โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค โพธาราม ปริศนาเหรียญ​เก่าของราชบุรี

หลวงพ่อแจ่ม (พระครูธรรมเสนานี) วัดโชค ราชบุรี

          หลวงพ่อแจ่ม วัดโชค หรือ พระครูธรรมเสนานี ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากทางด้านวิชาอาคม และเป็นอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน นอกจากนั้นท่านยังเป็นอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งยังเชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนโบราณ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยจึงมักมาให้รักษา กล่าวกันว่าน้ำมนต์ของท่านนั้นศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก และยังมีชื่อในด้านการสักด้วย

          หลวงพ่อแจ่ม เป็นคนไทยเชื้อสายลาว เกิดที่ที่บ้านบ่อมะกูด จังหวัดราชบุรี เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๘  เดิมชื่อแจ่ม บุญสอน มีพี่น้องเป็นชายล้วน ๕ คน คือ

          ในสมัยเด็กท่านได้บวชเณรที่วัดโพธาราม เพื่อเล่าเรียนวิชาทั้งการเขียนอ่านกับหลวงพ่อทาน เจ้าอาวาสวัดโพธาราม ตามหลักสมัยนิยม 

          ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ ท่านมีอายุครบอุปสมบท ท่านจึงก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโชค ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 

          ปี พ.ศ. ๒๔๒๙ พระอธิการอ่วม เจ้าอาวาสวัดโชคได้มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อแจ่ม ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดโชคสืบแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดโชค เป็นวัดราษฎร์สังกัด คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ในตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒๒ ไร่ ๓ งาน ๕๕ ตารางวา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕

         วัดโชค เดิมชื่อ วัดบ้านใหม่ เพราะตั้งอยู่ที่ตำบลคลองบ้านใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งประตูระบายน้ำ (ต่อมาโอนเข้ากับตำบลโพธาราม) แต่ชาวบ้านเรียกันสั้นๆว่า วัดใหม่ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเสด็จมาตรวจคณะสงฆ์จังหวัดราชบุรีผ่านวัดบ้านใหม่ ทั้งๆ ที่มิได้ตั้งพระทัยแวะที่วัดนี้ แต่เห็นประชาชนตั้งพลับพลาต้อนรับ ปูผ้าขาวลาดจรดริมท่าน้ำ ชาวบ้านรอคอยรับเสด็จเต็มถนนเข้าวัด 

         จึงเปลี่ยนพระทัยแวะเข้าวัด เสด็จขึ้นพลับพลาต้อนรับ ชาวบ้านจัดสำรับอาหารถวายเพล กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเห็นความพร้อมเพรียงจึงตรัสชมเชยและเปลี่ยนชื่อวัดให้ใช้ชื่อใหม่ว่า "วัดโชค" ให้เป็นมงคลนาม และระลึกถึงความมีโชคคือเป็นวัดที่มีโชคที่สมเด็จพระสังฆราชได้แวะ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้เสด็จมาราชบุรีอีกครั้งหนึ่ง พักอยู่ที่ศาลาริมน้ำซึ่งเป็นศาลาเล็ก ๒ หลังคู่กัน (ขณะนี้ได้รื้อแล้ว) เป็นเวลา ๒ วันคือวันที่ ๒๑–๒๒ มิถุนายน จอดเรือลอยอยู่ริมท่าน้ำ 

         แล้วเสด็จขึ้นประทับบนศาลาใหญ่ให้ชาวบ้านเข้าเฝ้าอย่าง ใกล้ชิด (ศาลานี้ปัจจุบันใช้เป็นศาลาการเปรียญ) ก่อนเสด็จกลับทรงประทานภาพถ่ายของพระองค์แก่หลวงพ่อแจ่มเจ้าอาวาสวัดโชคในขณะนั้น

         ภายในวัดมีพระประธานองค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่อยู่กลางแจ้ง ภายในพระประธานใช้บรรจุพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัดที่มีอายุนับพันปีที่ย้ายมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จากอุโบสถเก่า 

         อุโบสถหลังเดิมก่อนที่จะรื้อมีรูปร่างแบบจีนเช่นเดียวกับวิหารที่หลวงพ่อแจ่ม กระเบื้องเก่าของอุโบสถที่ขุดได้บริเวณวัดและบางส่วนของหลังคาอุโบสถทำด้วยดินแดงแบบกระเบื้องกาบกล้วยซึ่งมาจากจีน รวมทั้งอุโบสถเก่าเป็นฝีมือการก่อสร้างของช่างจีนด้วย 

         วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๖ เมตร วัดมีรายนามเจ้าอาวาสปกครองดังนี้

         ๑. พระอธิการเสือ พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๙๗

         ๒. พระอธิการอ่วม พ.ศ. ๒๓๙๘ – ๒๔๒๘

         ๓. พระครูธรรมเสนานี(แจ่ม) พ.ศ. ๒๔๒๙ – ๒๔๖๕

         ๔. พระครูวิทยาวรคุณ(ยา) พ.ศ. ๒๔๖๖ – ๒๔๘๖

         ๕. พระอธิการสงัด พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๙๕

         ๖. พระครูพิพัฒน์รัตโนภาส พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๒๕๔๒

