โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี ศิษย์เอกหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้

หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี
หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี

         หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า หรือ พระกาญจนวัตรวิบูล วัดทุ่งลาดหญ้า ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี หลวงพ่อสอน ท่านมีนามเดิมว่า สอน ณ ท่าล้อ มีโยมบิดาชื่อผู้ใหญ่ควร ณ ท่าล้อ โยมมารดาชื่อนางยิ้ม ณ ท่าล้อ เกิดเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ที่บ้านท่านกเอี้ยง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ในวัยเด็กท่านเป็นเด็กที่มีความฉลาดเฉลียว มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตาสูง

          เมื่อท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี ท่านได้เข้ารับการเกณฑ์ทหารตามระเบียบปฏิบัติของชายไทยที่ดี โดยอยู่ในราชการทหาร ๒ ปี ภายหลังจากปลดเป็นทหารกองหนุนแล้ว ท่านจึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดท่าล้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยมี

         พระอุปัชฌาย์ช้าง วัดท่าล้อ เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อเปลี่ยน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระปลัดจู วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่ออุปสมบทแล้วได้อยู่จำพรรษาที่วัดท่าล้อ เพื่อศึกษาวิชากับหลวงพ่อช้าง วัดท่าล้อ โดยวิชาที่ศึกษานั้นมีทั้งวิชาด้านกรรมฐานและศึกษาการเขียนภาษาบาลีและอักขระขอมต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังได้เดินทางไปศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ อีกด้วย


หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว หลวงปู่ดี วัดเหนือ และหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า


         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดลาดหญ้า ได้ว่างลงชาวบ้านลาดหญ้า ที่เคยได้พบเจอหลวงพ่อสอนและชื่มชมในคุณงามความดีของท่าน ชาวบ้านต่างพร้อมใจกันมานิมนต์หลวงพ่อสอน ให้มารับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดลาดหญ้า ซึ่งขณะนั้นยังคงมีชื่อว่า "วัดลาดหญ้า"

         สำหรับวัดลาดหญ้า ตั้งอยู่ที่บ้านลาดหญ้า หมู่ ๑ ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ความเป็นมากล่าวว่า ก่อนการสร้างวัด เหนือบริเวณวัดทุ่งลาดหญ้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองกาญจนบุรีเก่า ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของไทยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

         โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ ใกล้เขาชนไก่ ภายในเมืองมีซากวัดต่างๆ ถึง ๗ วัด คือ วัดขุนแผน วัดนางพิม วัดแม่หม้ายเหนือ วัดแม่หม้ายใต้ วัดมอญ วัดจีน วัดป่าเลไลยก์ และบริเวณที่เรียกกันว่าตลาดนางทองประศรี

         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประชาชนได้เริ่มมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนริมแม่น้ำแควใหญ่มากขึ้น การคมนาคมในสมัยนั้นต้องใช้เส้นทางน้ำสัญจรมาจากเมืองท่ากระดาน เมืองศรีสวัสดิ์ ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป โดยการใช้แพหรือล่องเรือตามลำน้ำแควใหญ่ผ่านบ้านลาดหญ้า 

หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี

         ต่อมาเมื่อชุมชนเริ่มหนาแน่นขึ้นจึงได้มีการสร้างวัดขึ้นบริเวณลำน้ำแควใหญ่ที่บ้านลาด ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีชื่อวัดตามชื่อท้องที่ว่า "วัดลาดหญ้า" ปรากฏรายนามเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดมาโดยลำดับ คือ

         ๑. พระอธิการช่วง ไม่พบหลักฐานว่าเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดมาแต่ปีใด แต่ในหนังสือ "ทำเนียบคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๓" คือในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้ปรากฏชื่อของท่านเป็นเจ้าอาวาส
         ๒. พระอธิการแมว
         ๓. พระอธิการกล่อม
         ๔. พระกาญจนวัตรวิบูล (สอน อินฺทสโร) พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๐๙
         ๕. พระมงคลสิทธิคุณ (ลำใย ปิยวณฺโณ) พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๔๖
         ๖. พระครูสิทธิกิจจานุวัตร (ประเสริฐ อติเมโธ) พ.ศ. ๒๕๔๖-ปัจจุบัน

         วัดทุ่งลาดหญ้าเดิมมีอุโบสถหลังเล็กๆ อยู่ริมน้ำ ต่อมาได้ถูกน้ำเซาะตลิ่งพัง หลวงพ่อสอนได้ดำเนินการจัดสร้างอุโบสถขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ แล้วเสร็จจนประกอบพิธีผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙

         ต่อมาในสมัยพระมงคลสิทธิคุณ (ลำใย ปิยวณฺโณ) ได้มีการสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ และในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ นี้เองที่พระมงคลสิทธิคุณ (ลำใย ปิยวณฺโณ) ได้เปลี่ยนชื่อวัด "ลาดหญ้า" มาเป็น "วัดทุ่งลาดหญ้า"

หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี

         เมื่อหลวงพ่อสอน ได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านก็ได้พัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้า ทั้งการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดและสอนให้ชาวบ้านลาดหญ้าตระหนักถึงบุญบาป จนเป็นที่รักของชาวบ้านลาดหญ้า และได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ "พระครูยติวัตรวิบูล"

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ หลวงพ่อสอน ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระกาญจนวัตรวิบูล" เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑

         หลวงพ่อสอน มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ นับรวมสิริอายุได้ ๗๕ ปี ๕๓ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า

         เหรียญผูกพัทธสีมาวัดลาดหญ้า

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาวัดลาดหญ้า ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา ข้างเลื่อย โดยเหรียญรุ่นนี้นอกจากหลวงพ่อสอนจะปลุกเสกแล้ว ยังได้หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้เป็นผู้ปลุกเสกด้วยอีกท่านหนึ่ง โดยสามารถแบ่งออกเป็น ๒ บล็อกด้วยกันคือ พิมพ์เสมาใหญ่ กับ พิมพ์เสมาเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญผูกพัทธสีมาวัดลาดหญ้า พิมพ์ฐานเล็ก 2479 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญผูกพัทธสีมา วัดลาดหญ้า ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ พิมพ์เสมาเล็ก ของคุณปกร ปรการ
เหรียญผูกพัทธสีมา วัดลาดหญ้า ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ พิมพ์เสมาใหญ่ ของคุณอั้ม ท่าไม้

เหรียญผูกพัทธสีมา วัดลาดหญ้า ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ พิมพ์เสมาเล็ก

         ด้านหน้า เป็นรูปใบเสมา มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการผุกพัทะสีมาฝังลูกนิมิตต์วัดลาดหญ้า" ด้านบานขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ.๒๔๗๙" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ

          ด้านหลัง  เรียบไม่มีอักขระใดๆ

         รูปหล่อหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ เนื้อทองเหลือง อุดกริ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น ๒ พิมพ์คือพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก ซึ่งจะแตกต่างกันที่ขนาดและริ้วจีวร จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า พิมพ์ใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ของคุณศิริชัย นาเวช

รูปหล่อหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า พิมพ์ใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐

รูปหล่อหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า พิมพ์เล็ก ปี พ.ศ. ๒๕๐๐

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสอน นั่งสมาธิองค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ บนฐานเขียง ไม่มีอักขระภาษาใดๆ

         ด้านหลัง  ปลายสังฆาฏิพาดยาวจรดฐานเขียง ไม่มีอักขระใดๆ

         พระท่ากระดาน หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า พิมพ์เล็กหลังยันต์

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเหมือนพระท่ากระดาน ทั่วไปแต่มีขนาดเล็กและมีเอกลักษณ์ที่ยันต์ด้านหลัง สร้างด้วยเนื้อตะกั๋วเก่าจากกรุต่างๆในจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อสร้างแล้วบางส่วนได้นำไปบรรจุกรุไว้ที่พระเจดีย์ของทางวัดและบางส่วนได้แจกจ่ายให้กับชาวบ้าน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระท่ากระดาน หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า พิมพ์เล็กหลังยันต์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อตะกั่ว

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองเป็นรูปพระท่ากระดาน โดยที่ปลายเกศจะงอโค้ง องค์พระไม่มีอักขระภาษาใดๆ

         ด้านหลัง  มียันต์อุ ๒ สองตัวปลายหางชี้ขึ้นบน และลงล่างอย่างละตัว ไม่มีอักขระภาษาใดๆ

         พระท่ากระดาน หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า พิมพ์ใหญ่เกศตุ่ม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเหมือนพระท่ากระดาน ทั่วไปแต่มีขนาดใหญ่กว่าพิมพ์เล็ก สร้างด้วยเนื้อตะกั๋วเก่าจากกรุต่างๆในจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อสร้างแล้วบางส่วนได้นำไปบรรจุกรุไว้ที่พระเจดีย์ของทางวัดและบางส่วนได้แจกจ่ายให้กับชาวบ้าน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระท่ากระดาน พิมพ์ใหญ่เกศตุ่ม หลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อตะกั่ว

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองเป็นรูปพระท่ากระดาน โดยที่ปลายเกศจะเป็นตุ่ม องค์พระไม่มีอักขระภาษาใดๆ

         ด้านหลัง  ไม่มีอักขระภาษาใดๆ

         เหรียญหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว เพื่อแจกจ่ายให้แก่บรรดาลูกศิษญ์ที่มาร่วมในงานฉลองการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะของหลวงพ่อสอน มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๒

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อสอน ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูกาญจนวัตรวิบูล" 

         ด้านหลัง  มียันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๗.เมย.๒๕๐๒"

         เหรียญหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ลักษณะเป็นเหรียญรูปเสมาแบบมีหูในตัว เพื่อแจกจ่ายให้แก่บรรดาลูกศิษญ์ที่มาร่วมในงานฉลองอายุครบ ๖ รอบ ของหลวงพ่อสอน มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน เนื้อทองแดงผิวไฟ และเนื้อทองแดงชุบนิเกิ้ล จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อสอน วัดทุ่งลาดหญ้า รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อสอน ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูกาญจนวัตรวิบูล"

         ด้านหลัง  มียันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกครบ ๖ รอบ ๑๑ เมษายน ๒๕๐๗"


หมายเหตุ : หลวงพ่อสอนท่านไม่ได้เป็นศิษย์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว อย่างที่มีหลายคนเข้าใจผิดกัน ด้วยหลวงปู่ยิ้ม มรณภาพปี พ.ศ. ๒๔๕๓ แต่หลวงพ่อสอน บวชเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงไม่ได้เป็นศิษย์อาจารย์กัน

ข้อมูล : หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนางน้ำ นาคะ
โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้