หลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ราชบุรี |
หลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก หรือ พระครูธรรมสาทิศ (ธมฺมสโร) วัดใหญ่โพหัก ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ท่านถือว่าเป็นพระเกจิที่มีวัตถุมงคลเป็นที่นิยมสูงเป็นอันดับต้นๆของอำเภอบางแพ จากประสบการณ์เหรียญของหลวงพ่อที่มีคนนำไปแขวนแล้วยิงไม่เข้า หรือไม่ก็คลาดแคล้วจากอุบัติเหตุต่างๆ อย่างน่าเหลือเชื่อ ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมาก
หลวงพ่อแม้น ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๔ โยมบิดาชื่อนายทอง ทิมบุตร โยมมารดาชื่อนางโมง ทิมบุตร เป็นชาวตำบลโพธิ์หักมาแต่กำเนิด ในว้ยเยาว์ได้ศึกษาการอ่านเขียนภาษาไทยและบาลีจากพระอาจารย์กล่อม วัดใหญ่โพหัก
ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ หลวงพ่อแม้น ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดใหญ่โพหัก ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ได้รับชื่อฉายาว่า "ธมฺมสโร" โดยมีหลวงพ่อแดง วัดทำนบ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการดำ วัดจินดาราม อำเภอสามพราน นครปฐม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการอ้น วัดโพใหญ่หัก เป็นพระอนุสาวนาจารย์เมื่อบวชแล้วท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่โพธิ์หักเรื่อยมา เพื่อร่ำเรียนวิชาอาคมจากพระอาจารย์หลายท่านทั้งในจังหวัดราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
โดยเริ่มตั้งแต่หลวงพ่อกล่อม วัดโพหัก หลวงพ่อแดง วัดทำนบ หลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง หลวงพ่อดำ วัดจินดาราม หลวงพ่อรุ่ง วัดดอนยายหอม เป็นต้น
หลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ท่านมีพระสหพันธมิกที่สนิทคือหลวงเงิน วัดดอนยายหอม และหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้องปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระอธิการอ้น เจ้าอาวาสวัดใหญ่โพหักได้ถึงแก่มรณภาพ ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหญ่โพหักว่างลง ทางคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อแม้นขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่โพหัก ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
วัดใหญ่โพหัก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔๐ ไร่
วัดใหญ่โพหัก มีประวัติเกี่ยวข้องกับตำนาน พญากง พญาพาน กล่าวว่า พญาพานได้ยกทัพเพื่อจะไปรบกับพญากงผู้เป็นบิดา ผ่านมาบริเวณบ้านโพหักนี้ เห็นว่ามีทำเลที่เหมาะสม จึงได้หยุดพักไพร่พล
เหล่าไพร่พลที่มาในกองทัพได้เอาศาสตราวุธที่นำมาด้วยไปพิงไว้กับต้นโพธิ์ ทำให้ต้นโพธิ์หักลงอันเป็นอาเพศ บอกเหตุว่าพญาพานจะกระทำบิตุฆาต ฆ่าบิดาของตน จึงเป็นชื่อของตำบลโพหัก
อีกเรื่องเล่า กล่าวว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้มาหยุดพักพล ณ ตำบลนี้ทหารพม่าได้เอาปืนใหญ่ที่นำมาด้วย ไปวางพิงไว้กับต้นโพธิ์ ทำให้ต้นโพธิ์หักลง จึงเรียกที่หมายของการพบปะกันว่า ตำบลโพหัก
อีกเรื่องเล่า กล่าวว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกราษฎรจากกรุงศรีอยุธยาได้พากันอพยพหนีภัยสงครามโดยมีการใช้เกวียนบรรทุกทรัพย์สมบัติต่างๆ หนีการปล้นสะดมของทหารพม่ามาถึงที่แห่งนี้ ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงได้หยุดแล้วเอาทรัพย์สมบัติที่ขนมากองและแขวนไว้กับต้นโพธิ์ ทำให้ต้นโพธิ์หักลง จึงเรียกสถานที่ดังกล่าวว่า บ้านโพหัก และมีการสร้างวัดขึ้น
ภายในวัดมีมลฑปและพระพุทธรูปเก่าแก่ เล่ากันว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าประคุณในโกษฐ หรือ หลวงพ่อทองดี อดีตเจ้าอาวาส จากข้อมูลกรมการศาสนา ระบุว่าวัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๗ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๙๓
หลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ราชบุรี |
หลังจากที่หลวงพ่อแม้นได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ทำนุบำรังวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลโพหัก ทั้งที่อายุพรรษายังน้อย แสดงถึงความสามารถที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียวปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงพ่อแม้น ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน
ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลังจากที่ท่านได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านจึงก็ได้รับพระราชทานยศพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูธรรมสาทิศ"
หลวงพ่อแม้น ดูแลพระสงฆ์และทำนุบำรุงวัดใหญ่โพธิ์หักเป็นย่างดี ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่มีเมตตาและมีวาจาสิทธิ์หลวงพ่อแม้นจึงเป็นที่รักและเคารพของชาวบ้านมากทั้งยังส่งเสริมการศึกษาสร้างโรงเรียนประถมศึกษาให้ชาวตำบลโพหัก ต่อมาหลวงพ่อแม้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปปัชฌาย์ ว่ากันว่ามีพระนิยมให้หลวงพ่อแม้นบวชให้เป็นจำนวนมาก
ด้วยความที่ท่านใจดีใครมิมนต์ให้ไปบวชให้ที่ไหนท่านก็จะขี่ม้าไปทำการบวชให้ทุกที่ที่มาทำการนิมนต์ท่านไปโดยไม่เคยปฏิเสธ อีกทั้งวิชาอาคมที่หลวงพ่อแม้นได้แสดงให้ชาวบ้านได้รับรู้ได้เห็นกันนั้นก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านและคนทั่วไปเคารพและศรัทธาหลวงพ่อแม้น ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ นับรวมสิริอายุได้ ๖๕ ปี ๔๔ พรรษา.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก
เหรียญหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๔๙๔ |
เหรียญหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๔๙๔ ของคุณโอ |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อแม้น ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ "มะ อะ อุ" มีข้อความภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธรรมสาทิส (แม้น)"
เหรียญหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ราชบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ.๒๔๙๘ ของคุณหนุ่ม โพหัก |
เหรียญหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ราชบุรี รุ่นสอง ปี พ.ศ.๒๔๙๘ |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อแม้น ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ "มะ อะ อุ" มีข้อความภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธรรมสาทิส (แม้น)"
เหรียญหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ราชบุรี รุ่นสาม ปี พ.ศ.๒๕๑๘ |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อแม้น ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ "มะ อะ อุ" มีข้อความภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธรรมสาทิส (แม้น)"
เหรียญหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก รุ่นสร้างศาลาการเปรียญ ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อแม้น ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีข้อความภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแม้น ธมฺมสโร"
เหรียญหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ปี พ.ศ. ๒๕๔๒
เหรียญหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อแม้น ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ "มะ อะ อุ" มีข้อความภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธรรมสาทิส (แม้น)"
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น