         ๗. พระเฉลิมชัย ธมมกาโม

         ๘. พระครูกันตชัยธรรม 

หลวงพ่อแจ่ม (พระครูธรรมเสนานี) วัดโชค ราชบุรี

          หลังจากที่หลวงพ่อแจ่มท่านได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

          ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ หลวงพ่อแจ่ม ท่านได้รับสมณศักดิ์ที่พระครูธรรมเสนา ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงโพธาราม

           ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๔.๔๐ น. ได้เสด็จถึงวัดใหม่ (วัดโชค) วัดนี้ในหมายเสด็จไม่ได้กะจะประทับ แต่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์และราษฏร์มาออกันคอยรับเสด็จเป็นจำนวนมาก

          ตรัสให้เรือพระที่นั่งเทียบที่ท่าวัด เสด็จขึ้นให้พระสงฆ์และราษฏร์เฝ้า ทรงทราบว่าวัดนี้เป็นที่อยู่ของพระครูธรรมเสนา เจ้าคณะแขวงโพธาราม ตรัสว่าชอบ เพราะที่ประทับแรมจัดที่ว่าการอำเภอนั้นไม่เหมาะ ตรัสสั่งให้จัดประทับแรม ณ วัดนี้ 

         พระครูธรรมเสนาและราษฏร์ได้ทราบ ต่างก็แสดงอาการยินดีที่จะได้ต้อนรับเสด็จ ทรงปฏิสันถารแก่พระสงฆ์และพวกราษฏรเหล่านั้นแล้วเสด็จนมัสการพระในอุโบสถ แล้วประทับที่ศาลาการเปรียญ ประทานย่ามตรามหาสมณุตมาภิเษกแก่พระครูธรรมเสนา เป็นประสาทการฯ

          วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ขบวนเรือจอดค้างแรมที่ท่าน้ำวัดใหม่ เวลาเพล ประทับเสวยเพลบนศาลา มีกรรมการอำเภอและราษฏรนำอาหารบิณฑบาตรมาถวายเป็นอันมาแน่นศาลา

         ประทานพัดตรามหาสมณุตมาภิเษก แก่พระครูธรรมเสนา ผู้เป็นเจ้าคณะแขวงฯ และพระอธิการแดง วัดโพธาราม แล้วเสด็จลงที่ลานวัด ประทานเหรียญหนังสือและผ้าเช็ดหน้าแจกแก่พวกกรรมการอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านผู้จัดการรับเสด็จทั่วกัน

         เมื่อเสด็จจากวัด ประทานชื่อวัดนี้ว่า "วัดโชค" เพราะไม่ได้กะไว้เป็นที่ประทับ แต่กลับมีโชคได้เป็นที่ประทับแรม แล้วจึงเสด็จลงประทับเรือที่นั่งเพื่อเสด็จต่อไป..

          วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา เช้า ๑ โมงเศษ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจคณะสงฆ์มณฑลราชบุรี ขากลับจากตรวจเมืองกาญจนบุรี เสด็จวัดโพธาราม เสด็จเข้าในอุโบสถ ทรงนมัสการพระแล้ว ประทับที่ปะรำ 

          ทรงประทานพระธรรมเทศนา อนุโมทนาภัตตทานแล้วเสวยเช้า ทรงประทานของแจก ประทานพระพุทธรูปแก่พระครูธรรมเสนา เจ้าคณะแขวงโพธาราม 

         ท่านได้กล่าวชมว่า พระครูธรรมเสนา เป็นเจ้าคณะปกครองที่ดี รู้จักชักจูงในทางสามัคคี เป็นผู้กว้างขวาง ปกครองทั้งคณะมหานิกายและรามัญนิกายได้เป็นอย่างดี

          เวลาเช้า ๑๑.๐๖ นาที สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พร้อมคณะฯ เสด็จจากวัดโพธารามไปประทับสถานีรถไฟ เพื่อเสด็จเมืองเพชรบุรีต่อไปฯ  

ภาพพระราชทานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ปี พ.ศ. ๒๔๖๒

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๑  หลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจคณะมณฑลราชบุรี แล้วได้เลื่อน พระครูธรรมเสนา(แจ่ม) เจ้าคณะแขวงโพธาราม เป็นพระครูธรรมเสนานี เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๒  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาประทับที่วัดอีกครั้ง โดยได้ทรงประทานภาพถ่ายของพระองค์แก่หลวงพ่อแจ่ม ไว้เป็นที่ระลึก

