ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ สมุทรสงคราม พระเก่งที่สมาถะของเมืองแม่กลอง
![]() |
หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด ท่านถือกำเนิดในพื้นที่บ้านสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยหลวงพ่อเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ โยมบิดาชื่อนายฉลู ตรีเพชรคง โยมมารดาชื่อนางแป้น ตรีเพชรคง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน ๖ คน โดยหลวงพ่อเก๋ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓
พระครูธรรมวิถีสถิต (หลวงพ่อโต) วัดคู้ธรรมสถิต เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูสุตาภิรัต (หลวงพ่อรอด) วัดบางขันแตก เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้วท่านก็ได้อยู่จำพรรษาที่วัดวชิรคามเรื่อยมาเพื่อศึกษาวิชาการต่างๆ ซึ่งหลวงพ่อเก๋ นั้นมีความสามารถโดดเด่นในเชิงช่างไม้ พอสอบนักธรรมตรีได้
หลวงพ่อทองอยู่ เจ้าอาวาสวัดแม่น้ำ จึงขอตัวท่านให้มาช่วยงานที่วัดแม่น้ำ หลวงพ่อทองอยู่ท่านมีชื่อเสียงในด้านวิชาอาคมทำตะกรุดใต้น้ำและแพทย์แผนโบราณ เก่งสมุนไพร ว่านยา ทำให้หลวงพ่อเก๋ได้ศึกษาวิชาการต่างๆเหล่านี้จากหลวงพ่อทองอยู่ไว้จนหมดสิ้น
ต่อมาหลวงพ่อทองอยู่ได้นำท่านไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ”หลวงพ่อโต วัดคู้ธรรมสถิต” และ “หลวงพ่อรอด วัดบางขันแตก” ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิชาอาคมขลัง
![]() |
หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ สมุทรสงคราม |
นอกจากนี้ท่านยังได้ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนกรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงปู่บ่าย วัดช่องลม
โดยในเวลากลางวันท่านจะไปเรียนกับหลวงปู่บ่าย พอตกเย็นท่านก็จะเดินทางไปจำวัดที่วัดบางกะพ้อม เพื่อเรียนวิชากับหลวงพ่อคง ในเวลากลางคืน โดยร่ำเรียนแบบนี้อยู่หลายปี นอกจากนี้ท่านยังได้ไปศึกษากับหลวงพ่อแก้ว วัดหัวนา อีกด้วย
ในพรรษาที่ ๖ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลวงพ่อเก๋ ท่านได้เริ่มเดินธุดงค์วัตร โดยท่านได้ธุดงค์ไปที่จังหวัดอุตรดิตร์ พิษณุโลก และเลยขึ้นไปทางภาคเหนือ
ซึ่งในสมัยนั้นเป็นบ้านป่าบ้านดง
รกร้าง ไม่ค่อยมีผู้คนอยู่อาศัย โดยท่านจะเดินธุดงค์ทุกปี แต่เมื่อถึงเวลาอันสมควรท่านก็จะเดินทางกลับมาที่วัดแม่น้ำ เพื่อให้ทันเข้าพรรษาเนื่องจากท่านเป็นพระที่สวดปาฏิโมกข์ เป็นอย่างนี้เรื่อยมา
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งปีนั้นหลวงพ่อเก๋ บวชเรียนได้ ๑๑ พรรษา หลวงพ่อทองอยู่ เจ้าอาวาสวัดแม่น้ำ มรณภาพลง ชาวบ้านและบรรดาศิษย์วัดแม่น้ำเห็นพ้องกันนิมนต์หลวงพ่อเก๋ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน
กล่าวถึงวัดแม่น้ำ เดิมมีชื่อว่าวัดบางนางจีนนอก พื้นที่บริเวณนี้มีวัดอยู่ติดกันถึงสามวัด
โดยปรากฏหลักฐานเป็นซากของพระอุโบสถเก่าๆ อยู่ในบริเวณนี้ถึงห้าหลัง
กาลเวลาต่อมาเนินนานเข้าจึงได้ยุบมารวมกันเป็นวัดเดียวและเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า "วัดแม่น้ำ"
วัดแม่น้ำ เป็นวัดที่มีความสำคัญมาแต่อดีต ภายในวัดมี “หลวงพ่อวิหาร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด สอบถามจากชาวบ้านได้ความว่า หลวงพ่อวิหารเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางอุ้มบาตร แต่จะมาอยู่ที่วัดแม่น้ำแห่งนี้ได้อย่างไร
ไม่มีใครสามารถตอบได้ บางคนบอกว่าเกิดมาก็เจอท่านอยู่ในวัดแล้ว
ขณะที่บางคนก็บอกว่าลอยน้ำมา บ้างก็ว่าปั้นจำลองมาจากหลวงพ่อวัดบ้านแหลม
![]() |
หลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ สมุทรสงคราม |
ความน่าสนใจเกี่ยวกับ ”หลวงพ่อวิหาร” คือ หลวงพ่อวิหาร(องค์จริง) ถูกเก็บรักษาไว้บนกุฏิ มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรเหมือนหลวงพ่อวัดบ้านแหลม
แต่หลวงพ่อวิหาร(องค์จำลอง) ที่อยู่ในวิหาร มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ส่วนเหรียญหลวงพ่อวิหาร(รุ่นแรก) ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ ก็เป็นรูปแบบเดียวกับองค์จริงที่อยู่บนกุฏิมีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้
๑. พระอ่อน
๒. พระอ้น
๓. พระเพิ่ม
๔. พระคล้ำ
๕. หลวงพ่ออยู่
๖. พระครูสุนันท์วิริยาภรณ์
๗. พระครูสังฆรักษ์สัมฤทธิ์
๘. พระปริญญา จารุวณฺโณ
เมื่อหลวงพ่อเก๋ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ภาระสมภารมีมากมาย จึงหยุดการศึกษาจากอาจารย์ต่างๆ ลง และทำหน้าที่เจ้าอาวาสสืบต่อมาโดยหลวงพ่อได้พัฒนาวัดแม่น้ำ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองและยังได้สร้างเสนาสนะต่างๆให้แข็งแรงมั่นคงสืบต่อมา
