียนที่วัดบพิตรภิมุข กรุงเทพมหานครฯ โดยอาศัยอยู่ดับญาติที่ฝั่งธนบุรี จนเมื่อจบการศึกษาจึงได้กลับไปอยู่บ้านเดิมที่ราชบุรี และได้ไปอยู่กับพระอาจารย์นุช วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เพื่อเล่าเรียนเขียนอ่านภาษาบาลีเพิ่มเติม
หลวงพ่อเม้ย ได้เรียนอ่านเขียนภาษาขอมและภาษาบาลีจนคล่องแคล้ว และได้บวชเป็นสามเณรที่วัดตรีญาติ อยู่หลายพรรษา จนอายุครบบวช จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดตรีญาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับฉายาว่า “มนฺตาสโย” โดยมี
พระพุทะวิริยากร(จิตร) วัดสัตตนารถปริวัตร เป็นพระอุปฌาย์
พระครูอุดมธีรคุณ(หลวงพ่อแดง) วัดศรีสุริยวงศ์ เป็นพระกรรมวาวาจารย์
พระอาจารย์นุช วัดตรีญาติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังอุปสมบทท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติเรื่อยมา จนเมื่อพระอาจารย์เที่ยง เมธังกโร สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นที่บ้านลาด ตำบลสามเรือน จึงนิมนต์หลวงพ่อเม้ยมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์นี้ด้วยกัน และจำพรรษาเรื่อยมาจนพระอาจารย์เที่ยงเดินธุดงค์และกลับไปมรณภาพที่เมืองมอญ
หลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร ราชบุรี |
หลังจากที่พระอาจารย์เที่ยง ได้ธุดงค์กลับไป ทางวัดได้แต่งตั้งให้ท่านอาจารย์แย้ม ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรักษาการณ์อยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วท่านอาจารย์แย้มก็ได้ย้ายไปอยู่ที่วัดไสค้าน จังหวัดเพชรบุรี จนมรณภาพ
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ หลวงพ่อเม้ย จึงได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดลาดเมธังกร ในขณะที่มีวัยวุฒิได้เพียง ๗ พรรษา แต่ท่านก็ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสครองวัดได้เป็นอย่างดี ทั้งได้เร่งสร้างเสนาสนะภายในวัดอย่างเต็มกำลังและได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาโบสถ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงพ่อเม้ย ท่านได้รับแต่งตั้งพระอุปฌาย์เพื่อให้สามารถบวชกุลบุตรในพื้นที่สามเรือนและระแวกใกล้เคียงได้
รูปหล่อเท่าองค์จริง หลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร ราชบุรี |
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ หลวงพ่อเม้ย ท่านก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูเมธีธรรมานุยุต"
หลวงพ่อเม้ย เป็นพระที่มีความเคร่งครัดด้านกิจของสงฆ์ และการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนเชื่อว่าท่านอ่านความคิดคน และสามารถรู้เห็นการณ์ล่วงหน้าได้ เนื่องด้วยท่านสามารถเอ่ยถามเรื่องทุกข์ใจของคนที่คุยกับท่านได้โดยที่ไม่ได้เล่าให้ท่านฟังเลยแม้แต่น้อย
หลวงพ่อเม้ย ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ นับรวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๒ พรรษา
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเม้ย
เหรียญหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร รุ่นแรก
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐
เพื่อฉลองสมณศักดิ์หลังจากที่หลวงพ่อเม้ยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกะไหล่ทองเพียงชนิดเดียว สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ บล๊อกคือ
บล๊อกศูนย์กลม และบล็อกศูนย์รี(นิยม) จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ บล็อกศูนย์รี(นิยม) |
เหรียญหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ บล็อกศูนย์กลม ของคุณปรีชาพล หลายประเสริฐพร |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเม้ย ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก" ใต้องค์หลวงพ่อมีโบว์ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเมธีธรรมนุยุต"
ด้านหลัง มียันต์พระเจ้าห้าพระองค์ตรงกลางยันต์ห้ามียันต์เฑาะอยู่หนึ่งตัว ใต้ยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๐" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร รุ่น ๒
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อแจกจ่ายให้กับญาติโยมที่รวมทำบุญบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างเสนาสนะต่างๆภายในวัด ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเม้ย ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก" ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเมธีธรรมนุยุต"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๘" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ
เหรียญรูปไข่หลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร รุ่น ๓
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ เพื่อแจกจ่ายเป็นที่ระลึกฉลองอายุ ๘๐ ปี ของหลวงพ่อ เหรียญรุ่นนี้ถือว่าเป็นเหรียญที่แกะบล็อกหน้าได้เหมือนหลวงพ่อเป็นอย่างมาก เหรียญรุ่นนี้มีการพบตกค้างในกุฏิหลวงพ่อหลังจากที่ท่านมรณภาพลงแล้ว ทางวัดจึงนำเหรียญที่เหลือมาแจกในงานศพของหลวงพ่อ ทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าไม่ทัน ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงรมดำเพียงชนิดเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญรูปไข่หลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเม้ย ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระตัวอุณาโลม ๒ ตัว ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเมธีธรรมนุยุต"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๘๐" ซึ่งตรงกับอายุของหลวงพ่อ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเม้ย มนุตาสโย"
เหรียญเสมาหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร รุ่น ๓
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ เพื่อแจกจ่ายเป็นที่ระลึกฉลองอายุ ๘๐ ปี ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญเสมาหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเม้ย ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก" ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเมธีธรรมนุยุต"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุทโธ" ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก ทำบุญอายุ ๘๐ ปี ๒๕๑๒" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ
พระบูชาหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ หลังจากที่หลวงพ่อเม้ยได้มรณภาพลงแล้ว ๓ ปี มีขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว เพียงขนาดเดียว สร้างด้วยเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระบูชาหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเม้ย ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ นั่งสมาธิบนฐานเขียง ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเมธีธรรมนุยุต (เม้ย มนุตาสาโล) อายุ ๘๒ พรรษา ๖๒ สร้างเมื่อ ๒๙ ต.ค. ๒๕๑๗"
ด้านหลัง ปลายสังฆาฏิพาดบนฐานเขียง ไม่มีตัวอักขระใดๆ
ด้านใต้ฐาน เป็นดินไทย
เหรียญของท่านมีประสบการณ์เด่นในทางแคล้วคลาดและคงกระพัน
ถือว่าเป็นเหรียญที่มีความนิยมของนักสะสมพระเครื่องเมืองราชบุรีอีกเหรียญหนึ่ง
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น