โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน เกจิดังเจ็ดเสมียน โพธาราม ราชบุรี

หลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน ราชบุรี

         หลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน หรือ พระครูมงคลรัตน์ (พุทฺธสโร) วัดเจ็ดเสมียน ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ณ บ้านสมถะ หมู่ที่ ๕ ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยมีโยมบิดาชื่อนายเปี่ยม สินสมะ มีโยมมารดาชื่อนางนาค สินสมะ ซึ่งหลวงพ่อหุ่นเป็นบุตรคนเดียว

         หลวงพ่อหุ่นใช้ชีวิตในวัยเยาว์เหมือนกับเด็กทั่วไป ตามแบบนิยมในสมัยนั้น โดยเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดสมถะ ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จนจบการศึกษาระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ หลวงพ่อหุ่นมีอายุครบบวชจึงได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสมถะ ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลังบวชได้ ๑ ปี หลวงพ่อหุ่นก็ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร โดยหลวงพ่อถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารเป็นเวลา ๒ ปี

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ หลังปลดประจำการ หลวงพ่อหุ่น ซึ่งมีจิตใจแนวแน่ในการศึกษาพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมามันพุทธเจ้า จึงได้ขออุปสมบทเป็นครั้งที่ ๒ ณ พัทธสีมาวัดสมถะ ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้รับฉายาว่า "พุทฺธสโร" โดยมี

         พระครูสาธิตสุตการ(หลวงพ่อคง) วัดท่าหลวงพล เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์เจ่อ วัดท่าหลวงพล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์มาด วัดบางลาน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบท หลวงพ่อท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดสมถะ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระอาจารย์ที่วัดสมถะ และเรียนวิชาอาคมกับคุณตาแดงเป็นเวลา ๒ พรรษา

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงพ่อหุ่นได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบางโตนด เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาอาคม เป็นเวลา ๑๘ พรรษา

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับแต่งตั้งจากทางราชการคระสงฆ์เป็นพระอนุศาสนาจารย์ อบรมศีลธรรมสั่งสอนประชาชนตลอดมาเป็นพระธรรมกถึก ที่สามารถรูปหนึ่งของคณะสงฆ์จังหวัดราชบุรี ผลการแสดงธรรมของท่านยังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วๆ ไปที่ได้สดับตรับฟังท่านแสดง

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงพ่อหุ่น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แก่พระภิกษุ สามเณรภายในวัด

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงพ่อหุ่น จึงย้ายมาอยู่วัดสมถะ เพื่อช่วยบริหารจัดการงานสงฆ์ของวัดสมถะ และเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ตลอดมาจนถึงกาลสมรณะ คือ ได้เป็นครูสอนตั้งแต่อยู่วัดบางโตนด วัดสมถะ และวัดเจ็ดเสมียน มีพระภิกษุสามเณรที่ได้รับการศึกษาเข้าสอบธรรมสนามหลวงได้ทุกปี

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงพ่อเคลือบ เจ้าอธิการวัดเจ็ดเสมียนได้มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียนว่างลง ประชาชนชาวเจ็ดเสมียน นำโดยนายโกวิท วงศ์ยะรา กำนันตำบลเจ็ดเสมียน เป็นหัวหน้าได้อาราธนาหลวงพ่อหุ่น ให้มาเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ภาพถ่ายหลวงพ่อเคลือบ วัดเจ็ดเสมียน ราชบุรี
หลวงพ่อเคลือบ วัดเจ็ดเสมียน ราชบุรี

         วัดเจ็ดเสมียน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ ๑๙ ไร่ ๖ ตารางวา

         วัดเจ็ดเสมียนประกาศตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐  ชื่อของวัดปรากฏอยู่ในตำนานพระปฐมเจดีย์ ฉบับพระยาราชสัมภารากรและฉบับตาปะขาวรอด ได้บันทึกเรื่องราวของนิทานพื้นบ้านเรื่องพระยากง พระยาพานไว้ว่า "เมื่อครั้งที่พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยให้บุตรบุญธรรมคือพระยาพาน ได้ลงมาซ่องสุมผู้คนตั้งอยู่ที่บ้านเจ็ดเสมียน"