          เป็นภาพที่ถ่ายโดย ‘ห้องฉายานรสิงห์’ ตีตรามงกุฎไว้มุมภาพ ขนาดยาว ๑๘ นิ้ว กว้าง ๑๒ นิ้ว มีลายพระหัตถ์ใต้ภาพ ดังนี้ ‘กรมวชิรญาณวโรรส ให้พระครูธรรมเสนานี เจ้าอาวาสวัดโชคที่ได้มาพักเมื่อวันที่ ๒๑, ๒๒ มิถุนายน ๒๔๖๒’ เพื่อไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย

          ในสมัยที่พระครูธรรมเสนานี (แจ่ม) ดำรงขันธ์อยู่นั้น ท่านได้สร้างวัตถุมงคลขึ้นมาคือ เครื่องรางของขลัง อย่างเช่น ตะกรุด ลูกอม ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ ส่วนพระเครื่องนั้นท่านสร้างพระเครื่องเนื้อผง เป็นพระเครื่องเนื้อผงสีขาวผสมผงวิเศษต่างๆ 

          เป็นพระเครื่องรูปทรงสามเหลี่ยมพิมพ์นางพญา มีขนาดฐานกว้าง ๒ เซนติเมตร สูง ๒.๕ เซนติเมตร และมีแบบสี่เหลี่ยมพิมพ์ขนาดฐานกว้าง ๒.๕ เซนติเมตร สูง ๓ เซนติเมตร เรียกกันว่า พิมพ์สมเด็จ ปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง

          หลวงพ่อแจ่ม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน​ พ.ศ. ๒๔๖๕ นับรวมสิริอายุได้ ๖๗ ปี ๔๖ พรรษา ทางวัดได้เก็บศพท่านไว้ ๑๐๐ วัน จึงได้ทำการฌาปนกิจเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค

          เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค รุ่นแรก

          สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยพระครูวิทยาวรคุณ (ยา) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ ๕  ซึ่งครองวัดโชคในช่วง ปี พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๘๙ โดยสร้างเหรียญรูปทรงเสมา เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพพระครูธรรมเสนานี (แจ่ม) มีการสร้างเหรียญด้วย เนื้อเงิน เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแดงไม่รมดำ เป็นเหรียญที่มีความหนาพอสมควร พื้นเหรียญเรียบไม่แอ่นเป็นแอ่ง

เหรียญหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณโปร่ง ราชบุรี

เหรียญหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื้อเงิน ของคุณโอ๊ต บางแพ

          ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนพระธรรมเสนานี (แจ่ม) นั่งสมาธิเต็มรูป ใต้รุปเหมือนมีพญานาค ซึ่งหมายถึงปีมะโรง ปีเกิดของท่าน ด้านบนศีรษะมีอักขระขอมว่า "มะ อุ อะ" และ "อุณาโลม" ด้านบนสุด และอักษรไทยจารึกข้างขอบเหรียญว่า "พระครูธรรมเสนานี อายุ ๖๗ ปี พรรษา ๔๖ พรรษา"

          ด้านหลัง เป็นยันต์ตรีนิสิงเห และอักษรไทยจารึกว่า "ที่ระฤกในงานศพ พ.ศ. ๒๔๖๕"

          เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค ๒๔๖๖

          สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์ม หรือโล่ โดยพระครูวิทยาวรคุณ (ยา) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ ๕  ซึ่งครองวัดโชคในช่วง ปี พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๘๙ เป็นผู้สร้าง เท่าที่พบเห็นมีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่พื้นเหรียญจะต้องแอ่นเป็นท้องกระทะ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ พิมพ์คือ พิมพ์นิยม หลัง ก.ไก่ และพิมพ์ธรรมดา

เหรียญหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ บล็อก ก.ไก่

เหรียญหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ บล็อกธรรมดา ของคุณอนันต์ กันบาง

          ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนพระธรรมเสนานี (แจ่ม) ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักษรไทยจารึกข้างขอบเหรียญว่า "พระครูธรรมเสนาณี"

          ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และอักษรไทยจารึกว่า "พ.ศ. ๒๔๖๖"

          เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค รุ่นสร้างพระเมรุ

          สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ลักษณะเหมือนเหรียญหลวงพ่อแจ่ม ที่ออกปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งใช้วิธีถอดพิมพ์มา โดยแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ร่วมทำบุญสร้างพระเมรุของวัดโชค มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่พื้นเหรียญไม่แอ่นเป็นท้องกระทะ เหรียญรุ่นนี้ได้หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อเต๋ คงทอง เเละหลวงพ่อเกลี้ยง วัดเฉลิมอาสน์ ร่วมปลุกเสก

เหรียญหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค รุ่นสร้างพระเมรุ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓

เหรียญหลวงพ่อแจ่ม วัดโชค รุ่นสร้างพระเมรุ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓


          ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนพระธรรมเสนานี (แจ่ม) ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักษรไทยจารึกข้างขอบเหรียญว่า "พระครูธรรมเสนาณี"

          ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และอักษรไทยจารึกว่า "พ.ศ. ๒๔๖๖" (เหรียญไม่แอ่น)


 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง


บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้