โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง ราชบุรี เหรียญเก่าของดีที่หายาก

หลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง ราชบุรี

          หลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง หรือ หลวงพ่อยอดสูง วัดใหญ่อ่างทอง ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าของเมืองราชบุรี ดำรงตำแหน่งเจ้าอธิการหมวดยอด และเป็นเจ้าคณะตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรีด้วย ท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในเขตพื้นที่ตำบลอ่างทอง ตำบลดอนแร่ เป็นอย่างมาก

          ด้วยว่าพื้นที่ตำบลเหล่านี้สมัยก่อนนักเลงหัวไม้เยอะ เรียกว่าใครแปลกหน้าอย่าข้ามถิ่นไป เป็นได้มีเรื่องทุกที ประกอบกับในสมัยนั้น พื้นที่เป็นบริเวณป่าทึบมีสิ่งเร้นลับมากมาย ทั้งภูติผีปีศาจ 

         โดยหลวงพ่อยอดนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิชาอาคมแข็งกล้ารูปหนึ่ง ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ทรงคุณทางด้านวิทยาคม โดยเฉพาะวิชามหาอุดของท่านถือเป็นปรมาจารย์ทางด้านนี้ 

          แต่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีใครรู้จักท่าน หลวงพ่อยอดได้รับการเคารพศรัทธาจากชาวบ้านมาก เพราะด้วยอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ด้านวิชาอาคมของท่าน และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากพระเครื่องของท่าน ที่กล่าวได้ว่ามีพุทธคุณโดดเด่นในด้านคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดอย่างยิ่ง

         เสียดายที่ปัจจุบันไม่มีการค้นพบหลักฐานว่าหลวงพ่อยอดนั้นมีประวัติ ความเป็นมาอย่างไรให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง มีแต่เรื่องเล่ากันมาว่าท่านเป็นสหมิกธรรมกับหลวงพ่อเทียน วัดป่าไก่ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหญ่อ่างทองได้ว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อยอด ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน

ภาพถ่ายพระอุโบสถหลังเก่า วัดใหญ่อ่างทอง ราชบุรี
พระอุโบสถหลังเก่าวัดใหญ่อ่างทอง ราชบุรี ที่สร้างในสมัยของหลวงพ่อยอด

         วัดใหญ่อ่างทอง มีความเป็นมาเล่ากันต่อมาว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๙ หลวงพ่อโนจา พระชาวเชียงใหม่ได้ธุดงค์มาถึงบริเวณที่ตั้งวัด และเห็นว่าพื้นที่นี้เหมาะแก่การพักปฏิบัติธรรม ประกอบกับมีชาวบ้านศรัทธาจึงได้นิมนต์ท่านอยู่ที่นี้ แล้วจึงได้เริ่มสร้างกุฏิให้ท่านพำนัก ต่อมาจึงได้สร้างเป็นวัดขึ้นมาชื่อ "วัดใหญ่อ่างทอง"

          ตำบลอ่างทองนั้นแต่เดิมมีชื่อว่า "ตำบลดอนงิ้ว" หากต่อมามีการรวบรวมหมู่บ้านบริเวณนี้ซึ่งมีหลายหมู่บ้านมารวมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน แล้วขนานนามเสียใหม่ว่า "บ้านใหญ่อ่างทอง" ด้วยพื้นที่มีภูเขาเป็นฉากหลังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก

         เมื่อถึงฤดูฝนวึ่งมีน้ำหลากไหลลงมาสู่ที่ราบลุ่มวงรีเหมือนกับอยู่ในอ่าง โดยสายน้ำได้นำเอาแร่ธาตุต่างๆ มาด้วย โดยเฉพาะแร่ทองคำ ที่อดีตชาวบ้านเล่าขานกันว่า สถานที่แห่งนี้มีทองคำเคลื่อนที่ได้ ซึ่งจะไหลมารวมกันที่บริเวณหน้าวัด         

          ในทะเบียนวัดของจังหวัดราชบุรี ที่จัดทำโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี ได้บันทึกไว้ว่า วัดใหญ่อ่างทอง ประกาศจัดตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ และวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕
ภาพถ่ายพระอุโบสถหลังเก่า วัดใหญ่อ่างทอง ราชบุรี
พระอุโบสถหลังเก่าวัดใหญ่อ่างทอง ราชบุรี ที่สร้างในสมัยของหลวงพ่อยอด

         หลังจากที่หลวงพ่อยอด ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ทั้งยังสร้างพระอุโบสถก่ออิฐถือปูนขึ้น เพื่อใช้ในการทำสังฆกรรมของทางวัดอีกด้วย

         ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายในวัดใหญ่อ่างทอง เป็นโบราณสถานที่หลบซ่อนสายตาอยู่ นั่นก็คือโบสถ์หลังเก่า ที่หน้าบันจารึกว่ามีการซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ (สร้างในสมัยของหลวงพ่อยอด) โดยโบสถ์หลังนี้จึงน่าจะมีอายุมากกว่าหนึ่งร้อยปี

         สภาพภายนอกมีความเก่าแก่ มองเห็นถึงความงดงาม แต่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมพอสมควร ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกคลุม หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นงดงาม หัวเสาจารึกชื่อผู้ร่วมบริจาคในการบูรณะโบสถ์หลังนี้ 

         โบสถ์หลังนี้ปิดอยู่เพราะไม่ใช้งานและทรุดโทรม ซึ่งภายในมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ๓ องค์ มีอยู่หนึ่งองค์ที่ถูกลักตัดเศียรไปแล้ว

        หลวงพ่อยอด ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ นับรวมที่ท่านปกครองวัด ๒๘ ปี.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง

          เหรียญปั๊มหลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง รุ่นแรก

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมาข้างเลื่อย แบบมีหูในตัว เล่ากันว่ามีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ ๑ เหรียญ เนื้อเงิน ๑ เหรียญ และเนื้อทองแดงเท่าจำนวนอายุ 

เหรียญหลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง รุ่นแรก เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อยอดนั่งขัดสมาธิเต็มรูป มีอักษรไทยจารึกไว้โดยรอบว่า "พระอาจารย์ยอดสูงวัดอ่างทอง"

          ด้านหลัง เป็นยันต์และอักขระขอม

          เหรียญหล่อหลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง รุ่นแรก

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยใช้วิธีการหล่อโบราณ ลักษณะของเหรียญเป็นเหรียญหล่อทรงเสมาแบบ มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างเหรียญรุ่นนี้คาดว่ามีไม่เกิน ๑,๐๐๐ เหรียญ 
เหรียญหล่อหลวงพ่อยอดสูง วัดใหญ่อ่างทอง รุ่นแรกปี พ.ศ. 2465
เหรียญหล่อหลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ของคุณภัทรเมท ธรรมกิจวัฒน์

เหรียญหล่อหลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕

          ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อยอด นั่งขัดสมาธิเต็มรูป มือวางอยู่ในลักษณะท่ามารวิชัย คือมือขวาวางบนหน้าเข่า มือซ้ายวางบนหน้าตัก เหรียญของท่านด้านหน้ามีอักขระขอมล้อมรอบอ่านว่า "พุทธัง อะสุวิ สีลัง" และด้านบนเศียรหลวงพ่อมีอักษรขอมสามตัวอ่านว่า "มะ อะ อุ"

          ด้านหลัง เหรียญหล่อของหลวงพ่อลงด้วยคาถามหาอุด "พุทธังอุด ธัมมังอัด สังฆังคัด อุดนะอุด มะอุด"

          เหรียญปั๊มหลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง รุ่น ๒

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ เชื่อกันว่าเหรียญรุ่นนี้ได้รับการปลุกเสกโดยหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ เพชรบุรี

เหรียญหลวงพ่อยอด วัดใหญ่อ่างทอง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้ออัลปาก้า

          ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อยอดสูง ครึ่งองค์ห่อจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "วัดใหญ่ ๑๑ อ่างทอง หลวงพ่อยอด"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์เหมือนกับเหรียญของหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ

          เมื่อพิจารณาถึงตัวอักขระในเหรียญของท่านแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเหรียญนี้ถึงมีคุณวิเศษด้านมหาอุด กล่าวกันว่าเหรียญของท่านหายากเหรียญหนึ่งของจังหวัดราชบุรี หากผู้ใดพบเจอถือเป็นของวิเศษเลยทีเดียว คนพื้นที่หวงแหนกันมาก

          สำหรับเหรียญหล่อหลวงพ่อยอด นั้นเล่ากันว่าเคยไปออกที่วัดสนามไชย ตำบลดอนกรวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จึงมีความเข้าใจผิดว่าเป็นของหลวงพ่อสอน วัดสนามไชย จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีความเชื่ออย่างงั้นอยู่ นอกจากนี้เหรียญหล่อรุ่นดังกล่าวมีสกุลช่างค้ลายกับเหรียญหล่อของหลวงพ่อนิ่ม วัดหนามพุงดอ จึงพอสันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างจากโรงงานเดียวกัน.


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้