โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม พระเกจิผู้มีตาทิพย์ให้หวยแม่นอย่างตาเห็น

หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท (พระครูโกวิทสมุทรคุณ) วัดจุฬามณี ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังมาก เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน ท่านเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ฯลฯ วิชาความรู้ทางคาถาอาคมจึงย่อมไม่ธรรมดา

         หลวงพ่อเนื่อง ท่านมีนามเดิมว่า เนื่อง เถาสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๒ ปีระกา โยมบิดาชื่อนายถมยา เถาสุวรรณ โยมมารดาชื่อนางตาบ เถาสุวรรณ เกิดที่บ้านคลองใหญ่ หมู่ที่ ๔ ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบการศึกษาชั้นประถม ๔ จากโรงเรียนวัดบางกะพ้อม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓

         หลวงพ่อเนื่อง เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ พัทธสีมาวัดบางกะพ้อม ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "โกวิโท" โดยมี

         หลวงพ่อคง ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อแช่ม โสฬส เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์ปล้อง วัดบางกะพ้อม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากที่อุปสมบถท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบางกะพ้อม เรื่อยมาเพื่อศึกษาวิชาต่างๆ และท่านสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดจุฬามณี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ขณะเดียวกันท่านก็มีความเชี่ยวชาญในทางวิปัสสนา และพุทธาคมเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยท่านได้อาจารย์ดีเป็นเบื้องต้น ตั้งแต่อุปสมบท

          ประกอบกับความตั้งใจมั่นในการศึกษา และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยได้ศึกษาจากหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังของ จังหวัดสมุทรสงคราม

          นอกจากนี้หลวงพ่อเนื่อง ท่านยังได้เรียนวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี และ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ผู้สร้างตำนาน ตะกรุดลูกอม อันลือลั่น 

         ไล่เรียงรายนามอาจารย์ของหลวงพ่อเนื่องแล้ว  จึงไม่ต้องแปลกใจในความรู้ความสามารถ และความเข้มขลังในสายพุทธาคม ที่หลวงพ่อเนื่องท่านได้สืบทอดมาจากพระเกจิอาจารย์ผู้แก่กล้าสามารถหลายท่าน

          หลวงพ่อเนื่อง เป็นพระบริสุทธิสงฆ์ที่ชาวสมุทรสงคราม และจังหวัดใกล้เคียง มีความศรัทธาเลื่อมใสเป็นอันมาก รวมทั้งงานความสามารถในด้านงานพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองมาสู่วัดจุฬามณี  และชุมชนท้องถิ่นมาโดยตลอด

          ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ พระอธิการแช่ม โสฬส เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี  ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเว้นว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเนื่อง รักษาการเจ้าอาวาสสืบแทน

          ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงพ่อเนื่อง ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดจุฬามณี ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม

          วัดจุฬามณี เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในหมู่ที่ ๙ บ้านคลองวัดจุฬามณี ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดแม่เจ้าทิพย์ สร้างมาแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๗๒ - ๒๑๙๐ 

          ตามประวัติว่าท่านท้าวแก้วผลึก (น้อย) ธิดาคนหนึ่งของท่านพลายซึ่งเป็นนายตลาดบางช้าง มีหน้าที่เก็บภาษีอากรขนอนตลาด ต้นวงศ์ราชนิกูลบางช้าง เป็นผู้สร้าง

         ในช่วงสงครามกรุงศรีอยุธยากับพม่า ท่านนาค (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) พระอัครชายาเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะทรงครรภ์แก่ ได้หลบซ่อนพม่าอยู่ในป่าทึบหลังวัดจุฬามณี 

          ต่อมาได้มีประสูติการท่านฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) คาดว่าสถานที่ประสูติน่าจะใกล้ต้นจันทน์อันเป็นนิวาสถานหลังเก่าของท่านเศรษฐีทอง 

          อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระพี่นางองค์ที่ ๒ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ได้หลบภัยพม่ามาอาศัยอยู่กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชด้วย กำลังอยู่ในระหว่างทรงพระครรภ์แก่และได้มีพระประสูติการพระธิดาในป่าหลังวัดจุฬามณีด้วยเช่นกัน คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

          วัดจุฬามณี เคยรุ่งเรืองในสมัยท่านพระอธิการเนียมเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ ท่านตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยและหนังสือขอมขึ้นในวัดจุฬามณี 

          เมื่อสิ้นท่านไปเสียแล้วในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๙ วัดอยู่ในสภาพเกือบเป็นวัดร้าง มีพระจำพรรษาอยู่เพียงไม่กี่รูป จนวัดเสื่อมสภาพทรุดโทรมปรักหักพังเสียเป็นส่วนใหญ่ กำนันตำบลปากง่าม (ปัจจุบันคือตำบลบางช้าง) ขออาราธนาพระอาจารย์แช่ม โสฬส ซึ่งเป็นพระลูกวัดจำพรรษาอยู่ในวัดบางกะพ้อม มาปกครองวัดให้เจริญรุ่งเรือง

          ในสมัยหลวงพ่อแช่ม ท่านได้ริเริ่มปลูกสร้างเสนาสนะสงฆ์และสร้างศาลาการเปรียญจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ วัดจุฬามณี มีเจ้าอาวาสปกครองเท่าที่สืบได้ดังนี้

         ๑. พระอธิการยืน

         ๒. พระอธิการเนียม

         ๓. พระอาจารย์แป๊ะ

         ๔. พระอาจารย์ปาน

         ๕. หลวงพ่ออ่วม

         ๖. พระอาจารย์นุ่ม

         ๗. หลวงพ่อแช่ม

         ๘. หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท

         ๙. พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (พระอาจารย์ อิฏฐ์ ภทฺทจาโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

ภาพถ่ายหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม-นั่งแคร่
หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม

          หลังจากที่หลวงพ่อเนื่อง ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญร่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก ทั้งการสร้างศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ ที่ทรุดโทรมให้คงทนถาวรขึ้น

          ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูโกวิทสมุทรคุณ"

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ประจำสำนักเรียนวัดบางกะพ้อม

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลวงพ่อเนื่อง ท่านได้เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถจตุรมุข หินอ่อน ๓ ชั้น กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร สูง ๑๐ เมตร ทดแทนหลังเก่าที่เสื่อมโทรม เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

         โดยพระอุโบสถหลังใหม่นั้นมีมูลค่าการก่อสร้างนับสิบล้านบาท และได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (จวน อุฏฐายี) (แล้วเสร็จในสมัยของพระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร

          ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ท่านได้เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาคันธุระ ในราชทินนามเดิม

ภาพถ่ายหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม
หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อเนื่อง ท่านเป็นพระที่ค่อนข้างแปลกจากพระรูปอื่นทั่วไปคือท่านเป็นคนที่ ชอบผื่นดิน ชอบป่า เคร่งในศาสนา หลายครั้งที่ท่าน ธุดงเข้าป่าตามลำพัง เพื่อที่จะวิปัสนากรรมฐาน ตามกิจของสงค์ที่พึงมีตั้งแต่อดีตกาล

         หลวงพ่อเนื่อง ท่านมีวัตรปฏิบัติที่แปลกและน่าอัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่งคือทั้งปีท่านจะสรงน้ำเพียง ๑ วันเท่านั้นคือในวันสงกรานต์ 

         ซึ่งน่าประหลาดที่ร่างกายของท่านกลับไม่มีกลิ่น และเหงื่อไคลแต่อย่างใดเลย ดังนั้น ศิษยานุศิษย์ที่เคารพนับถือในตัวหลวงพ่อ จึงแห่แหนกันมาในวันสงกรานต์อย่างเนืองแน่น เพื่อร่วมสรงน้ำท่านกันทุกปี

         ในด้านวิชาอาคมของหลวงพ่อนั้น เล่ากันต่อมาว่าลูกศิษย์ลูกหาของท่านมักจะมาขอความเมตตา ขอใบมะนาวเสกจากหลวงพ่อเนื่อง ซึ่งใบมะนาวเสกถือเป็นของขลังที่หลวงพ่อมักจะหยิบยื่นให้ผู้ที่ไปกราบไหว้

         โดยใบมะนาวเสกนี้เมื่ออธิษฐานจิตขอในสิ่งที่ปรารถนา เช่น บางคนอยู่เป็นคู่สามีภรรยากันมานานนับสิบๆ ปี ก็ไม่มีลูกสักที แต่เมื่อไปอธิษฐานขอกับหลวงพ่อเนื่องแล้ว ท่านให้ใบมะนาวเสกติดกลับบ้าน ชั่วเวลาไม่นานก็ท้องสมใจ

         หรือบางกรณีมีผู้ไปขอโชคลาภ หรือที่เรียกกันว่าขอหวย ซึ่งทุกคนที่ไปขอก็ได้ไปด้วยความสุขใจ และมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยบารมีแห่งความเป็นผู้หยั่งรู้ จนชื่อเสียงด้านการให้หวยแม่นอย่างกับตาเห็นของท่านเป็นที่โด่งดัง เป็นผลให้ลูกศิษย์ลูกหาและผู้สนใจในการเสี่ยงโชค ต่างมุ่งหน้าสู่ วัดจุฬามณีเนืองแน่น

         จนครั้งหนึ่งท่านถูกตั้งกรรมการสอบ ด้วยข้อกล่าวหาประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่สมณวิสัย โดยการ อวดอุตริมนุษย์ธรรม หรือ การอวดอ้างคุณวิเศษอันไม่มีในตน เนื่องด้วยข่าวทราบถึง ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (สนิท เขมจารี) ต่อมาเลื่อนเป็น สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดปทุมคงคา 

         ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทร เจ้าคณะภาค มีบัญชาให้ เจ้าคณะอำเภอ คือ พระครูปัญญาสมุทรคุณ (พจน์) เป็นประธานในการสอบ โดยในวันสอบนั้น ท่านเจ้าพระคุณพระธรรมปิฎก (สนิท เขมจารี) ได้เดินทางไปร่วมสอบด้วย

         ซึ่งหลวงพ่อเนื่อง ได้ให้การแก้ต่างว่า "ไม่ได้อวดอุตริแต่อย่างใด เพียงแต่เห็นอะไร ก็บอกไปอย่างนั้น" ทำให้คณะกรรมการสอบเกิดความสงสัย ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ 

         จึงมีการพิสูจน์กันขึ้นโดยหลวงพ่อเนื่องเขียนล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ที่จะออกในงวดนั้น ใส่ไว้ในหีบมัดเชือกอย่างหนาแน่น แขวนไว้กลางศาลา จัดเวรยามป้องกันแน่นหนา

         เมื่อถึงวันล็อตเตอรี่ออก และทราบตัวเลขที่ออกแล้ว คณะกรรมการจึงเปิดหีบดูตัวเลขในกระดาษที่เขียนอาไว้ล่วงหน้า ผลปรากฏว่าถูกต้องตามเลขรางวัลโดยไม่มีตัวสลับแม้แต่น้อย คณะกรรมการจึงสิ้นความสงสัย

         แต่ได้กล่าวตักเตือนว่าการบอกเลข (หวย) ให้ชาวบ้านนั้นเป็นการประพฤติที่ไม่เหมาะสมแก่สมณวิสัย จึงขอให้ห้ามบอกอีกต่อไป ตั้งแต่นั้นมาท่านจึงยุติการบอกตัวเลข

         แต่เมื่อชาวบ้านไปขอมากๆ หลวงพ่อเนื่อง ท่านก็ได้เพียงบอกใบ้ให้ชาวบ้านตีความกันเอาเอง ใครมีโชคจากการเสี่ยงดวงมักนำปัจจัยมาถวายท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้ใส่ใจนัก เก็บไว้ในตู้ โต๊ะ โดยไม่เคยหยิบจับนับดู 

