โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อหรีด วัดเพลง ราชบุรี ศิษย์เอกหลวงปู่ปลั่ง วัดเพลง

หลวงพ่อหรีด วัดเพลง ราชบุรี
หลวงพ่อหรีด วัดเพลง ราชบุรี

          หลวงพ่อหรีด วัดเพลง ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ท่านมีนามเดิม หรีด นามสกุล สุคนธมาน เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ที่บ้านหมู่ที่ ๒ ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อ นายฉิม สุคนธมาน โยมมารดาชื่อ นางกิม สุคนธมาน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน โดยมีหลวงพ่อหรีด เป็นคนโต ที่บ้านประกอบอาชีพทำสวน 

         หลวงพ่อหรีด อุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ พัทธสีมาวัดเพลง ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ได้ฉายาว่า "จนฺทสาโร" โดยมี

         พระอธิการคง  วัดศรัทธาราษฎร์ จังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         พระอธิการตาด วัดบางวันทอง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         พระอธิการปลั่ง เจ้าอาวาสวัดเพลง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

         หลังจากที่หลวงพ่อหรีดอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดเพลงตลอดมา โดยท่านได้ร่ำเรียนวิชาวิปัชสนากรรมฐานและวิชาอาคมกับหลวงพ่อปลั่ง ผู้เป็นพระอาจารย์

ภาพถ่ายหลวงพ่อปลั่ง วัดเพลง ราชบุรี
หลวงพ่อปลั่ง วัดเพลง ราชบุรี

          จนเมื่อพระอธิการปลั่งเจ้าอาวาสวัดเพลงถึงแก่มรณภาพ ชาวบ้านวัดเพลงและคณะกรรมการวัดจึงได้นิมนต์ให้ หลวงพ่อหรีดเป็นเจ้าอาวาสวัดเพลง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ 

          หลังจากที่หลวงพ่อหรีดได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้า ทั้งได้สร้างเสนาสนะต่างๆ และการพัฒนาจิตใจของชาวบ้านให้อยู่ในศีลในธรรม 

         เล่ากันว่าในสมัยที่หลวงปู่หรีดยังมีชีวิตอยู่ การศึกษาเล่าเรียนของเด็กสมัยนั้นต้องใช้ศาลาวัดเป็นที่เรียน จึงได้คิดที่จะสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นมา โดยเริ่มก่อสร้างด้วยตนเอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ 

         โดยหลวงพ่อหรีด ได้ขายที่ดินส่วนตัวเพื่อสร้างโรงเรียนก็ไม่สำเร็จ การเรี่ยไรเงินในสมัยนั้นมีผู้บริจาค ๕ สตางค์บ้าง ๑๐ สตางค์บ้าง กว่าจะได้เงินมากก็ใช้เวลานาน ด้วยเพราะชาวบ้านวัดเพลงมีอาชีพทำสวน และรับจ้างเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ฐานะการเงินแค่พอกินพอใช้จึงไม่มีกำลังทรัพย์มาร่วมบริจาค

         หลวงพ่อหรีดจึงทำฎีกาทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขออนุญาตเรี่ยไรเงิน ซึ่งได้ออกเรี่ยไรเงินก่อสร้างโรงเรียนจนแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ 

         โดยรวบรวมเงินได้ทั้งสิ้น ๑๐,๙๓๒.๓๐ บาท ซึ่งส่วนมากเงินที่เรี่ยไรได้มาจากชาวสุพรรณบุรี สำหรับโรงเรียนแห่งนี้มีชื่อว่า "โรงเรียนวัดเพลง (หรีดศรัทธาประชานุกูล)" ปัจจุบันอาคารเรียนที่หลวงพ่อหรีดก่อสร้างขึ้นได้รื้อทำใหม่แล้ว เพราะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

         และในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้เอง ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อหรีด ทำให้ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดวัดเพลง และรับสมณศักดิ์ที่ พระครูสฤษดิ์สิกขาทร ในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗

         หลวงพ่อหรีด มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้แก่ชาวบ้านวัดเพลงเป็นอย่างยิ่ง นับรวมสิริอายุของหลวงพ่อได้ ๘๒ ปี ๔๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อหรีด วัดเพลง

        เหรียญหลวงพ่อหรีด วัดเพลง รุ่นแรก

        สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมในงานศพของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยเหรียญรุ่นนี้ได้รับการปลุกเสกจากพระเกจิชื่อดังทั้งจากราชบุรีและสมุทรสงครามในสมัยนั้น มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อหรีด วัดเพลง ปี 2490 เนื้อทองเหลือง
เหรียญหลวงพ่อหรีด วัดเพลง ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองเหลือง

เหรียญหลวงพ่อหรีด วัดเพลง ปี 2490 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อหรีด วัดเพลง ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อหรีดครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสลิสสิกขาทร (หลวงพ่อหรีด)"

         ด้านหลัง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฌาปนกิจ วัดเพลง ๒๔๙๐" รอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเป็นพุทธคาถาเขียนว่า "สิทธิกิจฺจํ สิทธิกมฺมํ สิทธิลาโพ ชโยนิจฺจํ"


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้