หลวงพ่อเก๋ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ นับรวมสิริอายุได้ ๙๐ ปี ๖๙ พรรษา โดยหลังจากที่ท่านมรณภาพลงแล้ว ปรากฏว่าร่างกายไม่เน่าเปื่อย.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ คนสมัยก่อนมักเรียกว่าทรงเรือบด โดยเป็นเหรียญที่มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และทองแดงกระไหล่เงิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ (ในบางเหรียญจะมีการตอกเลข "๒๔๙๐" เพื่อบอกปีที่สร้างซึ่งหายาก)
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๒
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว
มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ โดยเชื่อกันว่าเหรียญเนื้อเงินสร้างจำนวน ๑๐๐ เหรียญ เท่านั้น เหรียญรุ่นนี้มีชื่ออีกชื่อว่าเหรียญจิ๊กโก๋ เหตุเพราะเหรียญรุ่นมีประสบการณ์ยิงฟันไม่เข้า พวกนักเลงจึงนิยมเสาะหามาบูชาติดตัว จนเป็นชื่อเรียกของพระรุ่นนี้ในเวลาต่อมา
![]() |
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๒ (จิ๊กโก๋) ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อเงิน ของคุณรูญ หลักห้า |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๒ (จิ๊กโก๋) ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้ออัลปาก้า |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๒ (จิ๊กโก๋) ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิริยาภรณ์ (เก๋)"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดแม่น้ำ"
เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกะไหล่เงิน และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ จัดเป็นเหรียญดีพิธีเก่าลึก มีประสบการณ์มากมายเนื่องด้วยมีสุดยอดพระเกจิอาจารย์ร่วมพิธีปลุกเสกอย่างยิ่งใหญ่สุดเข้มขลัง อาทิ เช่น หลวงปู่รุ่ง วัดท่ากระบือ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ หลวงพ่อโต วัดคู้ธรรมสถิตย์ หลวงพ่อบุญรอด วัดบางขันแตก หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี และหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ เป็นต้น
![]() |
เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ของพระปลัดจติชัย มหาวายาโม วัดปากท่อ |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อวิหาร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัด ด้านข้างมีอักขระยันต์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวิหาร"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ (ในบางเหรียญจะมีการตอกเลข "๒๔๙๐" เพื่อบอกปีที่สร้าง)
เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ลักษณะเป็นเหรียญใบเสมาทรงสูง มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว
จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ จัดเป็นเหรียญดีอีกเหรียญหนึ่งของวัดแม่น้ำ เล่ากันว่าเหรียญรุ่นนี้ปลุกเสกโดย หลวงปู่รุ่ง
วัดท่ากระบือ และหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ
![]() |
เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นสอง เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อวิหาร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัด ด้านข้างมีอักขระยันต์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวิหาร"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และยันต์อื่นๆล้อมรอบ
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๓
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง
จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ โดยเหรียญรุ่นนี้ได้ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี
ร่วมปลุกเศก และจัดเป็นเหรียญที่ออกแบบได้สวยงามมาก
และเหมือนหลวงพ่อมากที่สุด ประสบการณ์ เด่นทางด้าน คงกระพันชาตรี
![]() |
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนันทวิริยาภรณ์ (เก๋) วัดแม่น้ำสมุทรสงคราม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ บนยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ศิษย์สร้างถวาย พ.ศ. ๒๕๑๗"
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๔
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลม มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงอย่างเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋เต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต นั่งสมาธิบนตั่ง ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเก๋"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดแม่น้ำ ๒๕๒๙"
เหรียญกองกษาปณ์ หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ไม่มีหูในตัว