         กระทั่งภายหลังมรณะภาพ คณะกรรมการได้ตรวจสอบทรัพย์สินภายในกุฏิของท่าน พบธนบัตรเป็นจำนวนมากอยู่ในซองกระดาษที่ไม่ได้ถูกแกะจำนวนมาก นับแล้วเป็นเงินถึง ๒๐ ล้านบาท

         ในคราวที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาบูชาหลวงพ่อเนื่อง ทรงทูลถามหลวงพ่อ ว่าได้ "ยินมาว่าหลวงพ่อ ให้หวยชาวบ้านถูกกันง่ายๆ จริงหรือไม่" 

         หลวงพ่อเนื่อง ท่านเลยตอบว่าจะเขียนให้สมเด็จพระเทพฯ เก็บไว้ชมสัก ๑๐ งวด แต่สมเด็จพระเทพฯ ไม่ทรงรับ แต่ขอชมบารมีแค่งวดเดียว หลวงพ่อจึงเขียนให้ไปและเลขก็ออกตามที่เขียน สมเด็จพระเทพฯ ท่านจึงได้เห็นอัศจรรย์ตามนั้น พอภายหลังมาหลวงพ่อป่วย สมเด็จพระเทพฯ จึงทรงรับเป็นอุปถัมภ์ที่โรงบาลสมิติเวชฯ

          หลวงพ่อเนื่อง ปกครองวัดเรื่อยมาจนเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ท่านเริ่มมีอาการอาพาธ ที่โรงพยาบาลสมิติเวช โดยอยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพฯ เรื่อยมาจนถึงแก่มรภาพลงในนวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐ เวลา ๐๖.๒๐ น. นับสิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี ๕๖พรรษา 

          ยังความโศกเศร้าเสียใจ แก่ศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก ทิ้งไว้แต่หลักคำสอน วัตถุมงคล และผลงานการก่อสร้างวัดจุฬามณี ที่มีความสวยงามและร่มรื่นจนทุกวันนี้

          และเรื่องที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งก็คือ สรีระของ"หลวงพ่อเนื่อง"ท่าน กลับไม่เน่าเปื่อยแต่อย่างใด คงอยู่ในสภาพเดิมๆ ภายในหีบแก้ว บนมณฑป ที่ทางวัดและศิษยานุศิษย์ร่วมกันจัดสร้างขึ้นมาอย่างงดงามยิ่ง

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         พระเครื่องและวัตถุมงคลของ หลวงพ่อเนื่อง ทั้งที่ท่านสร้างเอง และได้ไปนั่งปรกล้วนแล้วแต่พุทธคุณสูง ผู้พกพามีประสบการณ์ทั้ง เมตตาค้าขาย แคล้วคลาด คงกระพัน เป็นที่ประจักษ์แก่ลูกศิษญ์ลูกหามากมาย สามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ดังนี้

เหรียญของหลวงพ่อเนื่อง

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ๒๕๐๗

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ แบบมีหูในตัว เป็นเหรียญที่สร้างออกบูชาที่วัดปราสาทบุญญาวาส กรุงเทพฯ มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาะผ้าสังฆาฏิ รัดประคต นั่งเต็มองค์ มือทั้งสองข้างประสานกัน มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ"  

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์แบบเดียวกับยันต์บนเหรียญปาดตาลของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อมผู้เป็นอาจารย์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดจุฬามณี อัมพวา สมุทรสงคราม ๒๕๐๗" 

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด โดยที่ผู้บริจาคทรัพย์ ๒๕ บาทจะได้รับเหรียญ ๑ เหรียญ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ข้อมูลจากวัดแจ้งว่าจำนวนการสร้างรวมกันประมาณ ๕๐,๐๐๐ เหรียญ โดยประกอบไปด้วย

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โค้ด น. บน

         เหรียญที่ตอกโค๊ด นอหนู ที่เหนือศรีษะ ออกให้บูชาในงานสรงน้ำของหลวงพ่อวันที่ ๑๑ - ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑ เปิดให้บูชาแค่ ๓ วันก็หมดไป โดยจะตอกทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ ๕,๐๐๐ เหรียญ มีทั้งจารและไม่จาร แต่ส่วนใหญ่ เหรียญชุดนี้จะมีจาร มีทั้งจารด้วยเหล็กจาร หรือจารด้วยดินสอ

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี 2511 รุ่นแรก น บน-สังฆาฏิ
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โค้ด น. บน-สังฆาฏิ

         เหรียญที่ตอกโค๊ด นอหนู บนสังฆาฏิ ออกให้บูชาหลังจากที่เหรียญชุดแรกหมดไป โดยย้ายโค้ด น.หนู มาตอกที่สังฆาฏิแทน เพื่อให้หลวงพ่อจารอักขระได้ง่ายขึ้น จำนวนที่ประมาณ ๓๐๐ เหรียญ มีทั้งจารและไม่จาร

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โค้ด นะสังฆาฏิ

         เหรียญที่ตอกโค๊ต ที่เป็นตัว นะ (ภาษาขอม) โดยย้ายมาตอกที่สังฆาฏิแทน เพราะเหรียญที่ตอกโค๊ต น.หนู หลวงพ่อจารอักขระไม่สะดวก ข้อมูลจากวัดแจ้งว่ามีจำนวนมากที่สุด คือมีเกือบ ๔๐,๐๐๐ เหรียญ มีทั้งจารและไม่จาร

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ กระไหล่ทอง (แจกแม่ครัว)

          เหรียญรุ่นแรก อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ตอกโค๊ต ทางวัดนำไปทำกระไหล่ทอง เพื่อแจกแม่ครัวที่มาช่วยงานที่วัด ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โค้ด น. บนบ่า(พินัยกรรม)

