โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่เอี่ยม เถวโร วัดปากลัด(วัดลัดด่าน) พระเกจิยุคเก่าของเมืองแม่กลอง

ภาพถ่ายหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม
หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม

         หลวงปู่เอี่ยม เถวโร วัดปากลัด หรือ วัดลัดด่าน ตำบลคลองเขิน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าอีกรูปหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม รุ่นราวคราวเดียวกับหลวงปู่ปาน วัดบางคนทีนอก หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง 

         หลวงปู่เอี่ยม ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดปากลัด ซึ่งวัดปากลัดนี้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ซึ่งนายวรรณ และนางสาวเผือก ได้ทำการบริจาคเงิน พร้อมทั้งได้ถวายที่ดินของตนเองเพื่อสร้างวัดเป็นจำนวน ๓๐ ไร่ 

         วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๔ และได้นิมนต์หลวงปู่เอี่ยม เถวโร มาครองวัดเพื่อเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดอีกด้วย

         ประวัติหลวงปู่เอี่ยม เถวโร นั้นไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่เพียงเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ในวิชาอาคมของท่านแต่เพียงเท่านั้น 

         แต่ก็ยังมีหลักฐานบางอย่างที่เป็นสิ่งยืนยันได้ ว่าท่านมีตัวตน นั่นก็คือ บันทึกในประวัติของหลวงปู่ไข่ วัดบพิตรภิมุข(วัดเชิงเลน) ที่มาอุปสมบทที่วัดปากลัด และมีหลวงปู่เอี่ยมเป็นพระกรรมวาจาจารย์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๑ และบันทึกในประวัติของหลวงปู่นาค วัดหัวหิน ซึ่งท่านทั้งสองได้เคยมาฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนวิชาอาคมจากท่าน

         นอกจากนี้หลวงปู่เอี่ยม ท่านยังเป็นอาจารย์แห่งอาจารย์ของเกจิสายแม่กลองอีกมากมาย อาทิเช่น หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ซึ่งมาเรียนวิชาทำตะกรุดมหาระงับจากท่าน และหลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม และหลวงพ่อกลึง วัดสวนแก้วอุทยาน เป็นต้น

         หลักฐานชิ้นสำคัญอีกอย่างนั่นก็คือ ตะกรุดของท่านถือว่าเป็นต้นแบบของวิชาการสร้างตะกรุดมหาปราบสายลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งโด่งดังในระดับประเทศในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นตะกรุดหลวงพ่อคง ตะกรุดหลวงพ่อรุ่ง หรือตะกรุดหลวงปู่ใจ ล้วนแล้วแต่มีจุดเริ่มต้นมาจากวิชาการสร้างตะกรุดมหาปราบของท่านทั้งสิ้น

วัตถุมงคลของหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด

         พระสมเด็จเนื้อดินเผาหลังยันต์ หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่พบเห็นจะมีทั้งยันต์เล็กและพิมพ์ยันต์ใหญ่ จัดเป็นพระที่หายากและมีของฝีมือออกมามากมายเช่าหาโปรดระมัดระวัง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระสมเด็จเนื้อดินเผาหลังยันต์ หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม
พระสมเด็จเนื้อดินเผาหลังยันต์ หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม ยันต์เล็ก

พระเนื้อดินหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม
พระสมเด็จเนื้อดินเผาหลังยันต์ หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม ยันต์ใหญ่ ของคุณIsaranu Pomnoi

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ใต้องค์พระมีเม็ดบัว จำนวน ๔ เม็ดรองรับเป็นฐาน มีเส้นบังคับพิมพ์ล้อไปกับพิมพ์พระ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ โดยยันต์ด้านหลังจะมีอยู่ด้วยกัน ๒ แบบ

         พระสังกัจจายน์เนื้อดินเผาหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผา(ผสมผง)ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า องค์พระไม่หนาและมีน้ำหนักเบา เป็นอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงปู่เอี่ยม จัดเป็นพระที่หายากมาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระเนื้อดินเผา หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม
พระสังกัจจายน์เนื้อดินเผา หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม ของคุณพิเชษฐ ศรีวงค์ษา

พระเนื้อดินหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม-สังกัจจายน์
พระสังกัจจายน์เนื้อดินเผา หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม

พระเนื้อดินหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม-สังกัจจายน์-2-ขอบ
พระสังกัจจายน์เนื้อดินเผา หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิราบ เศียรราบมีประภามณฑล ใต้องค์พระมีเม็ดบัว จำนวน ๔ เม็ดรองรับเป็นฐาน มีเส้นบังคับพิมพ์ล้อไปกับพิมพ์พระ จัดเป็นพระพิมพ์ที่มีเอกลักษณ์อีกพิมพ์หนึ่ง

         ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

         พระกลีบบัวหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ลักษณะเป็นพระรูปกลีบบัวเทหล่อแบบโบราณ มีการสร้างด้วยเนื้อตะกั่วเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จัดเป็นพระที่หายาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระกลีบบัวหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม
พระกลีบบัวหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม ของคุณเบนจามินพระเครื่อง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งพนมมือ บนฐานเขียง องค์พระมีเส้นรัศมีสวยงาม

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์

         ตะกรุดมหาระงับหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ถือเป็นต้นแบบของตะกรุดมหาระงับอันโด่งดังของเมืองแม่กลอง ลักษณะเป็นตะกรุดเนื้อตะกั่วถักเชือกลงรัก จัดเป็นตะกรุดที่หาได้ยากที่สุดดอกหนึ่งเลยทีเดียว ขนาดอาจารย์พยัพ คำพันธุ์ เคยกล่าวว่าหายากยิ่งกว่าตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูงเสียอีก


ตะกรุดมหาระงับ หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม
ตะกรุดมหาระงับ หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม ของคุณคชสาร

ตะกรุดมหาระงับหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม ลายจรเข้ขบฟัน
ตะกรุดมหาปราบหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม ลายจรเข้ขบฟัน ของคุณชัยพร

          ตัวตะกรุดยาวประมาณ ๔ นิ้ว ว่ากันว่าด้านในจารอักขระยันต์ตามแบบวิชามหาระงับ หรือ บางดอกจารยันต์แบบมหาปราบ จัดเป็นตะกรุดที่หายากของปลอมเรียนแบบหรือยัดวัดมีเยอะมาก ผู้ได้ครอบครองมักจะได้ตกทอดกันจากบรรพบุรษ ซึ่งเป็นตะกรุดที่หวงแหนกันมาของคนแม่กลองเลยทีเดียว

         โดยตะกรุดมหาระงับของท่านนั้น มีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า มีคนเอาไปลองแขวนบ้านคนอื่น ปรากฏว่าคนในสลบสไล นอนหลับไม่ได้สติกันทั้งบ้าน ขึ้นบ้านไปหุงข้าวกิน เจ้าของบ้านก็ไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว.

         เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙  จัดสร้างขึ้นโดยทางวัด เพื่อออกให้บูชาแก่ผู้บริจาคทรัพย์ทำบุญกับวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยเหรียญนี้แม้จะไม่ทันท่าน แต่ก็ได้พระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้นร่วมกันปลุกเสกมากมาย มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงและเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด สมุทรสงคราม ปี 2519 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นหลวงปู่เอี่ยม ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ นั่งสมาธิเต็มองค์ ด้านบนหลวงปู่มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้องค์หลวงปู่มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด ๒๕๑๙"

         ด้านหลัง มีรูปจำลองหลวงพ่อบ้านแหลม ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม"  

หมายเหตุ 

ภาพพระภิกษุเทศ พึ่งเชิดชู ไม่ใช่หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด หรือ หลวงพ่อทอง วัดประทุม สมุทรสงคราม อย่างที่เข้าใจกัน
ภาพพระภิกษุเทศ พึ่งเชิดชู ไม่ใช่หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด หรือ หลวงพ่อทอง วัดประทุม สมุทรสงคราม อย่างที่เข้าใจกัน

          ถาพถ่ายของหลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัดที่มีการค้นพบนั้นปัจจุบันมีภาพเพียงอริยบทเดียว ส่วนภาพที่นั่งเก้าอี้นั้นคือพระภิกษุเทศ พึ่งเชิดชู ไม่ใช่หลวงปู่เอี่ยม วัดปากลัด หรือ หลวงปู่ทอง วัดประทุม อย่างที่เคยเข้าใจกันมาก่อน โดยพระภิกษุเทศนั้นบวชเมื่อตอนมีอายุมากแล้ว ไม่ได้เป็นพระเกจิแต่อย่างใด ขอขอบคุณคุณอัษฏาวุฒิ ยิ้มพูลทรัพย์ ผู้เป็นเหลนของท่านที่ให้ข้อมูล. 


 โดย : สารานุกรมลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อ


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้