โดยเหรียญรุ่นนี้มีการว่าจ้างกองกษาปณ์เป็นผู้ออกแบบและผลิตให้ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเนื้อเดียวเท่านั้น
จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ กองกษาปณ์ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋หันข้างครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนันทวิริยาภรณ์ (หลวงพ่อเก๋) วัดแม่น้ำ จ.สมุทรสงคราม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และล้อมรอบด้วยอักขระยันต์ล้อไปกับขอบเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ลาภผลพูนทวีไพรีพินาจ พุทธศักราช ๒๕๓๖"
เหรียญจิ๊กโก๋ ๒ หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว(ไม่เจาะหูเหรียญ) ซึ่งคล้ายกับเหรียญรุ่น ๒ ของท่าน โดยหลวงพ่อเก๋ ทำการพุทธภิเศกในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ มีการสร้างด้วยหลายเนื้อ
จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ (จิ๊กโก๋ ๒) ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนันทวิริยาภรณ์"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดแม่น้ำ"
เหรียญมหามงคล หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่
โดยเหรียญรุ่นนี้มีการแกะเหรียญได้สวยงาม มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เงิน ทองแดง และเนื้อตะกั่ว
ทุกเหรียญจะมีการตอกโค้ด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๖ มหามงคล ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื้อเงิน |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๖ มหามงคล ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื้อตะกั่ว |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋หันข้างครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะหน้าทอง และอักขระยันต์อื่นๆ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "มหามงคล ๓๙ จ.สมุทรสงคราม"
เหรียญปาดตาล หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ลักษณะคล้ายเหรียญปาดตาลของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงินลงยา และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญปาดตาลหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ |
ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋หันครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ ที่ระลึก"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๕๓๙"
ตะกรุดจันทร์เพ็ญ หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ
จัดเป็นวัตถุมงคลที่หลวงพ่อเก๋ สร้างขึ้นในยุคแรกๆ ยิ่งในสมัยที่ท่านยังไม่ชรา ชาวบ้านที่ได้รับแจกจะบอกกันว่าท่านจะลงไปเสกตะกรุดจันทร์เพ็ญในแม่น้ำ ตะกรุดนี้มีพุทธคุณทางคงกระพันสูง
![]() |
ภาพถ่ายหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ หลังตะกรุดจันทร์เพ็ญ |
จัดเป็นวัตถุมงคลที่หายากมากของท่าน เนื่องจากท่านหวงตะกรุดที่ท่านทำเองกับมือเป็นอย่างมาก ไม่แจกให้กับใครง่ายๆ แม้จะทำบุญกับท่านหนักเพียงใดก็ตาม
ดอกบานไม่รู้โรย หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ
ส่วนวัตถุมงคลทางมหานิยม ค้าขายโชคลาภขึ้นชื่อของหลวงพ่อเก๋คือ ดอกบานไม่รู้โรยปลุกเสกตามวิชาที่ท่านเรียนมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดหัวนา ซึ่งลูกศิษย์ตลอดจนญาติโยมละแวกวัดรู้ดีว่า นั่นแหละเป็นของเมตตาชั้นเยี่ยม
![]() |
ดอกบานไม่รู้โรย หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ |
ท่านว่า...ดอกบานไม่รู้โรยเป็นของดี นามของดอกไม้นี้ก็บอกแล้วว่า “บานไม่รู้โรย ฉะนั้นความมั่งมีมันจะไม่โรยรา....”
หลวงพ่อเก๋ ท่านเป็นพระที่เก่งกาจ ใครยิงฟันกันถ้ามีของดีของหลวงพ่ออยู่ในคอรับรองว่าไม่เสียเลือด ขนาดที่มีศิษย์ของท่านโดนยิงตกคลองร่องสวน ยังลุกขึ้นมาเดินปร๋อ จนเป็นที่ฮือฮา นอกจากนี้ท่านยังมีอุปนิสัยรักความเป็นระเบียบและรักความถูกต้อง ท่านจะไม่ออกเลี่ยไล่ให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน ท่านสร้างและบูรณะวัดของท่านไปเรื่อยๆ รวมทั้งท่านยังไม่รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ด้วยท่านเบื่อหน่ายกับคนที่จะมาบวชที่ท่องบทขอบวชได้มั่งไม่ได้มั่ง ต้องบอกต้องสอนกันตอนบวช เป็นที่น่าเบื่อหน่าย
ท่านจะสอนศิษย์เสมอๆว่าให้ละเว้นความชั่วต่างๆ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตได้อย่างอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ต้องกลัวภัยอันตรายใดๆ เพราะความดีจะเป็นเกราะคุ้มกันเอง.
**วัตถุมงคลช่วงท้ายๆของท่านทั้งเนื้อผงและเหรียญบางรุ่นไม่ได้จัดทำต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย**
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น