         เหรียญที่ตอกโค้ด นอหนู เหนือบ่า หลวงพ่อเนื่อง ท่านได้สั่งให้หลวงพ่ออิฏฐ์ ให้นำโค๊ต นอหนู ที่ท่านเก็บเอาไว้ ไปตอกเหรียญ รุ่นแรกของท่าน ที่อยู่ในเซฟ จำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญ เพื่อออกให้บูชาแล้วนำเงินมาจัดงานศพของท่าน ออกให้บูชาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ในสมัยนั้นต้องเช่าบูชาในราคา ๑๐,๐๐๐ บาท

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ลงยา รับเสด็จพระเทพฯ

          เหรียญรุ่นแรก อีกจำนวนหนึ่ง มีทั้งที่ตอกโค๊ตแล้วและที่ยังไม่ได้ตอกโค๊ต ทางวัดนำไปลงยาสีแดงและสีเขียว เพื่อไปแจกในงานกฐิน ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี 2511 รุ่นแรก ชุปนิกเกิ้ล
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ชุปนิกเกิ้ล (มีรอยไหม้) ของคุณศรัทธา อาจชน

         เหรียญชุปนิกเกิ้ล ค้นพบหลังจากที่หลวงพ่อได้มรณภาพลงแล้ว ทางวัดได้ทำการลื้อและนำขยะไปเผา ทำให้เหรียญมีรอยไฟไหม้และกระไหล่ทองหายไป ซึ่งเดิมทีก็คือเหรียญแจกแม่ครัวที่ทำกระไหล่ทอง แต่แจกไม่หมดหลวงพ่อเนื่องเลยเก็บไว้เองจนท่านมรณภาพ

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ(เนื่อง) วัดจุฬามณี" โดยเหรียญจะมีการตอกโค้ดหรือไม่ตอกโค้ด ซึ่งแจกไปตามวาระต่างๆ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ลาภผลพูนทวี สส พ.ศ. ๒๕๑๑" มีอักขระยันต์ล้อมไปกับขอบเหรียญ

         เหรียญหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณแบบมีหูในตัว  ประวัติการสร้างนั้นมีบันทึกไว้ว่า ทำการหล่อที่วัดสุทัศน์ โดยอาจารย์แดงหลานหลวงพ่อเนื่องเป็นผู้ออกแบบพิมพ์และอาจารย์เทพ สาริกบุตร เป็นผู้ลงพระยันต์ ๑๐๘ และ นะ ๑๔ ตามตำราการสร้างพระกริ่งของวัดสุทัศน์

          อาจจารย์นิรันด์(หนู) แดงวิจิตร เป็นผู้ผสมเนื้อนวะโลหะ ใส่ช่อพระชัยวัฒน์ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ของสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ จำนวน ๑ ช่อ และฐานบาตรน้ำมนต์ปทุมโลหิต ใส่ทองคำหนัก ๔๐ บาท เงินอีกนับร้อยบาทและเงินตรายันต์อีกจำนวนมาก หลวงพ่อเนื่องลงพระยันต์ให้จนถึงที่สุด หล่อได้ประมาณ ๗๐ - ๑๐๐  เหรียญ เนื้อโลหะก็หมดลง สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ เนื้อ คือเนื้อเหลืองและเนื้อแดง

เหรียญหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๒  ร.ศ. ๑๘๗ เนื้อสำริด

เหรียญหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๒  ร.ศ. ๑๘๗ เนื้อสำริด

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต นั่งสมาธิเต็มองค์มีฐานรองรับ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเนื่อง"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ร.ศ ๑๘๗"

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ๕ รอบ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ใบมะนาวหรือลูกท้อ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ เหรียญ และเหรียญรุ่นนี้ยังมีผู้เข้าใจผิดโดยเหรียญที่ทันหลวงพ่อเนื่องคือเหรียญหน้าหนุ่ม เท่านั้น ส่วนเหรียญที่เป็นหน้าแก่ออกปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ไม่ทันหลวงพ่อ

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ๕ รอบ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หน้าหนุ่ม(ทัน)

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ๕ รอบ หน้าแก่(ไม่ทัน) ออกปี พ.ศ. ๒๕๓๐

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ วัดจุฬามณี" โดยบางเหรียญจะมีรอยจาร

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีเลข   มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุครบ ๕ รอบ ๒ฯ๓ ๒๕๑๒ "

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นสรงน้ำ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ใบมะนาวหรือลูกท้อ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำหนักเหรียญละ ๑ บาท ให้เช่าบูชาเหรียญละ ๑,๐๐๐ บาท จำนวน ๑๐๐ เหรียญ เนื้อเงิน จำนวนประมาณ ๘๐๐ เหรียญ ให้เช่าบูชาเหรียญละ ๑๐๐ บาท  และเนื้อทองแดง จำนวนประมาณ ๕,๐๐๐ เหรียญ ให้เช่าบูชาเหรียญละ ๒๕ บาท

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นสรงน้ำ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นสรงน้ำ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ วัดจุฬามณี" โดยบางเหรียญจะมีรอยจาร

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๑๕ เม.ย. ๑๓"

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ออกวัดโคกเกตุ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ใบมะนาวหรือลูกท้อ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ออกวัดโคกเกตุ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง) วัดจุฬามณี" โดยบางเหรียญจะมีรอยจาร

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ลาภผลพูนทวี อุทิศสร้างอุโบสถ วัดโคกเกตุ ๒๕๑๓" มีอักขระยันต์ล้อมไปกับขอบเหรียญ

         เหรียญใบมะยมหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปใบมะยม แบบมีหูในตัว มีหลายคนเคยนำเหรียญใบมะนาวนี้อธิษฐานแช่น้ำ แล้วดื่มต่างยา ปรากฏว่าโรคที่คุกคามอยู่ก็ทุเลาลงได้อย่างน่ามหัศจรรย์ จึงเป็นที่ศรัทธา และแสวงหาเหรียญใบมะนาวของท่านมาบูชากันไว้เสมอ มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญใบมะยมหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ วัดจุฬามณี" โดยบางเหรียญจะมีรอยจาร