         ยังปรากฏเรื่องเล่าสืบต่อมาว่าในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พระเจ้าตากสินมหาราชได้รวบรวมไพร่พลออกจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางผ่านมายังเมืองราชบุรี ทรงมีดำริให้ป่าวประกาศรับสมัครชายชาติทหารเพื่อร่วมรบกับข้าศึก 

         ปรากฏว่ามีผู้คนมาสมัครเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงโปรดให้รับสมัครผู้รู้หนังสือมาเป็นเสมียนรับลงทะเบียนเพิ่มเติม ปรากฏว่ามีคนมาอาสาทำหน้าที่ดังกล่าวถึง ๗ คน และทำการบันทึกรายชื่อทหารได้ทันพลบค่ำพอดี จึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน

        นอกจากนั้น "เจ็ดเสมียน" ยังปรากฏอยู่ในบทประพันธ์ต่างๆ หลายครั้ง เช่น ในนิราศพระแท่นดงรัง ของสามเณรกลั่น ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖ 

        ในนิราศท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยแขวงเมืองกาญจนบุรี ของพระยาตรัง 

         โคลงนิราศทวายของพระพิพิธสาลี ลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่าเมืองกาญจนบุรี พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ นิราศไทรโยค พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และเรื่องเที่ยวไทรโยคคราวสมเด็จพระราชปิตุลา บรมวงศาภิมุข เสด็จประพาสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ 

        พระราชนิพนธ์เสด็จประพาสไทรโยคในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า "วัดเจ็ดเสมียน ลานวัดกว้างใหญ่ ต้นไม้ร่มดูงามนัก เรือลูกค้าจอดอาศัยอยู่ที่นี้มาก บ้านเจ็ดเสมียนนี้เป็นที่ชอบของนักเลงกลอน พอใจจะอยากไหว้วานให้เสมียนมาจดแทบทุกฉบับ ในนิราศพระพุทธยอดฟ้าก็มีว่าถึงเจ็ดเสมียนนี้เหมือนกัน"

        ในวิหารหลวงพ่อดำ มีรูปหล่อหลวงพ่อดำซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก บริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของตลาดเก่า ๑๑๙ ปี เจ็ดเสมียน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙

หลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน ราชบุรี

         หลังจากที่หลวงพ่อหุ่น ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พยายามจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ของวัดเจ็ดเสมียนเป็นที่เรียบร้อย และพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาอย่างสุดความสามารถ

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงพ่อหุ่น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจารย์

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลวงพ่อหุ่น สอบได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดเจ็ดเสมียน และต่อจากนั้นก็มิได้ทำการสอบอีกเลยเป็นด้วยภารกิจมีอยู่มากมาย

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ หลวงพ่อหุ่น ได้รับตำแหน่งเป็นพระครูประทวน

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงพ่อหุ่น ได้รับตำแหน่งเป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูมงคลรัตน์

         หลวงพ่อหุ่น ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยโรคซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า "การทำงานของหัวใจล้มเหลว" นับรวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๕๒ พรรษา.

วัตถมงคลของหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน

         เหรียญหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ แบบมีหูในตัว เพื่อแจกจ่ายในงานที่หลวงพ่อหุ่นได้ รับพระราชทานสมณศักดิ์ โดยมีการจัดสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า  เป็นรูปหลวงพ่อหุ่น ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูมงคลรันต์ วัดเจ็ดเสมียน"

         ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์สาม อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ใต้ยันต์มีเลข   ซึ่งหมายถึงเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อ

         พระบูชาหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ กว่าๆ ลักษณะเป็นพระบูชาขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว สร้างด้วยเนื้อทองเหลืองรมดำ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบูชาหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน ราชบุรี รุ่นแรก

         ด้านหน้า  เป็นรูปหลวงพ่อหุ่น นั่งเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูมงคลรันต์ (หุ่น พุทะสโร)"

         ด้านหลัง ไม่มีอักขระใดๆ ใต้ฐานเป็นดินไทย



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้