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นธนาคารนครหลวงไทย

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบแบบมีหูในตัว โดยธนาคารนครหลวงไทยขออนุญาติหลวงพ่อเนื่อง จัดสร้างเพื่อแจกจ่ายให้กับลูกค้าของธนาคาร มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดงและเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแจกธนาคารนครหลวงไทย ปี 2516
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นเปิดธนาคารนครหลวงไทย ปี พ.ศ. ๒๕๑๖

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ วัดจุฬามณี ๑๑ มิ.ย. ๑๖"

         ด้านหลัง มีตราสัญลักษณ์ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกเปิดสาขาอัมพวา ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์"

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ปี ๒๕๑๗

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ใบมะนาวหรือลูกท้อ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองเหลือง เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ วัดจุฬามณี" โดยบางเหรียญจะมีการตอกโค้ด

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์แบบเหรียญปาดตาลของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๕๑๗" มีอักขระยันต์ล้อมไปกับขอบเหรียญ

         เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จัดทำขึ้นโดยนายกบุญเกิด นายกเทศมนตรีอำเภออัมพวาในสมัยนั้น และท่านเป็นเจ้าของร้านสวรรค์โอสถ ตั้งอยู่ในตลาดอัมพวา เนื่องในการฉลองสมณศักดิ์ที่ท่านได้รับในครั้งนั้น แบ่งออกเป็นบล็อกตาไก่ และบล็อกธรรมดา โดยบล็อกตาไก่นั้นทำการปั๊มก่อน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

          บล็อกธรรมดานั้น เกิดจากการที่หลวงพ่อเนื่องท่านได้แจกและจำหน่ายเหรียญบล็อกตาไก่ไปจนเกือบหมด ท่านเล็งเห็นว่า จำนวนที่เหลือไม่พอแจก ด้วยมีคนต้องการเหรียญเป็นอย่างมาก ท่านจึงสั่งให้กรรมการวัด ไปจัดการปั้มเหรียญเพิ่มเติมมาอีก แต่เนื่องจากเนื้อโหละของชุดหลังแข็ง จึงทำให้ บล็อกที่ปั้มเหรียญเริ่มชำรุด ดูได้จาก เหรียญที่ออกมา ตัวหนังสือด้านหลังเริ่มล้ม ตาไก่ ก็เริ่มที่จะไม่เป็นเม็ด ทางโรงงานก็ปั้มจนชนวนหมด ได้เหรียญชุดนี้ออกมาไม่น่าเกิน ๓,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อนวะ บล็อกตาไก่

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อนวะ บล็อกตาไก่

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อนวะ บล็อกธรรมดา

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง นั่งสมาธิเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต ด้านหลังหลวงพ่อเป็นรูปพัดยศ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง)" โดยบางเหรียญจะมีรอยจาร

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์เหมือนเหรียญปาดตาลของหลวงพ่อคง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกงานเลื่อนสมณศักดิ์ วัดจุฬสมณี สมุทรสงคราม" มีอักขระยันต์ล้อมไปกับขอบเหรียญ

         เหรียญพระแก้วหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ลักษณะเป็นเหรียญกลม ไม่มีหู มีการสร้างด้วยเนิื้ออัลปากา เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระแก้ว หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญพระแก้ว หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า มีรูปพระแก้วมรกต ประทับบนฐานบัว ข้างฐานบัวมีลายกนกสวยงามโดยบางเหรียญจะมีรอยจาร

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์เหมือนเหรียญปาดตาลของหลวงพ่อคง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ลาภผลพูนทวี วัดจุฬสมณี ๒๕๑๗ สมุทรสงคราม" มีอักขระยันต์ล้อมไปกับขอบเหรียญ และข้อความภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ" 

         พระปรกใบมะขามหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นพระปรกใบมะขามขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยโลหะต่างๆหลายชนิดสามารถจำแนกได้ดังนี้ เนื้อตะกั่ว ๑๙ องค์ เนื้อทองคำ ๒๐ องค์ เนื้อเงิน ๗๐ องค์ เนื้อชนวน ๑๗๐ องค์ เนื้อสตางค์ ๒๗๐ องค์ เนื้อนวโลหะ ๓๗๐ องค์ และเนื้อทองแดง ๕,๐๐๐ องค์

พระปรกใบมะขาม หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อเงิน

พระปรกใบมะขาม หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อชนวน

พระปรกใบมะขาม หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อนวะโลหะ

         ด้านหน้า มีรูปพระพุทธรูปปางนาคปรก ฐาน ๓ ชั้น

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "เนื่อง"

         พระปรกสรงน้ำหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นพระปรกใบมะขามขนาดเล็ก เพื่อแจกให้กับลูกศิษญ์ที่มาร่วมงานสรงน้ำของหลวงพ่อเนื่อง มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปรกสรงน้ำ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า มีรูปพระพุทธรูปปางนาคปรก ฐาน ๓ ชั้น

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ สรงน้ำ ๒๕๒๑"

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นอายุครบ ๗๐ ปี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ใบมะนาวหรือลูกท้อ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และทองแดงลงยา จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นอายุครบ ๗๐ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อโลหะลงยา

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นอายุครบ ๗๐ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี" โดยบางเหรียญจะมีรอยจาร

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุครบ ๗๐ ปี ๒๕๒๑"

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น รร.บ้านบางนางลี่

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่แบบมีหูในตัว เพื่อแจกให้กับผู้ที่ร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์สร้างอาคารเรียน โรงเรียนบ้านบางนางลี่ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี 2521 รรบ้านบางนางลี่ ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นสร้าง รร.บ้านบางนางลี่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องหันข้าง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตัว นะ อยู่เหนือพยาครุฑ ใต้พยาครุฑมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "รร. บ้านบางนางลี่ ๒๕๒๑"

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ปี ๒๕๒๒

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง)" โดยจะมีการตอกโค้ด น. หนู ที่สังฆาฏิ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดจุฬามณี ส.ส. ๒๕๒๒ ลาภ ผล พูน ทวี"

         เหรียญสตางค์หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบทรงกลมขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้อนวะ และเนื้อทองแดง  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญสตางค์หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อนวะโลหะ

เหรียญสตางค์หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเนื่อง"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดจุฬามณี พ.ศ. ๒๕๒๕"

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นนั่งโต๊ะ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ว่ากันว่าเป็นเหรียญที่ออกแบบมาให้มีรูปทรงแบบเดี่ยวกับเหรียญรุ่นแรก แต่ด้านหลังแกะผิดเป็น พ.ศ. ๒๕๑๑ เพราะช่างเข้าใจผิด ที่หลวงพ่อบอกว่าให้ด้านหลังเหมือนเหรียญรุ่นแรก เมื่อสร้างเสร็จแล้วหลวงพ่อจึงได้เก็บมาตลอด และได้แจกออกไปแค่ไม่กี่เหรียญแก่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดเท่านั้น แล้วท่านได้ไว้ที่หิ้งบูชาปลุกเสกมาตลอดจนท่านมรณภาพ ภายหลังอาจารย์อิฏฐ์เจ้าอาวาสรูปต่อมาได้นำมาแจกแก่ผู้ที่ร่วมทำบุญรายใหญ่เท่านั้น จำนวนการสร้าง ๒,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นนั่งโต๊ะ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต นั่งเต็มองค์มีโต๊ะรองรับ มือทั้งสองข้างจับที่หัวเข่า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ(เนื่อง) วัดจุฬามณี"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ลาภผลพูนทวี สส พ.ศ. ๒๕๑๑" มีอักขระยันต์ล้อมไปกับขอบเหรีย

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ปี ๒๕๒๖

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง ในบางเหรียญจะมีการชุปนิเกิ้ลเพื่อความสวยงาม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี 2526 กระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เนื้อทองแดงชุปนิเกิ้ล

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดจุฬามณี ๒๕๒๖"

         เหรียญหลวงพ่อคง หลังหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยหลวงพ่อไสว อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อมในสมัยนั้น ขออนุญาตสร้างเพื่อแจกในงานกฐินของทางวัดบางกะพ้อม ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงินจำนวน ๒๕ เหรียญ เนื้อสตางค์จำนวน ๑๐๐ เหรียญ และเหรียญทองแดงจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี 2527 หลวงพ่อคง  เงิน
เหรียญหลวงพ่อคง หลังหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เนื้อเงิน ของคุณยุ่ยซี อัมพวา
เหรียญหลวงพ่อคง หลังหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อคง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌาย์คง วัดบางกะพ้อม พ.ศ. ๒๕๒๗" มีอักขระยันต์ล้อมรอบไปกับขอบเหรียญ

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌาย์เนื่อง วัดจุฬามณี ลาภ ผล พูน ทวี" มีอักขระยันต์ล้อมรอบไปกับขอบเหรียญ

         เหรียญเสมาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ปี ๒๕๒๗

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมาปั๊มตัดขอบแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญเสมาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง นั่งสมาธิเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง)"  

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ลาภผลพูนทวี วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม ๒๕๒๗"

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นลายเซ็นต์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปวงกลม มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญลายเซนต์หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี 2529  ทองคำ
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นลายเซ็นต์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองคำ ของร้านพระเครื่องวิศวกร

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นลายเซ็นต์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระที่เป็นลายเซ็นต์ของหลวงพ่อ อ่านได้ว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ" ในบางเหรียญจะมีการตอกโค้ดที่ด้านขวาของหลวงพ่อ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม ๒๕๒๙ ลาภ ผล พูน ทวี"

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นวันเกิด

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปวงกลม มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่เงิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี 2529 รุ่นวันเกิด
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นวันเกิด ปี พ.ศ. ๒๕๒๙

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ครึ่งองค์หันข้าง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกคล้ายวันเกิด ๑๓ ก.พ. ๒๙"

         เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นฉลองอายุครบ ๗๘ ปี

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปหยดน้ำแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี 2529 รุ่นอายุ 78 ปี
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นฉลองอายุครบ ๗๘ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี 2529 รุ่นอายุ 78 ปี ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นฉลองอายุครบ ๗๘ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ วัดจุฬามณี"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อายุ ๗๘ พ.ศ. ๒๕๒๙"

          เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นเจ้าสัวรับทรัพย์

         สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ไม่ทันหลวงพ่อเนื่อง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปไข่ใบมะนาวหรือลูกท้อ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อนวะโลหะ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นเจ้าสัวรับทรัพย์ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื้อนวะ

เหรียญหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นเจ้าสัวรับทรัพย์ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่อง นั่งเต็มองค์บนเก้าอี้ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ (หลวงพ่อเนื่อง)" บางเนื้อมีตอกโค้ดที่สังฆาฏิ

        ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "รุ่นเจ้าสัว รับทรัพย์ วัดจุฬามณี"

พระรูปหล่อของหลวงพ่อเนื่อง

         รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก เนื้อนวะ

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อนวะโลหะเพียงอยางเดียวเท่านั้น ถือเป็นรูปหล่อรุ่นแรกของหลวงพ่อเนื่อง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อนวะ

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเนื่อง"

         ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ และไม่มีอักขระภาษาไทยใดๆ ใต้ฐานมีการตอกโค้ด น.หนู

         รูปหล่อสามคณาจารย์หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณณี

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณทรงสามเหลี่ยมแบบเดียวกับพระหล่อสามเหลี่ยมของหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ มีการสร้างด้วยเนื้อนวะโลหะเพียงอยางเดียวเท่านั้น ถือเป็นรูปหล่อสามเหลี่ยมรุ่นแรกและรุ่นเดียวของหลวงพ่อเนื่อง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อสามคณาจารย์ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เนื้อนวะโลหะ

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเนื่อง"

         ด้านที่ ๒ มีรูปหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม นั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อคง"

         ด้านที่ ๓ มีรูปหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี นั่งเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแช่ม"

         รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณณี รุ่นสอง

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองแดงเพียงอยางเดียวเท่านั้น ถือเป็นรูปหล่อรุ่นที่ ๒ และเป็นรุ่นที่ทันหลวงพ่อเนื่อง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๒๐

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเนื่อง"

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ.๒๕๒๐" ใต้ฐานเรียบ

         รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณณี รุ่นสาม

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองแดงเพียงอยางเดียวเท่านั้น ถือเป็นรูปหล่อรุ่นที่ ๓ ที่ทันหลวงพ่อเนื่อง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นสาม ปี พ.ศ. ๒๕๒๗

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเนื่อง"

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ.๒๕๒๗" ใต้ฐานมีอุดด้วยโค้ด นะ

         รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณณี รุ่นน้ำมนต์แดง

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง ถือเป็นรูปหล่อรุ่นที่ ๔ และเป็นรุ่นสุดท้ายที่ทันหลวงพ่อเนื่อง แบ่งออกเป็นพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ เล่ากันว่า ปลุกเสกในพิธีใหญ่ และในขณะที่ปลุกเสก เกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้นนั่นก็คือน้ำมนต์ที่หลวงพ่อปลุกเสกเพื่อใช้ประพรมรูปหล่อกลายเป็นสีแดง

รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น น้ำมนต์แดง ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อเงิน พิมพ์ใหญ่

รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น น้ำมนต์แดง ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดง พิมพ์เล็ก

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเนื่อง"

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดจุฬามณี" ใต้ฐานมีการตอก โค้ด อุ และ โค้ด นะ

         รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณณี รุ่น ๘๐ ปี (ประคำมือ)

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ สร้างขึ้นเพื่อไว้แจกในคราวฉลองอายุของหลวงพ่อครบ ๘๐ ปี แต่ไม่ทันหลวงพ่อ ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อโลหะผสมแก่ทองแดง ถือเป็นรูปหล่อรุ่นที่ ๕ แต่ไม่ทันหลวงพ่อเนื่อง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น 80 ปี 2530 ทองคำ
รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น อายุ ๘๐ ปี(ประคำมือ) ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื้อทองคำ ของคุณเอ้ จุฬา

รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น 80 ปี 2530 เงิน
รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น อายุ ๘๐ ปี(ประคำมือ) ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื้อเงิน

รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น 80 ปี 2530
รูปหล่อหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น อายุ ๘๐ ปี(ประคำมือ) ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่าโดยมือขวาของหลวงพ่อถือลูกประคำ ที่ฐานมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเนื่อง"

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดจุฬามณี ๘๐ ปี จ.สมุทรสงคราม" ใต้ฐานมีการตอก โค้ด นะ ในบางองค์ไม่ตอกโค้ด

พระบูชาของหลวงพ่อเนื่อง

         พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดบูชาหน้าตัก ๕ นิ้ว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลืองเพียงอยางเดียวเท่านั้น ถือเป็นรูปหล่อบูชารุ่นแรกของหลวงพ่อเนื่อง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก หน้าตัก ๕ นิ้ว ปี พ.ศ. ๒๕๒๑

พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่นแรก หน้าตัก ๕ นิ้ว ปี พ.ศ.๒๕๒๑

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งพับเพียบเต็มองค์บนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง) วัดจุฬามณี อัมพวา สมุทรสงคราม" 

         ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ และไม่มีอักขระภาษาไทยใดๆ ใต้ฐานอุดด้วยปูนปาสเตอร์

         พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี พิมพ์สมาธิ

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดบูชาหน้าตัก ๕ นิ้ว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลืองเพียงอยางเดียวเท่านั้น ถือเป็นรูปหล่อบูชาปางสมาธิรุ่นแรก ของหลวงพ่อเนื่อง ปั้นหุ่นพระและหล่อโดยช่างบุญเรือน หงษ์มณี เจ้าของโรงหล่อพระย่านท่าพระธนบุรี กรุงเทพมหานคร จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี หน้าตัก ๕ นิ้ว ปี พ.ศ. ๒๕๒๗

พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี หน้าตัก ๕ นิ้ว ปี พ.ศ. ๒๕๒๗

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งสมาธิเต็มองค์บนฐาน องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  มีอักขระภาษาไทยแกะด้วยมืออ่านได้ว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง)"  (อักขระให้การแกะ ลูปด้วยนิ้วมือจะมีความคม) มีการปิดทองที่สังฆาฏิ

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยแกะด้วยมืออ่านได้ว่า "วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม" ใต้ฐานมีร่องรอยการเทเพื่อหล่อโลหะ

         พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี พิมพ์สรงน้ำ (นั่งรับทรัพย์)

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดบูชา ปั้นหุ่นพระและหล่อโดยช่างบุญเรือน หงษ์มณี เจ้าของโรงหล่อพระย่านท่าพระธนบุรี  กรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนประกอบกันคือ ๑. ส่วนของหลวงพ่อเนื่อง ๒. เก้าอี้  ๓. ฐาน แล้วนำมาเชื่อมติดกัน น้ำหนักของพระจะอยู่ที่ราวๆ ๖.๘ - ๗.๘  กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความหนาของแต่ละชิ้นส่วน

         ส่วนกรณีนั่ง​ชิดหรือนั่งหางไม่มี​ผลต่อการพิจารณา​เพราะตอนช่างฯ นำมาประกอบกันอาจวางองค์​พระห่างหรือชิดตามแต่ใจช่าง

         สมัยก่อนคนโบราณนิยมนำมาสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลภายในบ้าน ด้วยจะทำให้ค้าขายดี มีโภคทรัพย์ สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลืองเพียงอยางเดียวเท่านั้น ถือเป็นรูปหล่อบูชาที่มีราคาแพงที่สุดของหลวงพ่อเนื่อง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี พิมพ์สรงน้ำ ปี พ.ศ. ๒๕๒๗

พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี พิมพ์สรงน้ำ ปี พ.ศ. ๒๕๒๗

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งเต็มองค์บนเก้าอี้ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  ที่ฐานมีอักขระภาษาไทยแกะด้วยมือ อ่านได้ว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง)"  (อักขระใช้การแกะ ลูปด้วยนิ้วมือจะมีความคม) มีการปิดทองที่สังฆาฏิ

         ด้านหลัง ที่ฐานมีอักขระภาษาไทยแกะด้วยมืออ่านได้ว่า "วัดจุฬามณี พิมพ์สรงน้ำ ๑" บรรทัดที่ ๒ แกะด้วยมือ อ่านได้ว่า "๑๕ เม.ย. ๒๕๒๗" (อักขระใช้การแกะ ลูปด้วยนิ้วมือจะมีความคม) ใต้ฐานมีร่องรอยการเทเพื่อหล่อโลหะและการเชื่อมโลหะ

         พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี พิมพ์ประคำมือ

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดบูชา ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลืองเพียงอยางเดียวเท่านั้น ปั้นหุ่นพระและหล่อโดยช่างบุญเรือน หงษ์มณี เจ้าของโรงหล่อพระย่านท่าพระธนบุรี  กรุงเทพมหานคร จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี พิมพ์ประคำมือ ปี พ.ศ. ๒๕๒๗

พระบูชาหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี พิมพ์ประคำมือ ปี พ.ศ. ๒๕๒๗

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องนั่งเต็มองค์บนฐาน องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ  มือข้างซ้ายจับที่หัวเข่า มือข้างขวาถือประคำ มีอักขระภาษาไทยแกะด้วยมืออ่านได้ว่า "พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง)"  (อักขระให้การแกะ ลูปด้วยนิ้วมือจะมีความคม) มีการปิดทองที่สังฆาฏิ

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยแกะด้วยมืออ่านได้ว่า "วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม" ใต้ฐานมีร่องรอยการเทเพื่อหล่อโลหะ

         พระบูชาสังกัจจายน์หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ลักษณะเป็นรูปหล่อขนาดบูชา ขนาดหน้าตัก ๓ นิ้ว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลืองเพียงอยางเดียวเท่านั้น ปั้นหุ่นพระและหล่อโดยช่างบุญเรือน หงษ์มณี เจ้าของโรงหล่อพระย่านท่าพระธนบุรี กรุงเทพมหานคร จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบูชาสังกัจจายน์ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. 2527
พระบูชาสังกัจจายน์ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๒๗

          ด้านหน้า มีรูปพระสังกัจจจายน์นั่งเต็มองค์บนฐานบัวหงาย มีฐานชุกชีรองรับลวดลายสวยงาม มีการปิดทองที่กลางองค์พระ

          ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยแกะด้วยมืออ่านได้ว่า "วัดจุฬามณี ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม" ใต้ฐานมีร่องรอยการเทเพื่อหล่อโลหะ

เครื่องรางของหลวงพ่อเนื่อง

         ตะกรุดลูกอม หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ลักษณะเหมือนตะกรุดลูกอมของหลวงปู่ใจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคณาจารย์สายแม่กลองผู้โด่งดัง ซึ่งหลวงพ่อเนื่องได้ไปร่ำเรียนวิชามา โดยในยุคแรกๆนั้นหลวงพ่อเนื่องจะจารและม้วนตะกรุดด้วยเครื่อง ซึ่งขั้นตอนต่างๆหลวงพ่อทำด้วยตัวของท่านเอง

ตะกรุดลูกอม หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ตอกโค้ดสมอเรือ ของร้านเฉลิมศักดิ์พระเครื่อง

ตะกรุดลูกอม หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ตอกโค้ดสมอเรือ ของร้านเฉลิมศักดิ์พระเครื่อง

          โดยจะมีการตอกโค้ดสมอเรือ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ป้องกันการปลอมแปลง และแกนกลางจะเป็นรอยพับที่เกิดจากการม้วนตะกรุดด้วยเครื่องมือสมัยก่อน อย่างชัดเจน โดยลักษณะแกนกลางจะหักเป็นรูปตัว L ซึ่งเป็นอีกจุดในการสังเกตุได้เป็นอย่างดี ซึ่งตะกรุดของหลวงพ่อเนื่องมีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

         รูปถ่ายหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น นั่งโต๊ะ

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ลักษณะเป็นรูปภาพถ่ายขนาดเล็กไว้สำหรับห้อยคอ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ คาดว่าไม่เกิน ๒,๐๐๐ ใบ ถือเป็นเครื่องรางของหลวงพ่อในยุคแรกของหลวงพ่อเนื่อง ที่เป็นสากล

รูปถ่ายนั่งโต๊ะหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ของคุณวิโรจน์

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องเต็มองค์ นั่งพับเพียบบนโต๊ะ มือทั้งสองข้างประสาน

         ด้านหลัง มีรอยจารของหลวงพ่อ

         รูปถ่ายหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ๕ รอบ

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นรูปภาพถ่ายขนาดเล็กไว้สำหรับห้อยคอ จำนวนการสร้างประมาณ ๓,๐๐๐ ใบ ถือเป็นเครื่องรางของหลวงพ่อในยุคแรกๆ ที่เป็นสากล

รูปถ่ายหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี รุ่น ๕ รอบ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเนื่องหน้าตรง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ทำบุญอายุ ๕ รอบ หลวงพ่อเนื่อง" ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ปั๊มด้วยหมึกแดง

         รูปถ่ายหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นรูปภาพถ่ายขนาดเล็กไว้สำหรับห้อยคอ จำนวนการสร้างประมาณ ๓,๐๐๐ ใบ ถือเป็นเครื่องรางของหลวงพ่อในยุคแรกๆ ที่เป็นสากล

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสองค์ก่อนผู้เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเนื่อง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี ๒๕๑๒" ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ปั๊มด้วยหมึกแดง


**วัตถุมงคลช่วงท้ายๆของท่านทั้งเนื้อผงและเหรียญบางรุ่นไม่ได้จัดทำต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย**
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

Facebook : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง 

Facebook Group : กลุ่มสารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง   

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้